อยู่ดีมีแฮง : ผลกระทบจากโควิด-19 และการเข้าถึงสวัสดิการเมื่อคนรุ่นใหม่ต้องคืนถิ่น

อยู่ดีมีแฮง : ผลกระทบจากโควิด-19 และการเข้าถึงสวัสดิการเมื่อคนรุ่นใหม่ต้องคืนถิ่น

“คนคืนถิ่น” นับวันคำนี้จะถูกเอ่ยถึงให้ได้ยินชัดเจนและบ่อยครั้งมากขึ้น โดยเฉพาะหลังเกิดสถานการณ์ความปั่นป่วนจากโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา งานประจำของมนุษย์เงินเดือนถูกสั่นคลอน ความไม่มั่นคงเข้ามาแทนที่ในทุกสายงาน เพราะแทบทุกกิจการได้รับผลกระทบตาม ๆ กัน ภาวะถูกเลิกจ้าง ไม่มีงาน ไม่มีเงิน คือชะตากรรมร่วมที่หลายคนต้องเผชิญ “บ้าน” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของหลายคนกลายเป็นหลังพิง “ถิ่นฐาน” ที่จากมากลายเป็นปลายทางของวัยแรงงานอีกครั้ง

“คนคืนถิ่น” สถานการณ์ บทเรียน และแนวทางการขับเคลื่อน คือหัวข้อเสวนา “สมัชชาเกษตรกรรมทางเลือกออนไลน์” เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 คืออีกเวทีแลกเปลี่ยนพูดคุยเพื่อหาทางออกบอกทางไปให้กับใครต่อใครที่อยากคืนถิ่นในห้วงเวลานี้ เพื่อจะยืนยันว่า น่าจะพอมีทางและคุณเองไม่โดดเดี่ยวจนเกินไป เป็นวงเสวนาต่อเนื่องกว่า 5 ชั่วโมง ซึ่งร่วมพูดคุยโดย รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / สุเมธ ปานจำลอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคอีสาน/  ธวัช คำแก้ว วิสาหกิจชุมชนคนพอเพียงแวนนาริน ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน / นันทวัน หาญดี สมาคมเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา /กำราบ พานทอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคใต้ / อภิศักดิ์ กำเพ็ญ วิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิค ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ /สุประวีณ์ มาตขาว เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ยโสธร และสุภาวดี เพชรรัตน์ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ดำเนินรายการโดย ทัศนีย์ วีระกันต์ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)

ทีมงาน อยู่ดีมีแฮงออนไลน์ ได้ถอดความในประเด็น “ผลกระทบโควิด-19 ต่อเกษตรกรรายย่อยและปัญหาการเข้าถึงสวัสดิการ” ที่ร่วมแลกเปลี่ยนโดย รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง หน่วยปฏิบัติการวิจัยชาวนาร่วมสมัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาแบ่งปันผู้อ่านอีกครั้ง เพื่อให้เห็นมุมมองที่หลากหลายในการกลับบ้านของคนคืนถิ่น ปี 2564 ท่ามกลางโควิด-19

โควิด-19 กับสถานการณ์คนคืนถิ่น

เราสำรวจผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมต่อครัวเรือนชาวนารายย่อย เมื่อปี 2563 ปีนี้เราอยากจะทำอีกรอบ แต่ว่าลงพื้นที่ลำบาก ก็เลยใช้วิธีการเก็บข้อมูลในเชิงคุณภาพ สำรวจ 10 ชุมชน การเปลี่ยนแปลงในส่วนของสังคมชาวนาหลังยุคจำนำข้าว ว่าชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง  ดิ้นรนอย่างไร เข้าถึงสวัสดิการของรัฐช่วยเหลืออย่างไร”  รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง เกริ่นนำที่มาของข้อมูลที่จะร่วมแลกเปลี่ยนในวงเสวนาก่อนอธิบายสถานการณ์ของชาวนารายย่อยในภาคอีสานตามพื้นที่การเก็บข้อมูล ซึ่งวันนี้พูดถึงกรณีคนคืนถิ่น

“หนึ่ง คือในงานสำรวจจะให้ภาพถึงสถานการณ์เกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะที่เราสำรวจคือเน้นไปที่ชาวนารายย่อย และก็วิกฤตโควิด-19 เข้ามากระทบอย่างไร รวมทั้งประเด็นหลักในวันนี้ คนกลับบ้าน คนคืนถิ่น สถานการณ์ของผู้คน รวมทั้งเรื่องของการรองรับสวัสดิการของรัฐ มันจะสอดคล้อง ผมจะพูดในสองประเด็น เราเคยสำรวจ 1,000 ชุด ที่เป็นเกษตรกรรายย่อยทั้งหมด วันนี้ผมดึงมาเฉพาะชาวนา เพราะว่าในการสำรวจปีนี้เราสำรวจชาวนา 10 ชุมชน ในส่วนที่สำรวจ ผมเลือกพูดเฉพาะประเด็น คนคืนถิ่น

หนึ่งสภาพทั่วไปของสังคมชาวนา จะเห็นว่าประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของครัวเรือน มีสมาชิกไปทำมาหากินข้างนอกอยู่ถาวรเลย ประเด็นหลัก ๆ ของที่ดิน เราจะเห็นถึงชาวนารายย่อย ทำนาไม่มาก แล้วก็ที่ดินเป็นการเช่า มันเป็นประเด็นเชื่อมโยงมาสู่ถึงคนคืนถิ่นต่าง ๆ เหล่านี้ ปัจจัยพวกนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญ ชาวนาทั่วไปลักษณะอย่างนี้ ซึ่งจะแตกต่างจากภาคกลางอาจจะหนักหนาสาหัสมากกว่าอีสาน ในเรื่องของรายได้ในการทำนา

อย่างที่เราทราบกันดี ผลของการศึกษาในงานชิ้นอื่น ๆ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ พยายามบอกว่าชาวนากลายเป็นสังคมผู้ประกอบการ แต่ผมคิดว่าประเด็นสำคัญ มันอยู่ที่ว่าชาวนาหารายได้จากการขายข้าวไม่ได้เป็นรายได้หลักจากครัวเรือนชาวนา โดยส่วนใหญ่เห็นว่าเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ที่มีรายได้อย่างอื่นนอกจากข้าว และก็รายได้ที่สำคัญส่วนหนึ่งเป็นรายได้ที่มาจากการเข้าไปทำงานนอกภาคเกษตร อันนี้คือสภาพที่ผมคิดว่าถ้าโยงสู่วิกฤต ก็คือส่วนที่เป็นรายได้นอกภาคเกษตรเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ ก็จะกระทบทั้งหมด อันนี้เป็นสภาพของพี่น้องเกษตรกร เป็นอาชีพซึ่งผมคิดว่าโดยภาพรวมอาชีพนอกภาคเกษตร แรงงานนอกระบบ ค้าขาย เศรษฐกิจนอกระบบ คือสิ่งที่เชื่อมโยงมาสู่วิกฤต อันนี้จะส่งผลว่าทำไมคนต่าง ๆ เหล่านี้ถึงกลับสู่ชุมชน

โควิด-19 ส่งผลตลาดปิดกระทบรายได้ภาคเกษตร

ในส่วนรายละเอียด เราพยายามดูว่ารายได้นอกภาคการเกษตร ตัวเลขในช่วงโควิด-19 รายได้หายไปครึ่งหนึ่ง ที่เคยส่งเงินกลับสู่ครอบครัวอันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่เกิดผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19  ผลกระทบจากโควิด พวกพืชหลักข้าว มันไม่กระทบมาก ปีที่แล้วมันไม่ได้อยู่ในช่วงของการขายข้าว แต่ว่าปีนี้เท่าที่เราสำรวจ จะพบว่าข้าวที่เราสำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคกลางเขตชลประทาน ข้าวมันต่ำลงมาก บ้านผมแถวภาคกลาง สถานการ์คงคล้าย ๆ กัน ก็คือช่วงปลายปีที่แล้ว ข้าวมันขึ้น พอช่วงโควิด-19 มันลงมา ข้าวทั่วไปชาวบ้านก็บอกว่าเกี่ยว ประมาณตันละ5,000-6,000 อันนี้คือสภาพที่เกิดขึ้นในปีนี้ ถ้าครัวเรือนที่ผลิตพืชอื่น ๆ หลัก ๆ ก็กระทบบ้าง

หลังจากที่โครงการจำนำข้าวยกเลิกไปแล้ว พี่น้องก็ปรับมาเป็นนาบัว นาผักบุ้ง บัวก็ขายไม่ได้เพราะไม่มีกิจกรรมในวัด ผักบุ้งกำละ 3-4 บาท อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น ในช่วงหลักวิกฤตโควิด-19 ปีนี้กับปีที่แล้ว อย่างที่ได้พูดไปแล้ว คือหนักกว่าแน่ ๆ เพราะว่าคือ มันเป็นช่วงยาวกว่า เพราะตลาดปิดยาวมาก เพราะฉะนั้นพวกพืชผักสวนครัวต่าง ๆ บ้านผมจะเป็นผักชีฝรั่ง หรืออะไรต่าง ๆ  แบบนี้ ตลาดก็ปิด สี่มุมเมืองก็ปิด เพราะว่าติดโควิดกันทั้งตลาด

ส่วนการค้าขายซึ่งเป็นการใช้ชีวิตที่สำคัญ พวกเราคงทราบกันดี การขายของในเมืองต่าง ๆ พอปิดในช่วงล็อกดาวน์ยาว อาชีพต่าง ๆ พวกนี้ก็จะหายไป เรื่องตัวเลขเงินส่งกลับตัวเลขตกอย่างมาก นำมาสู่รายได้ที่มันลดลงไปต่าง ๆ ส่วนของคนที่กลับไปบ้าน รอบแรกมีคนที่ระบุครอบครัวที่ระบุว่ามีผู้ที่กลับไปอยู่บ้านจาก 500 กว่าครัวเรือนที่เราสำรวจ มีประมาณ 5.7 เปอร์เซ็นต์ 30 ครัวเรือน ระบุว่ามีคนที่กลับไปอยู่บ้าน เนื่องจากว่าปีที่แล้วเขายังรอที่จะทำงานโควิดมันหายตัวเลขยังไม่มากหนัก แต่ก็ถือว่าสูงทีเดียว มีสัดส่วนที่ต่างกันออกไป 

คนที่กลับมาก็จะได้รับผลกระทบที่มากกว่าในแง่การดิ้นรน เพราะพืชผลทางการเกษตรมันตกต่ำ ในส่วนของการตัดสินใจอยู่ คือเราพบว่าเราตัดสินใจอยู่แบบถาวร มากกว่าปีที่แล้ว อันนี้คือสิ่งที่เราได้สำรวจไว้ปีที่แล้ว มีจำนวนประมาณ ที่จะกลับไปทำงาน ประมาณ 56 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นว่าคนที่จะรอดูสถานการณ์ แต่ว่าประมาณ 26.7 เปอร์เซ็นต์ ที่ตัดสินใจว่ามาอยู่ที่ครอบครัว ชุมชน  อันนี้คือสถานการณ์ ปี 63 ซึ่งตัวเลขผมคิดว่าไม่น้อยทีเดียว อันนี้คือสิ่งที่เราพบ ในส่วนของการเยียวยาจากรัฐ โดยภาพใหญ่ ๆ เราก็คงทราบดี คือ ปีที่แล้วเราก็จะเห็นว่ามันมีเงินช่วยเหลือที่ เรียกว่าโครงการเราไม่ทิ้งกัน และโครงการเยียวยาเกษตรกรครัวเรือนละ 15,000 บาท มีเงินกู้ฉุกเฉินต่าง ๆ

คำถามถึงงบฟื้นฟูและการกระจายเพื่อรองรับคนกลับบ้าน

ปี 2563 มันจะมีงบฟื้นฟู เท่าที่ผมติดตามในภาพใหญ่ ๆ คือว่าการอนุมัติในส่วนของโครงการฟื้นฟูมันก็จะไปที่ 2 โครงการใหญ่ โคก หนอง นา กับเศรษฐกิจพอเพียง อันนี้เป็นตัวเลขจากกรรมาธิการ ที่ติดตามงบประมาณและก็ส่วนที่เหลือรัฐบาล ก็โยกย้ายไปใช้ในโครงการที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่าออกเสียงไปในโครงการสงเคราะห์ กระตุ้นเศรษฐกิจให้การบริโภค  ความสำคัญมันเป็นคำถาม ที่ผมคิดว่ามันจะทำให้เรามาคิดต่อ ว่าในแง่ของการฟื้นฟู แล้วก็สิ่งที่เราคุยกัน มาวันนี้คนที่กลับบ้านโครงการต่าง ๆ เหล่านี้มันไปรองรับผู้คนที่กลับบ้านแล้วตัดสินใจอยู่ถาวร

โดยเฉพาะในปี 2564 ตัวเลขเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว มันจะเป็นคำถามว่ามันจะไปหนุนเสริมผู้คนต่าง ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน ผมเองตั้งข้อสังเกตว่าโครงการแบบนี้ ถ้าพูดให้ซับซ้อนหน่อยในเชิงนโยบายสาธารณะ โครงการที่มีนจะไปเน้นในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นสัญลักษณ์ของความดีความงาม แต่ว่ามันจะไม่ค่อยมีลักษณะโครงการหรือนโยบายที่มันเน้นการกระจาย เข้าไปหนุนเสริมในการสร้างรายได้อาชีพให้กับผู้คนต่าง ๆ แบบนี้ อันนี้จะเป็นคำถามที่สำคัญในแง่ของการใช้งบประมาณ เป็นประเด็นที่สำคัญ

ถ้าเราจะพูดถึงในเรื่องของนโยบายที่มันสอดคล้องกับคนที่คืนถิ่นต่าง ๆ การฟื้นฟูวิกฤตจากโควิด-19 ว่ามันรองรับการดิ้นรนของผู้คนต่าง ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน ประเด็นใหญ่ ๆ คือว่ามันมีลักษณะที่ผมได้พูดไปแล้วก็คือว่าการหนุนเสริม มันจะมีลักษณะแบบช่วยในระยะสั้น มันไม่หนุนเสริมกันปรับตัวในระยะยาว เราพูดกันเยอะในเรื่องของ New normal แต่ในเรื่องของนโยบายมันไม่ค่อยสอดคล้องสักเท่าไร การช่วยเหลือก็พยายามทำออกมาเป็นตัวเลย 17,000 บาท/ปี ต่อชาวนาซึ่งผลิตข้าวภาคกลาง 15-20 ไร่ ก็ตาม ทั้งปีสัดส่วนไม่ได้เข้ามาช่วยเกื้อหนุนชีวิตในวิกฤตสักเท่าไร เพราะฉะนั้นการช่วยเหลือมันจึงไม่ค่อยจูงใจให้เกิดการปรับในเชิงโครงสร้าง

คนคืนถิ่นกับโจทย์เรื่องทักษะการทำเกษตรที่ต้องปรับตัวขนานใหญ่

ประเด็นที่เกี่ยวข้องสำหรับคนคืนถิ่น ผมสรุปเป็นข้อสังเกตบางประการ ให้พวกเราคุยกันต่อ หนึ่งคือคนคืนถิ่นถ้าเราดูตัววเลข 40 เปอร์เซ็นต์ กลับมาแต่จะกลับมาทำเกษตรทั้งหมดหรือเปล่า อันนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่ว่าตัวเลขคราวนี้ปี 64 ผมไม่มีตัวเลขที่เก็บในเชิงปริมาณ แต่ว่าในเชิงคุณภาพยืนยันว่าคนกลับมากกว่าปีที่แล้ว

สองผมคิดว่าคนต่าง ๆ เหล่านี้พยายามกลับมาทำเกษตร แต่ว่าต้องเข้าใจว่าในสภานการณ์ของภาคเกษตร อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ผกผัน สินค้าเกษตรอย่างที่เราทราบดีมันอยู่ยาก โดยส่วนตัวผมคิดว่ามันไปไม่รอดแล้ว เราจึงเห็นตั้งแต่ทศวรรษย้อนหลังไป โดยเฉพาะช่วงหลังจำนำข้าวผู้คนก็ยิ่งดิ้นร้นหลายทิศหลายทาง หารายได้ซึ่งก็เจอวิกฤตโควิด-19 ก็ยิ่งหนัก การทำงานในเมืองต่าง ๆ ตอนนี้ล็อกดาวน์นานสิ่งที่เราเห็น อีกประเด็นคือคนต่าง ๆ เหล่านี้คงเข้าใจไม่ยาก คนห่างเหินจากการเกษตร ขาดทักษะในเรื่องของการทำเกษตรต่าง ๆ พวกนี้จะทำยังไง

ในขณะที่เกษตรกรเองก็ต้องการการปรับตัวอย่างขนานใหญ่ ถ้าทำแบบเดิมไม่มีทางรอดดิ้นรนหลายอย่าง เรื่องที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดการตลาด ปัญหาที่ดินในเขตป่า ซึ่งอยู่ในเขตป่าจะเจอปัญหา แม้จะมีฐานทรัพยากรแต่อยู่ในเขตป่า เจอกฎหมาย 3 ฉบับ พ.ร.บ.ป่าชุมชน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็เป็นปัญหาอย่างมากในแง่ของการใช้ทรัพยากรของชุมชนที่จะรองรับผู้คนต่าง ๆ เหล่านี้นโยบายมาตราการของรัฐได้จัดแจงให้เห็น คิดว่ามันไม่มีความสอดคล้องในการสถานการณ์ของคนคืนถิ่น มันไปมุ่งสร้างที่จะสร้างการบริโภคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเป็นนโยบายในระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูที่ได้ยกตัวอย่างมันไม่ใช่ลักษณะที่จะนำไปสู่ประสิทธิภาพการสร้างรายได้อาชีพเท่าไร อันนี้เราก็จะเห็นชัดอยู่”

คำถามจากหลายมุมมองถูกแลกเปลี่ยนถกถามเพื่อหาคำตอบในวงสนทนาออนไลน์ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรและนักวิชาการในหลายพื้นที่ เมื่อ “คนคืนถิ่น” คือทรัพยากรบุคคลที่สำคัญที่จะกลับไปสร้างแรงกระเพื่อมในแต่ละชุมชน แต่การขยับขับเคลื่อนในเชิงนโยบายให้หนุนเสริม “แรง” เพื่อสร้าง “งาน” ในชุมชนยังไม่มีรูปธรรมของคำตอบ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ