5 เรื่องเด่น พลังชุมชนปกป้องชายหาด ปี 64

5 เรื่องเด่น พลังชุมชนปกป้องชายหาด ปี 64

1. ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งชะลอโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม จังหวัดสงขลา

เมื่อปี 2563 หลายคนคงจำกันได้ว่ามีปรากฏการณ์ #Saveหาดม่วงงาม เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ทั้งในเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ เรื่องราวของ #Saveหาดม่วงงาม เกิดขึ้นจากการที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นบนชายหาดม่วงงาม 3 ระยะโครงการ ความยาวรวมกว่า 2 กิโลเมตร งบประมาณเกือบ 200,000,000 บาท การดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการฯ เกิดขึ้นภายใต้คำถามจากประชาชนชาวม่วงงามจำนวนมากเนื่องจากหาดม่วงงามนั้นไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง และโครงสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นจะทำให้ชายหาดม่วงงามหายไปและเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง

การดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม ทำให้ประชาชนชาวม่วงงามเริ่มทำการรณรงค์ปกป้องชายหาดม่วงงามโดยการชูป้าย Saveหาดม่วงงามและติดแฮกแท็ก #Saveหาดม่วงงาม และมีการเรียกร้องให้ชะลอการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยการที่ชาวบ้านไปนอนหน้าศาลากลาง รวมถึงการฟ้องศาลปกครองสงขลา

ภายหลังกระบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนชาวม่วงงาม จำให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ยอมชะลอโครงการออกไป ในวันที่ 5 มิถุนายน 2563 และต่อมาในวันที่ 30 สิงหาคม 2563 ศาลปกครองสงขลาได้มีคำสั่งคุ้มครองหาดม่วงงามทำให้โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงามนั้นถูกชะลอไปด้วยคำสั่งศาลปกครองสงขลา

แต่ความพยายามผลักดันดำเนินโครงการหาดม่วงงามไม่ได้หยุดลงเพียงแค่นั้น ทางกรมโยธาธิการฯ และเทศบาลเมืองม่วงงาม (สมัยนั้น) ได้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลนั้นมีคำสั่งให้กรมโยธาธิการสามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ แต่เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ศาลปกครองสงขลาได้นัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด กรณี ชายหาดม่วงงาม  ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดม่วงงามนั้น มีการก่อสร้างลงไปในทะเล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของชายหาดม่วงงาม อีกทั้งข้อเท็จจริงของผู้ฟ้องคดี และเทศบาลเมืองม่วงงามที่ยืนยันสภาพชายหาดม่วงงามนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง เทศบาลเมืองม่วงงามมีมาตรการในการป้องกันชายหาดกัดเซาะชั่วคราวด้วยการปักไม้และวางกระสอบทราย

จากข้อเท็จในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดม่วงงามนั้น ก่อสร้างในเขตที่น้ำทะเลท่วมถึง ทำให้ส่งผลกระทบต่อชายหาด ศาลจึงเห็นว่าคำร้องของกรมโยธาธิการนั้น ไม่สมเหตุผลเพียงพอ ในการให้ดำเนินการต่อ ศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นพ้องคำสั่งศาลปกครองสงขลาให้ระงับการดำเนินโครงการต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอื่นหรือมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ภายหลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งชะลอโครงการของกรมโยธาธิการออกไปนั้น กรมโยธาธิการได้ดำเนินการรื้อถอนเสาเข็ม และวัสดุก่อสร้างที่ตกค้างอยู่บริเวณชายหาดเพื่อเตรียมดำเนินการก่อสร้างออกไปจากชายหาดทั้งหมด

การต่อสู้ของประชาชนม่วงงาม นักวิชาการ และเครือข่ายนั้นพิสูจน์ให้เห็นว่าการยืนหยัดด้วยข้อมูล ความรู้นั้น นำมาซึ่งการปกป้องชายหาดของชุมชนไว้ได้ และนำมาซึ่งความยุติธรรมต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชม

2. หาดทรายรีต้องมีหาดทราย

#หาดทรายรีต้องมีหาดทราย เป็นแฮกแท็กที่ได้รับความนิยมในโซเซียลมีเดีย มีแคมเปญหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกัดเซาะชายฝั่ง และมีการพูดถึง ถกเถียงถึงแนวทางการป้องกันชายฝั่งหาดทรายรีว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ?

ก่อนหน้าเเฮกเเท็กหาดทรายรีต้องมีหาดทรายนั้น กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์หาดทรายรี จังหวัดชุมพร ความยาว 620 เมตร งบประมาณ 70,000,000 ล้านบาท เช่นด้วยกับกรณีอื่นๆ การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดทรายรีถูกตั้งคำถามจากสาธารณะ และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในจังหวัดชุมพร ถึง ความเหมาะสมของโครงการ เนื่องจากโครงการดังกล่าวนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นชายหาดประวัติศาสตร์ของจังหวัดชุมพร และขนาดของโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดทรายรีมีความกว้างถึง 20 เมตร ซึ่งจะวางทับบนชายหาดทรายรีทั้งหมด ซึ่งจะทำให้หาดทรายรีหายไป รวมถึงผลกระทบต่าง ๆ ของกำแพงกันคลื่นที่จะเกิดขึ้นกับหาดทรายรี ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามและนำมาสู่การรณรงค์ปกป้องหาดทรายให้หาดทรายรีมีหาดทรายเหมือนเดิม

ภายหลังการรณรงค์ ทำให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการเปิดเวทีหารือทางออกกรณีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดทรายรี ณ ห้องประชุมประวัติศาสตร์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หมู่ที่ 6 ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โดยได้เชิญตัวเเทนจากหลาย ๆ ภาคส่วนทั้ง ฝ่ายผู้ที่สนับสนุนโครงการ, ฝ่ายผู้ที่ห่วงใยต่อชายหาด รวมไปถึงนักวิชาการเเละตัวเเทนจากหน่วยงานจากหลาย ๆ ภาคส่วน

ในเวทีหารือนั้น ทางกลุ่มผู้ห่วงใยต่อชายหาด นักวิชาการที่เกี่ยวข้องได้เสนอแนวทางในการคลี่คลายความขัดแย้งกรณีหาดทรายรี 4 ข้อ ดังนี้

  • ให้กรมโยธาธิการฯ ชะลอโครงการการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นออกไปก่อนเพื่อให้ทบทวนการดำเนินโครงการ
  • ให้กรมโยธาธิการทบทวนรูปเเบบการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นที่ส่งผลกระทบต่อชายหาดให้น้อยที่สุด
  • ให้มีการเเต่งตั้งคณะทำงานที่มีสัดส่วนของประชาชนที่มีความห่วงใย เเละสนับสนุนโครงการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ในสัดส่วนที่เท่ากัน เพื่อหารือ เเละปรับรูปเเบบโครงการให้มีความเหมาะสม ส่งผลกระทบต่อชายหาดน้อยที่สุด
  • ให้มีมาตรการอื่น ๆ ที่เยียวยาจากการได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชายหาด รวมถึงศึกษาข้อมูลที่สามารถรักษาไว้ให้คงสภาพชายหาดธรรมชาติของหาดทรายรีให้มากที่สุด

ภายหลังจากการพูดคุยหารือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำให้กรมโยธาธิการฯ รับ 4 ข้อเสนอดังกล่าว โดยมีการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการจัดตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดเพื่อหาเเนวทางการดำเนินงานต่อไป

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ทางผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้เเต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาหาเเนวทาง การเเก้ปัญหาเเละผลกระทบร่วมกัน รายชื่อคณะทำงานประกอบด้วยบุคคลจากหลายภาคส่วนรวมทั้งสิ้น 17 คน ได้แก่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร (ด้านความมั่นคง) เป็นประธานคณะทำงาน โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชุมพร เป็นรองประธานคณะทำงาน โดยมีคณะทำงานประกอบด้วย

  • รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดชุมพร
  • ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร
  • เจ้าท่าภูมิภาคสาขาชุมพร
  • วิศวกรชำนาญการพิเศษ กรมโยธาธิการและผังเมือง
  • ผู้ประสานงาน Beach for Life
  • เลขาธิการสมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร
  • เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชนมูลนิธิภาคใต้สีเขียว เป็นต้น

ให้คณะทำงานศึกษาแนวทางที่เหมาะสมนำเสนอต่อกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

หลังจากนี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าผลการหารือของคณะทำงานระดับจังหวัดนั้น ในการดำเนินการโครงการให้เหมาะสม ส่งผลกระทบต่อสภาพชายหาดหาดทรายรีน้อยที่สุดนั้น จะเป็นอย่างไรต่อไป

3. ชัยชนะหาดดอนทะเล จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมชน-ท้องถิ่น รวมพลังยกเลิกกำแพงกันคลื่น

ชายหาดดอนทะเล อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชายหาดสมบูรณ์ กว้างยาวของชุมชนตำบลคันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำลังเผชิญหน้ากับโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบเรียงหินใหญ่ ความยาว 1,238 เมตร งบประมาณ 70.23 ล้านบาท การดำเนินโครงการนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการตั้งคำถามของชุมชนว่า “ชายหาดดอนทะเลไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงจะสร้างกำแพงกันคลื่นทำไม ?” รวมไปถึงข้อห่วงกังวลของชุมชนต่อโครงการนี้ เนื่องจากมีบทเรียนจากชายหาดใกล้เคียง ที่กรมเจ้าท่าดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในลักษณะเดียวกันนี้และส่งผลกระทบทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งต่อเนื่อง การสูญเสียพื้นที่ชายหาดไปอย่างถาวร

ชายหาดดอนทะเล เป็นแหล่งหาหอนสำคัญของชุมชน บริเวณชายหาดมีหอยนานาชนิด เช่น หอยขาว หอยเสียบ ตลอดตาควาย เป็นต้น หอยเหล่านี้อาศัยอยู่บริเวณชายหาด หากมีการสร้างกำแพงกันคลื่นแบบหินเรียงนั้นจะทำให้ที่อยู่อาศัยของหอยนานาชนิดถูกทำลาย และกระทบต่อรายได้และวิถีชีวิตของชุมชนตำบลคันธุลี

ชาวชุมชนตำบลคันธุลี ได้จัดเวทีให้ความรู้ภายในชุมชนหลายครั้งเพื่ออธิบายผลกระทบของโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดดอนทะเลต่อชุมชน รวมไปถึงการยื่นหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆให้ทบทวนการดำเนินโครงการ และการเข้าร้องเรียนต่อสภาเทศบาลตำบลคันธุลี เพื่อให้มีการทบทวนยกเลิกโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น

ต่อมาทางองค์การบริหารส่วนตำบลคันธุลี ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบคันธุลี ซึ่งเป็นพื้นที่กอ่สร้างโครงการจำนวน 195 คน พบว่า มีประชาชนจำนวน 155 คน ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดดอนทะเล ประกอบกับข้อมูลทางวิชาการที่ยืนยันสภาพชายหาดดอนทะเลที่สมบูรณ์ ไร้การกัดเซาะชายฝั่ง และกระแสสาธารณะที่มีการรณรงค์ #ปกป้องหาดดอนทะเล มีการชูป้ายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลเรียกร้อง #ปกป้องหาดดอนทะเล ทำให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทำหนังสือถึงกรมโยธาธิการฯ โดยยืนยันผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่โครงการและข้อมูลทางวิชาการ ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองยกเลิกโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดดอนทะเล

วันที่ 15 กันยายน 2564 เพจ Beach for life รายงานว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งยกเลิกโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นหาดดอนทะเล จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยให้เหตุผลว่า เพื่อลดความขัดเเย้งที่อาจเกิดขึ้นเเละลดผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน หลังจากที่ชาวบ้าน นักกิจกรรม และนักวิชาการออกมาคัดค้านการก่อสร้างโครงการกว่า 2 เดือน ทำให้ชายหาดดอนทะเลได้รับการปกป้องไว้ด้วยพลังของชุมชน

4. ศาลปกครองสูงสุดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี คดีสะกอม จังหวัดสงขลา

ในรอบ 10 ปี ทีมีความเคลื่อนไหวของศาลปกครองสูงสุดในคดีชายหาดสะกอม อำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลา หลังศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อปี 2554 ทำให้คดีอยู่ในศาลสูงสุดเป็นเวลา 10 ปี ในวันนี้ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งเเรกในคดีสะกอม

คดีสะกอมนั้น เป็นการฟ้องร้องในกรณีที่กรมเจ้าท่าดำเนินการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม พร้อมด้วยเขื่อนกันคลื่นนอกฝั่งจำนวน 4  ตัว ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ประชาชนในพื้นที่ตำบลสะกอม และบ้านโคกสัก ได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา ในปี 2551 หลังจากนั้นในปี 2554 ศาลปกครงสงขลาได้มีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้กรมเจ้าท่าไปทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ย้อนหลัง หากพบว่าจะมีความเสียหายก็ให้รื้อโครงการออกและฟื้นฟูเยียวยาให้ธรรมชาติกลับคืน

ในวันที่ 7 กันยายน 2564 ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก คดีหมายเลขดำที่ อ.924/2554 ระหว่าง นายสาลี มะประสิทธิ์ ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน ผู้ฟ้องคดี กับ กรมเจ้าท่า ที่ 1  ที่ 2 กรมทรัพยากรทางชายฝั่งทางทะเล ที่ 3

ตุลาการผู้แถลงคดีได้ให้ความเห็น โดยสรุปได้ว่า

  • การดำเนินโครงการตามฟ้องไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากเห็นว่า แม้ตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่บังคับใช้ในขณะดำเนินโครงการ จะมีการประกาศให้โครงการที่มีการถมทะเล เป็นประเภทโครงการที่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก็ตาม แต่เนื่องจาก ลักษณะกรณีโครงการตามฟ้องเป็นเพียงเขื่อนหินทิ้ง ไม่มีการถมดินที่ให้มีที่ดินเพิ่มขึ้นหรือเป็นการสร้างเกาะเทียมขึ้น ดังนั้น จึงเห็นว่า โครงการตามฟ้องเป็นเขื่อนกันคลื่นกันทราย ไม่เป็นการถมทะเล จึงไม่อยู่ในข่ายดังกล่าวที่จะต้องจัดทำ EIA ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 46 วรรค 1 และประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรืกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
  • การไม่จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นโดยวิธีประชาพิจารณ์ไม่ถือเป็นการดำเนินโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้ตามระเบียบการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์พ.ศ. 2539 ข้อ 7 วรรค 1 กำหนดให้โครงการต้องจัดทำประชาพิจารณ์ แต่เป็นการกำหนดให้เป็นดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการจะจัดให้มีขึ้นหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น กรณีนี้แม้ไม่มีการจัดการรับฟังความคิดเห็น ก็ไม่เป็นเหตุให้การดำเนินโครงการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัด
  • การดำเนินโครงการไม่ต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 เนื่องจาก โครงการไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ แต่เป็นการแก้ปัญหาสำหรับการเดินเรือเนื่องจากเป็นเขื่อนกันทรายที่จะมาถมร่องน้ำสำหรับการเดินเรือ การดำเนินโครงการจึงไม่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าว 
  • การดำเนินโครงการเป็นการดำเนินการที่ได้สัดส่วน เมื่อเทียบประโยชน์สาธารณะกับผลกระทบส่วนบุคคลของผู้ฟ้องคดี

โดยเห็นว่า โดยในปี 2536-2537 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีการว่าจ้างให้บริษัทศึกษาถึงความเหมาะสมของโครงการ จากการศึกษาในช่วงฤดูมรสุม ลมตะวันออกเฉียงเหนือได้พัดพาตะกอนเข้าสู่บริเวณแนวชายฝั่ง ทำให้มีสันดอนทรายที่ทำให้เกิดการตื้นเขินบริเวณปากร่องน้ำ จึงส่งผลให้เรือประมงไม่สามารถเข้าออกได้อย่างสะดวกตลอดเวลาและเป็นปัจจัยสำคัญ จึงต้องดำเนินการขุดลอกร่องน้ำเพื่อให้เรือประมงสามารถสัญจร การดำเนินการก่อสร้างเขื่อนกันทราย เมื่อคำนึงถึงความได้สัดส่วนระหว่างประโยชน์สาธารณะในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้ร่องน้ำ การขจัดหรือลดปริมาณงานขุดลอกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงและขุดลอกร่องน้ำ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงจำเป็นต้องมีสิ่งก่อสร้าง เพื่อทำหน้าที่ขัดขวางการเคลื่อนตัวของตะกอนทรายไม่ให้ผ่านร่องน้ำ ทำให้เรือประมงสามารถผ่านเข้าออกได้อย่างสะดวกตลอดเวลาและมีความปลอดภัย กับความเสียหายของผู้ฟ้องคดีทั้งสามที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการดังกล่าว ประโยชน์สาธารณะย่อมมีมากกว่า การใช้ดุลยพินิจดำเนินโครงการดังกล่าว จึงชอบได้ด้วยหลักความได้สัดส่วน

ตุลาการผู้แถลงการณ์คดีเห็นว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำสะกอม ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกฟ้อง

ทั้งนี้ ตุลาการเจ้าของสำนวนได้แจ้งว่า หลังจากนี้ จะได้มีการนัดฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดต่อไป

5.  เครือข่ายประชาชนภาคใต้ เคลื่อนไหวยื่น 7 ข้อเสนอต่อรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน

 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ตัวแทนเครือข่ายประชาชนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน กลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทั่วภาคใต้ ได้ยื่นข้อเสนอ 7 ข้อสำคัญต่อรัฐบาลเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยมีการยืนหนังสือใน ครม.สัญจร จังหวัดกระบี่ โดยมีนาย เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลในการรับข้อเสนอทั้ง 7 ของภาคประชาชน โดยภาคประชาชนภาคใต้ ให้เวลา 3 เดือนเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตามข้อเรียกร้อง หากไม่มีความคืบหน้าเครือข่ายจะเคลื่อนไหวเพื่อติดตามอย่างใกล้ชิด

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลาคม 2564 เครือข่ายประชาชนภาคใต้ที่ติดตามปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ได้จัดเวทีสาธารณะเพื่อระดมความคิดเห็น ปัญหา และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นการกัดเซาะชายฝั่งเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยมีสาระ สำคัญ 7 ข้อเรียกร้องดังนี้

1. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาทบทวนการนำโครงการหรือกิจการประเภทกำแพงกันคลื่น กลับเข้าไปเป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนชายฝั่ง

 2. ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระงับการดำเนินการเพื่อทบทวนโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ชายหาดทั่วประเทศไทย ที่กำลังมีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อป้องการทำลายชายหาดด้วยโครงสร้างป้องกันชายฝั่งของรัฐ และไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ได้เกิดประโยชน์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่เป็นการซ้ำเติมเพิ่มปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

3.รัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดการใช้มาตรการชั่วคราว ที่สามารถรื้อถอนได้เมื่อผ่านมรสุมไปแล้ว อย่างที่ปรากฏชัดเจนในหลายพื้นที่ชายหาดของประเทศไทยว่า การกัดเซาะชายฝั่งในหลายพื้นที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว การใช้มาตรการชั่วคราว ที่เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมเพื่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งชั่วคราวในช่วงมรสุม

4. รัฐบาลต้องส่งเสริม และผลักดันให้มีการใช้มาตรการที่เป็นมิตรกับชายหาด เช่น การเติมทราย การกำหนดแนวถอยร่น การรื้อถอนโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ไม่จำเป็น และการป้องกันการกัดเซาะตามวิถีภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อให้ชายฝั่งได้ฟื้นคืนและเกิดความสมดุล โดยที่มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่ง

5. รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนชายฝั่งสามารถกำหนดเจตจำนงของตนเอง ในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายหาดอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งการส่งเสริมให้ความรู้และรับรองสิทธิชุมชน กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดการ ใช้ประโยชน์ และบำรุงรักษาทรัพยากรชายหาด

6. คณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่ง ต้องจัดให้มีคณะอนุกรรมการกัดเซาะชายฝั่ง โดยกำหนดให้มีสัดส่วนจากภาคประชาชนที่มาจากพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งร่วมเป็นอนุกรรมการดังกล่าว

7. รัฐบาลควรเร่งตั้งคณะกรรมการศึกษาสภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อรวบรวมการใช้ประโยชน์ และจำแนกประเภทการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งการการศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกัน แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน

ทั้ง 7 ข้อเรียกร้องนี้ เป็นทางออกเพื่อการหยุดยั้งวิกฤตการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ สภาประชาชนภาคใต้ และสภาองค์กรชุมชน ขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับร่วมกันหารือ และพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวโดยด่วน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน

หลังจากนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะครบรอบ 2 ปีที่ทางรัฐบาลรับข้อเสนอจากตัวแทนประชาชนไป หากไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ทางเครือข่ายประชาชนภาคใต้ที่ติดตามสถานกาณณ์การกัดเซาะชายฝั่ง ประกาศจะไปทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาลต่อไป

ทั้งหมด 5 เรื่อง คือ เหตุการณ์และความเคลื่อนไหวสำคัญๆของประชาชนและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการกัดเซาะชายฝั่ง ในปี 2564 ที่ผ่านมา

  • รวบรวมสถานการณ์ชายหาดโดย Beach for life

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

Prev

January 2025

Next

Mon

Tue

Wed

Thu

Fri

Sat

Sun

30
31
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
1
2

9 January 2025

Nothing to show.

เข้าสู่ระบบ