3 โจทย์เชิงนโยบาย สร้างโอกาสคนรุ่นใหม่กลับบ้านกับ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด

3 โจทย์เชิงนโยบาย สร้างโอกาสคนรุ่นใหม่กลับบ้านกับ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด

แม้ยังไม่มีตัวเลขสถิติอ้างอิงที่แน่ชัดถึงการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนวัยแรงงานในช่วงโควิด-19 ผู้ที่เคยหอบข้าวของและความฝันมาหวังสร้างเนื้อตัวในเมืองใหญ่ แต่ต้องเจออิทธิฤทธิ์เภทภัยของโควิด-19 ในระยะเวลาเกือบ 2 ปี ก็ทำให้หลายคนต้องหอบข้าวของจากเมืองใหญ่กลับไปคืนถิ่นอีกครั้ง อาจจะมีทั้งคืนถิ่นชั่วคราวและถาวร แตกต่างกันไปตามปัจจัยต้นทุนของแต่ละคน เพื่อไปใช้ “ชีวิตนอกกรุง” ตั้งหลักเริ่มต้นอีกครั้ง

กอง บก. Localist ชีวิตนอกกรุง ชวนปรับมุมมอง ค้นหาคำตอบถึงที่มา ที่เป็นและที่ไป ของสถานการณ์นี้กับเครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาสังคม เพื่อตั้งต้นการทำงานในสถานการณ์ที่โควิด-19 อยู่รอบตัวเรา พร้อมพูดคุยกับ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อดีตอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อมองโจทย์คนกลับบ้านและโอกาสที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ “นอกกรุง”

ความเป็นไปได้ของคนรุ่นใหม่กลับบ้านและการพลิกฟื้นชุมชนกับ 3 โจทย์เชิงนโยบาย

“ในเชิงนโยบายเราจะต้องทำอะไรบ้าง ตอนนี้ที่ได้เรียนรู้มา ผมคิดว่ามี 3 เรื่อง 1.การเพิ่มพื้นที่ของการตลาด 2.การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร  และ3.การสร้างความมั่นคงในแง่สวัสดิการ  ผมคิดว่า 3 เรื่องนี้ในเชิงนโยบาย เราควรสนับสนุนทุกรูปแบบที่จะมีการพัฒนา”   

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด เริ่มต้นด้วยการให้กรอบทิศทางถึงโจทย์สำคัญ 3 ข้อ ที่จะมีส่วนยกระดับคุณภาพชีวิตของคนรุ่นใหม่ในวันที่กลับบ้านผ่านเชิงนโยบาย

1. การเพิ่มพื้นที่ของการตลาด

1.1 การทำตลาดในเชิงพื้นที่วัฒนธรรม

เรียกแล้วอาจจะดูหรูดูเป็นวิชาการหน่อย จริง ๆ มันก็คล้ายกับตลาดทั่วไป แต่เราอยากจะให้มันทำหน้าที่เพิ่มเติมนิดนึง คำว่า “วัฒนธรรม” ในที่นี้คือทำให้คนได้มาคุยกัน ให้มาเรียนรู้กัน ได้มามีความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ใช่มาซื้อกลับไปบ้านแล้วก็เหมือนเดิมจะเปลี่ยนไปอย่างไร เราไม่ได้ติดใจ แต่ถ้าสมมติ ผมสามารถมีนโยบาย อยากให้เห็นความเปลี่ยนแปลง ผมยกตัวอย่าง เช่น หลาดใต้โหนดทางปักษ์ใต้, กาดชาวไร่ที่อุทัยธานี หรือล่าสุดที่สกลจังซั่น จ.สกลนคร ผมคิดว่าตลาดเหล่านี้รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยลงทุน ส่วนจะลงทุนผ่านใครอย่างไร เดี๋ยวจะพูดถึงอีกที

1.2 ตลาดแพลตฟอร์ม

ในโลกยุคดิจิทัลปัจจุบันตลาดนี้ขยายตัวไปมาก แต่ว่าจะมีลักษณ์เป็นตลาดที่มีส่วนกลาง อาจจะเรียกได้ว่ามีการกระจุกตัวอยู่ไม่กี่บริษัท ในขณะที่ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่เข้าไปพัฒนาแพลตฟอร์มท้องถิ่น ที่มันเอื้อต่อการค้าขาย ในหลายรูปแบบ ผมขอยกตัวอย่างสัก 2 กรณี เช่น ตามสั่งตามส่ง ลาดพร้าว 101 ที่มีการเปิดตามส่งและวินมอเตอร์ไซด์เป็นไรเดอร์ส่ง ก็เสริมอาชีพของพี่วินมอเตอร์ไซด์ ตอนนี้ตามส่งตามสั่งก็ขยายไป 13 พื้นที่ทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าเราไป Follow การเกิดเหตุการณ์การตลาดแพลตฟอร์มรูปแบบนี้ก็น่าสนใจ ตอนนี้แพลตฟอร์มจะเป็นอาหารซะส่วนใหญ่ เราสามารถขยายแพลตฟอร์มเป็นพืชผลทางการเกษตร ได้หรือไม่ อันนี้เป็นตัวอย่าง และแน่นอนภูผาม่านที่พูดถึง ก็มีความพยายามเป็นเทคไทบ้านเป็นส่วนหนึ่งที่เราอยากเข้าไปสนับสนุน ในกรณีตามสั่งตามส่งถ้าพัฒนาอีกหน่อยมันจะเป็นเทมเพลตที่จะไปขยายแพลตฟอร์มที่อำเภออื่น คราวนี้ก็จะไม่แพงแล้ว ตัวแพลตฟอร์มที่พัฒนาตอนแรกอาจจะต้องใช้เงินเยอะ แต่พอพัฒนาไปถึงจุดหนึ่งเช่นที่ สกลนครสำเร็จแล้ว ต่อไปไปทำที่มุกดาหารมันก็จะไม่แพงแล้ว เพราะฉะนั้นเราอยากพัฒนาตลาดแพลตฟอร์มให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสมัครและลองทำ แล้วไปขยายผลต่อที่อื่น

1.3 ตลาดการจัดซื้อของภาครัฐ

พูดให้เห็นภาพคืออาหารกลางวันที่โรงเรียน, โรงพยาบาล ทำอย่างไรให้ภาครัฐจะมาเปิดตลาดให้คนท้องถิ่น คนคืนถิ่นได้เข้ามา ตรงนี้เราอาจจะไม่ต้องไปแย่ง 21 บาทเดิมก็ได้ แต่สมมติเรามีโจทย์ว่าตอนนี้เด็กไทยบริโภคผักและผลไม้ที่ค่อนข้างน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ไอ้ส่วนที่เราจะต้องเพิ่มขึ้นจาก 21 บาท อาจจะเป็น 25-30 บาท ให้เป็นการจัดหาภายในท้องถิ่นได้ไหม มีโมเดลภายในท้องถิ่นเข้ามาจัดหาได้ไหม อันนี้คือตัวนโยบายที่จะทำได้ ซึ่งอันนี้มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ อ.จอมพระ จ.สุรินทร์

1.4 การตลาดเชิงสังคม

บางกรณีเรามองว่าบางทีอาจจะไม่ใช่ตลาดเศรษฐกิจด้วยซ้ำ แต่เราอยากจะเปิดตลาดเหล่านี้ให้เป็นมิติทางเศรษฐกิจของการมีงานทำที่มั่นคง ตอนนี้เราคิดมา 4 เรื่อง

1.4.1 ระบบการดูแล Care Sector การดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการในท้องถิ่นให้มีความมั่นคง ถ้าคนรุ่นใหม่หรือคนกลุ่มไหนมีนโยบายพัฒนาแบบนี้ได้ รัฐบาลควรสนับสนุน

1.4.2 การเรียนรู้ เป็นหัวใจของสังคมยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ในสวน ในไร่นา ระบบการเรียนรู้ เราจำเป็นจะต้องการลงทุนกิจกรรมในเชิงการเรียนรู้ในลักษณะแบบนี้ได้ ผมคิดว่าภาครัฐควรเข้าไปหนุนเสริม ไม่งั้นการเรียนรู้ก็จะกระจุกตัวอยู่กับคนบางส่วนที่มีโอกาสดี ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของมีเงินเยอะ หรืออยู่ในชุมชนที่เข้มแข็ง แต่เราอยากให้โอกาสนี้มันกระจายให้กับคนรุ่นใหม่ทุก ๆ คน

1.4.3 ถ้าสามารถเข้าถึงความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลได้ ทำอย่างไรให้เด็กทุกคนได้เรียนในระบบดิจิทัลได้มากขึ้น ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุใช้ดิจิทัลได้มากขึ้น

1.4.4 การเข้าถึงในเทคโนโลยีอื่น ๆ เรามีโจทย์หลายข้อที่ระยะยาวน่าจะท้าทายมาก ยกตัวอย่างการไล่นก ในพื้นที่นาข้าวภาคกลาง การเก็บมะพร้าวในพื้นที่ภาคใต้ มันจะมีโจทย์อะไรแบบนี้ ในแง่เทคโนโลยีที่เราต้องการคนรุ่นใหม่มาช่วย

2. การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร

2.1 การแก้ไขปัญหาหนี้สินพ่อแม่ ตรงนี้มันจะมาเกี่ยวกับลูกหลานนะครับ คือมีเกษตรกรรุ่นผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งเป็นหนี้ และไม่อาจหลุดพ้นได้ คือแบบว่ามีปัญหาเยอะมาก เรากำลังพัฒนานโยบายว่าจะเข้ามาซื้อหนี้เกษตรกร ไม่ใช่ปลดหนี้ รับซื้อหนี้ คือ ซื้อที่เข้ามาบริหาร หมายถึงว่าที่ดินตรงนี้จะเป็นส่วนหนึ่งมาคืนที่ให้กับคนที่รับซื้อ หมายถึงว่าถ้าพี่น้องใช้ผืนดินนี้ต่อไป ก็ไม่สามารถใช้หนี้คืนได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะคืนหนี้ได้ ต้องหาคนมาบริหารที่ดินแปลงนี้ที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่า ส่วนพี่น้องเดิมก็จะได้หมดหนี้ ไม่ต้องเสียค่าชำระหนี้ในแต่ละเดือน เพราะฉะนั้นตัวบริหารที่ดินนี้อาจจะไม่ต้องเอาที่ดินมาทั้งหมด อาจจะเอามาแค่ส่วนหนึ่ง และคนที่เข้ามาบริหารที่ดิน แน่นอนที่สุดคือไม่ใช่รัฐบาล แต่เราอยากจะให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหาร เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะทำหน้าที่ Map Making ให้คนรุ่นใหม่บริหารที่ดินตามระยะเวลาการใช้หนี้ เช่น 10 ปี หรือ 20 ปี หลังจากนั้นที่ดินก็กลับไปเป็นเจ้าของเดิม ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ไม่ต้องซื้อที่ดินตั้งแต่เริ่มต้น แต่สามารถทดลองแนวความคิดในการทำฟาร์ม และถ้าทำสำเร็จอาจจะขยายมีที่ดินของตัวเองเมื่อพร้อมต่อไป อันนี้คือตัวอย่างเรื่องการจัดการหนี้สิน มันอาจจะซับซ้อน แต่ในมุมมองเศรษฐศาสตร์คือการปลดล็อกทั้ง 2 ล็อก รัฐบาลใต้หวันทำหน้าที่เรื่องนี้เข้มข้นมากเลยทำให้คนรุ่นใหม่ไปเช่าที่ดินของผู้สูงอายุที่ทำงานไม่ไหว แต่ว่าตอนเช่าก็จะได้เงินกลับไป

2.2 น้ำ เรื่องขุดสระ ผมจะพูดเรื่องนี้เป็นประเด็นสุดท้าย ถ้าเราไปดูในแผนของกรมชลประทานถึงปี 2580 เขาจะพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพียงแค่ 40% ของพื้นที่การเกษตร หมายความว่าอีก 60% ของพื้นที่การเกษตร ต่อให้รอถึงปี 2580 ก็จะไม่ได้อยู่ในแผนของกรมชลประทาน แปลว่าอะไร แปลว่าเราจะลุยด้วยตัวเอง รัฐบาลควรจัดสรรงบผู้ที่ไม่ได้อยู่ในแผนได้ลุยเอง ในการหาน้ำที่เพียงพอได้ใช้ในการเกษตร ในการทำสวน ทำไร่นาของตัวเอง ผมคิดว่าคนส่วนหนึ่งรอลุ้นว่า เราอาจจะอยู่ในแผนของกรมชลประทานเข้าสักวันหนึ่ง แต่ลองไปดูในแผนแล้วแม้จะต้องรอไปถึงปี 2580 ก็ครอบคลุมแค่ 40% ของพื้นที่เท่านั้นเอง

3. การสร้างความมั่นคงในแง่สวัสดิการ

มีส่วนช่วยให้เกษตรกรเบาใจ ถ้ามีสวัสดิการที่ดี เราก็ไม่ต้องกังวล พ่อแม่ก็มีระบบสวัสดิการเข้ามาดูแล ลูกก็มีสวัสดิการเข้ามาดูแลตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเรียนจบ อันนี้คือตัวที่ทำให้เขาทำในสิ่งที่ตั้งใจได้

โจทย์ตั้งต้น ในวันที่คนรุ่นใหม่กลับบ้าน นอกจากความคาดหวังส่วนบุคคลจากครอบครัวและคนรอบข้างที่ต้องฝ่าฟัน โจทย์เก่าที่เล่าใหม่และยังเป็นโจทย์ใหญ่ คือ การสร้างโอกาสให้ “เขา” และ “เธอ” ผู้เป็นความหวังในวัยแรงงานได้มีโอกาสลงหลักปักฐาน ตั้งต้นชีวิตอีกครั้ง หากนโยบายที่มีเอื้ออำนวยและพร้อมเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ได้มีตลาดเพิ่มขึ้น ได้เข้าถึงทรัพยากร และมีรัฐสวัสดิการที่เป็นหลังพิง เหล่านี้อาจเป็นกุญแจไขไปสู่ความสำเร็จ หรือเปิดประตูปลดล็อกความกังวลใจและก้าวสู่ประตูบานใหม่ในบ้านของเขา บ้านของคนที่ต้องการใช้ “ชีวิตนอกกรุง”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ