เครือข่ายปชช.ภาคใต้เสนอทิศทางการพัฒนารับครม.สัญจร ย้ำคนใต้ต้องมีส่วนกำหนดอนาคตตัวเอง

เครือข่ายปชช.ภาคใต้เสนอทิศทางการพัฒนารับครม.สัญจร ย้ำคนใต้ต้องมีส่วนกำหนดอนาคตตัวเอง

เครือข่ายประชาชนภาคใต้ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน เเละกลุ่ม Beach for life ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ใน ครม. สัญจร จังหวัดกระบี่ เรียกร้องให้เคารพสิทธิการพัฒนาของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ การพัฒนาใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ประชาชนต้องมีส่วนร่วม พร้อมเรียกร้องให้รัฐเเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจจารณาถึงข้อเสนอของภาคประชาชน เพื่อหยุดยั้งวิกฤตการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย

เมื่อวันที่ (15 พย 64) ซึ่งเป็นวันก่อนประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดกระบี่ในวันที่ 16 พ.ย 64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ ขณะเดียวกันที่บริเวณสำนักงานธนารักษ์พื้นที่กระบี่ ประชาชนภาคใต้ได้เดินทางมารวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือ 2 ฉบับ

นายสมบูรณ์ คำเเหง คณะทำงานสภาประชาชนภาคใต้ กล่าวว่า การมายื่นหนังสือในครั้งนี้ในฐานะคนใต้ ว่า หลักเราคิดว่าการพัฒนาภาคใต้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีนโยบายหลายอย่างที่กระทบกับเรา ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เกิดขึ้นในหลายเเห่ง, การจัดการน้ำ,โครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น หรือเเม้เเต่โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่รัฐบาลเคยรับหนังสือไปเพื่อที่จะตั้งกรรมการร่วมก็เงียบไป เเต่ประชาชนก็ยังเดินหน้าเเละมองว่ามิติการพัฒนาเเบบที่เป็นอยู่ไม่ควรเป็นเเบบนี้เเล้ว

การพัฒนาใด ๆ ต้องถามคนใต้ว่าอยากเห็นโครงการพัฒนาเเบบไหน เราต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาจริงๆ เเละต้องสร้างกลไกอะไรบางอย่างที่จะทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาชนกับรัฐบาล ในเรื่องการออกเเบบการพัฒนาภาคใต้ร่วมกันเพราะอยากเห็นการเปลี่ยนเเปลงที่ดีขึ้น

นายเจกะพันธ์ พรหมมงคล คณะทำงานสภาประชาชนภาคใต้ กล่าวว่า จากที่ได้ติดตามเเผนพัฒนาภาคใต้ ตลอดหลายปี เรามีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งในการกำหนดทิศทางภาคใต้ประชาชนเเทบไม่มีส่วนร่วม ออกเเบบหรือพูดคุย ทิศทางที่ผ่านมาเน้นตอบโจทย์ทุนเป็นหลัก เช่น ท่องเที่ยวชนาดใหญ่ ประมงพาณิชย์ แต่คนใต้เองไม่ได้อะไรมากนักจากการพัฒนาเเบบนี้ เป้าหมายที่มาวันนี้คือต้องการมีส่วนร่วม

ทั้งนี้หนังสือฉบับเเรก ขอให้เคารพสิทธิการพัฒนาของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ การพัฒนาใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ประชาชนต้องมีส่วนร่วมสําคัญในการ รับรู้และกําหนดทิศทางหรือรูปแบบการพัฒนานั้นด้วย บนพื้นฐานของสิทธิการพัฒนาบนฐานศักยภาพของภาคใต้ และต้องคํานึงถึงความมั่นคงยั่งยืนของฐานทรัพยากร สังคมวิถีวัฒนธรรม

โดยข้อเสนอประกอบด้วย

1. รัฐบาลต้องยอมรับ “สิทธิและการเป็นหุ่นส่วนการพัฒนาประเทศ” ของประชาชน ที่ไม่ใช่แค้ผู้รอการพัฒนาที่รัฐหยิบยื่นให้เท่านั้น แต่ประชาชนต้องมีสิทธิและมีส่วนร่วมในการพัฒนาในการพัฒนาในทุกระดับ

2. รัฐบาลต้องปฏิรูปกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เป็นองค์กรที่มีความก้าวหน้า ทันสมัย มิใช่มุ่งแค่การทํางานเชิงสงเคราะห์ จนลืมหลักการในการการพัฒนาสังคมที่ต้องสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ที่จะต้องมีความเข้มแข็งและสามารถจัดการแก้ไขปัญหาของตนเองได้

3. รัฐบาลต้องส่งเสริมและสร้างกลไกให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมสําคัญในการจัดการและออกแบบการ แก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ช่วงที่ผ่านมาในทุกมิติ โดยเฉพาะการฟื้นฟูด้านอาชีพ เศรษฐกิจชุมชน และการเข้าถึงแหล่งผลิตอาหารในท้องถิ่น ปรับระบบงบประมาณและกองทุนเงินกู้ให้สอดคล้อง

4. รัฐบาลต้องเร่งทบทวนโครงการต่างๆที่กําลังส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคใต้ อย่างเช่น โครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลภาคใต้,โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตอําเภอจะนะ จังหวัดสงขลา,โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลอําเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช นโยบายการ จัดการน้ํา,โครงการสัมปทานเหมืองหินในหลายจังหวัดภาคใต้, โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี, ปัญหาชาวประมงพื้นบ้านและนโยบายการประมง

5. รัฐบาลต้องสร้างกลไกร่วมระหว่างภาครัฐ (ฝ่ายการเมืองและข้าราชการ) กับภาคประชาชน และภาคี พัฒนาอื่น ๆ ในระดับภาค เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเชิงรุก โดยให้นําสาระสําคัญของ ข้อเสนอเบื้องตนทั้งหมดไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม

นอกจากนั้น ตัวแทนเครือข่ายประชาชนภาคใต้ ยังยื่นหนังสือฉบับที่ 2 ข้อเสนอของภาคประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน 

โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งทะเลในประเทศไทยที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างเนื่องโดยมีสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ภัยทางธรรมชาติและการคุกคามจากมนุษย์ การกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ปัจจุบันสาเหตุหลักมาจากการแทรกแซงกระบวนการทางธรรมชาติของหาดทราย ด้วยโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล และการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่ไม่คำนึงถึงระบบธรรมชาติของทะเล ส่งผลให้หาดทรายเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณาแล้ว ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่กล่าวมานั้น มีต้นตอของปัญหาจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยมีปัญหาเชิงนโยบายที่เห็นได้อย่างประจักษ์ชัดเจนดังนี้

1. การเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อม (EIA) ทำให้เกิดการระบาดของกำแพงกันคลื่นในหลายพื้นที่ชายหาด จากข้อมูลที่มีการรวบรวมมา พบว่า ตั้งแต่ปี 2556 – 2562 หลังการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA มีโครงการ กำแพงกันคลื่นทั้งหมด 74 โครงการ ระยะทางรวม 34.875 กิโลเมตรตลอดแนวชายฝั่ง งบประมาณรวม 6,967,853,620 บาท ประกอบกับการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA เป็นการทำลาย หลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญและทำให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจนเป็นคดีความ ไม่น้อยกว่า 3 คดี ได้แก่ คดีอ่าวน้อย คดีหาดม่วงงาม และคดีหาดมหาราช ซึ่งคดีเหล่านี้ล้วนมีมูลเหตุสำคัญมาจากการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

2. การที่รัฐไม่ส่งเสริมความรู้ในการจัดการชายฝั่ง และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการจัดการทรัพยากรชายหาด เพื่อให้ชุมชนได้มีความรู้ และร่วมกำหนดเจตจำนงของตนในการจัดการทรัพยากรชายหาดอย่างแท้จริง

3. การกำหนดมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ เช่น การกัดเซาะชายฝั่งเพียงชั่วคราว ในช่วงมรสุม แต่รัฐเลือกดำเนินมาตรการถาวร เช่น กำแพงกันคลื่นในพื้นที่ชายหาดที่มีการกัดเซาะชายฝั่งระยะสั้น

4. การที่รัฐไม่สนับสนุนและผลักดัน มาตรการอื่น ๆ ซึ่งเป็นมาตรการในการฟื้นฟูชายฝั่ง ปรับสมดุลให้แก่ธรรมชาติ เช่น การเติมทราย การถ่ายเททรายข้ามร่องน้ำ การกำหนดแนวถอยร่น การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์เพื่อคุ้มครองชายฝั่ง เป็นต้น รวมถึงการรื้อถอนโครงสร้างที่ไม่จำเป็นเพื่อให้ชายฝั่งได้ฟื้นฟูสภาพ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และมีการติดตามผลของมาตรการเหล่านี้อย่างชัดเจน

5. ปัญหาอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่ทับซ้อนกันในการแก้ไขปัญหา ทำให้หลายพื้นที่ชายหาดมีมาตรการป้องกันชายฝั่งที่ทับซ้อนกัน เกิดความไม่เป็นเอกภาพและไม่มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน

6. การที่รัฐไม่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นทำให้ ท้องถิ่นซึ่งมีความยึดโยงกับประชาชนมากกว่ารัฐส่วนกลาง และเข้าใจสถานการณ์ปัญหาของพื้นที่ได้ดีกว่านั้น ไม่สามารถแก้ไข หรือจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ เพราะไม่มีอำนาจและงบประมาณในการบริหารจัดการ

7. ปัญหาการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในปัจจุบันการตัดสินใจดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งนั้น ประชาชนกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการรับฟังความคิดเห็นที่หน่วยงานล็อกรูปแบบโครงการมาให้ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสในการเลือกแนวทางในการป้องกันและแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่งได้ อีกทั้งการรับฟังความเห็นของประชาชนในปัจจุบันมีการชัดจูง ให้ข้อมูลด้านเดียวทำให้ประชาชนขาดความรู้ในการตัดสินใจเลือกวิธีการในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

8. กระบวนการการพิจารณากำหนดการอนุมัติโครงการกำแพง/เขื่อนกันเคลื่อน ที่ใช้เพียงกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล Environmental Checklist For Seawall and Revetment เท่านั้นทำให้โครงการขาดความรอบคอบ และขาดความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังการก่อสร้างโครงสร้างแข็งจามแนวชายหาด ปัญหาเชิงโครงสร้างและนโยบายที่กล่าวมานี้ คือ ต้นตอของปัญหาที่ก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทย

ทั้งนี้ สภาประชาชนภาคใต้ซึ่งได้ดำเนินการจัดเวทีระดมความเห็นและเสนอแนะแนวทางเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อการจัดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน และเครือข่ายประชาชนภาคใต้ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน มีความเห็นร่วมกันว่า เพื่อการฟื้นฟู แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศไทยอย่างยั่งยืน รัฐบาลควรต้องเร่งดำเนินการ ดังนี้

1. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโครงการหรือกิจการประเภทกำแพงกันคลื่น กลับเข้าไปเป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนชายฝั่ง

2. ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระงับการดำเนินการโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ชายหาดทั่วประเทศไทย ที่กำลังมีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อป้องการทำลายชายหาดด้วยโครงสร้างป้องกันชายฝั่งของรัฐ และไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ได้เกิดประโยชน์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่เป็นการซ้ำเติมเพิ่มปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

3.รัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดการใช้มาตรการชั่วคราว ที่สามารถรื้อถอนได้เมื่อผ่านมรสุมไป อย่างที่ปรากฏชัดเจนในหลายพื้นที่ชายหาดของประเทศไทยว่า การกัดเซาะชายฝั่งในหลายพื้นที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว การใช้มาตรการชั่วคราว ที่เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมเพื่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งชั่วคราวในช่วงมรสุม

4. รัฐบาลต้องส่งเสริม และผลักดันให้มีการใช้มาตรการที่เป็นมิตรกับชายหาด เช่น การเติมทราย การกำหนดแนวถอยร่น การรื้อถอนโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ไม่จำเป็น และการป้องกันการกัดเซาะตามวิถีภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อให้ชายฝั่งได้ฟื้นคืนและเกิดความสมดุล โดยที่มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่ง

5. รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนชายฝั่งสามารถกำหนดเจตจำนงของตนเอง ในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายหาดอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งการส่งเสริมให้ความรู้และรับรองสิทธิชุมชน กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดการใช้ประโยชน์และบำรุงรักษาทรัพยากรชายหาด

6. คณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งต้องจัดให้มีคณะอนุกรรมการกัดเซาะชายฝั่ง โดยกำหนดให้มีสัดส่วนจากภาคประชาชนที่มาจากพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งร่วมเป็นอนุกรรมการดังกล่าว

7. รัฐบาลควรเร่งตั้งคณะกรรมการศึกษาสภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อรวบรวมการใช้ประโยชน์ และจำแนกประเภทการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งการการศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกัน แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน

เนื้อหาหนังสือดังกล่าว ทิ้งท้ายว่า “ทั้ง 7 ข้อเรียกร้องนี้ เป็นทางออกเพื่อการหยุดยั้งวิกฤตการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นเครือข่ายประชาชนภาคใต้ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืนขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับร่วมกันหารือ และพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวโดยด่วน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ