18 มกราคม 65 เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) โดย อ้อมบุญ ทิพย์สุนา รายงานสถานการณ์แม่น้ำโขงในพื้นที่ จ.หนองคาย หลังน้ำโขงลดระดับเร็วกว่าปกติเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ผ่านมา และพบว่ามีสาหร่ายน้ำจืดที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า “เทา” หรือ “ไก” จำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อวิถีชาวบ้านและพรานปลาในชุมชนทำให้เครื่องมือประมงเสียหาย
“เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว น้ำโขงมันลดลงเร็วขึ้น ปีนี้เริ่มแห้งลงในเดือนมกราคม ปีที่แล้วถ้าระดับนี้ก็เดือนมีนาคมตอนที่เราเจอกัน คราวนี้พอน้ำโขงเริ่มแห้ง เริ่มลดลง เทาก็เกิดจำนวนมาก ทางชุมชนน้ำโขงภาคเหนือเขายังมีลู่ทางเอา “เทา” หรือ “ไก” ทำอาหาร แปรรูปขาย แต่ทางอีสานไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์มากเท่าไรนัก เอาไปรับประทานก็ไม่มาก ก่อนนี้ก็เคยมีความพยายามลองเอาไปทำปุ๋ย เอาไปเลี้ยงสัตว์บ้าง แต่ก็ยังน้อยอยู่เพราะยังไม่มีความรู้เรื่องนี้ คาดว่าปลายสัปดาห์นี้จะส่งตัวอย่างไกหรือเทา ไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดูว่าเป็นประเภทไหน เป็นชนิดใด แล้วจะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง ผลกระทบจากน้ำโขงเปลี่ยนแปลง ตอนนี้มันเยอะมาก บางทีคนริมโขงอย่างเราก็เหนื่อยมาก ไม่รู้จะไปยังไงต่อแล้ว”
ปรากฏการณ์น้ำโขงใสไร้ตะกอน เคยเกิดขึ้นและได้รับความสนใจอย่างมากครั้งแรก ช่วงปลายปี 2562 ที่มีคำเรียกว่า “โขงสีคราม” ซึ่งคาดว่าเป็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนเหนือประเทศไทยขึ้นไป และต่อมาก็ยังมีความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำขึ้น-ลง ที่คาดเดาได้ยาก ไม่เป็นไปตามฤดูกาลเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งชาวบ้านตลอดริมฝั่งโขงยังมีการบันทึกเรื่องราวและส่งเสียงสะท้อนผลกระทบเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึง ชาญชัย ดาจันทร์ ชาวบ้าน ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย ที่อธิบายผลกระทบจากน้ำโขงใสอีกครั้งในเดือนมกราคม 2565 ว่ายังส่งผลให้สัตว์น้ำหลายชนิดไม่สามารถออกสู่แม่น้ำโขงได้เช่นเดิม
“น้ำโขงปีนี้แห้งเร็วกว่าทุกปี แล้วถ้าน้ำโขงใสแบบนี้ก็จะทำให้เกิดเทาแล้วก็จะไปขวางทางปลา หอย ปู ปลา ก็ออกไปเติบโตในแม่น้ำโขงไม่ได้ มันก็ตายไป เพราะว่าเท่าที่สังเกตดูเพราะว่าทุกปีน้ำจะไม่แห้งเร็วขนาดนี้ ปีนี้แห้งเร็ว ทุกปีน้ำลดระดับนี้จะเป็นเดือนมีนาคม เมษายนเลยนะ แต่ปีนี้แห้งเร็วมาก ซึ่งถ้าน้ำแห้งเร็วและน้ำใส แบบนี้ ก็ทำให้เกิดเทา หรือ ไก ขวางทางพวก กุ้ง หอย ปลา ปู ซึ่งมันเป็นความกังวลอย่างมาก เพราะขนาดน้ำเหลือเท่านี้ กุ้ง หอย ปู ปลา ก็ตายไปเยอะแล้ว และถ้าน้ำลดลงไปกว่านี้ก็น่าจะเสียหายไปมากว่านี้อีก”
เช่นเดียวกับ พรภิมล จันทร์หอม ชาวบ้านคกเว้า อ.ปากชม จ เลย ที่ครอบครัวมีรายได้จากการหาปลา บอกว่า ระดับน้ำโขงที่ลดลงอย่างรวดเร็วและเกิดสาหร่ายเทาจำนวนมากก็ทำให้เครื่องมือประมงเสียหายและขาดทุนเช่นกัน
“สวนใหญ่เลยคือคนหาปลา เพราะน้ำแห้งที่อยู่อาศัยของปลาเปลี่ยน ปลาหายาก การเดินเรือของคนหาปลายากขึ้น เพราะน้ำลด มีโขดหินโผล่มากขึ้น คนทำเกษตรริมโขงก็พอ ๆ กัน เพราะน้ำในการเกษตรก็เป็นปัญหา เนื่องจากน้ำลดเร็ว เกษตรริมโขงก็ใช้น้ำไม่ทัน เรากะระยะเวลาที่จะใช้น้ำปลูกพืช แต่ระดับน้ำที่ขึ้น-ลง ผิดฤดูก็ทำให้สิ่งมีชีวิตก็ปรับตัวไม่ทัน อย่างครอบครัวมีอาชีพหาปลา ปลาก็หายไปกว่าครึ่งหนึ่ง อุปกรณ์หาปลาก็เสียหาย เพราะมีเทามาติดตาข่าย เวลาน้ำไหลพัดมาก็มีแรงต้านเยอะ ตาข่ายก็ถูกน้ำพัดขาดเสียหาย ก็ทำให้เราขาดทุน แทนที่จะมีรายได้มาใช้ในครอบครัว”
ปรากฏการณ์น้ำโขงใสไร้ตะกอน เป็นเพียงผลกระทบหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังมีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำอย่างฉับพลันซึ่งเครือข่ายชาวบ้านริมฝั่งโขงมองว่า เป็นผลกระทบจากการมีเขื่อนในตอนบนของแม่น้ำโขง ทำให้กระแสน้ำไม่ได้ไหลอย่างอิสระ อ้อมบุญ ทิพย์สุนา เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) มองว่าจำเป็นต้องสื่อสารเพื่อส่งสัญญาณไปยังผู้เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อหวังให้มีการร่วมแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดผลกระทบทั้งต่อวิถีชาวบ้านและระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง โดยในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ จะมีวงเสวนา “สถานการณ์และทางแก้ไข ไกน้ำโขงเหนือและอีสาน” ร่วมกับสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต โฮงเฮียนแม่น้ำของ สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง (Mekong Community Institute – MCI) และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)