ประมวลหมุด C-Site (ประมวลผลวันที่ 15 ธันวาคม 2564)
ตลอดปีมีการปักหมุดจากภาคพลเมืองจำนวน 4,901 หมุด
โดยจำแนกเป็นหมวดหมู่
- ข่าวเหตุการณ์ ร้อยละ 43.26
- พื้นที่เรียนรู้ ร้อยละ 16.85
- ชุมชนสู้โควิด ร้อยละ 15.12
- วิถีชีวิต ร้อยละ 10.69
- ผลกระทบจากโครงการของรัฐ ร้อยละ 4.47
- ภัยพิบัติ ร้อยละ 4.43
มกราคม
เริ่มต้นเดือนมกราคม ต่อเนื่องจากคลัสเตอร์ที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร แรงงานเพื่อนบ้าน ในพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร เครือข่ายแรงงานเพื่อนบ้าน ร่วมกันปักหมุดในหมวดชุมชนสู้โควิดจำนวนมากกว่า 70 หมุด ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทย และอาสาสมัครแรงงานเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพระ ทั้งล่ามอาสาในการระดมทุน บริจาคสิ่งของช่วยเหลือ
นอกจากนั้นยังมีการเตรียมรับปรับตัวของโรงเรียน และกลุ่มอาสาสอนที่ทำกิจกรรมกับน้อง ๆ ในชุมชนที่ต้องเรียนกันที่บ้าน ทำอย่างไรจะไม่ให้การเรียนรู้ถดถอย โดยเฉพาะในพื้นที่ของภาคอีสานและพื้นที่ทำงานของกลุ่มก่อการครู อาสาสอน และการเรียนรู้ของท้องถิ่น ขณะที่หลายพื้นที่ทางภาคเหนือเริ่มจับตาฤดูฝุ่นควันที่กำลังจะเข้ามาถึง
กุมภาพันธ์
อาจกล่าวได้ว่าเป็นเดือนเริ่มต้นของการสร้างพื้นที่เรียนรู้ของภาคพลเมือง กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก การเรียนรู้นอกห้องเรียน ทั้งในเขตเมืองและนอกเขตเทศบาล รวมทั้งโดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เด็กครอบครัวกลุ่มประชากรเปราะบาง หรือกลุ่มภาคพลเมืองที่สร้างการเรียนรู้การเตรียมตัวกับฝุ่น การรับมือกับโควิดด้วยกลไกของชุมชน ดังเห็นจากการเลือกหมวดหมู่ พื้นที่เรียนรู้ ถึง 1 ใน 4 ของหมุดทั้งหมดของเดือนกุมภาพันธ์ (ก.พ. ปักหมุดรวมทั้งหมด 375 หมุด พื้นที่เรียนรู้ 91 หมุด ตลอดทั้งปี)
หมุดส่วนใหญ่ในรอบเดือน มีการติดตามสถานการณ์ในระดับพื้นที่ อาทิ การรายงานสถานการณ์น้ำโขงผันผวน น้ำโขงแห้งขอด หรือกลายเป็นสีฟ้าใส การร่วมส่งกำลังใจ ติดตามสถานการณ์การรัฐประหารในประเทศเมียนมาจากกลุ่มพี่น้องแรงเพื่อนบ้านหลาย ๆ จุดทั่วประเทศไทย
จากยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร ถึง #saveบางกลอย จากจุดเริ่มต้นที่กะเหรี่ยงบางกลอยจำนวนหนึ่งที่ถูกอพยพโยกย้ายลงในพื้นที่ทางการจัดสรรให้ แต่ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ ตัดสินใจเดินทางกลับไปยังถิ่นฐานเดิม ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเหมาะสม การจัดการข้อพิพาทของคนกับป่า และเรื่องราวความเป็นมาของกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน รวมถึงการสื่อสารถึงวิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของการจัดการทรัพยากรของ และการทางเลือกที่เหมาะสมหาทางออกร่วมกัน
มีนาคม
เป็นเดือนที่ภาคพลเมือง สื่อพลเมืองร่วมปักหมุดสื่อสารสูงที่สุดในรอบปี มากถึง 599 หมุด ทั้งการเผชิญกับวิกฤตฝุ่น PM2.5 การจัดการ การดูแลตัวเองและชุมชนในเรื่องไฟป่าและฝุ่นควัน การติดตามโครงการพัฒนาของรัฐ อาทิ การสร้างเขื่อนกันคลื่นและความเปลี่ยนแปลงของชายหาดจากมุมมองของชาวบ้าน ตลอดจนข้อเสนอให้มีการศึกษาประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอก่อนดำเนินการโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น
นอกจากนั้นภาคพลเมืองยังสื่อสารการจัดการรับมือโควิดในระดับชุมชน รูปธรรมของการช่วยเหลือกันเอง การระดมทุน และการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี จำนวนเทศบาลทั้งสิ้น 2,472 แห่ง ทั่วประเทศ เครือข่ายสื่อพลเมืองโดยเฉพาะ new voters ร่วมติดตามสังเกตการณ์และรายงานผลการเลือกตั้งและนโยบายที่ประชาชนต้องการ เช่น เทศบาลนครเชียงใหม่ เกิดกลุ่ม “เชียงใหม่ฮอม” ที่เป็นการรวมตัวของภาคประชาชาสังคม นักกิจกรรม นักธุรกิจ นักวิชาการที่ลุกขึ้นมาออกแบบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาข้อเสนอและรูปธรรมของเมืองแบบใหม่ เป็นต้น
เมษายน
เป็นเดือนของสีสัน วิถีชีวิตของวัฒนธรรมพื้นถิ่น งานบุญงานเทศกาลภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ การปรับเปลี่ยน และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ในช่วงปิดเทอม หลายพื้นที่มีออกแบบมาตรการเฝ้าระวังของชุมชน ตั้งจุดคัดกรองตามสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน ที่จัดการโดยชุมชนร่วมกับเจ้าหน้าที่อสม. จนถึงหน่วยงานในระดับพื้นที่
ขณะที่ในช่วงครึ่งเดือนหลังเมษายนพบว่ามีรายงานการตั้งศูนย์พักคอยของชุมชนcommunity isolation รวมถึงโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และการระดมทรัพยากรสนับสนุนการปฏิบัติงานและการดูแลกัน
และความพยายามเริ่มตั้งหลัก รับมือ และพัฒนาแนวทางการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของชุมชนในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น จังหวัดพังงาซึ่งไม่อยู่ในพื้นที่นำร่องการเปิดประเทศ เป็นต้น
พฤษภาคม
หมวดชุมชมสู้โควิดสูงที่สุด จะเห็นธารน้ำใจการระดมทรัพยากรการช่วยเหลือของชุมชน โดยเฉพาะพี่น้องชุมชนเมือง ชุมชนแรงงานเพื่อนบ้าน การรวมกลุ่มของแรงงาน ช่างฝีมือที่ได้สูญเสียอาชีพ รวมถึงไทยพีบีเอสที่ออกแคมเปญ ชุมชนเมืองต้องรอด ปากท้องต้องอิ่ม ระดมความช่วยเหลือสร้างการแบ่งปันให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดและการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ประเทศ
การตอบสนองของภาคพลเมืองมีหลายลักษณะ สะท้อนจุดประสานงาน ครัวกลาง ครัวชุมชน พื้นที่แบ่งปัน การสร้างความมั่นคงทางอาหาร
มิถุนายน
เปิดเทอมใหญ่ หลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยนักเรียน นักศึกษายังไม่สามารถออนไซต์ได้ รูปแบบการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้จึงถูกสื่อสารและนำเสนออย่างหลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่ห่างไกล ถิ่นทุรกันดาร ภาคพลเมืองได้สื่อสารให้เห็นความพยายามปรับตัวทุกภาคส่วน ตั้งแต่ครูนำใบงานไปส่งให้กับนักเรียน การหมุนเวียนสื่อการเรียนการสอน การตอบนองต่อความเหลื่อมล้ำการเข้าไม่ถึงอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนออนไลน์ การสร้างเพิงพักให้กับนักเรียนที่ในอยู่ในพื้นที่อับสัญญาณ เป็นต้น
สำหรับโรงเรียนที่สามารถเปิดเรียนออนไซต์ได้ ก็เห็นการมาตรการคัดกรอง การเว้นระยะห่าง และการเฝ้าระวังการระบาดในสถานศึกษามากมาย
การรับมือระบาดของโรคลัมปีสกีน การใช้ภูมิปัญญาของชาวบ้านในการรับมือระหว่างที่ยังรอการนำเข้าและการจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่การระบาด ขณะที่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 นับการเริ่มต้นวันแรกของการวัคซีนโควิดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง7 โรค
ขณะเดียวกันเครือข่ายสภาเกษตรกร ที่ร่วมสื่อสารผลกระทบและการจัดการของเกษตรกร การกระจายพืชผลการผลิต การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้า รวมถึงช่องทางการกระจายสินค้าและจุดเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภคใหม่ นอกจากนี้ยังพบการริเริ่มของกลุ่มแรงงานที่กลับบ้าน การเรียนรู้การสร้างอาชีพใหม่ ๆ ที่ทำได้ในชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานและภาคกลาง
กรกฎาคม
เดือนนี้พบการระบาดโควิดในพื้นที่ชุมชน และสถานประกอบการ เช่น ชุมชนโป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โรงเรียนจิตต์อารีย์ จ.ลำปาง และการรับมือของชุมชนโครงการเชียงใหม่ฟู้ดแบ้งก์ การสร้างธนาคารอาหาร
เหตุระเบิดของถังเก็บสารเคมี สไตรีนโมโนเมอร์ (CO) ของบริษัทหมิงตี้เคมีคอล (Ming Dih Chemical) หนึ่งในสองผู้ผลิตเม็ดโฟมรายใหญ่ของประเทศ ตั้งโรงงานอยู่ที่ซอยกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ บนเนื้อที่ 2,068 ตร.ม. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา นอกจากจะสร้างความสูญเสียต่อชีวิต-ทรัพย์สิน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่แล้ว เหตุการณ์นี้สะท้อนกระบวนการตรวจสอบสถานที่ตั้งโรงงาน-ความปลอดภัย และกฎหมายควบคุมโรงงานอันตราย เมื่อโรงงานกลายมาเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน ภาคพลเมืองก็ร่วมติดตามสถานการณ์และร่วมกันเฝ้าระวังผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่ใกล้เคียง โดยร่วมกันเก็บตัวอย่างน้ำฝนเพื่อวิเคราะห์การกระจายตัวของมลพิษและการตกค้างในสิ่งแวดล้อม
สิงหาคม
เครือข่ายสื่อภาคพลเมืองยังคงสื่อสารการจัดการชุมชนเพื่อรับมือกับโควิดโดยการจัดการของชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสื่อสารรูปธรรมของการแก้ปัญหาปากท้องของกลุ่มเกษตรกร โดยเครือข่ายนักข่าวพลเมืองสภาเกษตรกรทั่วทุกภูมิภาค
กันยายน
ภาคพลเมืองร่วมติดตามรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติจากพายุเตี้ยนหมู่ในพื้นที่หลายพื้นที่ และยังคงติดตามรูปธรรมความช่วยเหลือกันเองในการรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด
ตุลาคม
เริ่มต้นเดือนด้วยเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันยางนาบนถนนสายประวัติศาสตร์ถนนทางหลวงหมายเลข 107 เชื่อมเชียงใหม่-ลำพูน ขนาดใหญ่จำนวนล้มโค่นนับ 10 ต้น หลังเกิดลมพัดแรงในพื้นที่สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนประชาชน ทำให้ภาคประชาสังคม พลเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสื่อสารตั้งแต่การเผชิญเหตุ ต่อเนื่องจนถึงการแสวงหาความร่วมมือ การระดมความเห็น และวางแนวทางร่วมกันต่อในอนาคต
เช่นเดียวกับพื้นที่บางส่วนในพื้นที่ภาคอีสานและหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง ยังคงเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมขังนับจากพายุเตี้ยนหมู่ ซึ่งเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติระดับชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวก็ร่วมกันสื่อสาร เพื่อสะท้อนสถานการณ์ที่ต่อเนื่องนับเดือน และตั้งตั้งกลไกระดับพื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนและกลไกรับมือพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากในอนาคต
กลุ่ม U2T ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน และสร้างการเรียนรู้ระหว่างชุมชนและนักศึกษา
พฤศจิกายน
ไครียะห์ ระหมันยะ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เดินทางขึ้นมาทวงสัญญาจากรัฐบาล ยกเลิกการเดินหน้าโครงการอุตสาหกรรมจะนะ เนื่องจากการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมกับร่วมกันเสนอความคิดเห็นต่อนโยบายที่พลเมืองอยากให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น ร่วมกันออกแบบ “ท้องถิ่นในฝัน” และร่วมกันรายงานจับตาการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ ขณะการท่องเที่ยวของพังงาก็เริ่มกลับมาคึกคัก หลังจากพยายามจะพลิกฟื้นสถานการณ์ต้องสะดุดจากการระบาดในชุมชนที่แพร่กระจายไปทั่วประเทศอยู่หลายครั้ง
ธันวาคม
เครือข่ายภาคพลเมืองร่วมสื่อสารในประเด็นผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ในประเด็นแผนพัฒนาภาคใต้ และยังมีเครือข่ายภาคประชาชนอื่น ๆ ร่วมสื่อสารเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพี่น้องจะนะรักษ์ถิ่น และเสนอแนวทางในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ อาทิ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ รวมถึงติดตามโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในหลายพื้นที่ในฝั่งอ่าวไทย(Strategic Environmental. Assessment) อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปีนี้ภาคพลเมืองยังคงแสวงหาทางออก และการจัดการพื้นที่เพื่อหาทางออกต่อผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการระบาดโควิด-19 เช่น สกลจังซั่น เพื่อออกแบบเมืองอย่างมีส่วนร่วมและเป็นเมืองของทุกคน เป็นต้น
C-Site เป็นแอปพลิเคชันที่ไทยพีบีเอส โดยสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะพัฒนาใช้สำหรับรายงานข้อมูลข่าวสารสำหรับทุกคน แบบง่าย ๆ ได้ทั้งในโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟนและบนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โดยทุกวัน จะมีคนที่สนใจอยากจะสื่อสารเข้ามาเขียนเล่าเรื่อง เล่าข่าวจากพื้นที่ของตัวเองเข้ามา บางเนื้อหาอ่าน หาชมไม่ได้จากสื่อกระเเสหลักทั่ว ๆ นั้นหมายถึงประโยชน์ของApplication จึงมากกว่าเเค่การเข้ามาโพสต์ข่าว ซึ่งยังสามารถเข้ามาดูความเคลื่อนไหวสถาการณ์ของเพื่อน ๆ จากพื้นที่อื่น ๆ ได้ด้วย รู้จักและสื่อสารไปด้วยกัน
รู้จักและใช้งานC-Siteอย่างง่ายๆ