ทำความเข้าใจ ทำไมต้องหนุน ‘กม.จัดการที่ดินฯ-กม.ธนาคารที่ดิน’

ทำความเข้าใจ ทำไมต้องหนุน ‘กม.จัดการที่ดินฯ-กม.ธนาคารที่ดิน’

7 มิ.ย. 2558 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) เผยเตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์วันที่ 8-9 มิ.ย. 2558 เพื่อผลักดันร่างพระราชบัญญัติสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร และร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดินใน การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยจะมีการยื่นเอกสารต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อแสดงเจตนารมณ์ให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติสนับสนุนร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ดังกล่าว รวมทั้งจะเข้าร่วมรับฟังการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติในวาระการพิจารณาร่างกฎหมายด้วย 

20150806004832.jpg

นอกจากนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ยังเผยแพร่ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจถึงกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ต่อสาธารณะ ดังนี้

ร่างพระราชบัญญัติสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร เกิดจากคำถามที่ว่า

“เราควรจะมีทางเลือกอื่นๆ บ้างหรือไม่ในการออกกฎหมายเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมในสังคมที่ปราศจากความเหลื่อมล้ำหรือมีความเหลื่อมล้ำให้น้อยที่สุด???”

เพราะในปัจจุบัน ภายใต้ระบบเสรีนิยมใหม่การบริหารจัดการที่ดินโดยอิงกลไกตลาดเป็นหลักและทำให้ที่ดินกลายเป็นสินค้า ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยสูญเสียที่ดินทำกินได้อย่างง่ายดาย สภาวะเช่นนี้ทำให้ปัญหาคนยากจนสูญเสียที่ดินไม่สามารถแก้ไขให้สิ้นสุดลงได้ เพราะไม่ว่ารัฐจะจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรรายย่อยมากเท่าใด แต่ด้วยภาวะที่ที่ดินถูกทำให้เป็นสินค้าที่มีราคาตลาดสูงก็จะทำให้เกษตรกรรายย่อยที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่มั่นคงมีแนวโน้มที่จะขายที่ดินให้แก่นายทุนอยู่นั่นเอง 

รูปธรรมของข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว มีได้หลายลักษณะ เช่น ระบบโฉนดชุมชนเป็นแนวทางเชิงรูปธรรมที่หวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อย ป้องกันไม่ให้ที่ดินหลุดมือออกไปจากสมาชิกชุมชน และแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินที่ไม่ตอบสนองความต้องการของชุมชน เนื่องจากหลักการพื้นฐานของระบบโฉนดชุมชนคือการสร้างระบบถ่วงดุลและสนับสนุนระหว่างสิทธิปัจเจกและสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินในชุมชน 

สิทธิของชุมชนคือสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดิน กล่าวคือชุมชนมีอำนาจในการควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดินของสมาชิกผู้ใช้ประโยชน์ที่ดินให้อยู่ในหลักเกณฑ์เดียวกัน ควบคุมการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลประโยชน์ในที่ดินจะตกอยู่กับสมาชิกในชุมชน ไม่ใช่บุคคลต่างถิ่น และเก็บผลประโยชน์จากครัวเรือนที่ใช้ที่ดินเพื่อรวบรวมเป็นกองทุนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของส่วนรวม 

ส่วนปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มปฏิรูปที่ดินจะมีสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินภายใต้เงื่อนไขกฎเกณฑ์ของชุมชน สิทธินั้นจะคงอยู่ตราบเท่าที่ผู้ถือครองที่ดินมีการใช้ประโยชน์และเคารพกติกา ของชุมชนเท่านั้น หากไม่เข้าทำประโยชน์หรือมีการละเมิดข้อตกลง ชุมชนมีสิทธิยึดที่ดินคืนแล้วนำไปให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์ต่อไป 

รูปแบบของโฉนดชุมชนอาจมีลักษณะคล้ายกับโฉนดที่ดินตามกฎหมายที่มีการระบุแผนที่แสดงขอบเขต ขนาดที่ดิน และผู้ทรงสิทธิ แต่ภายในโฉนดมีการจำแนกรายละเอียดเป็นขอบเขตกรรมสิทธิ์พื้นที่ของสมาชิกรายบุคคลและขอบเขตกรรมสิทธิ์ที่ดินสาธารณะหรือที่ส่วนรวมของชุมชน แต่ละชุมชนอาจพัฒนารูปแบบของโฉนดชุมชนที่แตกต่างหลากหลายกันไป แต่ที่สำคัญกระบวนการออกแบบและจัดทำโฉนดชุมชนต้องเกิดจากการพิจารณาร่วมกันของสมาชิกภายในชุมชน และได้รับการยอมรับจากชุมชนใกล้เคียงเพื่อมิให้มีการอ้างสิทธิซ้อนทับกันจนเกิดเป็นกรณีพิพาทตามมา 

นอกเหนือจากตัวเอกสารโฉนดชุมชนแล้ว กระบวนการจัดการที่ดินร่วมของชุมชนเป็นเงื่อนไขหลักที่จะทำให้การปฏิรูประบบการจัดการที่ดินบรรลุเป้าหมายได้

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 นั้นรับรองเฉพาะ “ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” ตาม มาตรา 46 ซึ่งหมายถึง การรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลมาอยู่อาศัย ในพื้นที่เดียวกันมีประเพณีวัฒนธรรมและวิถีการดำรงชีวิตอย่าง เดียวกันเป็นระยะเวลานาน ชุมชนลักษณะเช่นนี้อาจจะอาศัยอยู่ ในชนบทที่แวดล้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติจึงก่อให้เกิดการ เรียนรู้ที่อยู่กับสิ่งรอบๆ อย่างกลมกลืน นับแต่นั้นเป็นต้นมา เรื่องสิทธิชุมชน จึงได้รับความสนใจ เป็นอย่างมากและอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบนเวทีสาธารณะ หรือในการระดมความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งมีนักวิชาการ ตัวแทนจากภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่อง สิทธิชุมชน 

จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่กล่าวถึงสิทธิชุมชนที่มีลักษณะครอบคลุมมากขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเก่า มาตรา 66 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งรวมกันเป็น ชุมชนชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ หรือฟื้นฟูจารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดี ของท้องถิ่นและของชาติและมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุง รักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน” ซึ่ง หมายถึงสิทธิของชุมชนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทำนุบำรุงภูมิปัญญา ท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา 

“การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลาย ในชุมชนได้อย่างสมดุล และยั่งยืน” 

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2540 และ 2550 ร่วมทั้งมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้รับรองสิทธิตาม มาตรา 4 ที่บังคับไว้ว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค” บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ 

เครือข่ายภาคประชาชนผู้สนับสนุนกฎหมายก็กำลังจับตาว่า “สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ” จะรักษาและพัฒนาหลักการเพื่อประชาชนเหล่านี้หรือไม่ 

สุดท้ายปัญหาที่สังคมไทยกำลังจับตามองและถกเถียงถึงการแก้ไขปัญหากันอย่างแข็งขัน รวมทั้งรัฐบาลปัจจุบันกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไม่คำนึงถึงสิทธิของชุมชนและชาวบ้านคนเล็กคนน้อย คือ “ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้” ในร่างพระราชบัญญัติสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรจึงได้ออกแบบให้ชุมชนมีสิทธิในการจัดการปกป้องทรัพยากรและป้องกันปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่ม ลดปัญหาความขัดแย้งในกรณีที่รัฐมักจะมีปัญหากับชุมชน ในเรื่องการบุกรุก หรือมีพื้นที่ทำกินทับซ้อนพื้นที่ป่าไม้และที่ดินของรัฐ 

โดยจะดำเนินการซื้อที่ดินเอกชนที่มีเอกสารสิทธิ์ให้เช่าในระยะยาว มีการจัดตั้งกองทุนที่ดินชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน ทั้งรับรองสิทธิในที่ดินของชุมชนที่อยู่ในเขตป่า ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์และดูแลรักษาป่าได้อย่างยั่งยืน แก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้ได้ในระยะยาวโดยไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิในการดำรงชีวิตของชาวบ้าน ชนเผ่า คนเล็กคนน้อย คนชายขอบ 

ในปัจจุบันข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าอนุรักษ์ จำนวน “144.54 ล้านไร่” แต่จำนวนพื้นที่ป่าในปัจจุบันเหลือเพียง “82 ล้านไร่” แสดงว่าในเขตดังกล่าวมีพื้นที่ที่ไม่มีสภาพป่าแล้วจำนวนถึง “62.54 ล้านไร่” ซึ่งซ้อนทับอยู่ในพื้นที่ที่มีชุมชนอาศัยอยู่ 3,470ชุมชน จำนวน 1,056,819 ราย” (ที่มา: ศูนย์ปฏิบัติการกรมที่ดิน(2554) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(2556) กรมป่าไม้(2554) และ กรมธนารักษ์(2555))

ในด้านการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรนั้น ร่างพระราชบัญญัติสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรได้ออกแบบให้ชุมชนมีสิทธิในการจัดการปกป้องทรัพยากรและป้องกันปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่ม ลดปัญหาความขัดแย้งในกรณีที่รัฐมักจะมีปัญหากับชุมชน ในเรื่องการบุกรุก หรือมีพื้นที่ทำกินทับซ้อนพื้นที่ป่าไม้และที่ดินของรัฐ โดยจะดำเนินการซื้อที่ดินเอกชนที่มีเอกสารสิทธิ์ให้เช่าในระยะยาว มีการจัดตั้งกองทุนที่ดินชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก “ร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน”

เพราะฉะนั้น ร่างพระราชบัญญัติสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร จึงตอบคำถามสำคัญที่ว่า “ทำไมต้องมี ร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน ? ”

ร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดินจะเป็นเครื่องมือในการทำให้คนจน คนไร้ที่ดินและเกษตรกรรายย่อยเข้าถึงที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ให้การสนับสนุนกองทุนที่ดินชุมชนในการบริหารจัดการที่ดินโดยชุมชนตามพระราชบัญญัติสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรอีกด้วย 

ร่างพระราชบัญญัตินี้จะแก้ไขปัญหาการได้รับที่ดินที่รัฐจัดสรรให้อย่างเช่นใน กรณีของ สปก.ที่เกษตรกรรายย่อยมักจะเข้าไม่ถึงและที่ดินก็ถูกเปลี่ยนมือไปสู่นายทุนอีกครั้ง โดยวัตถุประสงค์ของธนาคารที่ดินมีขึ้นเพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืน รวมทั้งมีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม ทั้งยังสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ยากจนได้มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยการสนับสนุนให้ชุมชนบริหารจัดการที่ดินร่วมกัน ทั้งที่ดินทำกินและที่ดินสำหรับการอยู่อาศัยในรูปแบบโฉนดชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งก็คือ ข้อเท็จจริงในปัจจุบันปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ก็คือ “การกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน” 

กลุ่มคนร่ำรวยที่ดินถือครองที่ดิน มากกว่ากลุ่มคนที่มีที่ดินน้อยสุด ถึง “729 เท่า”

คนไทยที่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินมากกว่า “1,000 ไร่” มีเพียง “212 ราย” 

“โดยคนไทยที่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน น้อยกว่า 1 ไร่ มีจำนวน 14.9 ล้านคน” 

“คนไทยจำนวนกว่า 50 ล้านคนที่ ไม่สามารถเข้าถึงที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์”

เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นของธนาคารที่ดินก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะทำให้การเข้าถึง “ที่ดิน” ของประชาชนผู้ยากไร้ เป็นจริงได้มากขึ้น ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย สร้างความสุขที่แท้จริงแก่คนไทยอย่างแท้จริงและยั่งยืน

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ