นับจาก 2019 หรือปี พ.ศ. 2562 ในช่วงปลายปีจนถึงนาทีนี้ 2022 หรือปี พ.ศ.2565 ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยยังต้องเผชิญกับโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งระบาดเรื่อยมาหลายระลอก และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อใด ซึ่งโควิด-19 ได้สร้างความสูญเสียตั้งแต่เริ่มการระบาดจนถึงวันที่ 5 มกราคม 2565 ให้กับประเทศไทยอย่างมาก เว็บไซต์กระทรวงสาธารณะสุข https://ddc.moph.go.th/covid19-dashboard/ ระบุสถิติผู้เสียชีวิตในไทยรวม กว่า 21,675 คนซึ่งในจำนวนนี้ เป็นผู้สูงวัย อายุ 60 – 69 ปี จำนวน 4,926 คน และ อายุ 70 ปี ขึ้นไป 9,994 คน รวม 14,920 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 68 หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด
นี่คืออีกสิ่งที่ย้ำชัดถึงความเปราะบางในมิติสุขภาพของผู้สูงวัย และมีรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ในปี 2563 จากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากร และสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ไทยมีประชากรรวม 66.5 ล้านคน มีผู้สูงอายุเมื่อปี 2563 จำนวน 12 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมด และในปีนี้ 2565 ประเทศไทยกําลังจะกลายเป็น “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” หมายถึง มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งสถานการณ์นี้ยังต้องการความร่วมมือเตรียมความพร้อมในหลายระดับ
ท่ามกลางการเดินหน้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งเป็นความท้าทายที่ต้องเจออย่างแน่นอนตามเวลาที่ผ่านเลย กระแส “คนรุ่นใหม่กลับบ้าน” และ “แรงงานคืนถิ่น” เป็นอีกคลื่นความหวังที่มาพร้อมผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คนรุ่นใหม่วัยทำงานหลายคนต้องกลายเป็น “คนว่างงาน” ฉับพลันและในจำนวนนั้น หลายคนหันหลังให้เมืองอุตสาหกรรมและมุ่งหน้ากลับถิ่นฐานบ้านเกิด “หลังพิง” ที่สำคัญเพื่อหวังฟื้นคืนเศรษฐกิจครัวเรือนปากท้องของครอบครัวให้กลับมาลงหลักปักฐานได้ และนั่นยังเป็นความหวังสำคัญที่ชุมชนจะได้อ้าแขนเปิดรับคนหนุ่มสาวคืนสู่อ้อมกอด พร้อมทั้งตั้งรับ “สังคมสูงวัย” อันประกอบด้วย ปู่ย่า ตายาย ในชุมชนของพวกเขาให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามกำลัง
ในงานมหกรรมคนคืนถิ่น Esan Come Home Fest 2021 เมื่อวันที่ 19-20 ธันวาคม 2564 อยู่ดีมีแฮง ได้ร่วมบันทึกและถ่ายทอดสดปาฐกถาออนไลน์ “คนรุ่นใหม่ กับการออกแบบอนาคตเพื่อรองรับสังคมสูงวัย” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และถอดความเสียงให้เป็นอักษรเพื่อแบ่งปันผู้อ่านอีกครั้ง
เชิญทัศนา…
คนรุ่นใหม่กลับบ้าน คืนฐานกำลังให้ชุมชน
“ปัญหาวันนี้ที่จะให้ผมพูดเรื่องคนรุ่นใหม่คืนถิ่นกับการออกแบบอนาคตเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ผมคิดว่านี่คือข้อดีของโควิดอย่างหนึ่ง การที่เรามีปัญหาเรื่องโควิดมันทำให้เราเดือดร้อนมาก ทุกคนรู้ แต่ข้อดีที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่งก็คือว่ามันมีคนรุ่นใหม่ มีคนคืนถิ่น กลับบ้านเก่า กลับบ้านเกิด กลับไปอยู่ที่บ้านนอกถ้าพูดกันอย่างง่าย ๆ ทำไมผมถึงมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องดี แล้วเรื่องสังคมสูงวัยมันมาเกี่ยวอย่างไร เดี๋ยวผมจะค่อย ๆ เฉลย” รองศาสตราจารย์ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เกริ่นถึงแง่งามการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่ในวันที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
คนรุ่นใหม่คืนถิ่นเป็นของดีสำหรับชุมชน
“ที่ผมมองว่าโควิดมันมีเรื่องร้าย แต่มันก็มีเรื่องดีเกิดขึ้น เรื่องดีที่เกิดขึ้นก็คือว่าผมมองว่าคนปกติที่ไปทำงานต่างถิ่น ไม่ใช่คนธรรมดา บางคนจะตกใจว่าทำไมถึงมองว่าไม่ใช่คนธรรมดา คือ คนที่ต้องเดินทางออกจากบ้านของตัวเอง ไปตายเอาดาบหน้า ผมมองว่าเป็นนักสู้ ผมมองว่าไม่ใช่ค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป ถ้าคนทั่วไปเขาจะทำงานแถวบ้าน จะกิน อยู่หลับนอนอย่างไร จะไปเจอสภาพอย่างไร จะเลือกตัวเขาเองที่จะไปเจอกับความเสี่ยง
ท่านทั้งหลายคงเคยได้ยินใช่ไหมครับ มีคนบอกว่าคนจีนที่มาอยู่เมืองไทยเป็นคนขยัน แล้วก็ประสบความสำเร็จ ท่านเคยวิเคราะห์ไหมครับ ว่าคนจีนที่อยู่ในเมืองจีนไม่เหมือนคนจีนที่อพยพมาอยู่เมืองไทย เพราะคนจีนที่มาอยู่เมืองไทย เขาเลือกตัวเขาเองแล้วที่จะไปตายเอาดาบหน้า ลงเรือสำเภามาถึงเมืองไทยมาแล้วต้องมาเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เต็มไปหมดเลย จะต้องมาต่อสู้เพราะฉะนั้นคนจีน ที่มาอยู่เมืองไทยก็ไม่ใช่คนธรรมดา สูงกว่าค่าเฉลี่ยคนธรรมดา
ท่านทั้งหลายเคยเห็นคนไทยที่ไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา คนอเมริกาบอกคนไทยโคตรขยันเลย คนไทยหนักเบาเอาสู้ ไปเติมน้ำมัน ไปล้างจาน ทำทุกอย่างมันขยันจริง ๆ ผมก็นั่งยิ้ม ผมอยู่ที่อเมริกาผมก็นั่งยิ้ม ก็เพราะว่าเขาชมเราก็ชอบ แต่เพราะว่าคนไทยที่ไปไม่ใช่ธรรมดานะ ไปเป็นโรบินฮู้ดในอเมริกา ไม่ใช่บ้านเราจะถูกเขาไล่เมื่อไหร่ก็ได้ เพราะฉะนั้น ขยัน เก็บออม เป็นคนที่เรียนรู้ของใหม่ได้เร็ว
ผมจึงมองว่าคนรุ่นใหม่ที่คืนถิ่น ที่คุณบอกว่ากลับไปบ้าน ผมมองว่าไม่ใช่คนธรรมดาครับ ผมมองในแง่ดีว่าเป็นคนกล้า เป็นคนคิด เป็นคนที่รับเทคโนโลยี เป็นคนที่ได้ประสบการณ์สมัยใหม่ บ้านเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็เกิดจากคนไทยที่ไปอยู่ในยุโรป อยู่ในอังกฤษ อยู่ในฝรั่งเศส แล้วก็ไปเปิดโลกทัศน์ตัวเอง เพราะฉะนั้น “คนรุ่นใหม่ที่คืนถิ่น ผมมองว่า เป็นของดีสำหรับชุมชน”
แล้วก็ต้องขอแสดงความยินดี กับการที่มีโควิดในมุมนี้ แต่มุมอื่นเราเดือดร้อนเยอะ คราวนี้ถามว่าแล้วคนรุ่นใหม่ที่คืนถิ่นมันจะไปเกี่ยวอะไรกับเรื่องของการออกแบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย อาจารย์เพิ่งพูดว่าคนรุ่นใหม่แล้วมันจะไปเกี่ยวอะไรกับสูงวัย ผมก็อยากจะตอบคำถามตรงนี้ รู้ไหมครับว่าประเทศไทยเขาพูดกันว่าสังคมสูงวัยมันหมายความว่าอย่างไร
สังคมสูงวัย คือ สังคมที่คนอายุ 40 ปีขึ้นไป ต้องเผชิญ
สังคมสูงวัยในประเทศไทย หรือในประเทศไหน ๆ ก็ตาม คนไม่เข้าใจว่านึกว่าเป็นสังคมของคนแก่ในปัจจุบัน เช่น ผม 70 กว่าแล้ว เวลาพูดถึงสังคมสูงวัย คือสังคมอาจารย์เจิมศักดิ์ ผมบอกได้เลยว่าไม่ถูกครับ เพราะประเทศไทยจะเกิดเหตุหนักหนาสาหัสมากอีกประมาณ 10 ปี เศษข้างหน้า ไม่เกิน 15 ปี เราจะมีสงครามใหม่ เราจะมีข้าศึกใหม่เกิดขึ้น ก็คือถึงเวลานั้นอีก 10 กว่าปี จะมีผู้สูงอายุเกิดขึ้นมากมายมหาศาล ก็แปลว่าคนอายุ 40-60 ปีในปัจจุบัน ที่กำลังเคลื่อนตัวไปอีก 10 กว่าปีก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุ แต่ถึงเวลานั้นโครงสร้างประชากร ปรากฏว่าออกมามหาศาลเลยพร้อม ๆ กัน เป็นสึนามิ รู้ไหมครับว่าอีกประมาณ 15 ปี ประเทศไทย จะมีผู้สูงอายุถึง 1 ใน 3 ของคนทั้งประเทศ คนวัยทำงานจะลดลง และเด็กที่เกิดใหม่น้อยลง คนสมัยใหม่มีลูกคนเดียวหรือสองคนอย่างมากแล้วขณะเดียวกันคนที่เกิดใหม่ คนพร้อมไม่ท้อง แต่คนท้องไม่พร้อม
เพราะฉะนั้นเด็กที่เกิดใหม่จะเป็นอย่างไร ลองดูเด็กที่เกิดใหม่ 4-5 ขวบ ก็เริ่มมีปัญหาว่าเกิดจากคนที่ไม่ได้พร้อมจำนวนมากและอีก 10 กว่าปี เป็นวัยแรงงาน วัยทำงาน จะมีคุณภาพอย่างไร สำหรับประเทศไทย คราวนี้คนที่คืนถิ่นบางคนบอกเรายังไม่ถึง 40 ปี 20-40 ปีเพราะฉะนั้นมันไม่เกี่ยวกับเราเรื่องสังคมสูงวัย ผมก็อยากจะบอกนะครับว่า คนที่จะรับภาระคือคนอายุต่ำกว่า 40 ปี ในปัจจุบัน
ถามว่าทำไม เพราะตอนนี้ผู้สูงอายุของคนไทย อายุยืนขึ้น ท่านทั้งหลายรู้ไหมว่าเมื่อปี 2513 ท่านลองถามว่าตัวท่านอายุเท่าไร เมื่อ 50 ปีที่แล้ว รู้ไหมว่าอายุไขเฉลี่ยของคนไทย 59 ปี ตาย แต่ปัจจุบันนี้อายุเฉลี่ยวัย 77 ปี ผู้หญิง 79 ปี และกำลังขึ้น 80 ปี แสดงว่า 50 ปี ผ่าน ๆ มาคนไทยอายุยืนขึ้น 20 ปี การที่เราอายุยืนขึ้น 20 ปี สมควรปรารถนาที่เราชอบขอศีลขอพรให้อายุยืน แต่ว่าพออายุยืนขึ้น ปัญหาก็มีอยู่ว่าลูกหลานที่ขณะนี้อยู่วัยต้น ๆ พ่อแม่ก็จะอยู่ยาวขึ้น เผลอ ๆ จะมีปู่ย่าและตายาย อยู่ยาวและก็ยังอยู่ด้วย
เพราะฉะนั้น จะมีภาระที่จะต้องเลี้ยงดู ที่จะต้องดูแลมหาศาล และโครงสร้างประชากร อย่างที่ผมเรียนว่าผู้สูงอายุจำนวนมาก คนวัยทำงานน้อยลง เด็กเกิดใหม่น้อยลงในอนาคต ใครจะเป็นคนจ่ายภาษีอากร ใครจะเป็นคนดูแล มันมีปัญหาเต็มไปหมด
ตกลงคนรุ่นใหม่คนคืนถิ่น จะต้องเริ่มคิดไหมครับว่าสังคมสูงวัยมันไปกระทบหมดเลย ทุกคนทุกวัย แล้วจะทำกันยังไงอันนั้นคือประเด็น เพราะฉะนั้นโจทย์วันนี้ เขาจึงขอให้ผมมาพูดว่าเพื่อที่จะรองรับเราต้องสร้างระบบรองรับ ใช่ไหม? แต่ผมเรียนนะครับว่าคนไทยมีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่ง จุดอ่อนก็คือเราไม่ค่อยยอมคิดไปข้างหน้า พอผมชวนคิดไปอีก 10 ปี ว่ามันจะเกิดปัญหาหนักมากแล้วมันจะเริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ เราก็บอกว่าอีกนาน เราชอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้วถึงเวลามันก็แก้ได้เอง
ผมเชื่อว่าคนไทยคิดแบบนี้เยอะ แต่ผมบอกได้เลยว่า ครั้งนี้เป็นศึกใหม่ เราไม่เคยเจอมาก่อน ถึงเวลาจะแก้ได้หรือเปล่า ถ้าเราไม่รู้จักวางระบบรองรับ เพราะฉะนั้นจะวางระบบอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังถึงวิธีคิด เรามาตกลงหลักการกันก่อน
เมื่อคนไทยอายุยืนขึ้นจากปี 2513 อายุยืนขึ้น 20 ปี เมื่อคนไทยแข็งแรงขึ้น แก่ช้าลง เราลองมานั่งคิดดูว่าเชิญชวนท่านทั้งหลายคิดดูว่า เราต้องคิดอะไรกับมันที่จะสร้างระบบให้ได้ ชวนท่านมาคิดว่าเราเกิดแก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทุกคน เราเกิดแล้ว แล้วเราต้องตายแน่ วันนี้ โจทย์ที่สำคัญก็คือเมื่อเกิดสังคมสูงวัยแล้ว เราจะทำอย่างไรให้เราแก่ช้าสุด
เลื่อนเวลาแก่ไปใกล้ตายและเจ็บให้สั้นที่สุด
ผมพูดอย่างนี้มีคนบอก แล้วแก่จะวัดอย่างไร แนวคิดของผมก็คือทำอย่างไรให้พึ่งพาตัวเองได้ยาวที่สุด คำว่า “แก่”แปลว่าเราจะต้องพึ่งพาคนอื่น เมื่อไหร่ก็ตามที่เราพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาคนอื่น เราจะต้องพึ่งพาตัวเองให้ยาวที่สุด ให้ไกลตายที่สุดและเจ็บสั้นสุด เจ็บสั้นสุดแล้วตายเลย นั้นคือสุดยอดปรารถนาของสังคม เกิด แก่ เจ็บ ตาย เลื่อนเวลาแก่ไปใกล้ตาย เจ็บให้สั้นที่สุด “แก่” แปลว่าพึ่งพาตัวเองได้ยาวที่สุด คือ ยังไม่ยอมแก่
ถ้าอย่างนั้นจะทำให้พึ่งพาตนเองได้ยาวที่สุด มันต้องคิดอะไร หนึ่งพึ่งพาตนเองในทางเศรษฐกิจเห็นไหมครับ ถ้าเราหยุดทำงานเร็ว เราต้องพึ่งพาคนอื่นยาวขึ้น เดิมเราชอบพูดกันว่าแก่แล้ว อายุ 60 ปี หยุดทำงาน ตอนนี้อายุมันยืดออกไปอีก 20 ปี เพราะฉะนั้นมันจะกิน จะอยู่ อย่างไรอีก 20 ปี แล้วพึ่งลูกได้ไหม พึ่งรัฐได้ไหม หรือต้องพึ่งตัวเอง
ในทางเศรษฐกิจถ้าพึ่งตัวเองจะทำอย่างไร จะต้องมีเงินออมสำหรับในอนาคตที่ต้องหยุดทำงานและต้องคิดถึงเรื่องการทำงานให้ยาว เมื่อกำลังวังชาลดลง เราจำเป็นต้องเปลี่ยนทักษะอาชีพหรือไม่ โดยเฉพาะในอนาคตเราไม่รู้หรอก ว่าเทคโนโลยีเราเปลี่ยนไปอย่างไร เพราะฉะนั้นอาชีพอะไรที่จะเหมาะกับเราในอนาคต ถ้าเรามีอาชีพเดียวโอกาสก็จะลำบากเริ่มมองเห็นแล้วว่ามันมีช่องทางไป
หนึ่งจะต้องออม สองจะต้องหาทักษะชีวิตในการที่จะมีทักษะในการทำงานได้หลายแบบยามที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง สังคมเปลี่ยนแปลงหรือร่างกายเราไปไม่ไหวเราก็สามารถจะหาอาชีพ หารายได้เพิ่มเติมได้ คนรุ่นใหม่ คนคืนถิ่นคิดว่าสำคัญไหมครับที่เราจะต้องช่วยกันสร้างระบบตรงนี้ให้เกิดขึ้นในบ้านของเรา
สอง คือ เรื่องสภาพแวดล้อม ลองคิดดูครับ เมื่อมีผู้สูงอายุจำนวนมากพลัดตกหกล้มทีหนึ่งเสียเงิน เสียทองเยอะ ๆ วันหนึ่ง ๆ มีผู้เสียชีวิตพลัดตกหกล้มในประเทศไทยกี่คน เสียชีวิตวันละ 4 คน พิการอีกหลายหมื่น ถ้าเราลุกขึ้นมาปรับสภาพแวดล้อมให้ทุกคนใช้ร่วมกันได้ทั้งผู้สูงอายุ ทั้งเด็ก ทั้งคนพิการ ทั้งคนหนุ่มสาว บ้านที่ชอบมีขั้น บ้านที่ชอบบันไดสูงชัน พื้นลื่น ขรุขระ ทางเดิน อาคารสาธารณะไม่เหมาะสม ถ้าเราลุกขึ้นมาปรับ โอกาสที่เราจะเป็นผู้ที่จะพึ่งพาคนอื่นเร็วก็จะลดน้อยลง เราจะพึ่งพาตนเองให้ยาวขึ้น
สาม คือ เรื่องสุขภาพ ทำอย่างไรที่จะให้เพิ่งพาตนเองให้ยาวที่สุด ทุกคนรู้ครับว่าเราจะต้องทำให้สุขภาพดี แล้วผมถามตรง ๆ นะครับเอาไว้แก่แล้วมาทำทันไหม สุขภาพดีมันต้องเริ่มตั้งแต่หนุ่มสาว เริ่มตั้งแต่วัยทำงาน เมื่อกี้ผมกำลังพูดเรื่องคนรุ่นใหม่ที่คืนถิ่น และถ้าสุขภาพไม่ดูแลตั้งแต่ตอนนั้น เอาไว้แก่แล้วดูแลสุขภาพยังไงก็ดูแลไม่ทัน มันต้องเสริมสร้างตั้งแต่ต้น เสริมสร้างอย่างไรครับ ทุกคนรู้ดี ออกกำลังกาย กินอาหารที่ถูกต้อง เรื่องอารมณ์ทุกอย่าง ทุกคนรู้แต่ไม่ค่อยทำ เอาไว้ให้แก่ก่อน พอแก่แล้วมานั่งนึกถึงสุขภาพก็ช่วยอะไรไม่ได้ และยิ่งกว่านั้นต่อไปโรงพยาบาลก็จะแน่น เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ต่อไปผู้สูงอายุจำนวนมากเริ่มติดบ้าน ติดเตียง เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร และมิติสุดท้ายคือมิติที่เกี่ยวข้องกับชุมชน สังคม ท่านรู้ไหมครับว่าในอนาคตผู้สูงอายุที่ไปทำงานต่างถิ่นแล้วไม่ได้รีบกลับบ้านอย่างท่านทั้งหลายที่คืนถิ่น คนที่ประสบความสำเร็จอาจจะตั้งถิ่นฐานที่นั่น แต่คนที่ไม่ประสบความสำเร็จจะกลับบ้าน
พื้นที่ชนบทเอาไว้รองรับคนที่มีปัญหากลับบ้านต่อไปในชนบทก็จะมีผู้สูงอายุในสัดส่วนจำนวนที่มากกว่าในเมือง และชุมชนในชนบท ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลชุมชน รพ.สต. องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โรงเรียน วัด ชมรมผู้สูงอายุ จะต้องร่วมมือกันจัดตั้งให้มีการรวมพลังกันที่จะรองรับ
คนรุ่นใหม่คืนถิ่นจะสามารถไปช่วยสร้างระบบในชุมชนได้ไหม เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ทั้งกับตัวของเราเองและใช้ผู้สูงอายุปัจจุบันเป็นตัวอย่าง ว่าปัจจุบันนี้เขาประสบปัญหาอะไร เราเรียนรู้แล้วผู้สูงอายุปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญชีวิตที่มีประสบการณ์มากมาย ถ้าสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้คนรุ่นใหม่ คนคืนถิ่นไปร่วมกับผู้สูงอายุ ผมบอกเลยว่าคนคืนถิ่นมีข้อดีเยอะ เห็นโลกเยอะ เป็นผู้กล้า รับความเสี่ยงได้ เทคโนโลยีได้ดีหมด
คนคืนถิ่นต้องรู้จักบ้านตัวเอง
แต่ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าคนที่คืนถิ่นมีข้อเสียอย่างหนึ่ง ไม่รู้จักบ้านตัวเองดีนัก เพราะไปตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่หนุ่มสาว พอปัจจุบันนี้กลับบ้านก็จะรู้สึกว่านึกว่าตัวเองรู้เรื่องบ้าน แต่จริง ๆ แล้วไม่รู้ครับ ผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านที่เราเคยเอาลูกไปฝากเลี้ยงกับพ่อแม่เขารู้จักบริบทวัฒนธรรม สถาพแวดล้อม สภาพทางกายภาพ สภาพดิน สภาพน้ำ สภาพอากาศดีกว่าเรา ถ้าแลกเปลี่ยนกับผู้สูงอายุกับผู้ที่อยู่มาตลอด มันจะสมบูรณ์ขนาดไหน แล้วเราใช้ความเก่งของคนคืนถิ่น ช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างระบบทำอย่างไรที่จะให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นภาระสำคัญ ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีกรรมอยู่อย่างหนึ่ง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นตำบล อบต. เทศบาล ลงไปทำเรื่องพวกนี้ก็มักจะถูก สตง. บอกว่าไม่ใช่หน้าที่ เพราะฉะนั้น เงิน งบประมาณที่ใช้ต้องออกเอง
อย่างนี้ผมคิดว่าต้องเปลี่ยนแปลง เพราะว่าประเทศไทยที่บอกกระจายอำนาจ กระจายอำนาจไม่จริง กลายเป็นว่าอำนาจกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง แล้วเราก็แบ่งอำนาจให้ อบต. แบ่งอำนาจให้เทศบาลว่าให้อะไรทำได้บ้าง แต่จริง ๆ แล้วการกระจายอำนาจมันจะต้องเปลี่ยนใหม่ เปลี่ยนเป็นว่าท้องถิ่นจะต้องทำได้ทุกเรื่อง เว้นแต่อะไรทำไม่ได้ ปัจจุบันนี้ท้องถิ่นทำอะไรได้บ้าง กลายเป็นว่าอำนาจอยู่ส่วนกลางฉันจะแบ่งให้ แต่ในความเป็นจริงแล้วท้องถิ่นทุกภาค ทุกจังหวัด มันมีปัญหาไม่เหมือนกันครับ เมื่อมีปัญหาไม่เหมือนกันท้องถิ่นต้องรู้ดีที่สุดว่าจะต้องทำอะไร เพราะฉะนั้นโจทย์ต้องเปลี่ยนใหม่ ท้องถิ่นจะต้องทำได้ทุกเรื่อง เว้นแต่อะไรที่ทำไม่ได้ เช่น อะไรครับที่ทำไม่ได้ 1.มีธนบัตรของตัวเอง 2.มีกองกำลังทหารของตัวเอง และ3.มีศาลของตัวเอง ผมก็นึกออกแค่ 3-4 อย่าง เพราะฉะนั้นมันจะต้องมาผลักดันให้ท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมในการเข้ามาบริหารจัดการสร้างระบบรองรับสังคมสูงวัยให้ได้ อย่างที่ผมพูดนะครับ ทั้ง เรื่องการออม ทั้ง เรื่องการสร้างระบบการทำงานให้ยั่งยืน ให้ยืนยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ ระบบดูแลสุขภาพ สภาพแวดล้อม มันเป็นเรื่องที่จะต้องลุกขึ้นแล้วก็ต้องวางระบบ”
นอกจากมุมมองต่อสังคมสูงวัยและคนรุ่นใหม่คืนถิ่น อันเป็นโจทย์คู่ขนานที่ไม่อาจปฏิเสธการรับมือ รองศาสตราจารย์ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ยังฉายภาพให้เห็นแง่คิดและมุมมองของคนวัย 70+ ผู้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมสูงวัยปัจจุบัน ซึ่งส่งสัญญาณไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่วัยแรงงาน ที่อาจต้องเผชิญฐานประชากรไทยและสังคมสูงวัยในอีกราว 10 ปีข้างหน้าว่า มี 3 เรื่องสำคัญที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ ทั้ง ส่วนบุคคลในครอบครัว ระดับชุมชน และระดับชาติ ได้แก่ เรื่องเศรษฐกิจปากท้องด้วยการออม เรื่องสุขภาพที่ต้องคำนึงถึงในการดูแลที่ต้องเริ่มต้นตอนนี้ และเรื่องของสุขภาพ เจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งเกี่ยวพันกับการบริการสาธารณูปโภค สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ซึ่งบางการจัดการต้องอาศัยอำนาจของท้องถิ่น ที่วันนี้ก็ยังลูกผีลูกคน เดินหน้ากันไม่สุด ยังครึ่ง ๆ กลาง ๆ แต่ก็ยังหวังว่าให้คนรุ่นใหม่ทั้งในถิ่น และคืนถิ่น เห็นทิศทางการเตรียมรับสังคมสูงวัยและพ่อแม่แก่ชราไม่ให้ช้าเกินไป เพื่อความ “อยู่ดีมีแฮง”
เรียบเรียง : กาญจนา มัชเรศ