ปี 2021 คนกรุงเทพฯ สูดฝุ่นพิษ PM 2.5 เท่ากับการสูบบุหรี่ 1,261 มวน ลดลง 9 มวนจากปี 2020
- ปี 2021 คนกรุงเทพฯ อยู่กับอากาศดี 90 วัน มากกว่าปีก่อนหน้า 19 วัน
- ปี 2021 คนกรุงเทพฯ สูดฝุ่นพิษ PM 2.5 เท่ากับการสูบบุหรี่ 1,261.05 มวน ลดลง 9 มวนจากปี 2020
- วันที่กรุงเทพฯ มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงที่สุดในรอบปีคือ วันที่ 23 มกราคม 2021 อยู่ในระดับสีแดง มีค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 187 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ปี 2020 สูงสุดเพียง 181 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
- วันที่กรุงเทพฯ มีค่าฝุ่น PM2.5 ต่ำที่สุดในรอบปีคือ วันที่ 24 กันยายน โดยมีค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 เพียง 16 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ปี 2020 ต่ำที่สุดในวันที่ 21 กันยายน เฉลี่ย 26 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
- ในปี 2019 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ
- ปี 2020 กรมควบคุมมลพิษใช้งบประมาณในเรื่องการจัดการคุณภาพอากาศและเสียง 20,992 ล้านบาท
- การจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ของกรุงเทพมหานคร ภายใต้สำนักสิ่งแวดล้อมนั้น งบประมาณเกือบทั้งหมดในส่วนของการดูแลคุณภาพอากาศใช้ไปกับการเดินระบบพร้อมบำรุงรักษาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ
ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ แม้ในปีที่ผ่านมา (2021) จะถูกพูดถึงน้อยลงเนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่ถึงอย่างนั้นในปี 2021 กรุงเทพฯ ก็ยังติดอันดับที่ 11 ของโลกจากรายงานคุณภาพอากาศและจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลก ของเว็บไซต์ IQAir
ก่อนหน้านี้ Rocket Media Lab ได้จัดทำรายงานภาพรวมประจำปี 2020 ซึ่งพบว่าคนกรุงเทพฯ ใช้ชีวิตในวันที่ค่าฝุ่นน้อยจัดว่าอากาศดีเพียง 71 วัน และหากคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือ PM 2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่าในปี 2020 ที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมดจำนวน 1,270.07 มวน
ว่าแต่ปี 2021 คนกรุงเทพฯ ได้สูดอากาศดีๆ เพิ่มขึ้นบ้างไหม
กรุงเทพฯ และ PM2.5 ในปี 2021
จากการทำงานของ Rocket Media Lab ซึ่งทำงานด้านข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project และอ้างอิงค่าระดับคุณภาพอากาศของค่า PM2.5 จากข้อเสนอของกรีนพีซ
พบว่า ในปีที่ 2021 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ อยู่ในระดับสีแดง หมายถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ มากถึง 12 วัน คิดเป็น 3.29% ระดับสีส้ม หรือมีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 61 วัน คิดเป็น 16.71% ระดับสีเหลือง อากาศมีคุณภาพปานกลาง 202 วัน คิดเป็น 55.34% และระดับสีเขียว อากาศมีคุณภาพดี 90 วัน คิดเป็น 24.66%
จากข้อมูลยังพบว่า เดือนที่กรุงเทพฯ อากาศเลวร้ายเต็มไปด้วยฝุ่นพิษมากที่สุดในปี 2021 ยังคงเป็นเดือนมกราคมเช่นเดียวกันกับในปี 2020 โดยวันที่มีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดแห่งปี คือวันที่ 23 มกราคม 2021 อยู่ในระดับสีแดง สูงถึง 187 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ปี 2020 สูงสุดเพียง 181 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ตลอดทั้งเดือนมกราคม 2021 ที่ผ่านมา ไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียวเลย ส่วนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง มีจำนวน 11 วัน วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม มีจำนวน 13 วัน และมีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในแถบสีแดง มีจำนวน 7 วัน
3 เดือนที่ค่าฝุ่นเลวร้ายที่สุด
เช่นเดียวกันกับในปี 2020 เดือนมกราคมที่ถึงแม้จะมีวันที่มีค่า PM 2.5 สูงสุดของปี แต่ก็ยังไม่ใช่เดือนที่มีค่าฝุ่นเฉลี่ยสูงสุด โดยเดือนที่มีค่าฝุ่นเฉลี่ยสูงสุดก็คือเดือนกุมภาพันธ์เช่นเดียกวันกับในปี 2020 ซึ่งไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียว ซึ่งหมายถึงอากาศมีคุณภาพดี ส่วนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สีเหลือง มีจำนวน 4 วัน วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม ซึ่งหมายถึงมีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ มีจำนวน 21 วัน และมีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในแถบสีแดง ซึ่งหมายถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีจำนวน 3 วัน
นอกจากเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์แล้ว เดือนที่มีอากาศเลวร้ายเต็มไปด้วยฝุ่นพิษมากเป็นอันดับสามของปี 2021 ซึ่งให้ผลเช่นเดียวกันกับปี 2020 ก็คือเดือนธันวาคม ที่ไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียวเลย ส่วนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง มีจำนวน 14 วัน วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม มีจำนวน 15 วัน และมีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในแถบสีแดง มีจำนวน 2 วัน
โดยในปี 2021 ที่ผ่านมา มีเพียง 3 เดือนเท่านั้นที่มีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในแถบสีแดง ซึ่งก็คือ มกราคม กุมภาพันธ์ และธันวาคม
อย่างไรก็ตามค่าฝุ่นในแต่ละวันตามสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project เป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จึงอาจเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งหนึ่งอาจจะมีบางเขตของกรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีบางเขตที่มีค่าฝุ่นต่ำกว่าเฉลี่ย หรือแม้กระทั่งมีค่าฝุ่นอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกทุกเขต
สำหรับวันที่ค่าฝุ่นต่ำที่สุดในรอบปี 2021 ในกรุงเทพฯ ก็คือ วันที่ 24 กันยายน ซึ่งมีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เพียง 16 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ซึ่งช่วงเวลาใกล้เคียงกับในปี 2020 ที่ค่าฝุ่นต่ำที่สุดในรอบปีในวันที่ 21 กันยายน ซึ่งมีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เพียง 26 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) แต่ถึงอย่างนั้นเดือนกันยายนก็ยังไม่ใช่เดือนที่มีอากาศดีที่สุดของปี 2021 ของกรุงเทพฯ
3 เดือนที่มีอากาศ ‘ดี’ ที่สุด
สำหรับเดือนที่มีจำนวนวันที่อากาศดีที่สุดในปี 2021 ของกรุงเทพฯ ก็คือเดือนกรกฎาคม (ในขณะที่ปี 2020 คือเดือนมิถุนายน) มีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในแถบสีเขียว อันหมายถึงคุณภาพดี มากถึง 22 วัน และวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สีเหลือง อีกจำนวน 9 วัน
รองลงมาคือเดือนกันยายน มีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในแถบสีเขียว จำนวน 17 วัน และวันที่อากาศอยู่ในแถบสีเหลือง อีกจำนวน 13 วัน ซึ่งมีลำดับและจำนวนเท่ากับในปี 2020
และอันดับสามเดือนมิถุนายน มีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในแถบสีเขียว จำนวน 14 วัน และวันที่อากาศอยู่ในแถบสีเหลือง อีกจำนวน 16 วัน
ถ้าค่าฝุ่น PM 2.5 22 ug/m3 = บุหรี่ 1 มวน ปี 2021 ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ สูบบุหรี่ไปกี่มวน
จากงานของ Dr. Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือ PM 2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 จำนวน 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งหากนำค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในแต่ละวันของปี 2021 มาคำนวณเปรียบเทียบตามเกณฑ์ของ Dr. Richard Muller จะพบว่า
เดือนกุมภาพันธ์ คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 163.68 มวน เฉลี่ยวันละ 5.84 มวน (ลดลงจากที่ 2020 ที่จำนวน 166.90 มวน) ขณะที่เดือนมกราคม คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 170.95 มวน เฉลี่ยวันละ 5.51 มวน (เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ที่จำนวน 164.60 มวน) ตามมาด้วยเดือนธันวาคม 148.86 มวน (เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ที่จำนวน 146.71 มวน)
แม้แต่ในเดือนที่มีอากาศดีจำนวนมากที่สุดแห่งปี 2021 อย่างเดือนกรกฎาคม เมื่อคำนวณเปรียบเทียบดูแล้ว คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 64.86 มวน เฉลี่ยวันละ 2.09 มวน (ลดลงจากปี 2020 ที่จำนวน 73.41 มวน) และในเดือนกันยายน 64.32 มวน (ลดลงจากปี 2020 ที่จำนวน 69.80 มวน) และเดือนมิถุนายน จำนวน 73.41 มวน เฉลี่ยวันละ 2.14 มวน (เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ที่จำนวน 66.70 มวน)
โดยรวมแล้วในปี 2021 ที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมดจำนวน 1261.05 มวน ลดลง 9 มวน จากปี 2020 ที่จำนวน 1,270.07 มวน ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าปี 2021 อากาศดีกว่าปี 2020 เพียงเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการชี้ว่าควันพิษจากบุหรี่นั้นมีสารพิษมากกว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก
ข้อสังเกตเรื่องการเปรียบเทียบค่าฝุ่น PM2.5 และระดับคุณภาพอากาศ
ในรายงานนี้อ้างอิงระดับความเป็นอันตรายต่อสุขภาพตามข้อเสนอของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เสนอให้ใช้ดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 (PM2.5 Air Quality Index) โดยมีเกณฑ์ดังนี้ 0-50 คุณภาพอากาศดี 51-100 คุณภาพปานกลาง 101-150 มีผลต่อสุขภาพของกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 151-200 มีผลกระทบต่อสุขภาพ 201-300 มีผลกระทบต่อสุขภาพมาก 301 อันตราย
โดยปกติแล้วการบอกระดับคุณภาพอากาศด้วยแถบสีและเกณฑ์การอธิบายว่าอากาศมีคุณภาพอย่างไร มักจะถูกใช้เทียบกับค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ซึ่งรวมความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด คือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5), คือ ฝุ่นละองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10), ก๊าซโอโซน (O3), ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NO2)
การใช้ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เพื่อแสดงระดับคุณภาพอากาศนั้น จะมีเกณฑ์แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ตามแนวทางของ WHO มีการปรับแก้ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงว่าไม่ควรเกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (จากเดิม 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) มากกว่านั้นคือว่าระดับ PM2.5 ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ในขณะที่ประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือสหรัฐอเมริกา และมาเลเซียกำหนดไว้ที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และสิงคโปร์กำหนดไว้ที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนในการเทียบเคียงนั้นก็มีเกณฑ์แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศเช่นเดียวกัน ในสหรัฐอเมริกา ค่า AQI 0-50 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 0-12 ค่า AQI 51-100 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 12-35 ซึ่งก็ตรงกับเกณฑ์ของประเทศที่กำหนดไว้ว่าค่า PM2.5 ไม่ควรเกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนในประเทศไทยเอง จากข้อมูลของกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กำหนดเกณฑ์ไว้ว่า ค่า AQI 0-25 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 0-25 ค่า AQI 26-50 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 26-37 ค่า AQI 51-100 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 38-50 ค่า AQI 101-200 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 51-90 และ ค่า AQI มากกว่า 200 เทียบเท่ากับค่า PM2.5 91 ขึ้นไป นั่นก็เท่ากับว่า ในไทยค่า AQI 101 ขึ้นไป หรือ PM2.5 51 ขึ้นไปจึงถือได้ว่าเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และ AQI มากกว่า 200 หรือ PM2.5 91 ขึ้นไป จึงถือว่า “มีผลกระทบต่อสุขภาพ” ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าการกำหนดค่าของไทยนั้นนอกจากจะไม่สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกแล้ว ยังเป็นการกำหนดค่าที่สูงกว่าในหลายๆ ประเทศ ทำให้แม้ค่าฝุ่น PM2.5 จะสูงแต่การให้ความหมายถึงระดับคุณภาพอากาศยังไม่ถือว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
การแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5
ฝุ่น PM2.5 ถือเป็นวาระปัญหาระดับชาติ และในระดับเขตการปกครองในพื้นที่นั้นๆ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2019 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ โดยมีแนวทางดังนี้
- พัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ
- ทบทวนปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์
- ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในการติดตามตรวจสอบ การวิเคราะห์ และนวัตกรรมเพื่อลดมลพิษทางอากาศ
- แก้ปัญหามลพิษข้ามชายแดน
- จัดทำบัญชีระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด
- พัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบเฝ้าระวังเป็นหนึ่งเดียว
- พัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาแผนปฏิบัติราชการรายปี พ.ศ. 2564 ของกรมควบคุมมลพิษจะพบว่า ในเรื่องการจัดการคุณภาพอากาศและเสียง ใช้งบประมาณ 20,992 ล้านบาท และหากพิจารณาเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ซึ่งมีการกล่าวถึงในเอกสารดังกล่าวว่า
“แก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และเผยแพร่ข้อมูลคุณภาพอากาศผ่านช่องทางต่างๆ”
โดยมีแผนงาน/โครงการสำคัญ คือ
- กำหนดมาตรฐานการควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศของปริมาณรวมและเชิงพื้นที่
- เร่งรัดการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่ยังเป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่
- สร้างความเข้มแข็งในชุมชนในการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังป้องกันและแก้ปัญหามลพิษในพื้นที่ของตน
- กำหนดมาตรการควบคุมปริมาณการจราจรหรือยานพาหนะในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น
- พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านคุณภาพอากาศและเสียง
- มีระบบการแจ้งเตือนปัญหามลพิษทางอากาศที่สามารถเข้าถึงและทันเหตุการณ์
ในส่วนระดับพื้นที่นั้น เมื่อพิจารณากรุงเทพมหานคร จะพบว่า รับผิดชอบโดยสำนักสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2020 สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้รับงบประมาณในด้านการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศและเสียง 66,538,352 บาท และหากพิจารณาเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ซึ่งมีการกล่าวถึงในแผนปฏิบัติการประจำปี 2564 ว่า
“ปัญหาสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครปัจจุบันมีแนวโน้มสถานการณ์แตกต่างไปจากเดิม จะเห็นได้ จากในปี 2562 กรุงเทพมหานครต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจาก การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากรถยนต์ ประกอบกับสภาพอากาศปิด ความกดอากาศสูง ทำให้ระดับมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เกิดการสะสมตัวในบรรยากาศมากขึ้น โดย กรุงเทพมหานครต้องเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการระดมทุกภาคส่วนต่าง ๆ ฉีดพ่นน้ำเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาว”
โดยมีแผนงาน/โครงการสำคัญ คือ
- ตรวจจับรถยนต์ควันดำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
- การตรวจวัดรถสองแถว (ในซอย) ควันดำร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
- ตรวจวัดมลพิษจากรถราชการในสังกัดกรุงเทพมหานคร
- รณรงค์ขอความร่วมมือเจ้าของรถหรือผู้ขับขี่รถหมั่นบำรุงรักษาเครื่องยนต์เพื่อลดมลพิษ
- ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมฝุ่นละอองและเสียง
และหากพิจารณาดูที่โครงการ/กิจกรรมรองรับมาตรการ จะพบว่ามีดังต่อไปนี้
- ฝึกอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมมลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร (งบประมาณ 190,000 บาท)
- ตรวจวัดรถยนต์ควันดำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (ไม่ใช้งบประมาณ)
- โครงการส่องรถยนต์ควันดำ (ไม่ได้รับงบประมาณ)
- ตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง (ไม่ใช้งบประมาณ)
- พัฒนาระบบสารสนเทศด้านการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อมและการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงาน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานคร (ไม่ได้รับงบประมาณ)
- โครงการปิ้งย่างลดมลพิษ (ไม่ได้รับงบประมาณ)
- จ้างเหมาเดินระบบพร้อมบำรุงรักษาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศติดตั้งบนเสาเหล็กและแบบเคลื่อนที่ (งบประมาณ 38,256,500 บาท)
- โครงการหน่วยเคลื่อนที่เร็วบรรเทาฝุ่นละออง (ไม่ใช้งบประมาณ)
- โครงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร (ไม่ได้รับงบประมาณ)
- โครงการถนนอากาศสะอาด (ไม่ได้รับงบประมาณ)
- โครงการแชะ & แชร์ร่วมแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ (ไม่ได้รับงบประมาณ)
จะเห็นได้ว่าในส่วนของการทำงานของกรุงเทพมหานคร ภายใต้สำนักสิ่งแวดล้อมนั้น งบประมาณเกือบทั้งหมดในส่วนของการดูแลคุณภาพอากาศใช้ไปกับการเดินระบบพร้อมบำรุงรักษาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ในขณะที่ส่วนอื่นๆ คือการประสานความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรตำรวจ ขสมก. และองค์กรภาคธุรกิจและประชาชนต่างๆ รวมไปถึงโครงการปลูกต้นไม้ต่างๆ
นอกจากนี้ยังพบการทำงานของกรุงเทพมหานคร ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในด้านอื่นๆ เช่น โครงการการทำความสะอาดเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองสะสมในอากาศและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีการฉีดล้างผิวจราจร ทางเท้า สะพานลอยคนข้าม, เช็ดทำความสะอาดป้ายรถประจำทาง ที่พักผู้โดยสาร จุดสัมผัสร่วมต่างๆ บริเวณพื้นที่สาธารณะ, ฉีดล้างลดฝุ่นไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น
รวมไปถึงโครงการ “แผนประชาสัมพันธ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร” ซึ่งอยู่ในแผนงบประมาณปี 2565 โดยการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งข่าว อินโฟกราฟิก บทความ สารคดี ฯลฯ เผยแพร่ผ่านสื่อสารมวลชนและสื่ออื่นๆ เพื่อให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจนโยบายการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของกรุงเทพมหานคร ลดความไม่พอใจต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร
ฝุ่น PM2.5 มาจากไหน
จากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ซึ่งมาจากการศึกษาสัดส่วนการระบายมลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร พบว่าฝุ่นละออง PM2.5 มีสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงซึ่งมีแหล่งกำเนิดหลักมาจากภาคการขนส่งทางถนนระบายฝุ่น PM2.5 มากที่สุด ร้อยละ 72.5 รองลงมาได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม ร้อยละ 17 การเผาในที่โล่ง ร้อยละ 5 และอื่นๆ ร้อยละ 5.5
จากการสัมภาษณ์ของรศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเกษตร ทางไทยรัฐออนไลน์ ยังกล่าวอีกว่า
“แนวโน้ม “ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล” น่าจะพีกสูงสุดเดือน ม.ค.2565 เพราะมีการเผาภาคเกษตรแถบภาคกลาง และภาคตะวันตก โดยเฉพาะการเผานาข้าว เผาอ้อย ตามดาวเทียมวัดค่าความร้อนกระจุกตัวในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา…กระแสลมก็นำพาฝุ่นพิษทั้งหลายมาในกรุงเทพฯและปริมณฑลนี้
“แล้วมาเจอ “โรงงานอุตสาหกรรม” ปล่อยมลพิษประจำในช่วงนี้ “รถบรรทุกน้ำมันดีเซลยูโร 3” ก็ยังวิ่งปล่อยควันดำเกลื่อนเมือง ทำให้ฝุ่นพีเอ็ม2.5 สะสมเพิ่มมากขึ้นด้วยพื้นที่กรุงเทพฯถูกล้อมรอบตึกสูง ในฤดูหนาวมักมี “ปรากฏการณ์ฝาชีครอบต่ำ” ลมนิ่งอากาศถ่ายเทไม่ดี มีพื้นที่สีเขียวน้อยไม่มีตัวช่วยดูดซับมลพิษ กลายเป็นแหล่งสะสมกักเก็บฝุ่น PM 2.5 อย่างดี ฉะนั้น “ปัญหามลพิษอากาศในกรุงเทพฯ” มักมีตัวแปรต้องพึ่งพากระแสลมเข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์เป็นหลัก”
นอกจากนี้ Rocket Media Lab ได้สัมภาษณ์อาจารย์ ดร.สินีนาถ ศุกลรัตนเมธี อาจารย์ประจำหลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งให้ความคิดเห็นที่น่าสนใจไว้ว่า
“นอกจากประเด็นเรื่องกระแสและทิศทางลมแล้ว เราอาจจะต้องดูเรื่องรูปแบบอาคารของผังเมืองด้วย ว่ามันบล็อคอยู่หรือไม่ อย่างไร การ flood อากาศดี อากาศเสียของเมือง เป็นอย่างไร ขาดแคลนตรงไหน อะไร อย่างไร การทำ simulation อาจจะช่วยได้ ตรงไหนที่เป็นพื้นที่ที่มันสกปรกในเรื่องของอากาศที่สุด มีรูปแบบอาคารของผังเมืองอย่างไร อากาศถูกบล็อคไหม เพราะกรุงเทพฯ อากาศมันไม่ได้สกปรกเท่ากันทั้งหมดหรอกใช่ไหม มัน simulate ได้ แล้วลองเอามาวางแพลนดู ว่าจะจัดการในแต่ละพื้นที่อย่างไร
“เช่น ถ้าเราบอกว่าจะจัดการโดยการปลูกต้นไม้ มันอาจจะปลูกต้นไม้บางโซนรอบลาดกระบังหรือเปล่า เพื่อที่จะทำตัวเป็น buffer ไม่ให้อากาศเสียมันไหลเข้ามา หรืออย่างในต่างประเทศเขาย้ายแหล่งกำเนิดอากาศเสียที่มันอยู่ต้นลมออกไปเลย เราอาจจะต้องศึกษาและวางแผนให้เชื่อมโยงกันทั้งเมือง และเชื่อมโยงยังเรื่องอื่นๆ การแก้ปัญหาด้วยการฉีดน้ำมันอาจจะไม่ช่วยอะไร”
การเคลื่อนไหวด้านกฎหมายและภาคประชาชน
ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” มีการกล่าวถึงการพิจารณาในด้านกฎหมายว่า “กำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศเฉลี่ยรายปีให้เป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก, ปรับปรุง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 รวมทั้งศึกษาความเหมาะสม เรื่องกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) รวมถึงการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดระเบียบการเผาภาคการเกษตร”
ในประเด็นเรื่องกฎหมายอากาศสะอาด จากการรวบรวมข้อมูลของ iLaw (1, 2) พบว่าในช่วงปี 2020 จนถึงปี 2021 มีร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหามลพิษและเกี่ยวข้องกับอากาศสะอาด รวม 5 ฉบับ ได้แก่
1) ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย
2) ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … เสนอโดย หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ สมาคมการค้า สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม
3) ร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล
4) ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. เริ่มโดยเครือข่ายอากาศสะอาด
5) ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ
โดยร่างกฎหมายสามฉบับแรกถูกปัดตกไปแล้ว ส่วนร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. จะยื่นรายชื่อประชาชน 24,000 คนต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 21 มกราคม นี้ และร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ …. ที่เสนอโดยส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่ทางเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มกราคม องค์กรกรีนพีซ ประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรมเรียกร้องให้ปฏิบัติตามแผน “การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้านฝุ่นละออง” ปี 2562 เพื่อคืนอากาศสะอาดให้แก่คนไทย และยังเรียกร้องให้ปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป เป็น 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ยรายปีอีกด้วย
*หมายเหตุ:
อ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project ซึ่งค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง https://aqicn.org/city/bangkok/
ค่าฝุ่นในแต่ละวันตามสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project เป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จึงอาจเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งๆ อาจจะมีบางเขตของกรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีบางเขตที่มีค่าฝุ่นต่ำกว่าเฉลี่ย หรือแม้กระทั่งมีค่าฝุ่นอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกๆ เขต
PM2.5 เทียบกับบุหรี่ http://berkeleyearth.org/air-pollution-and–cigarette–equivalence