อยู่ดีมีแฮง : “ความคิด ความฝัน ความจริงของคนคืนถิ่น”

อยู่ดีมีแฮง : “ความคิด ความฝัน ความจริงของคนคืนถิ่น”

กว่า 2 ขวบปีที่ความปั่นป่วนจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อผู้คนทุกหมู่เหล่า ทุกสาขาอาชีพ ทุกช่วงวัย ทั้ง มิติสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา เรียกได้ว่าไม่มีเว้นว่าง “แรงงานไกลถิ่น” คือ อีกกลุ่มคนที่ไม่อาจทานทนต่อผลกระทบจากโดมิโนของโรคระบาดนี้ได้ แรงงานหลายคน “ว่างงาน”กะทันหัน บ้างตั้งหลักรับมือได้ บ้างอ่อนไหวโอนเอนและเปราะบางเกินรับมือ “บ้าน” ที่จากมาจึงกลายเป็นหลังพิง พอให้พวกเขากลับไปตั้งหลักหวังให้มีแรงได้พอยืนหยัดขึ้นอีกครั้ง

แต่…การกลับบ้านในวันนี้ วันที่โลกเปลี่ยนไปเมื่อชุมชนในชนบทไม่ได้ห่างไกลเหมือนเช่นเคย จึงเป็นทั้งโอกาสและข้อท้าทายของแรงงานที่เคยไกลถิ่นจะได้ “กลับบ้าน” ลงมือลงแรงในบ้านของเขาอีกครั้ง แต่แน่นอนยังมี ข้อเท็จ ความจริง และประสบการณ์มากมายที่ไม่สามารถบอกเล่าแต่ยังรอการเผชิญและเรียนรู้ด้วยตนเองของคนคืนถิ่น

อยู่ดีมีแฮง ชวนติดตามเสียงผ่านตัวอักษรในวงเสวนาออนไลน์จากมหกรรมคนคืนถิ่น Esan Come Home Fest 2021 ซึ่งร่วมกับภาคีเครือข่าย สถาบันการจัดการความรู้เกษตรกรรมยั่งยืน สถาบันการพัฒนาองค์กรชุมชน มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม สมาคมเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในชนบท เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน สำนักงานประสานการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูง

และ บ้านสวนซุมแซง ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19-20 ธันวาคม 2564 ณ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ให้ผู้อ่านได้ติดตาม บางส่วนของ “ความคิด ความฝัน ความจริงของคนคืนถิ่น” ที่ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนโดย สุภัสสรา เที่ยงผดุง นักประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ยโสธร ,พัฒนชัย ลิมไธสง  เจ้าของแบรนด์ “ทอกะยาย” อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จ.บุรีรัมย์ ,บำเพ็ญ ไชยรักษ์ กลุ่มข้าวหอมดอกฮัง เกษตรนิเวศโคก จ.สกลนคร และปาริฉัตร ดอกแก้ว  อาสาคืนถิ่น รุ่น 4 จ.อุบลราชธานี ดำเนินวงเสวนาโดย วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง

ความจริงของคนคืนถิ่น

“จริง ๆ โอ้ เมื่อก่อนเป็นคนไม่ได้อยากกลับมาอยู่ที่บ้านเลย เพราะไม่รู้ว่าจะกลับมาทำอะไรที่บ้าน…” พัฒนชัย ลิมไธสง เจ้าของแบรนด์ “ทอกะยาย” อาสาคืนถิ่นรุ่นที่ 5 เริ่มต้นบทสนทนาที่ชวนผู้ฟังหาคำตอบต่อ

พัฒนชัย ลิมไธสง เจ้าของแบรนด์ “ทอกะยาย” อาสาคืนถิ่นรุ่นที่ 5

“จริง ๆ ก็เตรียมตัวกลับบ้านมาสักพักหนึ่ง ก็ได้ไปทำงานอยู่กรุงเทพฯ ครับ แล้วก็ได้มีโอกาสทำงานกับคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับมาอยู่บ้าน คือ โครงการคนกล้าคืนถิ่น จากนั้นเลยตัดสินใจออกจากงาน ตัดสินใจกลับมาทำงานที่บ้าน เมื่อก่อนยังทำงานประจำแล้วก็ลาออกมาทำ “ทอกะยาย” ของตัวเองครับ และได้เป็นอาสาคืนถิ่นรุ่นที่ 5 อันนี้การกลับบ้านของเรา จริง ๆ มันต้องมีการเตรียมพร้อม มันมีหลายอย่าง เราสนใจประเด็นไหน เราอยากทำอะไรที่บ้านเราเอาความชอบของเรามาทำที่บ้านเกิด ที่บ้านเป็นโรงทอผ้ามาก่อน เห็นวิวัฒนาการมาตลอดมันค่อย ๆ เลื่อนหายไป  ก็เลยมาขอยายเรียน ยายเลยพาปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม มัดหมี่ ทุกกระบวนการทำผ้าทอ ได้เรียนก็เลยเกิดเป็นทอกะยายขึ้นมา วัตถุประสงค์จริง ๆ เพื่อที่จะอนุรักษ์ความเป็นผ้าทอของคุณยาย จะทำอย่างไรให้มันสามารถใช้ได้ให้กับคนรุ่นใหม่หรือทุก ๆ คนที่ผ้าไทยมันมีคุณค่า ถ้าเราไม่ทำสิ่งเหล่านี้มันก็จะเลื่อนหายไปพร้อมกับการพัฒนา”

ก่อนตัดสินใจออกจากงานประจำ ต้องทำใจอยู่กี่เดือน?

“ก็ยากอยู่เหมือนกันนะครับ แต่จริง ๆ โอ้มองว่ามาทำอะไรก็ได้ที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นงานประจำก็ยังทำได้ เรามาขับเคลื่อนในหมู่บ้าน ในชุมชนมันก็ช่วยได้นะครับ แต่อีกอันคือการที่เราทำไม่ใช่งานประจำแต่งานเพื่อชีวิตเราเอง ชีวิตที่มันทำให้เราอยู่รอดกับคนในชุมชนด้วยอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้ ตอนนี้รายได้จากงานประจำก็ลดไปเลย แต่งานที่ทำทอกะยายก็เพิ่มเยอะขึ้น”

ฟังดูจุดเริ่มต้นการคืนถิ่นของ พัฒนชัย ลิมไธสง เจ้าของแบรนด์ “ทอกะยาย” เป้าหมายและการเตรียมตัวเพื่อฟื้นลมหายใจของผ้าทอเป็นอีกส่วนสำคัญในวันที่เขากลับบ้าน เช่นเดียวกับ ปาริฉัตร ดอกแก้ว  อาสาคืนถิ่น รุ่น 4 จ.อุบลราชธานี ผู้คืนถิ่นจากงานประจำเพื่อเติมฝันของตัวเอง

“ปาทำงานโรงงานมาก่อน อยู่ที่นั่น 9 ปี จริง ๆ ไม่ได้อยากไปทำงาน แต่พ่อกับแม่เขาให้เรียน จบวิศวกรก็ต้องไปทำงานที่โรงงาน”  ปาริฉัตร ดอกแก้ว  อาสาคืนถิ่น รุ่น 4 จ.อุบลราชธานี เกริ่นถึงเหตุผลการออกจากบ้านไปทำงานโรงงานที่ตั้งต้นจากความฝันของพ่อแม่และครอบครัวในวันก่อนหน้าที่การศึกษาเป็นทางเลือกหลักเพียงหนึ่งทาง

ปาริฉัตร ดอกแก้ว  อาสาคืนถิ่น รุ่น 4 จ.อุบลราชธานี

“9 ปีที่ไปทำงาน อยากกลับบ้านตลอด แต่แม่ไม่ให้กลับ พอดีมันเป็นช่วงที่แม่ไม่มีคนอยู่ด้วย ก็เลยขอกลับมาเขาก็เลยให้มา แต่ว่าตอนนั้นถามว่าจะกลับมาทำอะไร มีความฝันแต่ว่า เราก็ไม่แน่ใจเพราะว่า เราไปอยู่ที่นั่นนาน เงินเดือน ก็มีทุกเดือน แต่ว่ากลับไปจะไปอยู่อย่างไร เป็นความกังวลว่าจะไปอยู่อย่างไร ไม่มีเงินเดือนเราจะอยู่ได้อย่างไร พอกลับมาเจอก็เป็นแบบที่เรากังวลจริง ๆ  เสียงคนรอบข้างพ่อแม่ ชาวบ้าน บอกว่ากลับมาทำไม แรก ๆ รู้สึกไม่มั่นคง ทำทุกอย่างที่ได้เงิน เรากลับไปก็สำรวจในชุมชนด้วยนะ ว่าชุมชนเราขาดอะไรไป อย่างหมู่บ้านห่างจากตัวอำเภอ 15 กิโลเมตร เครื่องถ่ายเอกสารก็ไม่มี บริการออนไลน์ เริ่มทำตรงนี้จนมาเจออาสาคืนถิ่น และล่าสุดทำแปรรูป “เม็ดกะบก”ขายจากในชุมชน”

ครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญของหลายคนในวันที่ต้อง “ไกล” และต้อง “กลับ” เช่นเดียวกับ สุภัสสรา เที่ยงผดุง นักประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ยโสธร เธอเติบโตในวัฒนธรรมภาคใต้เมื่อตั้งต้น และมาปักหลักในพื้นที่ภาคอีสาน

สุภัสสรา เที่ยงผดุง นักประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ยโสธร

“จะขอเล่าย้อนนิดหนึ่งตอนแรกติ๊กไปเกิดและเติบโตที่ภาคใต้ เรียนด้วยและทำงานพาร์ทไทม์ไปด้วย จนมีแพลนว่าถ้าเราเรียนจบ เราอาจจะได้โปรโมทเป็นตำแหน่งผู้จัดการ มีแผนแล้วแต่ว่ามันเป็นจุดหักเห คือ แม่เข้าโรงพยาบาล เราเลยเล่าให้หัวหน้างานเราฟัง เขาก็พูดมาประโยคหนึ่งว่า “เธอไม่ใช่หมอเธอกลับไปแม่เธอก็ไม่หายหรอกให้หมอดูแล” นี่ก็เป็นประเด็นที่ทำให้เรารู้สึกว่าถ้าเขาเป็นอะไรมากกว่านี้แล้วครอบครัวเรามีอยู่แค่นี้ ใครจะดูแลเขา มันเลยทำให้เราตัดสินใจได้เด็ดขาดว่างั้นเรากลับบ้าน ถึงแม้เรายังไม่ชอบ แต่ว่าเราก็โชคดีคือ แม่อยากให้กลับ ไม่ได้มีปัญหา เราก็พอมีต้นทุนในการทำสวน กลับมาเราเลยมาทำสวนยาง  ทำเองกรีดยาง มันก็สนุกนะ มันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้นเรามีประสบการณ์ทำสวนยางแล้ว

ด้วยพื้นที่เดิมเราประสบปัญหาน้ำท่วม เลยได้มาช่วยงานเครือข่ายลุ่มน้ำชี จ.ยโสธร ผู้นำ แกนนำ ชาวบ้านก็จะมีแต่คนที่รุ่นเก่า ๆ อายุมากแล้วก็จะไม่มีคนช่วยในการทำเอกสาร หรือว่าติดต่อทางสื่อออนไลน์  เราเลยได้เสนอตัวมาช่วยงานตรงนี้ การขับเคลื่อน เรื่องประเด็นปัญหา ผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ได้มาช่วยงานตรงนี้จนเราก็ได้มีโอกาสได้ช่วยเหลืองานด้านต่าง  ๆ จนเราก็มาเข้ากับอาสาคืนถิ่น ก็เป็นการเชื่อมเพื่อนเราก็รู้สึกว่ามีพลังแล้วก็อยากทำงานอย่างอื่น ๆ เพิ่มไปด้วย”

นอกจากการกลับบ้านเพื่อตัวเองและครอบครัว สุภัสสรา เที่ยงผดุง ยังฉายให้เห็นว่าการกลับคืนถิ่นของคนรุ่นใหม่ ได้ยังประโยชน์แก่ชุมชนของเธอด้วย เช่นเดียวกับ บำเพ็ญ ไชยรักษ์ กลุ่มข้าวหอมดอกฮัง เกษตรนิเวศโคก จ.สกลนคร

ข้อท้าทายแรกคือ ไม่มีใครเชื่อว่าเราจะพาทำนา เขียนแต่หนังสือ ทำแต่งานวิชาการ ไม่มีใครเชื่อถือเราว่าเรามีทักษะพอในการทำเกษตร เราอำนวยความสะดวก ประสานงานให้มันเกิดกลุ่มขึ้น แล้วสื่อสารว่ากลุ่มทำอะไร ความจริงมันไม่เหนื่อยขนาดนั้น

บำเพ็ญ ไชยรักษ์ กลุ่มข้าวหอมดอกฮัง เกษตรนิเวศโคก จ.สกลนคร

เราคิดว่าจริง ๆ ตอนเราเด็ก ๆ เราเคยเห็นข้าวเมืองสกลนคร เป็นนิเวศโคก เราไม่รู้สึกว่ามันแล้งนะคะ เรารู้สึกว่ามันเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ตอนเด็ก ๆ เกิดมาเราได้กินข้าว อย่างต่ำ 20-30 ชนิด เราเคยได้ยินผ่านหู ข้าวหอมนางนวล ข้าวฮากไผ่ ข้าวหอมท่ง ข้าวต่าง ๆ ที่เราเคยได้ยิน ทำไมมันจะไม่เหมาะกับการปลกข้าวในเมื่อ เคยได้ยินมาตั้ง 30 เป็นอย่างต่ำ นับดูที่พาคนแก่นับกับเด็ก ๆ มันมีกี่พันธุ์ สรุปแล้วในหมู่บ้านของเราก่อนที่มันจะหายไปมันก็มี 40-50 สายพันธุ์ มีโอกาสได้เขียนสารคดีเล่มหนึ่ง พาพี่น้องมาร่วมกันกลุ่มวิสาหกิจชุมชน” 

ความจริง และความฝัน ในวันกลับบ้านเป็นถ้อยความบอกเล่าประสบการณ์ที่แบ่งปันผ่านบทสนทนาจากแขกรับเชิญทั้ง 4 ท่าน และหากจะขมวดให้ประเด็นชัดลงไป วิธีการทำฝันให้เป็นจริง 3 ขั้นตอน คือ อีกคำถามที่ชวนฟังจากคนคืนถิ่น

วิธีการทำฝันให้เป็นจริง

พัฒนชัย ลิมไธสง เจ้าของแบรนด์ “ทอกะยาย” อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดบุรีรัมย์

“3 ข้อท้าทาย จริง ๆ คือการตั้งเป้าหมายก่อน การกลับบ้านของโอ้ เพื่ออะไร แรก ๆ โอ้ทำงานประจำ โอ้อยากกลับมาอยู่บ้านมากเลย แม่ไม่อยากให้กลับมา แม่ว่ามันลำบาก โอ้มองว่าถ้าคนบ้านเราไม่กลับมาอยู่บ้านแล้วใครจะกลับมาพัฒนาบ้านเรา ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้น โอ้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่กรุงเทพฯ กลับมาอยู่บ้าน แต่ว่าไม่ได้สบาย เพราะจับได้ใบแดง รับใช้ชาติก่อน 1 ปี  

แล้วมาเรียนกับยาย ยายพาทำ เงินหมด ไปทำงานประจำ อยู่ 2 ปี งานสานพลังเพื่อบ้านเกิดเป็นธุรกิจเพื่อสังคม อยู่จังหวัดบุรีรัมย์ งานนี้เป็นฐานที่ให้โอ้ได้ทำงานพัฒนากับคนในชุมชน เราก็เป็นหนึ่งคนในชุมชนของจังหวัดบุรีรัมย์  มีโอกาสได้รู้จักเพื่อนทั่วประเทศเลย จากนั้นก็ย้ายไปทำงานที่โรงเรียนมีชัยพัฒนาไปเป็นคุณครูพานักเรียนไปพัฒนาชุมชนต่อ

“เป็นคนธรรมดามันง่ายไป…”

เราเลยมองว่าจริง ๆ เป้าหมายเราทำไมกลับมาอยู่บ้าน ทำไมอยากเป็นนักพัฒนาธุรกิจชุมชนเป็นคนธรรมดามันง่ายไป เราต้องทำธุรกิจเพื่อให้ชุมชนอยู่ได้ เราก็ต้องอยู่รอด บ้านก็อยากมี รถดี ๆ ก็อยากขับ เราต้องเป็นนักธุรกิจแล้ว ที่จะอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้อย่างไร แล้วเราสามารถสร้างผลกระทบที่มันเกิดขึ้นได้ จากนั้นวิธีการก็คือกระบวนการที่ทำอย่างไรบ้าง ชีวิตมันเหมือนจิ๊กซอว์ เราได้ปะติดปะต่อ ตั้งแต่โครงการคนกล้าคืนถิ่น หรือเป็นคุณครูอยู่ที่กรุงเทพฯมาเป็นคุณครูอยู่บ้าน เป็นนักพัฒนาธุรกิจชุมชน ที่สร้างพลังเพื่อบ้านเกิดอยู่จังหวัดบุรีรัมย์

ปัจจุบันเป็นอาสาคืนถิ่นรุ่นที่ 5 มีเพื่อนอยู่ 17 คน อยู่ทั่วประเทศ แต่ปีนี้ไม่มีภาคใต้  มีเหนือ อีสาน ภาคกลาง เสร็จแล้วโอ้เรียนทางออนไลน์แล้วก็ศึกษาด้วยตัวเองจริง ๆ การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การลงมือทำ หนึ่งเราอ่านเรารู้ว่าเราอยากทำอะไร เราก็ไปศึกษาต้องมีความรู้อะไรบ้างที่เราจะทำตรงนี้ ทั้งอ่านและทำไปด้วย ตอนช่วงโควิด-19 ผ่านมาเรียนประมาณ 5 คอร์สได้ เกี่ยวกับการทำธุรกิจตรงนี้ และสุดท้ายเป็นในเรื่องของการประเมิน

ณ จุดนี้เราไปถึงเป้าหมายไหนแล้ว ทุกเป้าหมายที่เราตั้งขึ้นต้องมี สั้น กลาง ยาว แล้วแต่แผนของแต่ละคนว่าถามตัวเองทุก ๆ ปี ว่าปีนี้เราทำอะไรไปบ้าง ปีหน้าเราจะทำอะไร เพราะว่าทุก ๆ อย่างมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราจะปรับตัวอย่างไรให้มันเกิดขึ้น ให้้เราได้เรียนรู้กับสิ่งที่มันเกิด สามสิ่งง่าย ๆ ก็คือ  การตั้งเป้าหมาย และก็การสร้างกระบวนการที่เกิดขึ้น แล้วก็ประเมินตัวเอง สิ่งที่เราทำไปมันได้ผลไหม มันพลาดตรงไหน หรือผิดส่วนไหนยังไงเอามาปรับ มีแค่สามกระบวนการประมาณนี้”

ปาริฉัตร ดอกแก้ว  อาสาคืนถิ่น รุ่น 4 จ.อุบลราชธานี

“ก่อนจะพูดถึงคนอื่น มองว่าเราต้องรู้จักตัวเองก่อน ตอนเราทำงานเรารู้ว่าเราอยากกลับบ้านแต่เราไม่รู้ตัวเองว่าเราจะไปทำอะไร อันนี้ก็เป็นการค้นหาตัวเองให้เจอก่อนว่าตัวเองชอบอะไร ใช้ชีวิตแบบไหน เรื่องที่สองที่ต้องรู้จัก คือ เรื่องต้นทุนของเรามีอะไรบ้าง ชุมชนเรามีอะไรบ้าง รวมถึงทักษะที่เรามี ว่าในตัว เรามีอะไรบ้างที่เราจะเอาไปใช้กับต้นทุนที่เรามีอยู่ เพื่อที่จะให้มันทำได้  ส่วนที่สามปามองว่ามันเป็นเรื่องของเรารู้ทุกอย่างแล้ว เราก็เริ่มทำเลย ค่อย ๆ ทำ พอเราได้ทำไปแล้ว

อย่างปากลับไปอยู่บ้าน ก็ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร พอเราเห็นว่ามี “กระบก” แล้วเราใช้วิธีคั่ว ทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยน จากเดิมที่ขายให้แต่แหล่งท่องเที่ยว เราก็โพสต์ออนไลน์ แต่ว่าช่วงนี้ปาขาดหายไป คือ ช่วงนี้ปาก็ไม่ค่อยได้ขาย ไปเป็นนักพัฒนาต้นแบบ โคกหนองนาก็เลยพักไป

หลาย ๆ อย่างไม่เคยทำ อย่างทำงานกับเด็ก ปาก็เริ่มทำจากปีที่แล้ว แล้วก็มาปีนี้ พอเราอยู่กับเด็กเราได้ทำเราได้เรียนรู้ ในระหว่างทางเราเติมอะไรบ้างแล้วประเมินตัวเองไป เหมือนอย่างที่โอ้บอก เราก็จะพยายามหามาเติม เราอยากเดินไปทางไหน ไปทางนี้มันต้องใช้อะไรบ้าง  เราดึงทักษะที่เรามี ถ้าเราไม่มีเราจะทำอย่างไร อย่างเครือข่ายมันสำคัญ ที่ปาไปทำโคกหนองนา งานองค์กรรัฐ เราไปอยู่กับชุมชนมันต้องเชื่อมหลาย ๆ หน่วยงานเข้ามา คือเราต้องรู้จักว่า เครื่องมือเราอยู่ที่ไหน วัตถุดิบเราอยู่ที่ไหน มันถึงจะได้ดึงเข้ามา ทำให้มันไปข้างหน้าต่อได้ มันมีเยอะจุดเริ่มต้นข้างบ้าน เขาผ่า เพื่อนอยากกินเราเลยเอามาขาย จริง ๆ ก็ไม่ได้แปรรูปขายเยอะ เอามาคั่วขายออนไลน์เพิ่มเติมจากเดิมที่ขายแค่ในชุมชนเราก็กระจาย”

“ความทุกข์ของคนเราก็คือความรัก ความคิดถึง และความห่วงใย…”

สุภัสสรา เที่ยงผดุง นักประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ยโสธร

“ความจริงข้อแรก ชีวิต คือ การตั้งเป้าหลัก คือ ครอบครัว ที่เราอยู่ได้เราใช้ครอบครัวเป็นหลัก เรามีความรู้สึกว่าไม่ว่าเราจะทำอาชีพอะไร หรือรายได้จะมาจากทางไหน เราไม่ได้คิดถึงตรงนั้น เราคิดว่าเราได้อยู่กับครอบครัว เราได้ดูแลเขา เขาดูแลเรา เราได้อยู่ในสายตากันและกัน ไม่ต้องมีความเป็นห่วง ความทุกข์ของคนเราก็คือความรัก ความคิดถึง และความห่วงใย

แต่พอเราได้มาอยู่กับครอบครัวมันทำให้ ความทุกข์เหล่านั้นมันหายไป เราได้ดูแลกัน เราได้รู้ว่าเขาสบายดี เราสบายดี เขาไม่ต้องห่วงเรา เราไม่ต้องห่วงเขา นี่คือการใช้ครอบครัวเป็นหลัก ได้ดูแลกัน พอเรามาทำงานขับเคลื่อนชุมชนแน่นอนว่าในชุมชนไม่ได้มีความเห็นที่ตรงกัน  มีข้อขัดแย้งทางด้านความคิดบ้าง แล้วยิ่งเราทำงานขับเคลื่อนในประเด็นสิ่งแวดล้อม ก็จะมีคนที่ไม่ให้การสนับสนุนและฝ่ายสนับสนุนมันก็เป็นปัญหาในชุมชนเช่นกัน  เราก็มีความรู้สึกว่า ความจริงนี้มันคือปัญหาของชุมชน เราได้กลับมาอยู่กับชุมชนเรามีความสำเร็จแล้วคือครอบครัว

“เมื่อเราไม่ล้มเลิกก็จะไม่ล้มเหลว…”

เรามีรายได้ที่พอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวและตัวเองได้ตามวิถีของเรา  เราก็เลยอยากมีส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชุมชน ซึ่งก็ใช้เวลานานมาก 12 ปี ซึ่งปัจจุบันนี้ เราก็ทำงานด้วยความจริง สิ่งหนึ่งคือเมื่อเราไม่ล้มเลิกก็จะไม่ล้มเหลวและปฏิบัติตามข้อกฎหมายบนฐานความจริง ทำให้รู้สึกว่าวันนี้เริ่มจะเห็นผล เป็นปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมายาวนาน พื้นที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมและน้ำแล้งด้วย  พื้นที่เราเป็นพื้นที่มีต้นทุนทรัพยากรค่อนข้างสูง ป่าไม้ แม่น้ำ แต่ว่าการบริหารจัดการของทางภาครัฐในระดับนโยบาย  อาจจะไม่ได้ถูกจัดการให้เหมาะสมกับในพื้นที่ของเรา

กลุ่มเราก็เลยอยากจะมีส่วนร่วม มีเสียงในการจัดการบริหารพื้นที่ตนเอง นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะได้ช่วยขับเคลื่อนเขา ทำมาตรงนี้ก็รู้สึกดีใจถ้ามันประสบความสำเร็จก็จะช่วยชาวบ้านได้ด้วย เรื่องของรายได้ เรื่องของปัญหาหนี้สินที่ชาวบ้านเองก็ประสบปัญหานี้อยู่แล้ว  เราต่อสู้เรื่องสิทธิ เรื่องทรัพยากร มันไม่ใช่เพื่อแต่เรียกร้องสิทธิอย่างเดียว แต่ส่วนหนึ่งเราพยายามที่จะออกมาเรียนรู้กับเครือข่าย เชื่อมกับเพื่อน ๆ เพื่อที่จะกลับไปฟื้นฟูอาชีพให้กับชุมชนด้วย เราไม่ได้เก่งแต่เราก็พยายามฟัง เราก็มีโครงการอะไร ใครให้ช่วยอะไรมันถือเป็นโอกาส  เราก็อยากมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์หาความรู้นำไป ออกแบบวิเคราะห์ร่วมกับชุมชนของเรา เพื่อฟื้นฟูชุมชนของเราในอนาคตข้างหน้า”

บำเพ็ญ ไชยรักษ์ กลุ่มข้าวหอมดอกฮัง เกษตรนิเวศโคก จ.สกลนคร

“ความจริงเหมือนคนอื่น ลงมือชวนคนอื่นมาช่วย ความคิดเรื่องนี้จะทำอย่างไรบ้าง ก็ลงทุนไปสมัครเรียนคอร์ส Community academic empowerment ที่มหาวิทยาลัย Montana เข้าไปอบรม ไปดูงานสั้น ๆ ก็เห็นวิธีคิด ความจริงเราทำงานกับชุมชน ทำงานสื่อสาร มันมีวิธีอื่นอีกไหม ที่คนอื่นเขาทำ เขาจะฟื้นฟูชุมชนเศรษฐกิจอย่างไร

พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่เหมืองแร่ขนาดใหญ่ มันเกิดผลกระทบใหญ่มากในอเมริกา ที่ Montana ก็อยากไปดูว่าทำอย่างไร เขาคิดถึงกระทั่งว่า  การตั้งมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งจะไปสร้างเศรษฐกิจชุมชนในถนนนี้อย่างไร ให้ทุนนักศึกษาตั้งแต่ปีหนึ่ง คุณทำเสนอโครงการมา คุณอยากทำธุรกิจอะไร ในช่วงชีวิตที่เรียนมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยก็อนุมิติให้ตามความฝันของคุณเลย น้องคนนั้นเขาทำร้านข้าวแกง แปดเหรียญ ขายดีมาก มีอาหารหลายชาติ เป็นรูปแบบธุรกิจ ที่เราคิดว่าที่นั่นเขามีโอกาส ให้โอกาสกับเด็กที่ฝันชัดเจน ทั้งให้โอกาสและให้เงิน ให้สถานที่ ให้ความรู้

เราลงมือทำอย่างไรบ้าง เราชวนเพื่อน ญาติพี่น้องชวนชาวบ้าน ในปีแรก ๆ หมู่บ้านเราค่อนข้างเป็นหมู่บ้านที่มีความสามัคคี มีความเป็นกลุ่มแข็งแรง มีธนาคารข้าว มีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน บริหารเงินเป็นร้อยล้านอันนั้นคือความศักยภาพภายในชุมชน มีสหกรณ์ร้านค้าที่ทุกคนเป็นสมาชิก แล้วก็ได้รับเงินปันผลคืน หมู่บ้านเรามีศักยภาพมากเลยเราพูดถึงความเข้มแข็งของชุมชน เราเป็นแค่ส่วนหนึ่งในนั้นเรา เป็นสมาชิกสหกรณ์ตั้งแต่เกิด

ดำนา 3-4 ปี แรก คนมาเยอะมาก เอาพันธุ์ข้าวขอจากเกษตรทางเลือกบ้าง เอามาปลูก 300 พันธุ์ให้เขาเลือกว่าจะเอาตัวไหน  300 พันธุ์ นั้นเอาไว้เป็นแปลงเรียนรู้ ชาวนาหรือสมาชิกของเรา ก็มาเลือกเอาพันธุ์ที่เหมาะกับนาของตัวเอง แปลงหนึ่งตอนนี้มี 10 ไร่ ปลูกข้าว 12 สายพันธุ์

ระบบนิเวศอีสานมันมีโคก เราเป็นต้นน้ำของแม่น้ำโขง  อัตลักษณ์ของแบรด์เรามาจากการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกคน”

เมื่อคนรุ่นใหม่กลับบ้าน ยังได้สานพลังชุมชน

พัฒนชัย ลิมไธสง  เจ้าของแบรนด์ “ทอกะยาย” อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จ.บุรีรัมย์

“จริง ๆ ความคิดความฝัน มันไม่ราบรื่นเสมอไป การกลับบ้านมันกลับคนเดียวไม่ได้มันต้องมีเพื่อน เราจะมีส่วนร่วมอย่างไรในการทำงานเครือข่าย โอ้มองสามด้าน ตัวคนที่กลับบ้านจะยั่งยืนอย่างไร ในการทำเกษตรกรยั่งยืน อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ ถัดมาเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต สุดท้ายเป็นเรื่องของกำไร มันสร้างคุณค่า สร้างประโยชน์อย่างไร”

สุภัสสรา เที่ยงผดุง นักประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ยโสธร

รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยชุมชน ชุมชนเรามีฐานทรัพยากร ข้าว ป่า น้ำ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อาหาร ชุมชนเราคิดว่าสร้างฐานอาหารชุมชน มีการเลี้ยงปลา เลี้ยงวัว เป็นฐานอาชีพของคนรุ่นใหม่ให้เขาได้กลับมา ถ้าจะให้กำลังใจมันอยู่ที่ใจ ถ้ากลับมาเราเป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่งเป็นเครือข่าย เป็นพลังให้กัน เราพร้อมเป็นกำลังใจให้กัน”

ปาริฉัตร ดอกแก้ว อาสาคืนถิ่น รุ่น 4 จ.อุบลราชธานี

“กลับมาอยู่บ้านตอนแรกสิ่งแรกที่ช่วยคือการบริการ มองว่าสิ่งที่ช่วยได้คือการบริการ สิ่งที่กลับบ้านไปเห็นกระบกมันเยอะมากที่บ้าน เรารวมกลุ่มในการทำ แต่ก่อนชาวบ้านไม่รู้จักว่ากินได้ไหม เราศึกษาหาวิธี คุยกับชาวบ้าน ยางมันค่อนข้างเป็นพิษ มันจะทำอย่างไรเริ่มค้นหาวิธี รู้จักเครือข่าย ทำอย่างไรที่จะปลอดภัย เราเลยพยายามดึงเขาให้ทำงานกับเราให้ได้ ตอนแรกคิดว่าตัวเองจะมีเวลาแปรรูปไหม มันเป็นอีกความท้าทาย เราอยู่บ้านได้ อยากให้คนอื่นกลับมาอยู่บ้านเหมือนเราได้ เราเป็นคนเดียวที่อยู่บ้าน โดยที่เขาไม่ต้องเริ่มมาจากศูนย์ เราพยายามดึงให้เขาอยู่ได้ สำหรับคนที่อยากกลับบ้าน ก่อนอื่น ถามตัวเองก่อน อยากกลับบ้านจริง ๆ ไหม การจะกลับบ้านมันเป็นเรื่องยาก สิ่งที่สำคัญเราหาทักษะให้เจอจะเอาตัวรอดอย่างไร”

บำเพ็ญ ไชยรักษ์ กลุ่มข้าวหอมดอกฮัง เกษตรนิเวศโคก จ.สกลนคร

“ตัวเองมีประโยชน์ในการชวน ในการสื่อสารมีคนที่ทำงาน เราสื่อสารเชื่อมโยงกับคนเหล่านั้นมา ข้าวหอมดอกฮังไร่หนึ่งเราได้ 3 กิโลกรัม ผลผลิตเราไม่สูงเราถึงเอาไปเพิ่มมูลค่าทำผลิตภัณฑ์”

พัฒนชัย ลิมไธสง  เจ้าของแบรนด์ “ทอกะยาย” อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จ.บุรีรัมย์

“สุดท้ายกลับบ้านมันไม่ได้สวยหรู มันคือการเรียนรู้ที่จะต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลาแม้ว่ากระทั่งโควิด-19 มา จะต้องปรับตัวตลอดเวลา ดังนั้นการกลับบ้านของทุก ๆ คน โอ้มองว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่เราเรียนรู้ที่จะรับมือ กับความรู้สึกของเราเอง รับมือกับบริบทรอบข้างที่เราเผชิญ หรือแม้กระทั้งเทคโนโลยีที่มันเปลี่ยนแปลงไปหรือความก้าวหน้าที่มันเกิดขึ้น มันจึงเป้นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต”

ตลอดวงเสวนา และทุกตัวอักษรที่เรียบเรียง นี่คือน้ำเสียงและข้อมูลจากส่วนหนึ่งของคนกลับบ้านในงาน “มหกรรมคนคืนถิ่น” มีทั้งความจริงและความฝัน ในวันที่เขาและเธอกลับบ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงเสียงอักษรที่ร่วมแบ่งปันให้คนที่มีฝันได้มุ่งมั่นให้เป็นจริง และคนที่อยู่กับความจริงมีพลังได้แบ่งปัน เพื่อความสุข ความอยู่ดีมีแฮงในบ้านของทุกคน

เรียบเรียง : กาญจนา มัชเรศ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ