“ร่วมกันเยียวยา ไม่ทิ้งปลาไว้ข้างหลัง” โจทย์ความยั่งยืนของแม่น้ำโขง

“ร่วมกันเยียวยา ไม่ทิ้งปลาไว้ข้างหลัง” โจทย์ความยั่งยืนของแม่น้ำโขง

คน – เขื่อน – โขง เป็นอีกความเกี่ยวโยงที่ส่งผลต่อผู้คนตลอดสายน้ำมายาวนานต่อเนื่อง ทีมงานผู้เขียนเอง ในนามกองบรรณาธิการอยู่ดีมีแฮงออนไลน์ร่วมกับเครือข่ายสื่อพลเมือง ยังติดตามเรื่องนี้ต่อเนื่อง เพื่อร่วมจับตา เฝ้าระวังสถานการณ์และเปิดพื้นที่สื่อสารสาธารณะ หวังให้เสียงคนริมโขงถูกได้ยิน และนำไปสู่การชะลอความเร็วของการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่จะตามมาหาก โขง ยังจะมีเขื่อนเพิ่มมากขึ้น

18 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.30 น. เป็นอีกครั้งที่เครือข่ายองค์กรลุ่มน้ำโขงในภาคอีสาน ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะการมีส่วนร่วมพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน “ร่วมกันเยียวยา ไม่ทิ้งปลาไว้ข้างหลัง”บริเวณวัดหายโศก อ.สังคม จ.หนองคาย ซึ่งที่นี่อาจนับเป็นที่แรก ๆ ในการสร้างเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา สร้างบ้านปลาที่หน้าวัด เพื่อที่จะร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาแม่น้ำโขง โดยมีการจัดตั้ง ผ้าป่า “กองทุนปลาหน้าวัด” โดยความร่วมมือของเครือข่ายสภาองค์กรลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคมและหน่วยงานในท้องถิ่น มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนให้เห็นสถานการณ์และทางออกเชิงนโยบายในการจัดการแม่น้ำโขงแบบมีส่วนร่วม

“จากสถานการณ์ความผันผวนและเปลี่ยนแปลงไปของแม่น้ำโขงตลอดสาย นับตั้งแต่ที่มีการสร้างเขื่อนทางตอนบนตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งขณะนี้มีหลายสิบเขื่อนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และมีอีกหลายเขื่อนที่อยู่ระหว่างเตรียมแผนก่อสร้างทั้ง เขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย เขื่อนน้ำงึม และเขื่อนสานะคาม ซึ่งผลจากการสร้างเขื่อนทั้งตอนบนและตอนล่างทำให้พันธุ์ปลาแม่น้ำโขงที่เคยมีมากกว่า 1,200 ชนิด หายไปเหลืออยู่เพียงประมาณ 400 ชนิดจากการสำรวจ นี่จึงเป็นที่มาของการร่วมพูดคุยว่าทำอย่างไรเราถึงจะมีการร่วมพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป” มยุรี อัครบาล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ทำหน้าที่ดำเนินวงเสวนา เกริ่นก่อนนำเข้าวงพูดคุยริมน้ำโขง อ.สังคม จ.หนองคาย

ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ก้าวเดินของการขับเคลื่อนสภาองค์กรลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน สู่การตั้งอนุกรรมการลุ่มน้ำโขงเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาปลาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน  โดยผู้แทนสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน คุณอ้อมบุญ ทิพย์สุนา บอกว่าการเดินทางกว่า 13 ปีที่ผ่านมา ของเครือข่ายภาคประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ได้เฝ้าดูและเห็นการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก

“สิ่งที่ทำมีทั้งงานวิจัย ยื่นหนังสื่อต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากน้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ กลไกในการแก้ไขปัญหาค่อนข้างซับซ้อนพร้อมกับต้องตัดสินใจร่วมกันทั้ง 6 ประเทศ ที่ใช้แม่น้ำโขงร่วมกัน ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 เราได้เข้ายื่นหนังสื่อกับท่านนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อกังวลหลัก ๆ คือ เรื่องของพลังงานและความมั่นคงทางอาหาร /ผลกระทบข้ามพรมแดน /และผลกระทบต่อเกษตรริมโขงและการประมง ซึ่งในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นการช่วยกันพิจารณาแผนทั้ง 7-8 จังหวัดที่ได้เสนอไป เพื่อปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรทั้งชาวบ้านและหน่วยงานจะเห็นประเด็นปัญหาที่ตรงกันและแก้ไขปัญหา สร้างการมีส่วนร่วมร่วมกัน”

อำนาจ ไตรจักร์ ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง จ.นครพนม ก็ได้แลกเปลี่ยนในเวทีเสวนาถึงการทำงานร่วมกับขับเคลื่อนกับสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ก็ได้ทำการวิจัย เก็บข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งเขาย้ำว่า การต่อสู้เมื่อก่อนกับตอนนี้ต่างกัน “ตอนนี้เราต้องต่อสู้กันด้วยข้อมูลวิจัยแบบไทบ้าน ทรัพยากร น้ำโขง เกษตร ปูปลา เมื่อก่อนกับตอนนี้เป็นอย่างไร เมื่อก่อนแม่ยายผมมีที่อยู่ติดริมโขงเป็น 1-2 ไร่ ตอนนี้เหลือพื้นที่อยู่ 2 งาน แต่ก็มีความโชคดีคือเราได้คุยกับหน่วยงานในพื้นที่ทั้งประมงจังหวัดและศูนย์วิจัยของนครพนมที่ให้ความร่วมมือเรื่องการปล่อยปลา ก็เข้าไปประสานเรื่องงบประมาณกับทาง อบจ. เพื่อทำแผนกัน เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ทั้งปลาที่สูญพันธุ์ไป ร่องน้ำลึกหายไป น้ำโขงเปลี่ยนสี ขนบธรรมเนียมประเพณีก็หายไป ไม่มีน้ำในการแข่งเรือ ก็อยากให้ข้อมูลนี้ไปถึงรัฐบาลว่าพี่น้องริมโขงไม่ใช่คนก้าวร้าว ถ้าเราไม่เดือดร้อนจริง ๆ เราคงไม่ต้องทำอย่างนั้น เพราะเราอยากให้ลูกหลานที่อยู่ริมโขงได้กินปลา และได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ต่อไป ปล่อยปลาก็ต้องให้สอดคล้องกับบริบทแม่น้ำโขง อย่างบ้านผมก็อาศัยพื้นที่น้ำหน้าวัดในการอนุรักษ์พันธุ์ปลา ทำเป็นเขอภัยทาน เมื่อแม่น้ำโขงเดือนร้อนแบบนี้ แม่น้ำสาขาที่จังหวัดนครพนม มีลำน้ำสงคราม ลำน้ำก่ำ ที่ได้รับผลกระทบเหมือนกัน”

พระอธิการพิทักษ์ชัย จารุธัมโม เจ้าอาวาสวัดหายโศก อ.สังคม จ.หนองคาย แลกเปลี่ยนต่อถึงการสร้างเขตอนุรักษ์พันธ์ปลาในวัดร่วมกับชุมชน “เราได้มีการปล่อยปลาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราปล่อยปลาทุกวันมีชาวบ้านเอาปลาหน้าเขียง จากกรมประมงมาปล่อย มันก็ไม่ไปไหนก็ยังอยู่ อย่า งอ.สังคม เรามีอยู่ 2-3 ที่ ที่หลังวัดมีปลา เราทำแล้วให้ได้ประโยชน์ทั้งฝั่งไทยฝั่งลาว ก็ได้อาศัยปลาที่วัดหายโศก อ.สังคม จ.หนองคาย ระบบแม่น้ำโขงเปลี่ยนทุกวันปลาบางชนิดก็หาย อย่างที่สำรวจ 28 ชนิด ก็มีไม่ครบ ผ้าป่า “กองทุนปลาหน้าวัด” เพื่อจะอนุรักษ์พันธุ์ปลา”

นอกจากความร่วมมือของภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และชาวบ้านแล้ว ส่วนราชการและหน่วยงานในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเป็นทั้งความหวัง และคำตอบที่ต้องได้รับการยืนยันถึงแนวทางความร่วมมือในการสร้างความยั่งยืนให้กับวิถีชีวิตผู้คนริมฝั่งโขงและทรัพยากรตลอดลำน้ำ เพราะมีทั้งทรัพยากร งบประมาณ และข้อมูลที่จะสามารถสนับสนุนหรือลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

สมควร ใจซื่อ นายอำเภอสังคม จ.หนองคาย ได้เล่าถึงเขื่อนตลิ่งพังในพื้นที่ อ.สังคม จ.หนองคาย หน่วยงานพยายามสำรวจเพื่อไม่ให้ดินพังทลาย ก่อนจะสร้างเขื่อนควรศึกษาดูก่อนว่าพื้นที่ตรงจุดไหนเป็นบริเวณเพาะพันธุ์ปลา หากสร้างเขื่อนโดยไม่เรียนรู้ก่อน ต้องเข้าใจระบบนิเวศด้วย การตัดสินใจต้องเข้าถึงชุมชนด้วย ช่วงนี้ อ.สังคมเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยว เป็นเชิงเขาสู่ชายโขง ช่วงหลังจากการมีปลาลดลงก็มีผลกระทบบ้าง การอนุรักษ์พันธุ์ปลาจะมีการทำตลาดน้ำโขง

สมเกียรติ ตระกูลฟาร์มธวัช รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย บอกว่าหลังจากเลือกตั้ง ถ้าเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง อบจ.จะเป็นเจ้าภาพหลักมาทำ MOU ในการที่จะให้งบมาทำ ถ้าทุกแหล่งน้ำใน จ.หนองคาย ทำแบบนี้ทุกคนจะได้กินปลาน้ำโขง

เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง บอกว่า ปีนี้งบประมาณรวม ๆ ฝั่งประมงอย่างเดียว 800 กว่าล้าน ที่จะเพาะพันธุ์  การให้คนเข้าใจปลาแม่น้ำโขงรวมถึงเยาวชนถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี และการปล่อยปลาต้องให้ความรู้ว่าปลาอะไรที่ไม่ใช่ปลาพื้นถิ่นก็ไม่ควรจะปล่อย

นอกจากการทำงานร่วมกันในเชิงพื้นที่การขับเคลื่อนประเด็นทรัพยากรลุ่มน้ำโขงสู่สาธารณะเป็นอีกโจทย์ที่ต้องอาศัยความร่วมมือ นิพนธ์ มุลเมืองแสน  ตัวแทนจากสภาผู้ชมผู้ฟังไทยพีบีเอส ภาคอีสาน มองว่า การรับฟังและส่งต่อเรื่องราวไปยังพื้นที่สื่อให้คนตัวเล็กตัวน้อยในการสื่อสาร การมีส่วนร่วมของชุมชน การขับเคลื่อนร่วมกันของท้องถิ่น รวมถึงนโยบายต่าง ๆ เป็นปัจจัยนำเข้าที่สำคัญ  เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสาตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ร่วมแลกเปลี่ยนผ่านทางออนไลน์บอกว่า ปลาเป็นทรัพยากรที่มีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา มีการอพยพ แต่มีข้อสังเกตถึง การปล่อยปลา ซึ่งอยากให้มีการตระหนักถึงความเหมาะสมของพันธุ์ปลา ปล่อยแล้วรอดหรือไม่ ปล่อยปลาเล็ก กลางคืนปลาใหญ่ก็อาจจะมากิน  คนกับปลาต้องไปด้วยกัน พร้อมแสดงมุมมองว่า รัฐไม่ควรทำโครงการให้ย้อนแย้ง ด้านหนึ่งจะอนุรักษ์พันธุ์ปลา แต่ด้านหนึ่งจะทำเขื่อนกั้นตลิ่ง ซึ่งมองว่ามีผลกระทบมากกว่าการช่วยอนุรักษ์

วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง ฝ่ายพัฒนานักสื่อสารพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะไทยพีบีเอส (บก.เพจอยู่ดีมีแฮง) ร่วมแลกเปลี่ยนและย้ำถึงบทบาทการมีส่วนร่วมของไทยพีบีเอส ซึ่งนอกจากการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์กับประชาชน การสนับสนุนให้ภาคพลเมืองได้ใช้การสื่อสารสาธารณะเพื่อบอกเล่าเรื่องราว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วยคนในพื้นที่เอง อย่างที่ก่อนหน้านี้ก็มีการทำงานร่วมกันในการสื่อสารของพลเมืองที่ อ.เชียงคาน จ.เลย และที่ อ.สังคม จ.หนองคาย และจะมีการขยายการพัฒนานักสื่อสารพลเมืองไปที่ จ.นครพนม และ จ.อุบลราชธานี โดยไทยพีบีเอสพยายามจะเชื่อมให้เห็นภาพใหญ่และภาพย่อยของพลังการสื่อสารจากคนในท้องถิ่นซึ่งเป็นส่วนสำคัญและคนในพื้นที่ก็มีสิทธิในการสื่อสารเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

เสียงจากริมโขงถึงข้อเสนอแนะต่อนโยบายภาครัฐ

นอกจากการบอกเล่าสถานการณ์ผลกระทบตลอดลำน้ำโขงในช่วงที่ผ่านมา ข้อเสนอไปสู่ระดับนโยบายจากพื้นที่ คืออีกความคาดหวังเพื่อให้น้ำโขงมีความยั่งยืนหากขานรับและนำไปสู่การปฏิบัติจริง

ซึ่งในพื้นที่ จ.นครพนม อำนาจ ไตรจักร์ ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง จ.นครพนม บอกว่า ตอนนี้ในพื้นที่กำลังทำแผนการฟื้นฟู สำรวจทำเขตอนุรักษ์เพิ่มเติม โดยจะเชื่อมพี่น้องสองฝั่งโขง จ.นครพนม นำร่องอำเภอละหนึ่งแห่ง และชาวบ้านเองยินดีที่ได้เป็นคณะกรรมการชุดหนึ่ง ส่วนพระอธิการพิทักษ์ชัย จารุธัมโม เจ้าอาวาสวัดหายโศก อ.สังคม จ.หนองคาย ก็บอกว่าทางวัดหายโคกจะเป็นจุดเริ่มต้นอนุรักษ์พันธุ์ปลา แต่ยังมองเรื่องความต่อเนื่องในการดูแลซึ่งยังเป็นโจทย์ร่วมกับชุมชน

ด้าน ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสาตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แลกเปลี่ยนเพิ่มเติม มองไปถึงการทำงานร่วมของหน่วยงานและตั้งคำถามถึงโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ซึ่งอาจเป็นอีกผลกระทบที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์น้ำโขง และย้ำว่าจะต้องผลักดันให้ทุนร่วมรับผิดชอบ เพราะตอนนี้ใช้ทรัพยากรส่วนร่วมไปแก้ปัญหา มาจากงบประมาณแผ่นดิน เพื่อแก้ปัญหาการกระทำของทุน และรู้สึกดีใจที่จะเห็นมิติใหม่ของภาคประชาสังคมที่จะทำงานข้ามพรมแดน

คน-เขื่อน-โขง ยังคงเชื่อมโยงและส่งผลกระทบถึงกัน ในวันที่แม่น้ำโขงไม่สามารถไหลอย่างอิสระ หรือกลับไปเป็นอย่างเดิมได้ ซึ่งนาทีนี้โจทย์สำคัญอาจจะต้องมองเรื่องป้องกันผลกระทบที่จะลุกลาม ควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนโดยคนในพื้นที่ตลอดริมฝั่งโขงมีส่วนร่วมคิด ร่วมลงมือทำ มากกว่าเพียงร่วมรับผลกระทบจากชะตากรรมของแม่น้ำโขง ในวันที่ไม่สามารถไหลอย่างอิสระเช่นเคย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ