“เป่งลึ้ง” พื้นที่โล่งแจ้งทางปัญญา โดยหนุ่มสาวเวียงลอ

“เป่งลึ้ง” พื้นที่โล่งแจ้งทางปัญญา โดยหนุ่มสาวเวียงลอ

เพิงพัก ที่ทำจากวัสดุภายในชุมชน

ประเทศไทยในปัจจุบัน รูปแบบของการเป็นชุมชนมีความแตกต่างหลากหลายรูปแบบ ชุมชนเมืองก็จะมีความเป็นเมืองอย่างชัดเจน ทุกคนใช้เวลาที่มีในชีวิตให้มีประโยชน์สูงสุดกับตัวเอง การเสียสละเวลาของตัวเองจากชีวิตประจำวันมาใช้ร่วมกับชุมชนจึงเป็นเรื่องลำบาก คนในเมืองเหนื่อยล้าจากการทำงานและการเดินทางมาทั้งวันแล้ว เวลาพักผ่อนแทบจะเหลือแค่เพียงหลับนอนเท่านั้น

รูปแบบชีวิตที่ต่างไปในจังหวัดอื่น ๆ นอกพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร จึงเป็นรูปแบบที่คนทำงานในเมืองหลวงโหยหา การใช้เวลาในการเดินทางไปทำงานไม่มากนัก พื้นที่ปลอดภัยจากฝุ่นและควัน ค่าใช้จ่าย อาหารการกินราคาถูก รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ป่าไม้ น้ำตก ฯลฯ เหล่านี้คือมายาคติที่ถูกใครก็ไม่ทราบยัดเยียดใส่สมองผ่านสื่อหลักมาอย่างยาวนาน

สิ่งที่กล่าวไปย่อหน้าข้างต้น มันก็คือเรื่องจริง แต่เป็นเพียงแค่ด้านเดียวที่สวยงาม กลับกันในอีกด้านหนึ่งนอกจากภาพเหล่านั้นแล้ว หากจะใช้ชีวิตจริง ๆ ในพื้นที่อันอบอุ่นหรือวิถีชีวิตแบบ “สโลว์ไลฟ์” ได้นั้น ยังมีเบื้องหลังและปัญหาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรายได้เฉลี่ยรายหัวของพื้นที่ก็ต่ำกว่าเมืองหลวงเท่าตัว ในขณะที่รายจ่ายนั้นแทบจะไม่ได้ลดลงมากเท่าใดนัก หากไม่มีต้นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว เช่น พื้นที่ หรือ กิจการดั้งเดิมของครอบครัว การย้ายถิ่นฐานมาใช้ชีวิตใหม่ในบ้านนอกล้วนต้องใช้ความพยายามอย่างสูงทั้งแรงกายและเงินทุน

เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรงทั่วโลกตอนนี้ คล้ายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้คนหนุ่มสาวที่เข้าไปหางานทำในเมืองใหญ่ต้องกลับภูมิลำเนาจากพิษเศรษฐกิจอันรุนแรงและไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นในเร็ววัน การถอยกลับไปยังที่มั่นเป็นตัวเลือกเดียวทีมีของใครหลายคน หากไม่มีตัวเลือกหรือแม้กระทั่งกลับมาที่บ้านก็ยังไม่ใช่พื้นที่มั่นดังที่คิดจะทำอย่างไรกัน?

บทความนี้จะพาไปรู้จักกับ “เป่งลึ้ง Cafe & Learning Space” ซึ่งเป็นพื้นที่กลางหรือพื้นที่สาธารณะในชุมชนตำบลลอ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา ที่เกิดจากความคิดของคนหนุ่มสาวในพื้นที่ ทั้งคนที่กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านหมาด ๆ หรืออาศัยในพื้นที่อยู่แล้ว ร่วมกันขยับตัวสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้ทางด้านการทำมาหากินในวิถีเกษตรกรอันเป็นอาชีพส่วนใหญ่ของคนในชุมชน และยังนำเสนอความรู้ความคิดใหม่ ๆ เป็นไอเดียเพื่อไปต่อยอดเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมและเรียนรู้ที่นี่อีกด้วย

เป่งลึ้งคืออะไร

“เป่งลึ้ง ที่มาก็คือว่า เกิดจากคำพูดของคนในชุมชนนี่เองค่ะ เช่น ตื่นเช้ามาน้องก็อาบน้ำแต่งตัวออกจากบ้านสะพายกระเป๋า 1 ใบออกมาทำงาน แล้วเขาก็จะถามอยู่ตลอดว่าไปไหนอย่างนี้ แล้วน้องก็จะบอกไปว่า อ๋อไปทำงานที่ศูนย์ข้อมูล ชาวบ้านก็ตอบกลับมาว่า อ้อ นั่นปะไร เมื่อก่อนรก เดี๋ยวนี้ทำไมมาเป่งลึ้ง (โล่งเตียน สะอาด เรียบร้อย) อย่างนี้ ก็อย่างนี้เองเป็นที่มา ถ้าอย่างนั้นเราใช้คำว่าเป่งลึ้งดีกว่าหรือไม่อย่างนี้นะ เป่งลึ้งก็คือดูสะอาดตา น่าชม น่ามอง อย่างนี้ค่ะ”

สมภพ หรือ “เจ๊แพน”, “แพนเค้ก” กับเรื่องเล่าต่างๆ มากมาย

สมภพ หรืออีกชื่อหนึ่งที่เพื่อน ๆ น้อง ๆ เรียกว่า “แพนเค้ก” คนรุ่นใหม่ในชุมชนที่กลับมาใช้ชีวิตอยู่บ้านหลังจากผจญภัยใช้ชีวิตภายนอกมาหลายปี แพนเค้กเล่าว่า

“ก่อนหน้านี้น้องเคยทำงานอยู่ที่สุราษฏร์ ทำบัญชี จบการตลาดแต่มาทำบัญชีแล้วก็อยู่ได้ 5-6 ปี คือมันอิ่มตัวแล้ว น้องกลับมาอยู่บ้านค่ะ แต่งานตัวนี้เป็นงานที่สายที่รักอยู่ละ แล้วก็มันมีจิตวิญญาณอยู่แล้วค่ะ น้องก็เลยกลับมา ตอนนี้ก็คือยึดเอางานตัวนี้เป็นหลัก”

ภพที่กำลังตกแต่งสถานที่ เพื่อเตรียมงานวัน”เปิดบ้าน” หรืองานเปิดตัวศูนย์เรียนรู้เกษตรชุมชนเวียงลอ หมู่ 11 อีกครั้ง หลังจากศูนย์นี้ได้เกิดขึ้นโดยคนรุ่นก่อนเมื่อหลายปีมาแล้วเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตรให้กับคนในชุมชนตามยุคสมัยนั้น การเปิดตัวคราวนี้ เหมือนเป็นการ “อัพเดท” หรือติดตั้งความรู้ใหม่ ๆ ทันยุคทันสมัยเพื่อเผยแพร่ต่ออีกทอดหนึ่ง และยังปรับปรุงตัวศูนย์ใหม่จากเดิมที่เป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้แบบจริงจัง สภาพพื้นที่ก็เป็นป่าหญ้าหรือไร่นาตามกระแสในช่วงนั้น ซึ่งเด็ก ๆ ในกลุ่มนี้ก็ลงความเห็นกันว่า มันควรเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่ใครก็สามารถมาใช้ได้อย่างปลอดภัยและสบายใจ มานั่งเล่นพูดคุยกันได้ทุกวันมากกว่าเป็นพื้นที่ใช้งานตามช่วงกิจกรรมรายปี ซึ่งหลายครั้งก็เว้นว่างแรมเดือนขาดการดูแล กลายเป็นพื้นที่เงียบเหงาซบเซาไป

 “หลัก ๆ คือจะเป็น Learning Space นี่ก็คือเป็นศูนย์การเรียนรู้ อยากให้เขามาศึกษา พอมาศึกษาและก็เราเป็นต้นแบบ แล้วคนที่เข้ามาก็ให้เขาเอาไปปฏิบัติตามหรือว่าผสมผสานกับแนวคิดของตัวเองด้วยอะไรอย่างนี้ค่ะ คือของเราจะเป็นต้นแบบเพื่อที่จะไปต่อยอดกับคนที่เข้ามาดูอย่างนี้ค่ะ”

หนุ่มสาวรวมตัวกันได้อย่างไร?

“การที่คนรุ่นใหม่จะเข้ามาพัฒนาชุมชนนั้น ถ้าเขายังอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ คือถ้าอาชีพเขายังไม่มั่นคงเขาก็จะไม่สามารถเสียสละได้เต็มที่”

หรืออาจารย์แจวของเด็ก ๆ ในชุมชน

โครงการ U2T U2Tย่อมาจาก University to Tambon ซึ่งทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มอบหมายให้ทางมหาวิทยาลัยพะเยาเข้าไปดูแลพื้นที่ในตำบลแต่ละตำบล เพื่อยกระดับคุณภาพ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนตำบลที่เรารับผิดชอบ โดยที่ในโครงการนี้ก็นอกจากจะยกระดับชุมชนแล้ว ยังทำให้เกิดการจ้างงานของบัณฑิตที่พึ่งจบนะคะ แล้วก็ประชาชนในพื้นที่และนิสิต ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถทำให้เราเนี่ย จ้างงานน้อง ๆ ที่เป็นคนในพื้นที่ แล้วมาช่วยกันสร้างโปรเจ็คหรือสร้างไอเดียที่จะพัฒนาชุมชนได้ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะว่าจากการทำงาน เราพบว่า การที่คนรุ่นใหม่จะเข้ามาพัฒนาชุมชน ถ้าเขายังอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ คือถ้าอาชีพเขายังไม่มั่นคง เขาจะไม่สามารถเสียสละได้เต็มที่ ดังนั้นคือเมื่อมันมีเงินเดือน เขาสามารถดูแลตัวเองได้ช่วงระหว่างโครงการ เขาสามารถจะลงมาทำสร้างสรรค์สิ่งต่างๆให้กับชุมชนได้เต็มที่ค่ะ อาจารย์แจวกล่าว

เมื่อได้ฟังอาจารย์แจวเท้าความแล้ว ยิ่งพบความสนุกสนานและประหลาดใจยิ่งขึ้นถึงที่มาที่ไปของการเข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนในครั้งนี้

“คนรุ่นใหม่เขาจะมีมุมมองอีกแบบนึงซึ่งทันกับโลก แล้วก็เหมือนเขาเชื่อมโยงกับโลกปัจจุบันได้ มันอาจจะเป็นช่องว่างหนึ่ง ที่ผู้ใหญ่ในชุมชนยังทำไม่ได้”

คือจริง ๆ ตอนแรกค่ะ ได้รับการทาบทามจากนายอำเภอ เพราะว่าแกเห็นว่าเรามาจากคณะวิศวะฯ นะ ให้มาช่วยซ่อมฝ้าที่ศูนย์ข้อมูลเวียงลอนะคะ พอได้มากับนายอำเภอแล้วก็พบว่า จริง ๆ ที่นี่มันมีองค์ความรู้และก็มีผู้คนที่พร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ค่อนข้างเยอะ แต่ตอนนั้นเขาจะโฟกัสกันที่เรื่องของโบราณสถานเป็นจุดขายของที่นี่เป็นหลัก ที่นี้พอได้มาทำงานช่วงแรกเนี่ย เข้ามาทำในส่วนของ เป็นโครงการ 1 คณะ 1 โมเดลของมหาวิทยาลัยพะเยาที่ให้คณะลงมาทำงานกับชุมชน

สิ่งที่เราพบก็คือว่าชุมชนพยายามขับเคลื่อนแต่มันเหมือนขาดอะไรบางอย่าง ที่ทำให้เขายังเดินไปไม่สุด จนเราพบว่ามันมีช่องว่างของความรู้อะไรบางอย่างที่เราน่าจะต้องเสริมให้เขา แล้วเขาจะสามารถทำได้ด้วยตัวเองไม่ได้ต้องพึ่งพาข้างนอก ก็เริ่มมาทำกับกลุ่มผู้ใหญ่ก่อนนะคะ ก็จะเป็นแกนนำกลุ่มท่องเที่ยวเวียงลอ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนกลุ่มที่มีอายุสักหน่อย ระหว่างที่ทำไปก็เริ่มมีน้องจ๋าซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่นะคะ เป็นคนรุ่นใหม่ที่เคยไปทำงาน เรียนจบที่กรุงเทพ ฯ และก็ทำงานที่กรุงเทพ ฯ แล้วน้องกลับมาอยู่ที่บ้านนะคะ ก็เหมือนน้องเห็นที่โครงการของเราเข้ามาทำกับชุมชน น้องก็เลยเริ่มเข้ามา เราก็เลยเริ่มมองเห็นบางอย่าง คือพอน้องจ๋าเข้ามาช่วย แล้วแจวก็ชวนน้องพลอยซึ่งเป็นลูกศิษย์ของแจว ที่เป็นลูกศิษย์ตอนเรียนในคณะวิศวะ ซึ่งเป็นน้องที่อยู่อีกตำบลนึง แต่ว่าอยู่ในอำเภอจุนเหมือนกัน ก็ชวนให้มาเป็นผู้ช่วยวิจัย

เราก็มองเห็นประเด็นบางอย่างว่า คนรุ่นใหม่เขาจะมีมุมมองอีกแบบนึงซึ่งทันกับโลก แล้วก็เหมือนเขาเชื่อมโยงกับโลกปัจจุบันได้ มันอาจจะเป็นช่องว่างหนึ่ง ที่ผู้ใหญ่ในชุมชนยังทำไม่ได้ แล้วก็น้องก็สามารถเข้ามาเสนอไอเดียในส่วนของทำยังไงให้มันเดินไปข้างหน้าได้ตามยุคตามสมัยของโลกค่ะ

สมาชิกของคณะทำงานอีกคนที่อยากจะพาไปรู้จัก ก็คือ “จ๋า” ชนม์นิภา ไข่ทา ที่กลับมาอยู่บ้านเกิดและยึดอาชีพเกษตรกรเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง โดยใช้ทักษะที่เคยผ่านมา ทั้งในชีวิตการเรียนและชีวิตการทำงานในเมืองใหญ่ มาปรับใช้เข้ากับผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองมีได้อย่างดีเยี่ยม

โดยจ๋า ได้กลับมาเปิดร้านเล็ก ๆ ชื่อ Mini Garden ข้าวหอมมะลิแดง/ดำ เก๊กฮวย&สตอเบอรี่ ธรรมชาติ เพื่อเริ่มขายผลิตภัณฑ์ของครอบครัวและชุมชนออกสู่ตลาดภายนอกอีกด้วย

“จ๋า” ชนม์นิภา ไข่ทา ตัวแทนของหนุ่มสาวเวียงลอ บอกเล่าเรื่องราวอันเป่งลึ้ง

เมื่อก่อนนี้น้องกับครอบครัวอยู่กรุงเทพฯ พ่อกับแม่ไปทำงาน น้องก็ไปเรียน พอเรียนจบแล้วน้องก็ทำงานที่นั่น ตอนหลังพ่อกับแม่ก็ย้ายมาอยู่บ้าน มาทำนา เราก็ยังทำงานอยู่ที่นั่นอยู่ พ่อกับแม่อยากให้กลับมาอยู่บ้าน แต่ก็ไม่อยากมานะ กลับมาแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไรค่ะ ก็คิดอยู่ว่าถ้ากลับมานี่จะทำอะไรดี แต่พ่อกับแม่เขาก็ทำนาอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่า เออ ถ้ากลับมาที่นี่จะลองมาทำนาอินทรีย์ดูอย่างนี้ค่ะ แล้วก็วางแผนว่าแปรรูปข้าว เป็นข้าวอินทรีย์อย่างนี้ค่ะ ทำผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องสำอางเป็นขนมอันนี้คือคิดวางแผนไว้ในหัวค่ะ แล้วก็พอคิดก็คิดว่าน่าจะทำได้ ก็เลยตัดสินใจลาออกจากพนักงานประจำค่ะ แล้วก็กลับมาอยู่บ้านมาลองทำสิ่งที่ตัวเองวางแผนไว้ พอกลับมาทำที่บ้านแล้ว ก็ได้มาช่วยเป็นอาสาประชาสัมพันธ์ในเรื่องของการท่องเที่ยวให้กับหมู่บ้านด้วยค่ะ เพราะว่ามีพวกผู้ใหญ่ที่เขาทำมาก่อนแล้วอย่างนี้ เหมือนบางเรื่องเขาก็ไม่ได้ถนัดอย่างนี้ค่ะ พวกเรื่องเทคโนโลยีอะไร น้องก็เลยอาสามาช่วยค่ะ

ความรู้ใหม่ที่อยากจะเผยแพร่

เป็นเรื่องง่ายที่จะนำเสนอเรื่องเดิม ๆ อย่างเทคโนโลยีการเกษตร ให้กลับมาเป็นจุดสนใจอีกครั้ง เพราะในบริบทชุมชนเองก็ทำนาทำไร่กันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่หนุ่มสาวเวียงลออยากจะนำเสนอก็คือ เตาอบ ทำด้วยอิฐดิน สารพัดประโยชน์และต้นทุนประหยัด พวกเขายังหวังว่า ความรู้ในการทำเตาดิน หรือ พิซซ่า จากเตาดิน จะกลายเป็นรายได้ของคนในชุมชนรวมถึงกลุ่มหนุ่มสาวที่เวียงลอเองอีกด้วย

ฟืนที่ให้พลังงานมาจากเศษไม้เหลือใช้ในชุมชนเอง
การนวดแป้งพิซซ่าที่คล่องแคล่วโดยจ๋า
พิซซ่าหน้า “ลาบปลา” ของขึ้นชื่อเวียงลอที่มีแม่น้ำอิงหล่อเลี้ยงชีวิตมาหลายสิบปี
พิซซ่า อาหารจากเตาดินที่มีเอกลักษณ์คือความหอมกลิ่นเตา ที่ยากจะเลียนแบบได้

เตาดินอบพิซซ่า กับ เป่งลึ้ง เกี่ยวกันอย่างไร?

มันเป็นความรู้ที่เราไปเรียนได้ความรู้มาค่ะ แล้วพอเราไปเรียน เราได้ความรู้มา เราก็อยากจะส่งต่อความรู้ตรงนี้ให้กับชุมชนได้ด้วย เหมือนกับที่เรารู้อย่างนี้ค่ะ

มันเป็นเรื่องใหม่บ้านเรานะ มันไม่มี ในตำบลลอนี่ไม่มี มีที่นี่ที่แรก เตาแรก

พื้นที่ของศูนย์เรียนรู้เกษตรชุมชน หรือ เป่งลึ้ง Cafe & Learning Space เป่งลึ้งสมชื่อ

คือจริง ๆ ตอนนี้เรา ๆ ตั้งว่ามันน่าจะสร้างรายได้ให้กับน้องในทีม U2T นี่ด้วยค่ะ แล้วก็สร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วย เราก็เลยคิดแล้วก็วางแผนกันมาว่า เออน่าจะลองทำเป็นตัวนี้มาค่ะแล้วก็ ต่อยอดไปว่าอยากจะทำขายให้มันมีรายได้เข้ามาแล้วก็เปิดเป็น Workshop ด้วย เอาสิ่งที่เราเรียนมาส่งไปบ้าง จ๋ากล่าว

เป่งลึ้ง Cafe & Learning Space เป็นทั้งศูนย์เรียนรู้และสร้างรายได้ให้กับชุมชนทางอ้อม
เป็นได้ทั้งร้านอาหาร ห้องเรียน หรือกระทั่งห้องประชุม
อาจารย์แจว กำลังชี้แนะกระบวนท่าในการทำงานวิจัยให้กลุ่มหนุ่มสาวได้รับฟัง

นี่เป็นเพียงก้าวแรกที่พวกเขาเหล่านี้กลับบ้านและร่วมกันพยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อชุมชน ยังมีหนทางอีกยาวไกลข้างหน้า ทั้งทุกข์และสุขที่ต้องเผชิญ แต่เมื่อเห็นความก้าวหน้าและพัฒนาการของกลุ่มวัยรุ่นยุคใหม่ที่มาไกลขนาดนี้แล้ว ต้องยอมรับเลยว่าพวกเขา “เป่งลึ้ง” จริง ๆ และการจะอยู่รอดในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังต้องการกำลังใจจากคนรอบข้างช่วยสนับสนุน พวกเขาเหล่านี้รอรับพลังใจและเกื้อกูลกันอยู่ที่ ตำบลลอ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา

หากสนใจต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ เป่งลึ้ง cafe & learning space | Facebook หรือโทร 086 414 6354 ได้โดยตรง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ