ชาวบ้านจะนะยื่นหนังสือต่อนายกองค์กรบริหารส่วนตำบลสะกอม อ.จะนะ ขอให้ยุติการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดเวทีค.1 เเละทวงถามคำสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้ ว่าจะศึกษาผลกระทบทางยุทธศาสตร์ หรือ SEA
วันนี้ (22 พ.ย 64) ตัวแทนชาวจะนะทั้ง 3 ตำบล ได้เเก่ ต.สะกอม, ต.ตลิ่งชันและ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ประมาณ 50 คน เดินทางไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลสะกอม ติดป้ายขนาดใหญ่ หยุดอุตสาหกรรมทำลายชุมชน เเสดงสัญญาลักษณ์คัดค้านบริษัท TPIPP จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (VDO CONFERENCE) ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 13-23 ธันวาคม 2564 หน้าอบต.สะกอมและยื่นหนังสือถึงนายกองค์กรบริหารส่วนตำบลสะกอม ขอให้ยุติการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดเวที ค.1 แล้วให้ร่วมพัฒนาไปในแนวทางที่เป็นจุดแข็งของพื้นที่โดยประชาชนร่วมกันตัดสินใจ พร้อมทวงถามสัญญาSEA ที่รัฐบาลเคยลงนามในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น หรือ “เอ็มโอยู” ให้ไว้กับชาวบ้านจะนะ ว่า รัฐบาลต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา
นายกอเฉม สะอุตัวแทนชาวบ้าน อ.จะนะที่ร่วมเดินทางไปยื่นหนังสือนายกองค์กรบริหารส่วนตำบลสะกอม กล่าวว่า เมื่อปลายปี 63 ที่ผ่านมาเราได้ปักหลักบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล หลายวันพร้อมข้อเสนอให้ยุติโครงการ สุดท้ายแล้วรัฐบาลก็รับฟัง โดยให้ “มือเจรจา” อย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า มาพูดคุยกับชาวบ้าน นำไปสู่การลงพื้นที่ และให้สัญญาว่าจะจัดตั้ง คณะกรรมการที่มีตัวแทนของชาวบ้าน เข้าร่วม และผมเป็นอีกหนึ่งคนที่มีชื่ออยู่ในคณะกรรมที่จะออกแบบ การพัฒนาประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สุดท้ายแล้ว บริษัทเอกชนก็เข้ามาดำเนินการต่อ
ที่สำคัญได้กำหนดจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 13-23 ธ.ค. 64 มองว่าไม่ชอบธรรมกับชาวบ้าน ที่สัญญาว่าจะร่วมกันคิด พูดคุย โดยมีประชาชนมีส่วนส่วนในการตัดสินใจเพื่อพัฒนาจะนะไปด้วยกัน ยืนยันว่เราต้องการการพัฒนาที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม
นายมัยมูเนาะ ชัยบุตรดี ตัวแทนชาวบ้าน อ.จะนะ กล่าวว่า พี่น้องจะนะรู้สึกว่า รัฐบาลผิดคำพูด ผิดสัญญา การทำเวทีรับความความคิดเห็นค.1 เป็นการกระทำที่ไม่มีความยุติธรรมต่อชาวบบ้าน ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบบ้านของตัวเองเขามีความคิดเห็นอย่างไร
นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า การรับฟังความเห็นครั้งนี้ว่าด้วยนิคมอุตสาหกรรมจะนะขนาดร่วม 20,000 ไร่ จะเริ่มช่วง 13-23 ธันวาคม 2564 ซึ่งคำว่านิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตนี้ ประกอบด้วยตัวนิคมเอง ท่าเรือน้ำลึกขนส่งสินค้า 2 ท่า โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเหลวขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พร้อมท่าเรือน้ำลึกสำหรับขนก๊าซขนปิโตรเลียมอีก 1 ท่า การรับฟังความเห็นครั้งนี้ เพื่อประกอบการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมEIA 2 เล่ม คือ นิคมอุตสาหกรรม ขนาดหมื่นไร่ และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเหลว 2,900 เมกะวัตต์ และประกอบการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ EHIA 2 เล่ม คือ ท่าเรือขนถ่ายสินค้าและท่าเรือสำหรับขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวและน้ำมันปิโตรเลียม
การรับฟังมีจุดจัดเวทีรับฟัง 4 แห่ง ในแต่ละเล่มนั้น ให้เวลาจุดรับฟังละครึ่งวัน โดยเป็นการเข้าร่วมในห้องประชุมไม่เกิน 50 คน ที่เหลือเข้าฟังออนไลน์ เพื่อป้องกันโควิด
ส่วนความคิดเห็นของผมคือ การจัดครั้งนี้จัดเร็วเกินไป โควิดยังไม่ซา ผู้คนยังไม่สะดวกเข้าร่วม การจัดใหญ่ยังมีข้อจำกัด จึงจัดให้เข้าฟังจริงได้แค่ 50 คน โดยส่วนใหญ่ต้องออนไลน์นั้นเท่ากับการปิดกั้นการมีส่วนร่วม การมีส่วนร่วมที่จริงใจ เปิดกว้าง ให้เวลาที่มากพอ คือหัวใจของการเริ่มต้นทำโครงการขนาดใหญ่ การทำแค่ทำให้ครบกระบวนการทางกฏหมายโดยประชาชนไม่มีโอกาสได้ร่วมคิดร่วมคุยอย่างเต็มที่ คือต้นตอของการสร้างความขัดแย้งในระยะยาว
สมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา – สตูล รายงานบนแอปพลิเคชัน C-site ว่า บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กำลังเดินหน้าจัดเวทีศึกษาอีไอเอ (EIA.) 4 ฉบับรวด ระหว่างวันที่ 13 – ธ.ค. 2564 ภายใต้โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ถือเป็นการมัดมือชกประชาชนอย่างมาก และเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ด้วยว่าเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีข้อตกลงร่วมกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่จะทำการตรวจสอบการดำเนินโครงการทั้งหมด ภายใต้ความรับผิดชอบของศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้น เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564
บันทึกข้อตกลงฉบับนั้นลงนามกับในฐานะรัฐบาลกับประชาชน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้ลงนาม โดยยอมรับข้อเสนอสำคัญ คือ
1. ให้มีการตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ในกระบวนการที่ผ่านมาว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร
2. ให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมฯจะนะไว้ก่อน จนกว่าผลการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนสีผังเมืองในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 16,700 ไร่ และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA. ทั้ง 4 ฉบับ ของบริษัท TPIPP
ในคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ยังระบุชัดว่า ให้อำนาจคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการขยายโครงการเมืองต้นแบบอำเภอจะนะ ทั้งให้ศึกษาและทวนปัญหารวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการทั้งหมด โดยให้แก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของประชาชนที่ร้องเรียนไป และ ให้รายงานผลการดำเนินการของคณะกรรมการทั้งหมดข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ให้เชิญผู้แทนส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐและบุคคลเข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงให้ข้อมูลรวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
จึงมีความข้อสงสัยว่า กระบวนการตรวจสอบตามนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งไปนั้นเสร็จแล้วหรือยัง และมีผลเป็นอย่างไร โดยเฉพาะข้อสรุปที่นายกฯเน้นว่าจะต้องมีการชี้แจงผลให้เป็นที่รับทราบนั้น ในฐานะประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้ ยังไม่เคยเห็นเอกสารสรุปผลการตรวจสอบทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการแต่อย่างใด
ครบรอบ 1 ปี แล้วที่พี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาล ทราบข่าวว่าพี่น้องกำลังเตรียมพร้อมที่จะขึ้นไปทวงสัญญากับรัฐบาลในเร็ววันนี้ และนี่เป็นการต่อสู่ ทั้งชีวิตของเราก็ว่าได้ เราคิดว่าเรามีสิทธิในการกำหนดบ้านของเรา