“เพราะเราเชื่อว่ามันสามารถกำหนดนโยบายจากข้างล่างขึ้นข้างบนได้ และเราเชื่อมั่นว่า นโยบายที่มาจากชุมชน คือนโยบายที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของพื้นที่ และมีความยั่งยืนมากกว่า”
สวัสดีครับชื่อน้ำนิ่งอภิศักดิ์ ทัศนี นะครับเป็นผู้ประสานงาน Beach for life ก็เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันทำงานเรื่องชายหาด เรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง เรื่องสิทธิชุมชน เรื่องการจัดการทรัพยากร เป็นหลัก แต่ในกลุ่มเรายังมีคนหลากหลายรุ่น ตั้งแต่คุณลุงไปจนถึงน้อง ๆ เยาวชน มาทำงานร่วมกัน มีพาร์ทที่เราไปเกี่ยวข้องกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัย และฝั่งกฎหมายอย่างมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ไม่ได้เป็นองค์กรที่มีคนเยอะ แต่เราก็ทำงานด้วยความตั้งใจ เพราะเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่อง (การจัดการ) ชายหาด
“Beach for life มีเป้าหมายหลักคือ สามารถทำให้ชุมชนสามารถกำหนดเจตจำนงของตัวเองได้ในการดูแลชายหาดหน้าบ้านของพวกเขา พวกเขาอยากเก็บรักษาไว้อย่างไร เราพยายามส่งเสริมความรู้และช่วยพวกเขาทำข้อมูลในการจัดการพื้นที่ชายฝั่ง”
ภารกิจของ Beach for life จะมี 4 เรื่อง
อย่างแรกคือส่งเสริมความรู้เรื่องชายหาด และเรื่องสิทธิชุมชน เราทำงานผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ผลิตบทความทางวิชาการ ทำแบนเนอร์สื่อสารเพื่อย่อยข้อมูลที่เป็นวิชาการให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และเชื่อมต่อกับพาร์ทเนอร์ที่ทำงานสื่อสาร เพื่อจะทำให้ประเด็นชายหาดและการกัดเซาะชายฝั่งขยายไปกว้างขึ้น (เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมความรู้) และการจัดเวทีในระดับชุมชนตามชุมชนชายฝั่งต่าง ๆ มีงานรณรงค์เพื่อปกป้องชายหาด เพื่อสร้างกระแสสาธารณะในการร่วมกันดูแลรักษาชายหาด เช่น saveหาดม่วงงาม ปกป้องหาดดอนทะเล และหาดทรายรีต้องมีหาดทราย
ภารกิจที่สองเราพยายามทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร โดยการให้ชาวบ้านทำธรรมนูญชุมชน หรือแม้กระทั่งการเสนอ ข้อเสนอต่อหน่วยงานปกครองท้องถิ่น เช่น แผนปฏิบัติการการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ (BeachZoning) ที่เสนอต่อนายกเทศบาลนครสงขลา
งานต่อมาเป็นงานเก็บข้อมูล ติดตามสภาพชายหาด ว่าชายหาดแต่ละพื้นที่เปลี่ยนแปลงอย่างไร เราส่งเสริมให้ชุมชน ทำฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดของตนเอง เพราะที่ผ่านมารัฐ มักจะมาบอกว่า “หาดที่นี่กัดเซาะต้องสร้างกำแพงกันคลื่น” แต่พอเราไปดูสภาพความเป็นจริงจากการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องอย่างหาดม่วงงาม หาดมหาราช เรากลับพบว่าการกัดเซาะเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว มันไม่จำเป็นที่จะต้องเอากำแพงกันคลื่นมูลค่ากว่าร้อยล้านต่อกิโลเมตร มาสร้างบริเวณที่มีการกัดเซาะชั่วคราวก็ได้ ซึ่งถ้าเราทำให้ชุมชนมีข้อมูลในการจัดการพื้นที่ชายฝั่ง เราก็จะเห็นพลังของชุมชน ในการที่จะกำหนดเจตจำนงของตัวเองได้ว่า ชายหาดบ้านเขาควรจะเป็นแบบไหน ไม่ใช่การกำหนดนโยบายแบบ Top down เราอยากเห็นนโยบายแบบ Bottom UP
และภารกิจสุดท้ายการจัดทำนโยบายทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ อย่างเราเรียกร้องให้กำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA โดยเรารวบรวมข้อมูลจากพื้นที่ต่าง ๆ ว่ามีกำแพงกันคลื่นตรงไหนบ้าง มีผลกระทบอย่างไรบ้าง ผ่านแอพพลิเคชัน C-Site หรือการรวบรวมข้อมูลมูลค่ากำแพงกันคลื่นว่า ณ ตอนนี้มีมูลค่าเท่าไหร่ เราสูญเสียงบประมาณไปมากแค่ไหน หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชน เราเชื่อว่าพลังการสื่อสารอยู่ที่เรา เรามีเครื่องมือเยอะมากในการสื่อสารออกไป เพื่อทำให้สาธารณะตื่นตัวด้วย ในประเด็นที่เรากำลังเรียกร้อง
“Beach for life รวบรวมข้อมูลโครงการกำแพงกันคลื่นที่ไม่ต้องทำ EIA ตั้งแต่ปี 2556 – 2562 พบโครงการกำแพงกันคลื่นทั้งหมด 74 โครงการระยะทางรวม 34.875 กิโลเมตรตลอดแนวชายฝั่ง งบประมาณรวม 6,967,853,620 บาท”
การเรียกร้องเรื่อง EIA คือการเรียกร้องเรื่องโครงสร้าง ที่ถูกต้องและเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นการสร้างบรรทัดฐานโครงการของรัฐว่า หากต้องทำโครงการที่ริมชายหาดควรจะศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และศึกษาอย่างถูกต้อง ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งเราต้องการระบบและโครงการที่มันถูกต้อง เราไม่ได้ต้องการจะหยุดทุกโครงการ เพราะบางพื้นที่มีความจำเป็นจริง ๆ ในการสร้างกำแพงกันคลื่น แต่เรากำลังบอกว่า ถ้าจะต้องสร้าง ควรจะต้องศึกษาผลกระทบก่อน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมก่อน มีข้อมูลที่ถูกต้อง และเป็นข้อมูลของพื้นที่จริง ๆ ประชาชนมีส่วนร่วมจริง ๆ ในการจัดทำ EIA
“ผมคิดว่า Beach for life เราแค่มีส่วนร่วมในการตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วเอาความรู้ เอาข้อมูลทั้งหมดมาวางตรงกลางเพื่อให้สังคมได้ตั้งคำถามร่วมกันว่า วิธีการของรัฐนั้นเหมาะสม และถูกต้องหรือเปล่า”
ไม่ใช่แค่ Beach for life แต่คือกระบวนเครือข่ายชายหาดทั้งประเทศ เพราะเราคิดว่าชายหาดเป็นของประชาชน ดังนั้นกำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA คือวาระของคนที่รักชายหาด ของคนที่ห่วงใยต่อชายหาดทั้งประเทศ การตื่นตัวของชาวบ้านที่ไม่เอากำแพงกันคลื่นจะเยอะขึ้น เพราะนี่เป็นการยัดเยียดการพัฒนาที่ชาวบ้านไม่ได้ต้องการ ผมคิดว่าถ้ายังไม่หยุด สิ่งที่จะเห็นในปีถัดไป ภายใต้การตื่นรู้ของชาวบ้าน ที่ปัจจุบันกระแสสาธารณะไปไกลมาก คือการลุกขึ้นมาของชาวบ้านเพื่อทวงถามความชอบธรรม ว่าจริง ๆ แล้วรัฐบาลควรสร้างกำแพงกันคลื่นริมชายหาดหรือไม่ รัฐบาลควรมีมาตรการใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้แล้ว หากว่ารัฐบาลยังไม่หยุดมาตรการแบบนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือชาวบ้านจะลุกขึ้นถามคำถามกับรัฐบาล ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ใช่ผลดีกับรัฐบาลเท่าไหร่ ที่ประชาชนทั่วประเทศที่มีชายหาด จะตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า “คุณมีสิทธิจะกระทำต่อชายหาดของพวกเขาหรือเปล่า” หรือจริงแล้ว อำนาจการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลเป็นของประชาชน และชุมชนที่จะกำหนดเจตจำนงตนเอง
ทิศทางของกลุ่มก็ยังเหมือนเดิม คือที่ไหนไม่มีการกัดเซาะ และมาสร้างกำแพงกันคลื่น เราก็จะลงไปให้ความรู้ชาวบ้านและพยายามทำข้อมูลของชุมชนออกมายืนหยัด ว่าที่จริงแล้วมีความจำเป็นในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหรือไม่ เพราะเราเชื่อว่าการทำแบบนี้จะทำให้ชุมชนนั้น ๆ ตื่นรู้และในภาพรวมของกระแสสาธารณะก็ยืนยันเรื่องการเรียกร้องให้กำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA แม้หลายคนจะบอกว่ามันไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาการกัดเซาะ ใช่ มันไม่ได้แก้ไขปัญหาการกัดเซาะ แต่มันคือการหยุดการระบาดของกำแพงกันคลื่น ณ เวลานี้เท่านั้นเอง และเราก็เชื่อว่ายังมีมาตรการอื่น ๆ อีก ที่เป็นคำตอบในการจัดการชายฝั่งอย่างยั่งยืน
- บทความที่เกี่ยวข้อง
ข้อเสนอภาคประชาชนภาคใต้ ต่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน
5 เรื่องเด่น ประเด็นชายหาด ประจำปี 2564
เราเห็นชุมชนตื่นรู้กับเรื่องนี้เยอะมาก เมื่อ 10 ปีที่แล้ว
หากย้อนกลับไปพูดถึงเรื่องชายหาด เป็นเรื่องที่คนยังไม่มีความรู้ แต่ ณ วันนี้กลายเป็นอีกเรื่องเลย พอเราบอกว่ากำแพงกันคลื่นส่งผลกระทบ คนก็จะมาต่อว่าใช่ ส่งผลกระทบแบบนี้นะ หาดทรายหายไป เกิด End effect เมื่อก่อน “End effect” (ผลกระทบด้านท้ายน้ำ) คือคำที่อธิบายยาก คนไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้เขารู้เลยว่าถ้ามีการสร้างกำแพงกันคลื่นที่จุดนี้ จะไปกระทบอีกจุดหนึ่ง กลายเป็นศัพท์ที่ชาวบ้านพูดกันทั่วไป และพวกเขาก็เข้าใจ แต่รัฐไม่เข้าใจ
สาธารณะตื่นตัว ทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น ความรู้ไม่ได้ถูกจำกัดแค่คนกลุ่มเรา แต่มันถูกขยายออกไปมากขึ้น ขยายไปภาคธุรกิจ ขยายไปสู่คนที่อยู่ในหน่วยงานราชการ ไปสู่ชุมชน ซึ่งเป็นความรู้สึกว่างานของเราไม่ได้จบแค่นี้ แต่ถูกสานต่อด้วยคนของชุมชน ด้วยความรู้ที่เราส่งต่อให้เขา เราเห็นชัยชนะของชุมชนเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ชุมชนไหนที่กล้าเรียกร้องและกล้าปกป้องทรัพยากรของตัวเอง เขาก็จะได้รับชัยชนะ ซึ่งทำให้เรารู้สึกดีที่ยังเก็บรักษาหาดผืนนั้นไว้ได้
“ท้ายที่สุดสิ่งที่เรา (Beach for life) และชุมชนชายฝั่งอื่น ๆ ที่ลุกขึ้นมาปกป้องชายหาด เช่น หาดม่วงงาม หาดมหาราช หาดดอนทะเล หาดทรายรี และอีกมากมาย มันไม่ใช่แค่การบอกว่าปกป้องสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างเดียว แต่มันคือ การคัดง้างกับอำนาจรัฐ และคัดค้านวิธีคิดการพัฒนาที่รวมสูญอำนาจจากข้างบน แล้วยัดเหยียดให้กับชุมชน การตื่นตัวของประชาชนที่ปกป้องทรัพยากรหาดทราย คือ พลังของพลเมืองที่ตื่นรู้ และปกป้องสิทธิชุมชน ปกป้องทรัพยากร กล้าหาญที่จะบอกว่าเราอยากมีชีวิตอยู่ในชุมชนและสิ่งแวดล้อมแบบนี้ แบบที่ฉันเป็นคนกำหนด”