ครม.เตรียมออกมติชะลอนิคมฯ จะนะ จนกว่าจะมีผล SEA มอบหมายสคช. ดำเนินการศึกษา

ครม.เตรียมออกมติชะลอนิคมฯ จะนะ จนกว่าจะมีผล SEA มอบหมายสคช. ดำเนินการศึกษา

ครม.เตรียมออกมติสั่งหน่วยงานรัฐชะลอโครงการนิคมฯจะนะ จ.สงขลา ไว้ก่อน เพื่อรอทำ SEA ซึ่งจะมีผลให้หยุดเวทีรับฟังความคิดเห็นในภาคใต้ทั้งหมดทันที และถอด “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนา จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.)“ ออกจากการเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการจัดทำ SEA  มอบหมายให้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานหลักในดำเนินการศึกษาตามข้อเสนอของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

วันนี้ (14 ธ.ค.2564) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวแก่ผู้ชุมนุมว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบข้อร้องเรียนของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นแล้ว และมีมติให้หน่วยงานชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ไว้ก่อน โดยให้รอผลการประเมินสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ (SEA) โดยมอบหมายให้ ”สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เป็นหน่วยงานหลักในดำเนินการศึกษา SEA พร้อมยืนยันทางวาจาว่า ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมต้องยุติ ทั้งหมดก่อน จนกว่าจะมีการทำ SEA

นายประสิทธิชัย หนูนวล เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.) ในฐานะตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวว่า ความหมายกระบวนการประเมิน จะเป็นไปตามกรอบที่พี่น้องจะนะศึกษาไว้บวกกับผลของอนุกรรมการที่มีการศึกษาไว้แล้ว จะนำไปสู่กระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ (SEA)  กรอบการประเมินจะนำไปสู่การหารูปแบบใหม่ๆ ในกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจภายใต้ระบบนิเวศ โดยที่ไม่มีนิคมอุตสาหกรรมจะนะอยู่ในกระบวนการตั้งต้น

เมื่อรัฐบาลมีมติแล้วเท่ากับว่ากระบวนการถูกเซ็ตซีโร่ทั้งหมด สิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่จะต้องเกิดจากรากฐานการประเมินสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ (SEA) กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับประชาชนในพื้นที่ 

ไครียะห์ ระหมันยะ หรือสมญานามว่า “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” กล่าวขณะที่รอมติครม.ที่เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนว่ารู้สึกอุ่นใจมาก ปัญหาของเรามันก็จะเชื่อมกับเพื่อนๆ เพราะชาวจะนะเป็นประชาชนเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่รัฐบาลเอาปัญหามาให้ ตนดีใจที่ทุกคนรู้สึกร่วมและรักในถิ่นฐานบ้านเกิด และย้ำว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของรัฐบาลสำคัญมากกับชาวบ้านจะนะ

ด้านชาวบ้านจากระยอง ซึ่งเดินทางมาร่วมให้กำลังใจพี่น้องจะนะ กล่าวว่า  ไม่อยากให้ทะเลจะนะเหมือนภาคตะวันออก เหมือนระยองที่ต้องรับชะตากรรมจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ทำให้ทรัพยากรลดลง ลูกหลานคนระยองไม่มีที่ทำกิน การทำประมงใน จ.ระยองอย่างยากลำบาก เพราะโดนเบียดบังแหล่งทำมาหากินด้วยนิคมอุตสาหกรรม

ถ้าอุตสาหกรรมเกิดขึ้นแล้วไม่มีทางที่จะหยุดแค่นั้น จะต้องมีการขยับขยายถมทะเลออกไปอีก  ซึ่งมีผลกระทบ ทั้งชายหาด และทรัพยากรทางทะเล

ทั้งนี้ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นยังคงปักหลักรอหนังสือยืนยันหรือมติคณะรัฐมนตรีฉบับลายลักษณ์อักษร บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาลต่อไป ซึ่งหากพบเนื้อหาที่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง ชาวบ้านจึงจะเดินทางกลับจะนะ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ