ฝ่าไฟแปลงใหญ่รอยต่อลี้ ลำพูนเปิดหลังม่าน “ก้อSandbox” จัดการฝุ่น-ไฟด้วยปากท้อง

ฝ่าไฟแปลงใหญ่รอยต่อลี้ ลำพูนเปิดหลังม่าน “ก้อSandbox” จัดการฝุ่น-ไฟด้วยปากท้อง

แม้สังคมจะพอรับรู้มากขึ้นว่า “ฝุ่น ควัน  ไฟ” เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย แต่ยังมีอะไรอยู่หลังฝุ่น และม่านความไม่เข้าใจที่จะแก้โจทย์นี้ให้ลุล่วง 

นับจากฝุ่นควันท่วมหนักภาคเหนือเมื่อปี 2562 จนประชาชนประกาศจะไม่ทน ลุกขึ้นมาเกาะเกี่ยวค้นคว้า หาแนวทางต่อยอด แก้ปัญหาที่หมักหมมกันมาเกือบ 15 ปี มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะภาคเหนือที่เกิดโมเดลแก้โจทย์ฝุ่นควันที่พัวพันกับไฟป่าและปัญหาสุขภาพกับปากท้องของประชาชนหลายโมเดล หนึ่งในโมเดลที่กำลังพยายาม คือ “ก้อSANDBOX” ที่ อ.ลี้ จ.ลำพูน     

ทำไมต้องที่บ้านก้อ? โมเดลนี้จะแก้โจทย์ฝุ่น ไฟ คน ในอีกหลาย ๆ ที่ได้หรือไม่? ทีมสื่อพลเมือง The North องศาเหนือ และ C-Site ไทยพีบีเอส แกะร่อง ตามรอย อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเกิดขึ้นในเหนือพื้นที่ไฟแปลงใหญ่ไหม้ซ้ำซากอันดับต้น ๆ ของประเทศ 


ทำไมต้องบ้านก้อ ?

“ผมมาที่นี่เพราะดูข้อมูลย้อนหลังจากดาวเทียมแล้วพบว่าที่นี่มีไฟไหม้ซ้ำซาก หมายความว่า บ้านก้อเป็นชุมชนที่ล้อมรอบด้วย 3 ป่า คือ 1 อุทยาน 2 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีไฟในพื้นที่เดิมเกินกว่า 5 ครั้งขึ้นไป  พื้นที่ 580,000 ไร่ ถือเป็นพื้นที่อันดับหนึ่งของประเทศ ถ้าทั้ง 3 ป่าจะช่วยกันแก้ไขปัญหาร่วมกันสำเร็จได้ก็สามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้กับพื้นที่อื่นได้” ดร. เจน ชาญณรงค์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลบอกเรา 

ดร.เจนเป็นผู้ที่สนใจแก้ปัญหาฝุ่น ไฟ มาที่นี่ด้วยความต้องการใช้ความรู้ความสามารถในหลากหลายสาขาวิชาที่ เหล่านักเรียนทุนมูลนิธิอานันทมหิดลจะมีเครือข่ายมาช่วยกันแก้โจทย์นี้ เพราะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่บ้านก้อและพื้นที่ภาคเหนือมีโจทย์เชิงซ้อนมากมายซ่อนอยู่หลังฝุ่นนั้นคือปัญหาปากท้องและสภาพพื้นที่ป่าที่โยงใยกับข้อกฎหมายหลายอย่าง

ต.ก้อ อ.ลี้ จังหวัดลำพูน อยู่ไกลที่สุดทั้งจากตัวอำเภอและจังหวัดลำพูน ตั้งอยู่กลางอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เป็นรอยต่อของ 4 จังหวัด คือ อำเภออมก๋อยและอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอสามเงาจังหวัดตาก อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง ป่าเต็งรังหลายแสนไร่ที่โอบล้อมบ้านก้ออยู่เกี่ยวข้องกับทั้งอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย 

เดิมคนก้อ อาศัยอยู่ข้างลำน้ำปิง ต่อมาในปี 2494 รัฐบาลได้สร้างเขื่อนภูมิพล เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าที่บริเวณเขาแก้ว ทางตอนใต้ของต.บ้านนา อ.สามเงา จ.ตาก ปี 2503 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงอพยพโยกย้ายประชาชนที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือเขื่อนมาอยู่บริเวณปัจจุบัน คือ 1.บ้านก้อทุ่ง อยู่เหนือสุดของลำห้วยคือเป็นหมู่บ้านดั้งเดิม2.กลุ่มบ้านก้อจัดสรร มีหมู่บ้านจำนวน 3 หมู่บ้าน คือบ้านก้อหนอง บ้านก้อจอก และบ้านก้อท่า คือกลุ่มที่ย้ายมาจากหมู่บ้านเดิมที่ถูกน้ำท่วมเมื่อตอนสร้างเขื่อน     

เมื่อถูกกำหนดให้โยกย้ายและรัฐต้องเยียวยา เบื้องต้นทางการจัดสรรที่อยู่ครอบครัวละ 1 ไร่ 2 งาน และที่ทำกินใหม่ครอบครัวละ 15 ไร่ ชาวบ้านบอกว่าไม่เพียงพอจะที่จะตั้งต้นเพาะปลูก ทำเกษตร ปลูกข้าวไร่ ข้าวโพดเพราะเป็นพื้นที่ฝนตกน้อย และครอบครัวขยายมากขึ้น การเข้าป่าเพื่อหาเห็ดถอบและของป่ามากินและขายเพื่อเลี้ยงชีพจึงเป็นวิถีที่ทำต่อเนื่องกันมา ขณะที่สัญญาที่ว่าจะช่วยเหลือต่างๆ ก็มาบ้างไม่มาบ้างจนความรู้สึกของชาวบ้านที่นี่คือ “ถูกหลอก” 

กระทั่งชาวก้อเจอเงื่อนไขชีวิตระลอก 2 เมื่อปี 2524 พื้นที่บริเวณนี้ถูกกำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง  กติกาการควบคุมดูแลรักษาป่าจึงมีเงื่อนไขต่อข้อกฎหมายที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต  

ก้าวแรกของการแก้ไขปัญหาฝุ่นและไฟ คือการแก้ไขปัญหาปากท้องจากกฎหมาย  

“เมื่อเข้ามาในพื้นที่ ก็พบว่าบ้านก้อเป็นพื้นที่หลังเขา มีปริมาณน้ำฝนต่อ 500 มิลลิเมตร/ปี ขณะที่พื้นที่อื่นมีปริมาณฝนกว่า 1,000 มิลลิเมตร เมื่อถึงหน้าแล้งชาวบ้านไม่มีอาชีพเลย พอไม่มีน้ำ ปลูกอะไรก็ตายหมด จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมชาวบ้านต้องเข้าป่า เงื่อนไขนี้ก็คล้ายคลึงก็อาจจะอมก๋อยและแม่ตื่น และนี่เป็นต้นเหตุของปัญหาทุกอย่าง”

“ชาวบ้านใช้ชีวิตอยู่กับป่าเยอะ วิธีการหาของป่าบางส่วนก็ใช้ไฟด้วย ก็เริ่มจะควบคุมไม่ได้ วิธีการแก้ปัญหาคือทำให้เขามีปากท้องที่ดีขึ้นทีละนิด เริ่มจากปลดล็อกเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินต่าง ๆ โดยใช้มาตรา 64 ของพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปีพ.ศ. 2562 เข้ามาแก้ปัญหา เริ่มจากพื้นที่แก่งก้อที่ปัจจุบัน ไม่ได้มีน้ำท่วมตลอดปี เมื่อปลดล็อกพื้นที่ตรงนั้นได้ ก็เริ่มทดลองการใช้ประโยชน์จากพื้นที่” ดร.เจนกล่าว 

นำร่องสร้างพื้นที่ต้นแบบ

เมื่อ ม.64 ของพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติเริ่มมีช่องทางให้เกิดโครงการที่จะใช้ประโยชน์หรืออนุรักษ์ดูแลทรัพยากรในอุทยานได้  แต่กฎหมายลูกยังไม่ออก และยังมีรายละเอียดของความเห็นที่แตกต่างอยู่ แต่ “ก้อSandbox”เดินหน้าไปโดยการทำ MOU กันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถนำร่องสร้างพื้นที่ต้นแบบได้ โดยสร้างแหล่งน้ำ  นั่นคือ การประสานให้กรมน้ำบาดาลเข้ามาเจาะบ่อน้ำบาดาลเป็นบ่อน้ำตื้น 30 บ่อ เพื่อให้คนก้อได้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ในส่วนของพื้นที่ป่า ก็นำแนวทางการเก็บกักน้ำด้วยการทำฝายชะลอน้ำผสมผสานจำนวน 400 ฝาย ก็เริ่มเข้ามา เพราะสิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การบริหารจัดการน้ำฝนให้ป่าเป็นพื้นที่เก็บกักน้ำ

เพราะป่าก็ถูกไฟมามาก มีส่วนหนึ่งที่โทรม ถ้าปล่อยโทรมไปอีกก็อาจจะอยู่ต่อไปไม่ได้ จึงต้องทำฝายชะลอน้ำ ป่าเปียก ต่าง ๆ เพื่อทำให้พื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ขึ้น มีน้ำมากขึ้น ชาวบ้านก็จะใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น เมื่อทั้งดินและน้ำก็อุดมสมบูรณ์  

“น้ำคือชีวิต เรากำลังค่อย ๆ เปลี่ยนหมู่บ้านนี้จากแห้งแล้งสุด ๆ ไปสู่พื้นที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง ดังนั้นชีวิตเขาจะเริ่มเปลี่ยน แต่มันก็ต้องแลกกัน ราชการเอื้ออำนวยอะไรบางอย่าง ชาวบ้านก็ปกป้องป่า มาเป็นเจ้าของป่าร่วมกับราชการ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือการร่วมเป็นเจ้าของป่าร่วมกัน จากเดิมเป็นของเจ้าหน้าที่ และก็ขัดแย้งกันตลอด การบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวมันไม่ใช่ทางออก” ดร.เจนกล่าว

นอกจากการสร้างแหล่งน้ำให้พื้นที่ หาวิธีเก็บกักน้ำฝน ในส่วนของความพยายามเปลี่ยนอาชีพ ได้กันส่วนพื้นที่เกษตรภายใต้ ม.64 ที่นำร่อง 2,000 ไร่  ชวนชาวบ้านที่มีเจตจำนงอยากเปลี่ยนแปลงมาเริ่มทดลอง

“ปีนี้เป็นปีแรกที่บ่อน้ำโผล่ขึ้นในพื้นที่ ชาวบ้านในพื้นที่มาตรา 64 จำนวน 1 ใน 3 มีแผนการเพาะปลูกแล้วว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไปจะปลูกอะไร การเพาะปลูกในพื้นที่นี้จะเห็นถั่ว ปอเทือง พริก ต่อไปทำเรื่องระบบปศุสัตว์เข้ามา   กลุ่มนักเรียนทุนฯ พยายามสานต่อปณิธาน ใช้วิธีการของในหลวงรัชกาลที่ 9  สร้างน้ำ สร้างป่า แก้ไขข้อกฎหมาย ทำให้เขามีกินไม่เดือดร้อน และหวังว่าระยะหน้าจะดีขึ้น”

พื้นที่ต้นแบบตาม มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยาน  

นายมัญญา นาคพน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง หรือที่ชาวบ้านที่นี่เรียกกันติดปากว่า หัวหน้าบอย เล่าว่า พื้นที่อุทยาน 62,000 กว่าไร่ กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นป่าเต็งรังทั้งหมด  จึงเอื้อต่อการเกิดไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง ยิ่งปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี ไม่ถึง 600 มิลลิเมตรต่อปี คิดง่ายๆ ฝนตกที่ดอยอินทนนท์แค่ 2 วัน ยังมากกว่าบ้านก้อเสียอีก ดังนั้นป่าแม่ปิงจึงต่างจากป่าอินทนนท์หรือป่าดอยสุเทพ แต่ละแห่งจึงมีสภาพต่างกัน ป่าอินทนนท์เป็นป่า 3 ชั้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ซึ่งตัวป่าดิบเขาสามารถผลิตน้ำได้ตลอดทั้งปี แต่ป่าแม่ปิง หลังจากสิ้นเดือนธันวาคมนี้ จะแห้งแล้ง 

ปัจจุบันคนในชุมชนก้อมีอาชีพทำเกษตรเพียง 6 เดือน ส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพด เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวโพดเสร็จก็จะไม่มีสามารถเพาะปลูกอะไรได้อีก หรือมีอาชีพอื่นเลยเพราะปัญหาเรื่องน้ำ ชาวบ้านก็จะปล่อยให้เป็นไร่ข้าวโพดร้าง บางส่วนก็จะเข้าป่าล่าสัตว์ หาเห็ดถอบ และเสี่ยงกับอุทยานเอา ถ้าเจอเจ้าหน้าที่อุทยานก็โดนจับ ไม่เจอก็รอดไป แต่หากสร้างน้ำและมีแนวทางอาชีพใหม่ให้กับคนที่นี่ก็จะแก้โจทย์ปากท้องและการเผา

พื้นที่ต้นแบบการใช้มาตรา 64 มีประมาณ 2,000ไร่ จึงเกิดขึ้น เพื่อทำให้เห็นว่าจะมีแนวทางเปลี่ยนแปลงอาชีพได้อย่างไร

“พอร่วมกับทางกลุ่มดร.เจน ขับเคลื่อน มีบ่อน้ำตื้นประมาณ 30 กว่าบ่อ ชาวบ้านมาแสดงเจตจำนงในการเพาะปลูกต่อไปอีก 715 ไร่ ที่จะปลูกถั่ว พริก ปอเทือง และใช้พื้นที่ 3 ไร่ของชาวบ้านก่อที่เป็นเจ้าหน้าที่อุทยาน และเป็นอาสาสมัครที่จะนำร่องทดลดงปลูกองุ่น ทุเรียน หน่อไม้ฝรั่ง หญ้าเนเปีย และปลูกป่าโดยเติมเชื้อเห็ด เพื่อต่อไปจะได้ขยายผลไปยังชาวบ้าน”  

จุดเริ่มต้นของการสร้างปัจจัยที่จะสร้างทางเลือกใหม่ได้เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ปิงเล่าว่า ร่วมกับ ดร.เจนเข้าพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน มีผู้นำชาวบ้านคนหนึ่งยกมือถามคำแรกเลยว่า “จะมาหลอกอะไรเขาอีก ?” เพราะชาวบ้านผ่านอะไรมาเยอะไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดสรรพื้นที่ การจะเยียวยาหรืออะไรต่าง ๆ นานา ไม่ใช่เพราะการประกาศเขตอุทยานอย่างเดียว เพราะตัวอุทยานประกาศมาเพื่อจะปกป้องตัวพื้นที่ป่า และพื้นที่ตำบลก้อ ก็ไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานมาตั้งแต่ 2524 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระยะเวลาที่ผ่านมา แนวเขตที่เคยประกาศให้เป็นป่า ป่าชุมชน ที่ดินทำกิน ก็มีการบุกรุก เปลี่ยนมือที่ดินไปเช่นกัน ความเปราะบางและรากของปัญหา ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต้องใช้เวลา 

แปลงสาธิตวนเกษตร ต้นแบบเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและรายได้อย่างมั่นคง

“3 ปีที่ผ่านมา ราชการและคนที่เข้ามาก็จะต้องทำให้ชาวบ้านเห็นว่าความพยายามตั้งใจจริง แต่ก็ยังเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ชาวบ้านทั่วไปยังไม่ค่อยแน่ใจ  แต่เมื่อบ้านก้อเริ่มมีโครงการแหล่งน้ำบาดาล ชาวบ้านก็เริ่มเห็นว่ามีน้ำจริง มีการก่อสร้างอะไรจริง ๆ ก็ให้ความร่วมมือมากขึ้น”

“ถ้าหน่วยงานราชการรู้ว่าความเดือดร้อนของชาวบ้านคืออะไร เราต้องแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ปัญหาเรื่องที่ดินอาจจะแก้ยาก เพราะติดด้วยข้อกฎหมาย แต่กับปัญหาเรื่องน้ำ ถ้าแก้โจทย์นี้ได้หลายอย่างก็จะง่ายขึ้น ส่วนเรื่องการดำเนินการป้องกันปราบปรามไฟป่าก็เป็นเรื่องของกฎหมายและสร้างกติการ่วมกันต่อไป

แต่ถ้าเรามองตัวชุมชนอยู่ในลักษณะเป็นไข่แดง แม้จะถูกกันออกจากพื้นที่ป่าไปแล้ว แต่ลักษณะที่ป่ามันล้อมเมือง ไม่ใช่เมืองล้อมป่า เลยไม่ได้คิดจะเอากฎหมายหรือการอนุรักษ์เป็นตัวนำ แต่สิ่งแรกที่ต้องทำคือการพัฒนา เพราะความเชื่อที่มีร่วมกันกับทางทีมดร.เจนจนเกิด “ก้อSandbox” คือว่า ถ้าชาวบ้านอยู่ดีกินดี ชุมชนมีส่วนร่วมกับการพัฒนา การอนุรักษ์ก็จะมีความยั่งยืน ซึ่งก็รู้สึกดีใจที่ 3 ปีมานี้พื้นที่ไฟป่าลดลงเรื่อย ๆ” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง กล่าว 

สำหรับ ดร.เจน ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล บอกว่า บ้านก้อเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจตัวเขาที่เข้ามาทำงานกับชุมชนหลายอย่าง และทยอยชวนกลุ่มคนที่มีศักยาภาพจะมาช่วยเหลือเติมความรู้ ทักษะต่างให้กับพื้นที่ แต่ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจและขยายผล 

“ปีแรกผมพยายามทำความเข้าใจพื้นที่และปัญหาคนที่นี่ แต่ขั้นตอนต่อไปคือจะต้องเข้าถึงชาวบ้าน และสร้างตัวอย่างของความสำเร็จของคนในพื้นที่ให้ได้เห็น และหวังว่าจะเกิดการพัฒนา ซึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญ เป็นกลไกที่หลักในการพัฒนาก็คือตัวชาวบ้านและคนที่นี่เองที่จะเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ ผมก็มาทบทวนนะว่ามีเวลาเท่าไหร่ที่ช่วยที่นี่ หวังว่าอีก 3 ฤดูไฟ เราน่าจะเห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนขึ้น” ดร.เจน กล่าวทิ้งท้าย 


ภาพจาก https://www.facebook.com/อุทยานแห่งชาติแม่ปิง-Mae-Ping-National-Park-1504264473016963/photos/pcb.3370646463045412/3370645616378830/

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะฯ ได้ร่วมพิธีการลงนามความร่วมมือ (MOU) เพื่อการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ของกรมอุทยานสัตว์แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ในบันทึกความร่วมมือการดำเนินการกิจกรรมพัฒนาพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562

สาระสำคัญ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 บทเฉพาะกาล มาตรา 64, มาตรา 65

กล่าวโดยสรุปพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 กำหนดในบทเฉพาะกาล มาตรา 64ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่ทำกินภายในเขตอุทยานแห่งชาติภายใน 240 วันนับตั้งแต่กฎหมายประกาศใช้ หลังจากนั้นรัฐบาลก็จะต้องมีนโยบายในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินผ่านการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

สำหรับประชาชนที่จะได้รับความช่วยเหลือตามพระราชกฤษฎีกา มาตรา 64 วางหลักเกณฑ์ไว้ว่าจะต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกิน และอยู่อาศัยตามกรอบเวลาตามมติ ครม. วันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 กล่าวคือ ประชาชนที่จะได้รับอนุญาตก็ต่อเมื่ออยู่อาศัยในพื้นที่ก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นวันประกาศคำสั่ง คสช.

กำหนดหลักเกณฑ์การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของประชาชน ในบทเฉพาะกาล มาตรา 65 มีการกล่าวถึงการจัดทำโครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน กล่าวคือ อุทยานแห่งชาติมีหน้าที่ต้องสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ภายใน 240 วันหลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562หากเห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดใหม่ได้เหล่านั้นมีเพียงพอสำหรับการเก็บโดยไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ และเป็นกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาดำรงชีพตามวิธีชุมชนดั้งเดิมที่อยู่โดยรอบอุทยาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็สามารถจัดทำโครงการอนุรักษ์ฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเสนอรัฐมนตรีได้

โครงการอนุรักษ์ฯ นี้จะมีระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี “เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและลดการพึ่งพิงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ” โดยจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ของผู้ที่ได้รับอนุญาตให้สามารถเข้าไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ชนิด จำนวน หรือปริมาณของทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับอนุญาตให้เก็บหาหรือใช้ประโยชน์ หน้าที่ในการอนุรักษ์และฟื้นฟู มาตรการในการติดตามกับดูแล และการสิ้นสุดการอนุญาต

ตามโครงการอนุรักษ์ฯ เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจการกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประชาชน ผ่านการอนุญาต กำหนดชนิดและปริมาณการใช้ทรัพยากร รวมถึงกำหนดมาตรการติดตามต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแล ตรวจสอบติดตาม การประเมินผล และการสิ้นสุดการอนุญาต

ตอนต่อไป ตามรอย ก้อSandbox ฝ่าฝุ่น ปีผ่านไปเกิดอะไรขึ้นบ้าง

อ้างอิง

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=3370646463045412&id=1504264473016963
https://www.facebook.com/farfoon.th/posts/175051943940124

ระเบียบกรมอุทยานฯ ว่าด้วยการเปรียบเทียบความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ  พ.ศ. 2563

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ