เสียงจากนครพนม เมื่อ “ไก” เกลื่อนโขง น้ำขึ้น-ลง ผันผวนในหน้าแล้ง

เสียงจากนครพนม เมื่อ “ไก” เกลื่อนโขง น้ำขึ้น-ลง ผันผวนในหน้าแล้ง

26 มกราคม 2565 สมาชิกเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) รายงานระดับน้ำโขงจากบ้านนาทาม ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เพิ่มระดับสูงขึ้น 3 เซนติเมตร หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา น้ำโขงในบริเวณดังกล่าวมีปริมาณลดลงจนเห็นสันดอนทรายเกิดปรากฏการณ์น้ำโขงใส และมี “ไก” ซึ่งเป็นสาหร่ายน้ำจืดสีเขียวในลำน้ำจำนวนมาก ส่งผลกระทบวิถีคนลุ่มน้ำโขง ชาวบ้านจึงระดมเก็บตัวอย่าง “ไก” ส่งนักวิชาการเพื่อตรวจสอบ

อำนาจ ไตรจักร ชาวบ้านริมโขง เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)  ลงพื้นที่วัดระดับน้ำพบว่า ระดับน้ำโขงบริเวณน้ำบ้านนาทามช่วงเช้าที่ผ่านมา พบว่ามีความเปลี่ยนแปลง ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 กว่า 3 เซนติเมตร แม้ในช่วงฤดูแล้ง

“นี่คือสภาพแม่น้ำโขงบริเวณท่าน้ำบ้านนาทาม ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม น้ำโขงขึ้นประมาณ 3 เซนติเมตร โดยใช้เสาหลักในการวัดระดับน้ำซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน และขณะนี้บริเวณท่าน้ำบ้านนาทามก็กำลังมีการสร้างเขื่อนกั้นตลิ่งพัง ซึ่งเป็นอีกโครงการที่ทำให้ระบบนิเวศแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไป  ส่วนระดับน้ำโขงที่ขึ้น-ลง ผันผวนนั้นทำให้ ไก หรือ เทา หายไปเพราะน้ำขึ้นท่วม ทั้งที่ไม่ใช่ฤดูฝนแต่น้ำยังขึ้นต่อเนืองมา 2-3 วันแล้ว  ก็ต้องระวังพวกอุปกรณ์การเกษตรและเครื่องมือหาปลา ที่ต้องเก็บขึ้นไว้ที่สูง”

จากเหตุการณ์ณ์ความผันผวนของแม่น้ำโขงและความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) จากหลายพื้นที่ตลอดลำน้ำโขงและลำน้ำสงคราม ทั้ง จ.เลย หนองคาย นครพนม และอุบลราชธานี  ได้มีการระดมความร่วมมือจากชาวบ้านสำรวจและเก็บตัวอย่าง “ไก” ทั้งในแม่น้ำโขงและลำน้ำสงคราม ส่งตัวอย่างสายพันธุ์ ประสานหน่วยงานหาแนวทางจัดการใช้ประโยชน์

อิภสิทธิ์ สุนทราวิรัตน์ กรรมการกลุ่มชุมชนคนฮักปากชม พร้อมแกนนำกลุ่ม ได้ทำการสำรวจ “ไก”หรือ “ไค” หรือ “เทา” สาหร่ายแม่น้ำโขงบริเวณท่าเรือแม่น้ำโขงบ้านคกไผ่ ต.ปากชม อ.ปากชม จ.เลย ซึ่งพบว่า ปีนี้น้ำโขงมีปริมาณน้อย น้ำใสทำให้ไกเกิดจำนวนมากและส่งผลกระทบต่อเครื่องมือหาปลาของชาวประมง  ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่พยายามสำรวจข้อมูลผลกระทบและหาแนวทางแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมามีชาวบ้านบางรายได้พยายามนำไกไปใช้ทำปุ๋ยหมัก ใช้เป็นอาหารสัตว์ และส่งตัวอย่างสายพันธุ์ให้กับกรมประมง เพื่อวิจัยหาแนวทางการใช้ประโยชน์ต่อไป

นอกจากนี้ แกนนำลุ่มน้ำสงคราม โดย วิมลจันทร์ ติยะบุตร ได้นำทีมงานวิจัยเก็บตัวอย่างไก หรือชาวบ้านเรียกว่า “เทา” ที่หนองหวาย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เพื่อส่งตัวอย่างสายพันธุ์เปรียบเทียบกันด้วย และจากการสอบถาม จันทร์ ดีบุดชา บอกว่า ช่วงนี้แก่แล้วจะมีอายุประมาณ 15 วัน เทาจะขึ้น หรือเจริญเติบโตได้ดีในช่วงวันเดือนข้างขึ้นแล้วจะแก่ตัว ส่วนถ้าในเดือนข้างแรมจะไม่เกิด หรือ เจริญเติบโตช้า ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้ตรงกันกับ สอน จำปาดอก กรรมการกลุ่มฮักน้ำโขง จ.อุบลราชธานี ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ขณะที่ทำการสำรวจไกบริเวณน้ำโขง ที่ ต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี

อย่างไรก็ตาม สอน จำปาดอก และแกนนำกลุ่มคนอื่น ๆ จะทำการเอาตาข่ายดักไก และสังเกตการเจริญเติบโตของไกในแม่น้ำโขงอีกรอบ ถึงข้างขึ้น ข้างแรม แสงกลางวัน กลางคืน มีผลอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ คือน้ำใส น้ำน้อยมาก แสงแดดส่งถึงพื้น ไกปีนี้จึงมาไวผิดปกติกว่าทุกปีจึงมีการรวบรวมตัวอย่าง “ไก” หรือ “เทา” เพื่อนำส่งไปนักวิชาการเพื่อแยกสายพันธุ์และหาแนวทางนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป

เช่นเดียวกับ อำนาจ ไตรจักร ทีมงานวิจัยไทบ้าน ได้ปักหมุดรายงานเข้ามากับ Application C-site เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา รายงานสถานการณ์น้ำโขงลดลงเร็วผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการแพร่ขยายของสาหร่ายน้ำจืดสีเขียว “ไก” หรือ “เทา” จำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อชาวประมงหาปลาได้น้อยมาก และทำให้ “ตาข่ายดักปลา” เครื่องมือประมงพื้นบ้านเสียหาย รวมถึงวิถีเกษตรริมโขงที่ได้รับผลกระทบจากการระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนแปลง

“และอีกจุดคือสวนมะเขือเทศที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง มีสภาพแห้งเหี่ยวเนื่องจากดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ไม่ค่อยออกผล ปลูกผักอะไรก็ไม่ค่อยจะดี ราคาก็ตก ชาวบ้านบอกว่าตั้งแต่ที่มีสถานการณ์โควิดเข้ามาซ้ำอีกก็ยิ่งแย่โดยเฉพาะมะเขือเทศแทบจะไม่ได้ทุนคืน”

นอกจากนี้ ชาวบ้านลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด นักวิชาการ และเครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อม  ได้จัดเสวนาออนไลน์ : จับสัญญานการเปลี่ยนแปลง “ไก เกลื่อนโขง” ในวันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00 – 16.00 น. เพื่อแลกเปลี่ยนถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่าบ่งบอกอะไร ผลกระทบที่จะตามมาทั้งต่อวิถีชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไร  

ภายใต้ความร่วมมือของ โฮงเฮียนฮักแม่น้ำโขง /สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต /เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) /สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง (Mekong Community Institute – MCI) / ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม /สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Green news /สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ Thai PBS  โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ตัวแทนชาวบ้าน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ตัวแทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน  ธีระพงศ์ โพธิ์มั่น สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง (Mekong Community Institute – MCI) ดร.ทัตพร คุณประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพ  และดำเนินวงเสวนา โดย กมล สุกิน บรรณาธิการ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Green news  ซึ่งสามารถติดตามชมสดออนไลน์ได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ GreenNews ThaiPBS นักข่าวพลเมือง The North องศาเหนือ และอยู่ดีมีแฮง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ