Sunday school โรงเรียนสอนภาษาเขียนปกาเกอะญอใน Minnesota เพื่อเยาวชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่เกิดในสังคมแห่งความหลากหลายด้านภาษาและเชื้อชาติ

Sunday school โรงเรียนสอนภาษาเขียนปกาเกอะญอใน Minnesota เพื่อเยาวชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่เกิดในสังคมแห่งความหลากหลายด้านภาษาและเชื้อชาติ

 ขึ้นภูเขาที่สูงชัน                        ขึ้นภูดอยที่สูงชัน

ขึ้นค่อยๆขึ้นกับนาง                       ขึ้นค่อยๆขึ้นกับสาว        

ขึ้น ขึ้น สูงขึ้น                               วันข้างหน้าจะสุขสบาย  

บทเพลงสอนคนรุ่นหลัง            ให้รู้จักความดีงาม ค้นหา  เรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาของชนเผ่า

คุณคิดว่าจำนวนประชากรชาวปกาเกอะญอที่อาศัยในหลากหลายพื้นที่บนโลกใบนี้มีจำนวนเท่าไร…  5,155,000 ล้านคน คือคำตอบครับ  พวกเขาอาศัยในประเทศไทย เมียนมา อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์  แคนาดา สวีเดน และอีกหลากหลายพื้นที่

แน่นอนว่าคงจะมีเยาวชนปาเกอะญอมากมายที่เติบโตขึ้นในพื้นที่ ที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม และภาษา ดังนั้นการอนุรักษ์และธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นปกาเกอะญอในสังคมที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมนั้น

คงจะเป็นความท้าทายสำหรับ บรรพชนปกาเกอะญอรุ่นแรกๆที่อพยพตั้งรกร้างในสถานที่ต่างๆ นอกจาก ภาษา เครื่องแต่งกาย ที่แสดงถึงความเป็นปกาเกอะญอ ภาษาเขียนถึงว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวปกาเกอะญอเช่นกัน ในการถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเขาผ่านตัวอักษร

ภาษาเขียนปกาเกอะญอจัดเป็นสาขาหนึ่งของภาษาตระกูลใหญ่จีน – ธิเบต  คำศัพท์บางคำของพี่น้องปกาเกอะญอซึ่งอาศัยในพื้นที่ ที่แตกต่างกันไปนั้นย่อมจะมีที่สำเนียงใกล้เคียงกัน  ชนเผ่าปกาเกอะญอเป็นกลุ่มชนเผ่าที่มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเองนอกจากนี้แล้วยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมเป็นของตนเองซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ

ซึ่งในอดีตนั้นจะมีรูปแบบการถ่ายทอดภูมิปัญญาต่างๆของชาวปกาเกอะญอจากปากต่อปาก และจากประสบการณ์ในการใช้ชีวิตประจำวัน สำหรับการจดบันทึกทางประวัติศาสตร์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น ปกาเกอะญอจะใช้ตัวอักษรตระกูลเดียวกับตัวหนังสือเมียนมา โดยเรียกตัวหนังสือประเภทนี้ว่า “ลิ วา” ส่วนในประเทศไทยมีมิสชันนารีชาวผรั่งเศสได้พัฒนารูปแบบภาษาเขียนจากตัวอักษรโรมันประเภทนี้เรียกว่า “ลิ โร เหม่”

ณ มลรัฐ Minnesota ประเทศสหรัฐอเมริกา มลรัฐที่ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ภาษา และเป็นรัฐที่มีอุตสาหกรรมอาหารชื่อดังแห่งหนึ่งของโลก  และเป็นรัฐที่มีความหลากหลายทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจขนาดใหญ่ที่สำคัญหลายแห่งในรัฐ Minnesota ด้วยเช่นกัน 

ฉันใดก็ฉันนั้น ณ เมืองแห่งนี้มีชาติพันธุ์กลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งที่กำลังสร้างรากฐานให้แก่ลูกหลานของตัวเอง ในเรื่องวัฒนธรรม วิถีชีวิต และคุณค่าของชาติพันธุ์ตัวเองท่ามกลางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในรัฐแห่งนี้มีชาวปกาเกอะญออาศัยราว 20,000 กว่าคน

พื้นเพดั้งเดิมสำหรับพวกเขาเหล่านี้คือผู้ลี้ภัยสงครามที่เคยอาศัยในศูนย์อพยพสงคราม หรือ ศูนย์พักพิงชั่วคราวในประเทศไทยมาก่อน การที่พวกเขากลายเป็นพลเมืองชั้นหนึ่งในประเทศอเมริกานั้น เพราะการช่วยเหลือของ UN หรือ องค์กรสหประชาชาติ การเริ่มต้นสร้างชีวิตใหม่

ในประเทศแห่งนี้ ช่วงแรกเริ่มนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับพวกเขา ไม่ว่าเรื่องการปรับตัวด้านภาษา การเริ่มตันทำงานในสังคมที่มีการแข่งขันสูง ร่วมทั่งการปรับตัวให้เข้ากับบริบทสังคมที่มีเรื่องสุงคมนิยมและวัตถุนิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่ยากเย็นสำหรับการสร้างชีวิตใหม่ในช่วงแรก แต่ชาวปกาเกอะญอที่อพยพมายังรัฐแห่งนี้พวกเขาไม่เคยลืมว่า พวกเขาเป็นใครและมาจากไหน 

พวกเขารวมตัวกันก่อตั้งสมาคม Karen organization of Minnesota เพื่อช่วยเหลือคนปกาเกอะญอด้วยการเอง ไม่ว่าเรื่องการดำเนินชีวิต การส่งเสริมการศึกษาให้แก่เยาวชนปกาเกอะญอที่เกิดในรัฐ Minnesota รวมถึงการส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมปกาเกอะญอด้วยเช่นกัน

ในปี 2000 ชาวปาเกอะญอที่อาศัยในรัฐ Minnesota ตัดสินใจก่อตั้งโรงเรียน Sunday School แก่ลูกหลานชาวปกาเกอะญอที่เกิดในรัฐแห่งนี้ การก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ ในช่วงแรกเริ่มนั้นเพื่อให้เยาวชนปกาเกอะญอได้มีโอกาศทำความรู้จักกันในช่วงวันหยุด ผ่านบริบทของกิจกรรมนัทนาการต่างๆที่ทางโรงเรียนจัดให้  ต่อมาทางสมาชิกคนหนึ่งในโรงเรียนแห่งนี้ได้เสนอให้เปิดหลักสูตรการเรียนภาษาเขียนปกาเกอะญอ เพื่อให้เด็กๆชาวปกาเกอะญอที่เติบโตในรัฐแห่งนี้จะได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาเขียนของพวกเขาเอง  ถึงแม้ว่าเด็กเหล่านี้จะพูดภาษาปกาเกอะญอได้ แต่น้อยคนที่จะเขียนภาษาของตัวเองได้ สาเหตุหนึ่งมาจาการที่เด็กๆ เวลาไปโรงเรียนนั้นไม่ค่อยได้มีโอกาสใช้ภาษาเขียนของตัวเอง ส่วนมากจะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารและบันทึกการเขียนเป็นภาษาอังกฤษ

ดังนั้นสมาคม Karen organization of Minnesota ได้มีการส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยการจัดหาอาสาสมัครที่มีความสามารถในการใช้ภาษาเขียนปกาเกอะญอ เปิดการแข่งขันการเขียนเรียงความเป็นภาษาปกาเกอญอ การเขียนกลอนปกาเกอะญอ หรือ บทธา ตลอดทั้งปีมีผู้เข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้เป็นการกระตุ้นให้เยาวชนรุ่นใหม่เกิดความสนใจในเรื่องภาษาเขียนมากขึ้น เด็กๆที่เข้ามาเรียนในโรงเรียน Sunday school จะถูกสอนให้เรียนรู้ภาษาเขียนปกาเกอะญอ ตั้งแต่อายุ 7  ขวบจงถึงอายุ 15 ขวบ  บุคลากรครูจะสอนภาษาเขียนควบคู่ไปกับการอ่านภาษาปกาเกอะญอ เด็กๆจะมีเวลาเรียนในห้องราว 45- 50 นาทีต่อวัน และหนึ่งห้องเรียนจะมีครูคอยดูแลอยู่ 3 ท่านเพื่อให้ครอบคลุมต่อการสอน

       คุณครู Taw Moo หนึ่งในสมาชิกของโรงเรียน Sunday School กล่าวว่า “ ตั้งแต่เราย้ายมาอยู่ในประเทศนี้ เราตระหนักดีว่า วัฒนธรรมและภาษาเขียนของเรานั้นยังคงมีความสำคัญสำหรับชนชาติพันธุ์ของเรา ถ้าคุณมีโอกาสสักครั้งที่จะเดินเข้าไปถามคนอเมริกันว่า คุณรู้จักปกาเกอะญอไหม พวกเขาจะตอบว่า ไม่ พวกเขาคิดว่า เราเป็นคนเกาหลี ( Excuse me, Do you know Karen? Urr, you mean Korean.) ประโยคนี้คือคำถามของคนปกาเกอะญอที่เข้าไปถามคนอเมริกัน และคำตอบของคนอเมริกันที่ตอบกลับมา นั้นเป็นสาเหตุที่เราไม่อยากให้วัฒนธรรมหรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราหายไปกับวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อเราและลูกหลานของเรา ดังนั้นโรงเรียน Sunday school จึงเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ลูกหลานของเราจะได้รู้จักรากเหง้าของตัวเอง ปัจจุบันเรามีบุคคลกรเพิ่มขึ้น ทั้งชาวอเมริกันและชาวปกาเกอะญอ เรายังมีการพัฒนาหลักสูตรในโรงเรียนแห่งนี้อย่างต่อเนื่องให้กับลูกหลานของเรา และเรายังมีเด็กๆชาวอเมริกันเข้ามารวมทำกิจกรรมกับเด็กๆชาวปกาเกอะญอที่เติบโตในสังคมแห่งนี้ด้วยเช่นกัน สิ่งนี้จะทำให้เด็กๆมีโอกาสเรียนรู้ชีวิตของกันและกันมากขึ้นด้วยเช่นกัน”

แม้ว่าจะเป็นคนกลุ่มเล็กที่อาศัยในสังคมที่กว้างใหญ่ โรงเรียนที่พวกเขาเหล่านั้นช่วยกันก่อตั้งขึ้นสะท้อนให้เราเห็นถึง ความร่วมมือ ความมุ่งมั่น ความเข้าใจ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นี้แหละคือเครื่องมือที่จะทำให้วัฒนธรรม ความเชื่อ ภาษา และคุณค่าของชาติพันธุ์ของปกาเกอะญอที่อาศัยในรัฐ Minnesota นั้นจะคงอยู่กับพวกเขาไปแสนนาน ดังคำพูดที่ว่า “ รากฐานของตึกคืออิฐ รากฐานของชีวิตคือการศึกษา” วิถีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรมของคนปกาเกอะญอเองก็เช่นกัน ต้องควบคู่ไปกับคำสอน และการเอาใจใส่ไปพร้อมๆกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ