ขบวนประชาชน 5 ภูมิภาคยื่นหนังสือถึงประยุทธ์เสนอแนวทางพัฒนาสังคมแก้ปัญหาบ้านเมือง

ขบวนประชาชน 5 ภูมิภาคยื่นหนังสือถึงประยุทธ์เสนอแนวทางพัฒนาสังคมแก้ปัญหาบ้านเมือง

9 พฤศจิกายน 2564 ขบวนประชาชน 5 ภูมิภาค ซึ่งเป็นการรวมตัวของขบวนองค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมทั่วประเทศ 5 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคกรุงเทพปริมณฑลและตะวันออก เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมยื่นข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาสังคมและบ้านเมือง ประกอบด้วย 1. มติสมัชชาสภาองค์กรชุมชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม พ.ศ. 2564 2.ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาสังคมการเมืองและเศรษฐกิจแนวใหม่ และ 3. ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประชาชนแบบมีส่วนร่วม 

นอกจากนี้ ยังระบุถึงปัจจัยทางการเมือง ที่ว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นอุปสรรคและเป็นสาเหตุที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยมีข้อสังเกตสำคัญ 3 ประการ คือ

1.รัฐบาลมุ่งเน้นการใช้อำนาจและกฎหมายในบริหารประเทศ มากว่าการสร้างความรู้ความเข้าใจและความร่วมมือจากภาคประชาชน ทำให้เห็นถึงความไม่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการตื่นตัวของประชาชนในโลกสมัยใหม่

2.รัฐบาลบริหารงานแบบรวมศูนย์ โดยเน้นใช้กลไกของระบบราชการเป็นเครื่องมือหลักในการจัดการกับทุกเรื่องทุกปัญหาและทุกพื้นที่ ซ้ำยังตัดตอนหรือชะลอการกระจายอำนาจให้กับชุมชนท้องถิ่น ทั้งที่รู้ดีว่ากลไกและระบบราชการที่เป็นอยู่นั้นมีความแข็งตัวและมีข้อจำกัดมากมาย จนไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วได้

3.รัฐบาลตกอยู่ในภวังค์แห่งความหวาดวิตกทางการเมือง จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ จึงสร้างมาตรการเพื่อการควบคุมทางสังคมการเมือง เพียงเพื่อรักษาความมั่นคงมากเกินไป จนไม่เปิดโอกาสหรือละเลยที่จะส่งเสริมสนับสนุนประชาชนและภาคประชาสังคมให้มีความสามารถในการขับเคลื่อนการพัฒนาในชุมชนท้องถิ่นของตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ

ทั้งนี้ ขบวนประชาชน 5 ภูมิภาค จึงไม่สามารถนิ่งเฉยได้อีกต่อไปภายใต้สภาพการณ์ที่เป็นอยู่นี้ จึงนัดหมายรวมตัวกันเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอทวงถามถึงความจริงใจของนายกรัฐมนตรี ต่อแนวทางในการบริหารประเทศ และแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ 

เนื้อหาในจดหมายขอให้มีการแก้ไขปัญหาประชาชน 5 ภูมิภาค ถึงนายกรัฐมนตรี ระบุข้อเสนอดังนี้

1.รัฐบาลต้องยอมรับการเป็น “หุ้นส่วนการพัฒนาประเทศ” ของประชาชน ที่ไม่ใช่เป็นฝ่ายตรงข้าม หรือเป็นเพียงผู้รอรับการช่วยเหลือจากรัฐเท่านั้น แต่ควรร่วมสร้างสังคมแนวใหม่ ที่ต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญและมีความสามารถในการจัดการแก้ไขปัญหาได้เองในทุกมิติ

2.รัฐบาลต้องสร้างกลไกร่วมระหว่างภาครัฐ(ฝ่ายการเมืองและข้าราชการ) กับภาคประชาชน และภาคีพัฒนาอื่นๆ เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาเชิงรุกที่เท่าทันกับโลกสมัยใหม่ และสามารถเป็นกลไกในการจัดการแก้ไขปัญหาของประชาชนในทุกมิติ ทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาค

3.รัฐบาลต้องปฏิรูปกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เป็นองค์กรที่มีความก้าวหน้าทันสมัย เพื่อสร้างสังคมแนวใหม่ให้ปรากฏ มิใช่แค่การทำงานเชิงสงเคราะห์มิติเดียว หากแต่ต้องส่งเสริมความความเข้มแข็งของสังคม ให้ประชาชนสามารถจัดการแก้ไขปัญหาของตนเองได้ รวมถึงการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ให้ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และมีความภาคภูมิใจในความเป็นประชากรของประเทศ

4.รัฐบาล โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องหยุดการแทรกแซงองค์กรที่สนับสนุนศักยภาพของภาคประชาชน ดังกรณี ไม่ยอมแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.ชุดใหม่ ซึ่งว่างเว้นมาแล้วกว่า 14 เดือน (อย่างไม่เคยปรากฏมีมาก่อน) ส่งผลให้ พอช. ไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชนกว่า 7,000 ตำบล ทั่วประเทศ 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ประมวลสรุปข้อเสนอเพื่อการพัฒนาสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงของมนุษย์แนวใหม่ 

โดย ขบวนประชาชน 5 ภูมิภาค

เหตุผล

            ความตื่นตัวทางสังคมการเมืองของภาคประชาชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วจนระบบการเมืองและราชการของสังคมไทยวิ่งตามไม่ทัน และกำลังกลายเป็นช่องว่างที่มีระยะห่างเพิ่มมากขึ้นจนน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการออกมาเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ต่างเปล่งเสียงเรียกร้องถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ที่กำลังแข็งตัวจนทำให้ดุลอำนาจทางสังคมการเมืองเอนเอียงเสียศูนย์จนไม่สามารถภาพลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยไว้ได้อีกต่อไป หนทางเดียวที่จะคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าวให้กลับสู่สภาพที่ควรจะเป็น คือการยอมรับข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ แล้วหันมาปรับระบบสมดุลอำนาจใหม่ เพื่อสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมให้เป็นที่ประจักษ์ร่วมกัน

            เครือข่ายองค์กรชุมชนและภาคประชาสังคม 5 ภูมิภาค จึงขอเสนอแนวทางเพื่อการพัฒนาสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงของมนุษย์แนวใหม่ 5 มิติ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า และเหมาะสมกับยุคสมัย ดังนี้

  1. มิติทางด้านสังคม
    • ต้องยอมรับและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในลักษณะหุ้นส่วนการพัฒนา มิใช่แค่ผู้ร้องขอรอรับความช่วยเหลือ แต่ต้องเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับที่มีศักดิ์ศรี
    • ยกเลิกระบบประชานิยม และนำนโยบายระบบสวัสดิการถ้วนหน้าเข้ามาแทน เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย
    • ต้องพัฒนาระบบการศึกษาสมัยใหม่ ที่มุ่งเน้นความเข้าใจ คิดเป็น ทำเป็น มากว่าการท่องจำ
    • พัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพ เท่าทันกับสถานการณ์ปัญหา 
    • ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม และทั่วถึง
    • ประชาชนต้องได้รับการคุ้มครอง และมีความปลอดภัยจากพิบัติภัยต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ
    • ต้องพัฒนาระบบการจัดการภัยพิบัติ ที่ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมสำคัญ
    • ต้องยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ หรือสังคมพหุวัฒนธรรม พร้อมส่งเสริมให้เขาดำรงอยู่ภายใต้วิถีชีวิตเฉพาะถิ่นอย่างมีศักดิ์ศรีและมีสิทธิเท่าเทียมกัน
  2. มิติด้านเศรษฐกิจ
    • สร้างระบบเศรษฐกิจเกื้อกูล ที่ต้องกระจาย เท่าเทียม เป็นธรรม  และลดความเหลื่อมล้ำ
    • ต้องกำหนดมาตรการงดเว้น ยกเลิกการจัดเก็บภาษี ให้กับองค์กรที่มีการดำเนินการตามแนวทาง Community Business Model Canvas : CBMC
    • ข้อเสนอต่อชุมชน จัดตั้งโครงข่ายธุรกิจชุมชน จากธุรกิจระบบจุลภาคสู่มหาภาคของของชุมชน  สร้าง Modern Trade ของชุมชนมีการขับเคลื่อนในทุกระดับทั้งโครงสร้าง มาตรการ และกิจกรรม ทางเศรษฐกิจให้เกิดสถาบันทางเศรษฐกิจภาคประชาชนร่วมกัน และร่วมจัดทำแผนระบบเศรษฐกิจร่วมกัน
    • สร้างมาตรฐานรับรองสินค้าของชุมชน ที่ออกโดยขบวนการ cbmc ให้เป็นมาตรฐานกลางและเป็นที่ยอมรับทางการตลาดตามมาตรฐานสากล ภายใต้การสนับสนุนภาควิชาการ
    • รัฐกำหนดมาตรการสนับสนุนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนให้กับกลุ่ม บุคคล ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนตามแนวทาง CBMC. (Community Business Model Canvas) ทั้งการผลิต แหล่งทุนสนับสนุน รวมถึงระบบการตลาดและเทคโนโลยี
    • สร้างดุลยภาพการพัฒนาใหม่ ให้ใช้ “การพัฒนาโดยใช้การจัดการทางธุรกิจเป็นแกนกลาง” สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นการจัดระบบธุรกิจชุมชนในระดับจุลภาค ที่มีเป็นหมายสำคัญ 3 ประการ (1) เพิ่มรายได้ให้กับบุคคลครัวเรือน (2) ทำให้สังคมชุนชนมีรายได้ (3) ทำให้ฐานทรัพยากรมีความยั่งยืน 
    • รัฐต้องทบทวน แก้ไขกฎหมายที่จำกัด ควบคุม การเติบโตของเศรษฐกิจชุมชน เช่น การผลิตสุรา (ภูมิปัญญา) พลังงาน  และปัจจัยการผลิตอื่นๆ เช่นน้ำ ที่ดิน ฯลฯ
    • เร่งรัดระบบการตลาด การจัดตลาดนัดเกษตรเพื่อให้มีช่องทางการตลาด หรือมีสถานที่จำหน่ายผลผลิตสินค้าเกษตรที่ดีมีคุณภาพ ส่งตรงถึงผู้บริโภค
    • ต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุน และฐานการผลิต และส่งเสริมให้ผู้ผลิตเป็นผู้จำหน่ายสินค้าเองในตลาด ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาจำหน่ายอย่างทั่วถึงเท่าเทียม
    • ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการหน้าใหม่ และเปิดมีโอกาสเข้าถึงระบบเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน
  3. มิติด้านสิ่งแวดล้อม และฐานทรัพยากร
    • ประชาชนต้องเป็นเจ้าของฐานทรัพยากร(ดิน น้ำ ป่า ทะเล) ที่จะต้องมีสิทธิในการบริหารจัดการ และการใช้ประโยชน์อย่างสมดุล และยั่งยืน 
    • เร่งรัดการจัดการที่ดินแนวใหม่เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่มั่นคงต่อการผลิตอาหารในระดับชุมชนโดยให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีบทบาทสำคัญในการจัดการแก้ไขปัญหาของตนเองแบบบูรณาการ
    • สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ต้องคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตร เพื่อไม่ให้ถูกนาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกการเกษตร และไม่อนุญาตให้บุคคลต่างด้าว ทั้งส่วนตัวและนิติบุคคล เข้าครอบครองที่ดิน ทั้งทางตรงและทางอ้อม 
    • ต้องกระจากการถือครองที่ดิน ให้เพียงพอกับการดำรงชีพ ด้วยที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ โดยจัดให้มีระบบภาษีอัตราก้าวหน้า และต้องรับรองสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดิน
    • ผู้ที่สร้างความเสียหายให้กับฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น จะต้องมีผู้รับผิดชอบ และชดเชยความเสียหายดังกล่าว ในลักษณะกองทุนสิ่งแวดล้อมหรือลักษณะใกล้เคียงกัน เพื่อเยียวยาให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
    • การกระจายอำนาจในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  4. มิติด้านการพัฒนา
    • ประชาชนต้องมีสิทธิกำหนดการพัฒนาในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง
    • ประชาชนในภูมิภาคต้องมีสิทธิ์ออกแบบและจัดทำผังการพัฒนา ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และศักยภาพของชุมชน เพื่อให้เป็นแผนการพัฒนาหลักที่ใช้ในการออกแบบการพัฒนาอื่นๆ
    • ปรับปรุงและพัฒนาระบบกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ให้มีมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน
    • ทบทวนแนวคิดนโยบายการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือการพัฒนาที่สร้างอำนาจพิเศษเพื่อคนเฉพาะกลุ่ม
    • ทบทวนการดำเนินงานโครงการที่มีปัญหาและส่งผลกระทบต่อชุมชน อย่างเช่น กรณีโครงการผันน้ำยวม  ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก กรณีโครงการนิคมอุตสาหกรรมอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กรณีโครงการสัมปทานเหมืองแร่หินเขาโต๊ะกรัง จังหวัดสตูล กรณีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช โครงการสัมปทานแหล่งแร่ การกัดเซาะชายฝั่ง เป็นต้น
  5. มิติด้านการเมือง และสิทธิชุมชน
    • แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม เป็นธรรม และสร้างระบบประชาธิปไตยที่มั่นคง
    • กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และท้องถิ่นขนาดใหญ่ระดับจังหวัด เพื่อสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมในสังคม ปรับระบบการบริหารราชการแบบรวมศูนย์ เพื่อเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่น
    • ออกแบบระบบการจัดการงบประมาณแบบใหม่ เพื่อให้กองทุนเข้าถึงประชาชนโดยตรง อย่างเช่นสร้างระบบกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากระดับตำบล ที่บริหารแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
    • นิรโทษกรรมคดีทรัพยากร ป่าไม้ที่ดิน การละเมิดสิทธิชุมชน และการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย
    • ทบทวนนโยบายและกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิของประชาชน
    • ประชาชนย่อมมีสิทธิในการดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของแต่ละชาติพันธุ์อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งเรื่องการนับถือศาสนาประเพณี การประกอบอาชีพ การอยู่อาศัยที่ทำกิน และการได้รับบริการจากรัฐ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ