อยู่ดีมีแฮง : เสียงจาก “บ้านโนนสุข” เมื่อความทุกข์(จะ)ถูกผันลงคลองเลื่ยงเมืองอุบล

อยู่ดีมีแฮง : เสียงจาก “บ้านโนนสุข” เมื่อความทุกข์(จะ)ถูกผันลงคลองเลื่ยงเมืองอุบล

เสียง “อื้ด ๆ ๆ ๆ” ดังมาจากโต๊ะทำงานในขณะที่ผมกำลังนั่งดูทีวีอย่างสบายใจ  แม้ไม่ได้ตั้งการเตือนเป็นเสียงริงโทนใด ๆ แต่แค่อื้ดเบา ๆ ก็รู้แล้วว่ามีคนโทรหา

ผมถีบร่างอันปวกเปียกออกจากโซฟาดูดวิญญาณเดินไปดูว่าใครโทรมา ถ้าไม่จ้างงานก็คงทวงหนี้แค่นั้นล่ะ  พอเอาโทรศัพท์แนบหูปลายสายก็ทำเสียงโวยวายใส่ว่า “เขาสิขุดคลองผ่านแถวบ้านเฮา โตสิมาบ่อ” ภาษาอีสานสำเนียงชัดเจนจากเพื่อนคนหนึ่งโทรมาชวน 

ผมก็เลยบอกปัดมันไปว่า “ขนาดปลูกต้นไม้เรายังไม่มีปัญญาขุดหลุมเลย  ไม่มีแรงไปช่วยขุดหรอก”(แปลเป็นภาษากลางแบบสุภาพให้อัตโนมัติแล้ว) 

มันเลยบอกว่าไม่ใช่ขุดแบบนั้นเฟ้ย  พร้อมกับอธิบายว่ากรมชลประทานมีโครงการจะขุดคลองใหม่เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำมูลลงมาที่ชุมชน เพื่อหวังไม่ให้มันท่วมในเมือง แล้วแนวเขตคลองมันตัดมาผ่ากลางหมู่บ้านแถวนี้ด้วย แล้วชาวบ้านก็ยังไม่รู้ตัวอีก แล้วมันก็ชวนหนัก ๆ แกมบังคับหน่อย ๆ ว่า มึง(ผม) ต้องมาช่วยชาวบ้านนะ

หลังจากได้ฟังประโยคปลิดวิญญาณนั้นแล้ว ผมก็เร่งหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตทันที ผลจากการสืบค้นทั้งหมดมีลงข่าวในหลายสำนัก แต่เมื่อเปิดอ่านทุกหัวแล้วก็รับรู้ได้ว่าเนื้อข่าวเป็นอันเดียวกันที่ไม่แน่ว่าอาจเป็นคนเดียวกันเขียนแล้วแจกจ่ายกันไป ซึ่งข่าวแบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของงานเขียน แล้วแจกให้นักข่าวเอาไปลง บางสำนักก็ปรับแต่งคำให้สละสลวยขึ้นแต่บางสำนักก็เอาลงทั้งดุ้นเลย 

พวกเราเรียกข่าวแบบนี้ว่า “ข่าวแจก” มันเลยทำให้มีข้อมูลแค่ชุดเดียวและไม่สามารถหารายละเอียดอื่น ๆ ได้

ผมใช้เวลาท่องเว็บไซต์อยู่หลายวันเพื่อให้เด้งไปยังรายละเอียดที่ต้องการ เว็บแล้วเว็บเล่ารวมทั้งเว็บของกรมชลประทานเอง แต่ก็ไม่เจอมากไปกว่าเนื้อข่าวชิ้นนั้น รู้สึกเหมือนจะถอดใจจนคิดว่าจะโทรหาอธิบดีกรมชลประทานแทน เบอร์อธิบดีน่าจะหาง่ายกว่า แต่แล้วก็ไปสะดุดหนึ่งในภาพข่าวที่เป็นรูปคิวอาร์โค้ดที่มีคนถ่ายไว้ ซึ่งน่าจะถ่ายมาจากเอกสารประกอบการประชุมโครงการ มันระบุว่า “ดาวน์โหลดสื่อประชาสัมพันธ์โครงการ” เมื่อสแกนมันก็พาเราไปยังหน้า Google Drive ทันที ในนั้นมี 3 โฟลเดอร์ใหญ่ ในแต่ละโฟลเดอร์ยังมีโฟลเดอร์เล็กอยู่อีก 3-4 โฟลเดอร์ซึ่งบรรจุไฟล์เอกสารชนิด PDF เอาไว้หลายไฟล์และเป็นรายละเอียดสรุปการศึกษาโครงการทั้งหมด

ผมก็ได้แต่เกาหัวล้านแกรก ๆ ๆ คิดว่าขนาดคนที่พอมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีด้านการสืบค้นข้อมูลอย่างเรายังลำบากขนาดนี้ แล้วชาวบ้าน ตาสี ตาสา ยายมา ยายมี จะเข้าถึงข้อมูลที่บอกว่าเป็นสื่อประชาสัมพันธ์นี้ได้อย่างไร คิดแล้วก็โมโหรถขายไอติมที่มันจะมาขายอะไรกันตอนเน้!

กลับมาที่เอกสาร… มันเป็นเอกสารสรุปผลการศึกษาโดยบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ ที่ว่าจ้างโดยกรมชลประทาน  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใน “โครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อบรรเทาอุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี” สรุปคร่าว ๆ ได้ว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายบริหารจัดการน้ำทั้งแล้งและท่วมของรัฐบาลโดยกรมชลประทานที่ทำในทุกลุ่มน้ำพร้อมกันทั่วประเทศ เมืองอุบลราชธานีและเมืองวารินชำราบกลายเป็นพื้นที่ที่กรมชลประทานต้องเข้ามาแก้ไขแล้วแหละ เพราะเมื่อปี 2562  เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้นมีน้ำหนักมากพอให้ของบประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว

น้ำท่วมใหญ่จังหวัดอุบลราชธานี 2562

แม่น้ำมูลคือตัวปัญหาเพราะดันไหลมาผ่านตัวเมือง (อันที่จริงเมืองหรือเปล่ามาตั้งใกล้มูลเอง) ก็เลยเกิดไอเดียว่าถ้าเราตัดยอดน้ำจากเดิมที่มาเต็มร้อย ให้เหลือสัก 60 ,70 หรือ 80 เปอร์เซ็นต์ โดยเบี่ยงให้มันไหลออกไปทางอื่นบ้าง น้ำก็จะไม่ท่วมตัวเมืองไง และได้ข้อสรุปว่าจะขุดคลองใหม่บางช่วงเพื่อไปเชื่อมกับแนวลำน้ำธรรมชาติดั้งเดิมและขุดลอกให้มีความลึก 9 เมตร ก้นคล้องกว้าง 112 เมตร ปากคลองกว้าง 150-320 เมตร ยาว 97 กิโลเมตร มีจุดตัดกับถนน 80 จุด มีประตูเปิด-ปิดควบคุมระดับน้ำ 4 แห่ง ซึ่งแนวคิดนี้ก็ฟังดูเป็นวิทยาศาสตร์ดี แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า แนวคลองที่จะขุดใหม่ต้องไปพาดผ่านพื้นที่ของชาวบ้านที่พวกเขาตั้งรกรากสร้างบ้านแปงเมืองมานานแล้ว ซึ่งตามโครงการก็มีนโยบายชดเชยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอยู่  แต่บางสิ่งบางอย่างมันตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้ด้วยหรือ นี่จึงเป็นคำถามที่ผมต้องลงไปในพื้นที่เพื่อถามชาวบ้านดูว่าจะเอาด้วยไหมกับโปรเจกต์นี้

ขนาดของคลองจะแปรผันไปตามพื้นที่
แนวผันน้ำอยู่ด้านทิศใต้ความยาวประมาณ 97 กิโลเมตร

ผมกับเพื่อนนัดแนะกันลงพื้นที่ในวันที่กรมอุตุฯประกาศเตือนว่าจะมีพายุเข้า ใจหนึ่งก็หวั่น ๆ จนอยากจะยกเลิก แต่ใจหนึ่งก็อยากลงไปให้รู้ว่าที่นั่นเป็นยังไงบ้าง  … ผมไปถึงบ้านโนนสุข ตำบลไร่ใต้  อำเภอพิบูลมังสาหาร  ตอนสาย ๆ ท่ามกลางสภาพอากาศอันเลวร้าย  ฝนไม่ตก  แต่แดดลงหนักมาก เสื้อกันฝนที่เตรียมไว้คงไม่เหมาะกับสถานการณ์เช่นนี้

สายันต์  เกาะแก้ว เป็นผู้ใหญ่บ้านหนุ่มไฟแรง (หรือเปล่าไม่รู้) แต่เขาคือคนแรกที่เราไปหา  เขาเล่าว่าตัวเองนั้นรู้เรื่องโครงการมาบ้างจากการถูกเชิญไปประชุมชี้แจงของผู้รับผิดชอบโครงการ 2-3 ครั้ง ซึ่งคนที่ถูกเชิญไปจะมีแค่ผู้นำชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการเท่านั้น ไม่ให้ชาวบ้านติดตามไปด้วยเพราะเป็นห่วงเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อันนี้ก็พอมีเหตุผล  แล้วให้ผู้นำชุมชนเป็นคนไปบอกชาวบ้านเองว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง สิ่งที่เขาทำได้ก็แค่ไปบอกต่อในสิ่งที่รับรู้มา  แต่จะให้รู้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นแน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้  เพราะเขาเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมที่จะสามารถอธิบายเรื่องการก่อสร้างทั้งหมดได้  ผู้ใหญ่บ้านบอกว่าโดยส่วนตัวแล้วก็ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้เพราะมันจะได้ไม่คุ้มเสีย อยากให้บริหารจัดการในแม่น้ำมูลให้ดีแทนมากกว่า  ซึ่งที่ผ่านมาผู้ใหญ่บ้านก็เป็นคนทำหนังสือคัดค้านโครงการนี้ไปแล้ว แต่เรื่องจะไปถึงไหนนั้น  ไม่รู้

สายันต์ เกาะแก้ว

อธิบายแบบจ้วด ๆ รวดเร็ว คือบ้านโนนสุขนี้ เป็นหนึ่งในชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบตรง ๆ เต็ม ๆ แรง ๆ จากโครงการ ถ้าได้ก่อสร้างจริง  เพราะพื้นที่หมู่บ้านนั้นอยู่ติดกับลำโดมใหญ่ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล บ้านโนนสุขมีบ้านเรือนตั้งอยู่ทั้ง 2 ฝั่งลำโดม ทางทิศเหนือนั้นมีบ้านไม่มากนัก แต่ด้านทิศใต้มีบ้านเรือนตั้งอยู่เป็นร้อยหลัง ปัญหาก็คือ แนวคลองที่เขาว่าจะขุดใหม่ขนานมากับลำโดมใหญ่ความกว้าง 300 เมตร จะกลืนกินบ้านเรือนทางทิศใต้ไปเกือบทั้งหมด  ที่สำคัญ ชาวบ้านยังไม่รู้รายละเอียดว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ลำโดมใหญ่บริเวณบ้านโนนสุข ต.ไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี

ผมลองเช็คอีกทีว่าชาวบ้านไม่รู้จริง ๆ หรือเปล่า โดยใช้วิธีที่คุ้นเคยกับเพื่อนคือดักปล้นข้างทาง เป็นการดักโบกรถที่ผ่านไปมาในหมู่บ้านเพื่อปล้นเอาความจริงและความรู้สึกจากพวกเขา 

เหยื่อคนแรกที่ผ่านเข้ามาในรัศมีการปล้นคือพ่อทองจันทร์  สารปัญญา  แกกำลังจะไปนาแต่ก่อนไปต้องเข้าไปซื้อเครื่องดื่มชูกำลังก่อนเพราะคาดว่าเมื่อไปถึงนาอาจต้องใช้กำลังเยอะ 

เรากระโดดขวางรถแกแล้วถามว่ารู้เรื่องโครงการคลองผันน้ำไหม แกหยุดรถมอเตอร์ไซค์แต่ไม่ได้ดับเครื่องพร้อมตะโกนมาอย่างยิ้มแย้มแจ่มใสว่า “รู้อยู่” อยากให้เขามาทำเลยบ้านเราจะได้เจริญ  ผมกับเพื่อนมองหน้ากันแล้วถามต่อว่าจะเจริญยังไง 

พ่อทองจันทร์บอกว่าได้ยินทางการเพิ่นว่าเป็นโครงการพัฒนาความเจริญให้หมู่บ้านแต่พ่อก็ไม่เข้าใจหรอกว่าจะพัฒนาด้านไหนแต่เขาว่าจะเจริญก็อยากให้มาทำ  ผมจุกในลำคอเลยสะกิดเพื่อน “เมิงเป็นคนบอกเด็ก ๆ นะว่าซานตาครอส ไม่มีอยู่จริง”

เพื่อนผมเลยอธิบายว่าคลองเส้นใหม่จะพาดผ่านหมู่บ้านเราไป ฉะนั้นพ่อทองจันทร์จะต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่นเพราะบ้านของพ่ออยู่แนวเขตคลอง พ่อทองจันทร์ถึงกับบิดสวิทช์ดับเครื่องรถ และเปลี่ยนโหมดใบหน้าจากที่เคยแจ่มใสไปสู่โหมดขมึงทึงทันที “ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่เห็นด้วยแล้ว  จะทุกข์เป็นแค่คนเมืองงั้นเหรอ แล้วคนบ้านโนนสุขทุกข์ไม่เป็นหรือไง” ความเกี้ยวกราดกลายเป็นอารมณ์หลักในการสนทนาในเวลาต่อมา

เราเดินเท้าเข้าไปในหมู่บ้าน กะว่าเจอใครอยู่บ้านลำพังก็จะเข้าชาร์จทันที เราพบแม่ถนอม เกาะแก้ว เก็บผักอยู่หน้าบ้านเลยร้องถามไปว่ารู้เรื่องไหม  มาทรงเดียวกันกับคนแรกคือถามเรากลับว่ามันเป็นยังไง 

จากวินาทีนี้เรารู้ทันทีว่าได้กลายเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ให้โครงการไปเสียแล้ว แต่ท่าทีเมื่อรู้ถึงรายละเอียดมากขึ้นแม่ถนอมเองก็แสดงความประสงค์ว่าไม่ต้องการให้มีการก่อสร้าง เพราะห่วงเรื่องที่อยู่และผืนนาที่จะต้องกลายเป็นคลอง  แม่ถนอมยังอธิบายไม่จบว่ากังวลเรื่องอะไรอีก คุณตาคำภา วงศ์ขันธ์  วัย 83 ปีก็จูงจักรยานยางแบนผ่านมาเราเลยลองถามดูว่าเอาไหมคลองผันน้ำ 

ตาคำภาตอบอย่างดีใจว่า “เอา” บ้านเมืองมันจะได้เจริญขึ้น เราเลยถามต่อว่ารู้รายละเอียดโครงการแล้วเหรอ แต่คุณตาตอบว่ายังไม่รู้หรอก  ไม่มีใครมาบอกเพราะบ้านอยู่ในซอยลึก แต่เอาไว้ก่อนกลัวไม่ได้ เช่นเคยผมสะกิดให้เพื่อนเป็นคนอธิบายตัวเองก็บันทึกวิดีโอไป หลังจากที่ตาคำพาทราบรายละเอียดก็มาทรงเดียวกันหมด เปลี่ยนโหมด

เราลาทั้ง 2 ท่านเดินเลาะบ้านไปอีก คราวนี้ไปเจอคุณตาทองดี สารปัญญา กำลังนั่งสานแหอยู่ใต้ถุนบ้าน คุณตาน่าจะเป็นญาติกับพ่อทองจันทร์ สารปัญญา คนที่เราดักปล้นข้างทาง เพราะนามสกุลเหมือนกัน  ต่างตรงที่ตาทองดีนั้นรู้เรื่องกว่าใครเพื่อน 

เมื่อยิงคำถามเดียวกันคุณตายืนยันในความไม่เห็นด้วยกับไอเดียนี้อย่างหนักแน่น สิ่งหนึ่งที่ตาเป็นห่วงก็คือวัดประจำหมู่บ้านที่อยู่ถัดจากบ้านแกไปไม่ไกลก็ต้องหายไปด้วย พื้นที่ศักดิ์สิทธิที่ชาวบ้านให้ความสำคัญมานานจะต้องถูกรุกรานเป็นสิ่งที่ชาวบ้านรับไม่ได้

ทองดี  สารปัญญา

เราเดินเลยไปตรงที่เขากำลังก่อสร้างสะพานข้ามลำโดมใหญ่เพื่อดูสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน  แม่หนูจร  อารี  เห็นเราเดินผ่านก็กวักมือหยอย ๆ เรียกถามว่ามาสำรวจอะไร พอเราบอกว่ามาคุยกับชาวบ้าน ว่ารู้สึกยังไงที่เขาจะทำคลองผันน้ำผ่านมาทางนี้ แม่หนูจรก็ปรับสวิตช์ไปที่โหมดเกรี้ยวกราดโดยทันที แม่บอกว่าหากสร้างผ่านมาทางนี้แล้วจะให้ไปอยู่ที่ไหน จะหากินในภายภาคหน้ายังไง พวกเราอยู่ที่นี่มานานแล้วไม่พร้อมที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่นหรอก

เมื่อเห็นผมกำลังถ่ายวิดีโออยู่แม่ถึงกับขอพูดผ่านกล้องไปถึงลูกหลานทางกรุงเทพฯว่าให้ช่วยบอกต่อให้คนบ้านเรารู้หน่อยว่าเขาจะทำอะไรกับหมู่บ้านของเรา ช่วยพูดไปเยอะ ๆ เผื่อเขาจะยกเลิกโครงการ 

ความจริงจังของแม่หนูจรไม่ได้ถูกสื่อสารผ่านทางคำพูดที่ถูกปิดปากไว้ด้วยแมสก์และความเหลื่อมล้ำเท่านั้น แต่น้ำตาที่รื้นขึ้นมาคลอที่สองเบ้าตาของแม่หนูจร อธิบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจที่มีอยู่เต็มอกนั้นได้อย่างชัดเจน 

เจ้านายคงไม่ใช่ที่พึ่งของประชาชนอีกต่อไปแล้ว แต่ไอ้กระบอกเลนส์ดำ ๆ นี้ มันคือที่พึ่งสุดท้ายของชาวบ้านจริง ๆ หรือ  อยากเอาเลนส์หนัก ๆ นี้ฟาดกบาลใครสักคนเพื่อระบายความรู้สึกนี้จริง ๆ  เราเดินออกจากบ้านแม่หนูจรพร้อมกับความรู้สึกอึดอัดที่แม่ฝากมา

หนูจร  อารี

หลังคุยกับชาวบ้านผมก็รู้สึกอึดอัดเหมือนอาหารไม่ย่อยแต่หิวบ่อยผิดปกติเลยไปหาหมอ หมอเลยชวนผมขึ้นห้อง ห้องทำงานของหมอไม่อาจเรียกว่าห้องได้เพราะมันมีผนังเพียง 3 ด้าน อีกด้านเป็นบันไดลงไปชั้นล่าง ติดแอร์ก็ไม่ได้เพราะผนังไม่ครบ 4 ด้าน แต่ที่นี่ก็เป็นศูนย์บัญชาการที่ค่อนข้างสงบกว่าทุกที่ในตึกแล้วสำหรับคุณหมอนิรันดร์

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ  อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ที่ต้องเจอและช่วยแก้ปัญหาเรื่องทำนองนี้มาค่อนชีวิตแล้ว คุณหมอบอกว่าที่ผ่านมาปัญหาความขัดแย้งของประชาชนกับภาครัฐก็มักเริ่มมาจากจุดนี้ จุดที่เขาไม่มีโอกาสได้ร่วมคิดร่วมตัดสินใจในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โครงการลักษณะนี้ถ้าดูในภาพรวมแล้วก็มีเจตนาที่ดีที่ต้องการช่วยเหลือประชาชน แต่วิธีการดำเนินงานนั้นกลับไม่ให้ภาคประชาชนได้มีส่วนตัดสินใจในสิ่งที่เขาจะต้องได้รับผลกระทบ และสุดท้ายมันก็จบลงที่ความขัดแย้งเช่นเดิม 

แม้จะมีการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น  แต่บางสิ่งบางอย่างมันก็ไม่สามารถตีมูลค่าเป็นเงินได้ ซึ่งหมอนิรันดร์ก็ยังย้ำว่าโครงการระดับ 4 หมื่นกว่าล้านและกระทบกับผู้คน  ยังไงก็ต้องศึกษาผลกระทบให้รอบด้านให้รู้ว่าสิ่งที่ได้และเสียไปจะคุ้มค่ากับเงิน 4 หมื่นล้านไหม

นพ.นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ  อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ลืมบอกไปว่าโครงการ 4.7 หมื่นล้านบาทนี้ ไม่เข้าข่ายที่จะต้องทำ EIA และ EHIA หรือรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  ทั้ง ทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน  เพราะขอบเขตพื้นที่โครงการไม่มากพอที่จะต้องทำ  แต่อย่างไรก็ตามแม้การศึกษาในเบื้องต้นจะจบไปแล้ว  แต่ใช่ว่ารัฐบาลจะเริ่มก่อสร้างได้เลย  เพราะต้องเสนอเรื่องผ่าน ครม.ก่อน  จากนั้นจึงจะตั้งงบประมาณได้  หลังจากนี้ผู้มีความรู้ด้านวิศกรรมก็จะไปออกแบบสิ่งก่อสร้างรอซึ่งอาจใช้เวลา 1-2 ปี  และสุดท้ายหากผ่านไปทั้งหมดแล้ว ก็จะต้องใช้เวลาอีก 7 ปี ในการดำเนินงานก่อสร้าง  ถึงวันนั้นเราจะกลับไปปล้นความรู้สึกจากชาวบ้านอีกว่ายังรู้สึกเหมือนในวันนี้ไหม.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ