กำเเพงกันคลื่นโรคระบาดบนหาดทรายไทย

กำเเพงกันคลื่นโรคระบาดบนหาดทรายไทย

การกัดเซาะชายฝั่ง เป็นปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกพูดถึงในประเทศไทยอย่างแพร่หลายในช่วงปัจจุบัน การที่รัฐเปิดช่องให้โครงการประเภทกำแพงกันคลื่น ซึ่งเป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ก่อสร้างในทะเล ไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น กลายเป็นต้นตอปัญหาสำคัญที่ทำให้หาดทรายตกอยู่ในสภาวะวิกฤติ และทำให้เกิด อาการโรคระบาดของกำแพงกันคลื่นในชายฝั่งของประเทศไทย

เราอาจต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า กำเเพงกันคลื่น คืออะไร ?

ในทางวิศวกรรมชายฝั่งนั้น ถือว่ากำเเพงกันคลื่นเป็นโครงสร้างทางวิศวกรรมป้องกันชายฝั่งรูปเเบบ หนึ่ง ซึ่งมักสร้างติดประชิดชายฝั่ง โดยมีหน้าที่เพื่อป้องกันพื้นที่ด้านหลังกำเเพงกันคลื่นให้มีความมั่นคง ปลอดภัยจากคลื่นมรสุมต่างๆ ซึ่งกำเเพงกันคลื่นนั้นอาจก่อสร้างได้หลายรูปเเบบ ตามการออกเเบบของพื้นที่นั้นๆ เช่น หินทิ้ง กำแพงคอนกรีต ไม้ กระสอบทราย หรือ ตุ๊กตาญี่ปุ่น เป็นต้น

ภาพ กำแพงกันคลื่นรูปแบบต่างๆ ภาพโดย Beach for life

กำเเพงกันคลื่น เป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง ที่มีหน้าที่ตรึงเเผ่นดินด้านหลังกำเพงไม่ให้มีการเปลี่ยนเเปลงจากอิทธิพลของคลื่นที่เข้ามาปะทะ ถึงเเม้จะมีหน้าที่ป้องกันชายฝั่ง เเต่กำเเพงกันคลื่นก็มีผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งใกล้เคียง เเละผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อคลื่นวิ่งเข้ามาปะทะชายหาด อย่าลืมว่า การก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นลงบนชายหาด เป็นการเปลี่ยนเเปลงสภาพของหาดทราย โดยวัสดุอื่นๆ ที่ไม่ใช่เม็ดทราย เพราะคุณสมบัติเม็ดทรายที่รวมกันเป็นหาดทรายนั้น ทำให้หาดทรายมีความเป็นวัตถุกึ่งเเข็งกึ่งเหลว ยึดหยุ่นเเละปรับเปลี่ยนตัวเองได้ตามปัจจัยแวดล้อม เเต่เมื่อหาดทรายกีดขว้างโดยกำเเพงกันคลื่น แรงคลื่นที่วิ่งเข้ามาปะทะกำเเพงกันคลื่นก็จะเปลี่ยนระดับความแรงไปจากเดิม  คลื่นจะตะกรุยทรายด้านหน้าของกำแพงกันคลื่นออกไปนอกชายฝั่งมากขึ้นจากปกติ  และปลายสุดของกำแพงกันคลื่นจะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งเป็นผลจากการเลี้ยวเบนของคลื่นที่ปะทะกับกำเเพงกันคลื่น ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ด้านท้ายน้ำของกำเเพงกันคลื่น

EIA คืออะไร ทำไมถึงสำคัญ ?

หลายคนคงเห็นว่าในบทความนี้กล่าวถึง “การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งเเวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment (EIA)” อยู่บ่อยครั้ง เเละคงมีข้อสงสัยว่า EIA นั้นคืออะไร เเละสำคัญอย่างไร ทำไมถึงกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเมื่อกำเเพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA

การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment  เป็นการศึกษาเพื่อคาดการณ์ผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบจากการดำเนินโครงการ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและใช้ในการประกอบการตัดสินใจในการพัฒนาโครงการหรือดำเนินการก่อสร้างโครงการ

ในทางกฎหมายนั้น EIA เป็นหลักพึงระวังไว้ก่อน เมื่อจะมีการดำเนินโครงการของภาครัฐหรือเอกชนซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึ่งจำเป็นต้องทำ EIA โดยการทำ EIA นั้น จะเป็นการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในมิติต่าง ๆ ได้แก่ มิติทางกายภาพ มิติด้านชีวภาพ มิติด้านคุณภาพชีวิต และมิติด้านการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และมีกระบวนการการมีส่วนร่วมโดยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต่อโครงการที่จะสร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นกระบวนการที่อยู่ในช่วงระหว่างการก่อสร้างโครงการหรือช่วงดำเนินงาน ขั้นตอนเหล่านี้จะทำให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นได้มีโอกาสในการรับรู้ข้อมูลรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบ มาตรการลดผลกระทบรวมไปถึงเเสดงความห่วงกังวลและข้อสงสัยต่อเรื่องนั้น ๆ ได้

ดังนั้น โครงการที่มีการจัดทำ EIA จึงเป็นเสมือนหลักประกันต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการในทุก ๆ ด้าน หรือทุก ๆ มิตินั้นจะได้รับการป้องกันเเก้ไขหรือมีมาตราการลดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และเป็นหลักประกันว่า เจ้าของโครงการจะให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ และรับฟังความเห็น ข้อห่วงกังวลต่าง ๆ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างตรงไปตรงมาอย่างแท้จริง

เมื่อ “รัฐ” ยกเว้นกำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA

สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ระบุว่าโครงการที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ทาง สผ.ได้กำหนดรายชื่อโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ประกาศแนบท้ายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นที่รับรู้กันว่า กำแพงกันคลื่น เป็นหนึ่งในโครงการที่จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะดำเนินการโครงการก่อสร้างโครงการ

แต่เมื่อวันที่ 22  ธันวาคม 2556 สำนักงานนโยบายและแผนฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ถอดถอน “กำแพงกันคลื่น” ออกจากโครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม นั้นหมายความว่า การดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนั้น สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องจัดทำการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม 

ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ได้ให้เหตุผลการถอดถอนกำเเพงกันคลื่น กับ กลุ่ม Beach for life จากการทำหนังสือทวงถามเหตุผลในการถอดถอนกำเเพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งเเวดล้อม ว่า “การเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สำนักนโยบายฯ ส่วนใหญ่เป็นโครงการของรัฐ เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กรมเจ้าท่า เป็นต้น โดยการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐดังกล่าวเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาการตกตะกอนปากร่องน้ำ การปิดร่องน้ำหลักในการเดินเรือเล็กเข้า-ออกจากฝั่ง โดยหน่วยงานดังกล่าวมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา มิให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งลุกลาม ตลอดจนให้เหตุผลว่าหน่วยงานที่รับผิดได้รับงบประมาณในการดำเนินการแล้ว แต่มีอุปสรรคเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และขั้นตอนการพิจารณาจนกว่าจะแล้วเสร็จ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในคราวการประชุมครั้งที่ 6 /2556 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 เห็นชอบยกเลิกโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมลงวันที่ 24 เมษายน 2561 ลำดับที่ 21 การก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างบริเวณหรือในทะเล : กำแพงกันคลื่นริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ความยาว 200 เมตรขึ้นไป”

 “การประกาศเพิกถอนกำเเพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำ EIA นั้น เป็นการทำลายหลักพึ่งระวังไว้ก่อนในทางกฎหมาย เเละ เป็นการทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการคุ้มครองสิทธิชุมชน เพราะ  การประกาศเพิกถอนกำเเพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA เป็นการทำลายหลักพึ่งระวังไว้ก่อนที่อาจก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทางกฎหมายอย่างไร้เหตุผล”

กำแพงกันคลื่นโรคระบาดทำลายหาดทรายไทย

ปี 2557-2562 มีโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นเกิดขึ้น 74 โครงการ

รวมความยาว 34,875 เมตร งบประมาณทั้งสิ้น 6,967,853,620 บาท

เมื่อ กำแพงกันคลื่น ถูกเพิกถอนออกจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุผลว่า ท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเเก้ไขปัญหาได้อย่าทันท่วงทีทำให้การดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นได้ง่าย

ผลที่ตามมาอย่างเห็นได้ชัด คือ ตลอดช่วงปี 2557 ถึง 2562 มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นบนชายหาดในประเทศไทย จำนวน 74 โครงการ รวมระยะทางกว่า 34,875 เมตร ตลอดแนวชายฝั่ง งบประมาณรวม 6,967,853,620  บาท (รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ประกาศจัดซื้อจัดจ้างกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่า ปี 2557-2562)

* การรวบรวมข้อมูลโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจากเว็บไซต์ของกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่านั้น รวบรวมข้อมูลปี 2557 -2562 ที่มีข้อมูลในเว็บไซต์ โดยอาศัยข้อมูลจากการประกาศจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งในรายละเอียดโครงการบางโครงการไม่มีการระบุระยะทาง ทำให้ข้อมูลระยะทางรวมนั้นอาจคาดเคลื่อนกับความเป็นจริง

โครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นในพื้นที่ชายหาดต่างๆภายหลังจากการเพิกถอนกำเเพงกันคลื่นออกจาก EIA ภาพโดย Beach for life

การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหลังจากการประกาศเพิกถอนออกจากกิจการ/โครงการที่จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ เช่น ความไม่จำเป็นในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง งบประมาณในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่เพิ่มขึ้นทุกปี และ การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นส่งผลทำให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ชายหาดใกล้เคียง ซึ่ง Beach for life จะขยายประเด็นเหล่านี้ให้ชัดเจนขึ้นมากยิ่งขึ้น

งบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูล สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ในบทความ “แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลไทย ยิ่งแก้-ยิ่งพัง?” เผยแพร่ใน www.tcijthai.com เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562  พบว่าการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นริมชายฝั่งทะเลมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยการรวบรวม ประกาศการจัดซื้อจัดจ้างของกรมโยธาธิการและผังเมือง ในเว็บไซต์ของกรมโยธาฯ พบว่าช่วงเกือบ 10 ปีหลัง การสร้างกำแพงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยต้องใช้งบประมาณต่อ 1 กิโลเมตร สูงถึง 117 ล้านบาท

ที่มาข้อมูล  www.tcijthai.com 

คำถามสำคัญ คือ ประเทศไทย มีงบประมาณมหาศาลในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งขนาดนั้นเลยหรือ ?!?ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทำให้กัดเซาะอีกพื้นที่หนึ่ง และต้องตั้งงบประมาณก่อสร้างไปเรื่อยๆ

เป็นที่ทราบกันในทางวิชาการถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ด้านท้ายน้ำจะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ในหลายพื้นที่ของจังหวัดสงขลา และพื้นที่ชายหาดในจังหวัดอื่น ๆ ต่างมีบทเรียน และบทสรุปร่วมกันว่า การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่หนึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดอย่างรุนแรงอีกพื้นที่หนึ่ง และเป็นตัวเร่งทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งแบบลูกโซ่

การกัดเซาะชายฝั่งด้านท้ายน้ำของกำเเพงกันคลื่น ภาพ Beach for life

ทั้งนี้ การตั้งคำถามถึง ความจำเป็น งบประมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการดำเนินการก่อสร้างแล้วไม่บรรลุวัตถุประสงค์นั้น เป็นประเด็นคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในขณะที่เรากำลังตั้งคำถามนี้อยู่ เมื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ทำให้พบว่า ในปี งบประมาณ 2563 มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหลายโครงการ และมีรายการที่ต่อเนื่องผูกพันงบประมาณปีต่อปี จากปี 2563-2565 และสถานะปัจจุบันคือร่างงบประมาณรายจ่ายได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว  

ในอนาคตเราอาจได้เห็นโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นอีกหลายโครงการเกิดขึ้นบนพื้นที่ชายหาดของประเทศไทยที่ไม่มีความจำเป็นในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง มีราคาแพงหูฉี่ และสร้างผลกระทบแบบต่อเนื่องในพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย

ทางออกคืออะไร                                                                                                  

ณ เวลานี้ Beach for life เครือข่ายนักวิชาการ เเละภาคประชาชนที่มีหัวใจรักชายหาด เรายังยืนยันว่า “หาดทรายมีการเปลี่ยนเเปลงตามสภาพธรรมชติ การสร้างกำเเพงกันคลื่นทุกชายหาด คือ การขลิบชายหาดให้หายไป ” ทางออกของวิกฤติปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ณ เวลานี้มีเรื่องที่ต้องทำเร่งด่วนคือ

1. ยุติโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่กำลังจะเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ชายหาดไว้ก่อน  

2. การให้กำแพงกันคลื่นต้องกลับไปดำเนินการ EIA ตามกฎหมาย พร้อมกับยกระดับวิธีการ กฎเกณฑ์ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากชายหาดมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน การพิจารณา EIA รายโครงการ โดยไม่มองแบบภาพรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง และครอบคลุมทุกมิติ อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้    

3. การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment-SEA)  เพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมภาพรวมตลอดแนวชายหาดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งควบคู่กับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รายโครงการเพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ

4. การประกาศเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จนทำให้กำแพงกันคลื่นระบาดทั่วพื้นที่ชายหาดของประเทศไทย และสร้างความเสียหายแก่ชายหาด ชุมชนชายฝั่ง ถือเป็นบทเรียนสำคัญของการกำหนดตามอำเภอใจ โดยไร้เหตุผลและการประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น จึงเป็นบทเรียนสำคัญของภาครัฐที่จะต้อง ศึกษาผลกระทบจากการประกาศเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออจาการโครงการที่ต้องทำ EIA ในทุกมิติ เพื่อเป็นบทเรียนสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์หาดทราย และเพื่อประเมินความเสียหายจากการเพิกถอนครั้งนี้ รวมถึงการกำหนดมาตรการเพื่อฟื้นฟูชายหาด 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ