นฤมล ทับจุมพล: ทำความเข้าใจ ‘บริบทผู้ลี้ภัย’ ใน ‘บริบทสังคมไทย’

นฤมล ทับจุมพล: ทำความเข้าใจ ‘บริบทผู้ลี้ภัย’ ใน ‘บริบทสังคมไทย’

กลางกระแสทุนนิยมไหลเชี่ยวที่ผู้คนย้ายถิ่นฐานเพื่อการทำงานและชีวิตที่ดีกว่า เรายังคงพบเห็นการเดินทางข้ามพรมแดนเพื่อหนีภัยอันตรายจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ศาสนา และวัฒนธรรม ในดินแดนต่างๆ ของโลก 

ทีมข่าว BACKPACK JOURNALIST สัมภาษณ์ ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ ซึ่งทำงานศึกษาเกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้พลัดถิ่นจากประเทศเมียนมาในไทย เพื่อทำความเข้าใจต่อปัญหาผู้ลี้ภัย และร่วมกันขบคิดถึงบทบาทของไทยในการหาทางออกต่อปัญหานี้

เมื่อผู้คนก็ยังคงต้องดิ้นรนเสาะแสวงหาถิ่นที่อยู่ที่พวกเขาจะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข… 

20150111203112.jpg

000

‘บริบทผู้ลี้ภัย’ ใน ‘บริบทสังคมไทย’

ต้องเข้าใจก่อนว่าผู้ลี้ภัยหรือ Refugees ต่างจากแรงงานข้ามชาติหรือที่เราเรียกกันว่า (Migrant Workers) อย่างเช่นเราเห็นคนพม่า คนลาว คนกัมพูชา ที่อยู่ในกรุงเทพที่ทำงานโรงงานหรือทำงานร้านอาหาร คนเหล่านั้นไม่ใช่ผู้ลี้ภัย คนเหล่านั้นคือแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และอาจจะส่งเงินกลับบ้าน ถ้าครบสัญญาเขาก็จะกลับไปอยู่ประเทศของเขา

ขณะที่ผู้ลี้ภัย คือ ผู้หนีภัยสงคราม หรือลี้ภัยทางการเมือง ตัวอย่างของผู้ลี้ภัย เช่น กรณีที่เราเห็นผู้อพยพซีเรียที่ขึ้นเรือมาแล้วก็พยายามจะเข้าไปในยุโรปเนื่องจากมีสงครามกลางเมืองในซีเรีย ดังนั้นเขาก็คือผู้ลี้ภัย ผู้หนีภัยสงครามไม่สามารถที่จะกลับไปอยู่ประเทศบ้านเกิดของเขาได้ เพราะอาจจะเสียชีวิตหรือถูกทรมาน ถูกจับ 

ในกรณีของประเทศไทย เราจะได้ยินคำว่าผู้ลี้ภัยในช่วงหลังสงครามอินโดจีน หรือในช่วงเขมรแดงแตก เราจะเห็นค่ายผู้อพยพ ตอนนี้ในพม่าเราก็จะเห็นผู้ลี้ภัย ถ้าขึ้นไปที่แถว จ.แม่ฮ่องสอนหรือ จ.ตาก ท่าสองยาง ก็จะเห็นค่ายหรือพื้นที่พักพิง อันนี้ก็คือผู้ลี้ภัยสงคราม แต่ประเทศไทยจะไม่ค่อยยอมรับ เพราะประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของสนธิสัญญาผู้ลี้ภัยในปี 1951 แต่ถามว่าประเทศไทยมีบทบาทในด้านมนุษยธรรมไหม เราก็มีมาโดยตลอดกับผู้ลี้ภัย ไม่ว่าจะเป็นจากเวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า คือ จากประเทศเพื่อนบ้านเรา 

ทีนี้ ถ้าเราเป็นคนไทยการได้ยินคำว่าผู้ลี้ภัยอาจเห็นได้ 2-3 แบบ แบบแรกก็คือเวลาเราขึ้นไปที่แม่สอด บนถนนถนนแม่สอด-ตากขึ้นไปจะเห็นพื้นที่พักพิงขึ้นไปทางท่าสองยาง อันนี้ก็คือผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่าย เราเรียกว่าอยู่ในแคมป์ อยู่ในพื้นที่พักพิง พื้นที่ปิด หมายความว่าไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม หรือว่าเข้าไปเยี่ยมเยือน ยกเว้นองค์กรระหว่างประเทศที่มีสัญญากับรัฐบาลไทย หรือหน่วยงานด้านความมั่นคง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมหาดไทย เช่น สำนักกิจการชายแดน 

อีกแบบหนึ่งคือที่เรียกว่า “Urban Refugees” เป็นผู้หนีภัยสงครามที่อยู่ในเมือง คนเหล่านี้อาจจะหนีภัยเข้ามาแล้วมาติดต่อกับ UNHCR เพื่อขอสถานะไปประเทศที่ 3 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ กรณีชาวสิงหลกับทมิฬที่ศรีลังกา จะมีเคสที่คนศรีลังกาหลบเข้ามาในประเทศไทยหรือเกาหลีเหนือก็คือ Urban Refugees ก็คือไม่ได้อยู่ในพื้นที่พักพิงจำนวนมาก หรืออยู่ในบริเวณชายแดนที่เป็นพื้นที่สู้รบอะไรแบบนี้ กรณีคนศรีลังกาที่พูดไปเช่น คนทมิฬที่หนีจากสงครามกลางเมืองที่เวลาระหว่างความขัดแย้ง (สิงหลกับทมิฬ) หรือไม่นานมานี้เราก็จะเจอเคส Urban Refugees อย่างเช่น ในปากีสถานที่มีความขัดแย้งกัน 

Urban Refugees ที่เราเห็นเยอะๆ ในประเทศไทยอย่างเช่น อุยกูร์ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองในมณฑลซินเจียงของจีน ที่เป็นข่าวค่อนข้างมาก หรือก่อนหน้านั้นที่ไม่เป็นข่าวแต่เราได้ยินอยู่บ้าง คืนคนเกาหลีเหนือที่ไม่ต้องการอยู่ในประเทศเกาหลีเหนือแล้วพยายามที่จะลี้ภัยมา แต่ว่าเขาอาจจะไม่ได้ไปที่ประเทศเกาหลีใต้ได้เลย เนื่องจากปัญหาในทางชายแดน หรืออะไรต่างๆ ก็จะมีคนเหล่านี้ที่ขอเข้ามาลี้ภัย คือขอเข้ามาติดต่อทาง UNHCR เพราะ UNHCR ในประเทศไทยเป็นออฟฟิศที่ดูแลในเขตเอเชียแปซิฟิก ดังนั้นเขาก็จะเข้ามาเพื่อจะขอไปเป็นประเทศที่ 3 คือขอสถานะที่เราเรียกว่า “person of concern” รอสถานะ รอประเทศที่ 3 ที่จะรับ ก็เป็นผู้ลี้ภัยไป 

เวลาที่เราได้ยินคำว่า Urban Refugees จะต่างจากแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในเมืองยังไง สิ่งที่ต่างก็คือ อย่างที่บอกแล้วก็คือว่าประเทศไทยไม่ได้รองรับสถานะของผู้ลี้ภัย ดังนั้นประเทศไทยจะดูว่าคุณเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมายเท่านั้น แม้คุณจะเป็นผู้ลี้ภัย คุณก็จะต้องถูกมองว่าเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ถูกกฎหมายคืออะไร คือคุณต้องมีวีซ่า จะเป็นวีซ่าท่องเที่ยว วีซ่านักเรียน หรือมีการทำงาน 

ถ้าคุณไม่ใช่คนที่มีบัตรประชาชนไทยถือสัญชาติไทย ถ้าคุณไม่ได้รับวีซ่า ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้า ก็ถือว่าการเข้าเมืองของคุณผิดกฎหมาย ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่ก็ตาม นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น และเวลาที่เราไปที่ ตม. (ด่านตรวจคนเข้าเมือง) ที่ออฟฟิส ตม.จะมีห้องกัก เราไม่ได้เรียกว่าห้องขัง เราก็จะเจอคนจำนวนมากที่เราจะเรียกว่า Urban Refugees อยู่แบบหลายเดือนรอที่จะไปประเทศที่ 3 หรือรอที่จะจ่ายค่าปรับให้ครบ ก่อนที่จะถูกให้ออกจากประเทศ

ทีนี้ถ้าเราในฐานะคนไทยเราจะมองเรื่องนี้ยังไง อย่างเช่นกรณีที่เราได้ยินเยอะๆ ก็คือ เรื่องอุยกูร์กับโรฮิงญา 

กรณีที่ 1 โรฮิงญา ขณะนี้ทั่วโลกอาจยกเว้นประเทศไทยและในอาเซียนที่ยังไม่ยอมตัดสินใจ คือในหลายประเทศจำนวนมากอธิบายโรฮิงญาว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัย แต่โจทย์ที่ผู้ลี้ภัยมีปัญหามากๆในกรณีโรฮิงญาก็คือ พม่าไม่ยอมรับว่าเขาคือพลเมืองพม่า พม่าถือว่าเขาเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาจากประเทศบังกลาเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่าเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน ขณะที่บังกลาเทศเองก็ไม่ยอมรับว่าเขาเป็นพลเมืองประเทศบังกลาเทศ เพราะอธิบายว่าเขาไปอยู่ในรัฐยะไข่ในพม่ามาเป็นเวลานาน 

ดังนั้น กรณีโรฮิงญาจะมีข้อถกเถียงว่าตกลงเขาเป็นคนไร้รัฐหรือเป็นผู้ลี้ภัย แต่โจทย์ที่เขากำลังเจอในขณะนี้ก็คือ เขาถูกเลือกปฏิบัติ มีปัญหาต่างๆ มากมายในทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางสังคม ไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นเขาจึงพยายามไปประเทศที่ 3 เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซียโดยผ่านไทย ซึ่งเราก็จะเห็นรูปภาพพวกเขาอยู่ในเรือแล้วทหารไทยก็พยายามผลักดันไม่ให้เข้ามาในน่านน้ำไทย พยายามให้ไปเป็นน่านน้ำสากล และอาจมีเคสเรื่องค้ามนุษย์ด้วยหรือเปล่า แล้วคนเหล่านี้จำนวนหนึ่งก็จะมาเป็นแรงงานอะไรทั้งหลาย ดังนั้น กรณีโรฮิงญาเป็นเคสที่ทดสอบประเทศไทยอย่างมากว่าตกลงเราจะมีท่าทีอย่างไร ถึงแม้ว่าเราจะไม่รับรองอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย 

กรณีที่ 2 ที่หลายๆ คนเจอแล้วโยงกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่ราชประสงค์ก็คือชาวอุยกูร์ ชาวอุยกูร์คือมุสลิมที่อยู่ในประเทศจีนในเขตพิเศษปกครองตนเอง ซึ่งในมุมของอุยกูร์เขาถือว่าเขาเป็นมุสลิมไม่ใช่คนจีนแล้วก็ศาสนาก็คนละแบบ และต้องการที่จะแยกตัวออกเป็นอิสระจากประเทศจีน ดังนั้นในกรณีของอุยกูร์อาจชัดว่าโรฮิงญา ในแง่ที่ว่าถูกมองว่าคนเหล่านี้คือผู้ลี้ภัยสงคราม

แต่กรณีที่มีอยู่ในขณะนี้คือ คนอุยกูร์จำนวนมากเป็นมุสลิมเขาเป็นชาวเตริก์ โดยใช้ภาษาเตริก์ และเขาน่าจะสัมพันธ์กับตุรกีมากกว่าที่จะเป็นจีน แต่ว่าประเทศไทยเราในขณะนี้เราจะดูว่าคุณถือพาสปอร์ตแบบไหน มีบัตรประชาชนอย่างไร ถ้าพาสปอร์ตของคุณเขียนว่าคุณเป็นจีนล่ะคุณก็เป็นจีน ดังนั้นจึงมีกรณีที่ไทยส่งกลับไปประเทศจีนแล้วถูกทั่วโลกประณาม รวมทั้งพยายามโยงถึงความรุนแรง

โรฮิงญาก็จะคล้ายกัน คือพม่าไม่รับบังกลาเทศไม่รับ ไม่มีประเทศไหนยอมรับ ไทยก็ไม่อยากรับ แล้วเอกสารข้างในก็ไม่มี โรฮิงญาจึงถูกมองว่าคุณจะอย่างไร จะเป็นผู้ลี้ภัย ผู้หนีภัยไปตรงไหน

ต่างกับกรณีของเมืองไทย คำว่าคนไร้รัฐ คนไรสัญชาติของเราจะเป็นกรณีว่าเป็นชาวเขาที่อยู่บนพื้นที่สูง แล้วได้มาขึ้นทะเบียนในช่วงสำรวจสำมะโนครัวประชากร ดังนั้นก็จะไม่มีบัตรที่จะเป็นประชาชนไทยจนต้องได้พิสูจน์สัญชาติดีเอ็นเอว่ามีบรรพบุรุษเป็นไทย 

แต่กรณีของเราคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติก็ยังมีสถานะดีกว่าโรฮิงญา เพราะอย่างน้อยก็ยังมีพื้นดินที่จะอยู่ ขณะที่โรฮิงญาเป็นกรณีที่ไม่มีประเทศไหนยอมรับ แล้วสุดท้ายหลังจากที่เป็นข่าวไปทั่วโลก คนดูในช่วงที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว กลางต้นปีที่ผ่านมาก็จบด้วยว่าบางประเทศยอมรับ เช่น ประเทศกัมพูชา ยอมรับโรฮิงญาเนื่องจากอธิบายว่าตัวเองเป็นพันธกรณีกับสนธิสัญญาผู้ลี้ภัย แต่กัมพูชายอมรับก็ด้วยว่าออสเตรเลียให้เงินมาสนับสนุนเพื่อรองรับโรฮิงญา โดยออสเตรเลียไม่ยอมให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศออสเตรเลีย หรือสหรัฐก็ประกาศว่าตนจะรับโรฮิงญา 

ถ้าใครจำได้ จะมีกรณีต่างๆ บางประเทศก็ประกาศรับ บางประเทศก็ไม่รับ โจทย์ที่เกิดขึ้นก็คือทุกประเทศจำเป็นต้องรับหรือไม่ แม้ว่าคุณจะมีพันธกรณี บางประเทศลงนามในสนธิสัญญาผู้ลี้ภัย เขาก็จะประกาศว่าเขาไม่สามารถที่จะรับได้ทั้งหมดเพราะไม่มีศักยภาพพอ เขาก็จะทยอยรับ อย่างเช่น อังกฤษประกาศรับ 20,000 คน ใน 5 ปี แปลว่ารับ ปีละ 4,000 คน ที่รับเยอะที่สุดอาจจะเป็นเยอรมันจากกรณีผู้อพยพซีเรีย แล้วก็รองลงมาประเทศอื่นๆ รัฐก็พยายามจะมีนโยบายในยุโรปว่าจะเอายังไงในกรณีแบบนี้ 

แต่ว่ายุโรปเองเคยมีประสบการณ์จากผู้ลี้ภัย อย่าลืมว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กรณี ยิว กรณีอะไรทั้งหลาย เขาเป็นผู้ลี้ภัยเยอะ และยุโรปในอดีตเขาก็มีการสู้รบอะไรกันเยอะแยะ คนกลายเป็นผู้ลี้ภัยกันมากมายที่จะอพยพไปทวีปอื่นหรือไปประเทศอื่น พอมาถึงในโลกปัจจุบันศตวรรษที่ 21 ก็เป็นคล้ายๆ กระแสย้อนกลับคนในคราบสมุทรอาหรับ คนในทวีปแอฟริกาที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามในเรื่องของสงคราม ภัยการก่อการร้าย ปัญหาความขัดแย้ง หรือความอดอยากก็พยายามที่จะลี้ภัยไปประเทศอื่น

โจทย์ของเราในฐานะคนไทย เราต้องทำความเข้าใจกับผู้ลี้ภัยคือ เราต้องมองเขาว่าเป็นมนุษย์มองเขาว่าเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา คือเราเป็นคนไทย อย่างเราเห็นผู้ลี้ภัยเราคิดอะไรอยู่ในใจยกตัวอย่างเช่น เวลาเราเห็นกรณีระเบิดราชประสงค์เรามีสิทธิ์ที่อาจจะโกรธคนที่ทำ แต่ถามนิดหนึ่งเราอาจต้องมองว่าเวลาเราคิดเรื่องอุยกูร์ เราเข้าใจเขาอย่างไร 

อย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ กรณีของอุยกูร์ชัดเจนว่ามันเป็นความขัดแย้งในทางศาสนาในทางการเมือง คนจำนวนหนึ่งที่เป็นมุสลิมชาวอุยกูร์เขาก็มีอิสรภาพ หรือต้องการไปประเทศที่ 3 ดังนั้นเราไม่ควรจะมองเขาเป็นภาระของประเทศ คือเวลาเราฟังรัฐบาลหรือฝ่ายความมั่นคงพูด จะพูดอยู่ตลอดเวลาว่าเราต้องดูแลคนของประเทศเราก่อน เราต้องดูแลมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนใต้แล้วค่อยไปดูมุสลิมประเทศอื่น แต่ว่าเวลาที่เราเห็นเขาก็คือมนุษย์เหมือนกับเรา 

คุณอาจไม่จำเป็นต้องเข้าไปอุ้มชูจนสุดจิตสุดใจ แต่อย่างน้อยที่สุดเค้าก็ควรจะมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิต ดังนั้น มันควรจะต้องเป็นหลักการสิทธิในการที่จะมีชีวิต สิทธิในชีวิตร่างกายแล้วก็ทรัพย์สิน มีหลายกรณีมากที่ได้ยินข่าวในอดีต สมัยลี้ภัยเวียดนามก็อาจถูกปล้น กรณีของโรฮิงญาชัดเจนว่าเขาถูกบังคับเป็นแรงงานทาส 

ทำไมประเทศไทยถึงตั้งคำถามอย่างรุนแรงเรื่องการค้ามนุษย์กรณีของโรฮิงญา เมื่อเขาไม่มีเงินเขาจน เขาจึงต้องไปประเทศอื่น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ กลุ่มที่ทำหน้าที่เป็นนายหน้าเอาเขาเป็นสินค้าเช่นเรียกค่าไถ่ คืออาจมีคนโรฮิงญาที่ทำงานในประเทศที่ 3 อยู่แล้ว ภารกิจของเขาก็คือเอาเงินมาไถ่ญาติที่อยู่ในเรือก็จะได้ขึ้นฝั่งแล้วไปทำงานใช้หนี้ แต่ว่าอย่างที่เรารู้ก็คือมีหลายคนที่ญาติไม่มีเงินหรือไม่มีญาติ กรณีเหล่านั้นคือเขาก็ต้องกลายเป็นแรงงานทาส คือต้องทำงานใช้หนี้บนเรือจนกว่าที่จะสามารถไปได้ 

คนก็อาจอธิบายว่าผู้คนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้คนลี้ภัยแต่นี่เป็นการค้ามนุษย์ เราต้องดูที่ต้นตอปัญหา เขาก็คือผู้ลี้ภัยจากการเลือกปฏิบัติจากปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านเรา

 

ความซับซ้อนของสถานะผู้ลี้ภัย

สถานะของผู้ลี้ภัยในทางกฎหมายระหว่างประเทศเขาก็คือผู้หนีภัยสงคราม เราไม่นับแรงงานข้ามชาติเป็นผู้ลี้ภัย เพราะเรามีสมมุติฐานว่าเค้ามาทำงานชั่วคราวเขายังมีความผูกพันกับแผ่นดินเกิด เมื่อถึงเวลาหนึ่งเขาก็จะกลับบ้านไปแผ่นดินเกิดของเขา เช่นได้เงินสักก้อน เหมือนเราไปทำงานต่างประเทศ เราก็เอาเงินกลับมาที่บ้าน ซื้อบ้าน มาใช้ชีวิตของเรา

สิ่งที่ต่างของผู้ลี้ภัยกับแรงงานข้ามชาติที่เราเห็นก็คือ ผู้ลี้ภัยอาจไม่มีบ้านให้กลับ หรือถ้าเขากลับไปบ้าน ก็อาจจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ 

ในอดีตเราก็อาจเคยได้ยินคำนี้ “Economic Refugees” คือเป็นผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจคือที่บ้านยากจน มีโรคระบาด มีทุกขภิกขภัย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องลี้ภัยไปอยู่ที่อื่น แต่ในทางกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไป เราจะมองเฉพาะผู้ลี้ภัยในสมัยของสงครามมีผลกระทบต่อชีวิต ในเรื่องอื่นเราจะยังไม่มอง แต่ถามว่ามันทับซ้อนไหม ทับซ้อนอยู่แล้ว เพราะว่าบางเรื่องมันเป็นเรื่องของความขัดแย้งในเชิงชาติพันธุ์มันไม่ใช่สงครามระหว่าง 2 เผ่า มันอาจทับซ้อนในเรื่องที่ว่าการเลือกปฏิบัติ มันอาจทับซ้อนเรื่องของความกลัวของการก่อการร้าย 

จนปัจจุบันพอผู้ลี้ภัยมากขึ้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องที่ต้องรับผู้ลี้ภัย มันต้องมีทรัพยากรพร้อมที่จะอุ้มชูพลเมืองเพิ่ม มีสวัสดิการที่จะให้คนอื่นนอกจากเหนือพลเมืองของตน แต่บางส่วนก็อาจจะกลัว กลัวในความหมายที่ว่าเขาจะมีสัดส่วนของพลเมืองเพิ่มขึ้น สมมติคุณมีประชากรอยู่ 70,000,000 คน ถ้าคุณตัดสินใจรับผู้ลี้ภัย 500,000 คน คุณก็จะมีพลเมืองเพิ่มขึ้น และดูแล้วเขาอาจไม่ได้อยู่ชั่วคราว 3 เดือน หรือมากสุด 5 ปี เขาอาจจะอยู่ตลอดชีวิต ดังนั้นในอนาคตคุณอาจจะมีพลเมืองเพิ่มขึ้นเป็น 76,000,000 นี่คือสิ่งที่คนกลัว 

ถ้าเราเจอเรื่องนี้เราจะคิดยังไง เราอาจจะต้องคิดในแง่ของมนุษยธรรม คือคิดจากมุมมองของความมั่นคงมนุษย์มากกว่าความมั่นคงของชาติ มองอย่างไรในเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ เขาเป็นมนุษย์เหมือนเรา เราควรจะช่วยเหลือเขาเท่าที่เราทำได้ และวิธีที่จะแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยได้อย่างเบ็ดเสร็จถาวรก็คือ ทำยังไงที่จะลดความขัดแย้งในแผ่นดินเกิดของเขา 

ในประเทศต้นทางเช่นประเทศพม่า ไทยเจอปัญหาโรฮิงญา สิ่งที่ไทยต้องทำและอาเซียนควรจะทำก็คือให้ประเทศพม่าสามารถจัดการประเทศของตัวเองได้ หรือถ้าพม่ายังยืนยันว่านี่เป็นปัญหาแรงงานของบังกลาเทศ คุณก็ต้องสามารถจัดการแก้ปัญหาเรื่องของพม่าและบังกลาเทศด้วย 

อย่าลืมว่าบังกลาเทศไม่สามารถรับใครได้อีก บังกลาเทศมีปัญหาความยากจนอย่างสูง ขนาดคนบังกลาเทศเองหลายคนยังถือโอกาสเป็นคลื่นผู้ลี้ภัย เพราะเขามีปัญหาเศรษฐกิจอย่างมากไม่สามารถรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญาได้อีก และเขาก็ไม่ใช่ประเทศที่มีเงิน อย่างนั้นเวลาเราดู เราอาจต้องคิดเรื่องการเจรจาสันติภาพ 

เราชอบพูดเรื่องความปรองดอง พูดเรื่องสันติภาพ อันนี้ก็จะเป็นผลสะท้อนที่ดี เราควรจะมองการเมืองระหว่างประเทศใหม่ เช่น จะทำอย่างไรให้เกิดการจัดการภายในพม่าเรื่องโรฮิงญา ตรงนี้สามารถเป็นข้อเสนอในเชิงมติ เป็นข้อเสนอที่ทุกฝ่ายจะร่วมแก้ไขปัญหา หาทางออกโดยเอาคนเป็นศูนย์กลาง หรือกรณีอุยกูร์ ประเทศจีนไม่มีทางยอมรับเรื่องเขตปกครองตนเอง แต่ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสามารถจัดการปัญหาแทนที่จะใช้วิธีทางการทหาร 

ประเทศไทยเรามีศักยภาพ เราก็จะเจอปัญหาผู้ลี้ภัยมาประมาณ 10 ปี หรือ 20 ปี เราจัดการได้อย่างดี แต่ค่อนข้างน่าเสียดายว่า การแก้ปัญหาของไทยในปัจจุบันจะเป็นการจัดการทางการทหาร มากกว่าการจัดการทางการทูต ทั้งๆ ที่เรามีศักยภาพจัดการทางการทูตได้อย่างดี

 

เหตุผลที่ไทยไม่เซ็นสัญญารองรับสถานะผู้ลี้ภัย

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นประเทศไทยอยู่ในมิติของสงครามในยุคสงครามเย็น ประเทศไทยก็อาจกลัวว่า หากเซ็นสัญญาไปในตอนนั้น เมื่อปี 1951 ก็น่าจะมีผู้ลี้ภัยจากอินโดจีนจำนวนมากมายที่หนีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ดังนั้น ไทยจึงตัดสินใจไม่เซ็น แต่ขนาดไม่เซ็นก็ต้องรับผู้อพยพจำนวนหนึ่ง เมื่อไทยไม่เซ็นก็ไม่จำเป็นต้องให้เขาอยู่ถาวร ดังนั้นการอยู่ของเขาเป็นการอยู่ชั่วคราว 

ในประเทศที่ 3 ถ้าคุณเซ็น คุณต้องมีสวัสดิการ คุณต้องมีการรับรอง ยอมรับเขาเป็นพลเมืองของประเทศคุณในอนาคต ดังนั้นถ้าให้เดา มุมมองของกระทรวงต่างประเทศไทยในปี 1951 รัฐบาลไทยก็คงจะประเมินว่าโอกาสที่ไทยจะต้องรับผู้อพยพจากอินโดจีน เวียดนาม ลาว และกัมพูชาคงจะเยอะมาก ดังนั้นไทยก็เลยตัดสินใจไม่เซ็น

แต่ถึงแม้ไทยจะไม่เซ็นในตอนนั้น ข้อเสนอของไทยก็คือเราจะยังดูแลเขาในฐานะการช่วยเหลือด้านมนุษยชน แต่ก็เป็นพื้นที่ที่จำกัดจำกัดมีรั้วรอบขอบชิด ไม่ใช่ระยะเวลานาน และสามารถส่งไปประเทศที่ 3 หรือส่งกลับต้นทางได้

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ