เรื่องเล่าชาวประมงพื้นบ้าน จ.กระบี่ ตอนที่ 2
ที่บ้านคลองรั้วก็มีเฒ่าทะเลเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ “ตาซ่าย” ซึ่งเป็นเขยบ้านคลองรั้ว
พ่อของตาซ่ายเป็นคนจีน เข้ามาดูแลหลุมถ่าน ซึ่งคนจีนเป็นผู้สัมปทานทำไม้ในป่าชายเลน เมื่ออายุ 19 ปี ตาซ่ายแต่งงานกับ “ยายหวิน” ซึ่งอายุ 17 ปี ยายหวินเป็นคนคลองรั้ว เป็นลูกชาวประมง มีเชื้อสายชาวจีนเช่นกัน
บ้านของตากับยายเป็นบ้านไม้ใต้ถุนต่ำ หน้าบ้านมีกระดาษสีแดงเขียนข้อความภาษาจีนแปะติดไว้ รอบ ๆ บ้านเป็นสวนปาล์มเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เป็นรายได้เสริม รายได้หลักมาจากการทำประมง
“อยู่กับเล กินกับเล เลี้ยงลูกกับเล อยู่กันแบบพอเพียง เลคือชีวิต” ยายหวินอธิบายถึงชีวิตของตน ซึ่งมีความผูกพันกับทะเล
ตากับยายอยู่กินกันมากว่า 50 ปี ตอนนี้ตาซ่ายอายุ 68 ปี ยายหวินอายุ 66 ปี ทุกวันนี้ตายังคงจับสัตว์น้ำใกล้บ้าน ส่วนในฤดูกาลตักแมงกะพรุน ตาจะเดินทางไปตักแมงกะพรุนต่างถิ่น ไปไกลถึงพังงา และภูเก็ต โดยมีลูกกับหลานผลัดเปลี่ยนเป็นผู้ช่วย แต่ในบางปีตาก็ไปทำประมงคนเดียว
ห๊ะ! ตาเคยทำประมงคนเดียว ฉันสงสัยว่าทำได้อย่างไร โดยปกติชาวประมงพื้นบ้านจะทำประมง 2-3 คน คนหนึ่งจะควบคุมเรือ อีกคนหรือสองคนจะวางอวน วางเบ็ด หรือทำงานประมงอื่น ๆ
ตายิ้ม และพูดด้วยเสียงทุ้มแบบคนสุขุมใจดีว่า “ออกเลคนเดียวทำได้ ไม่มีลูกน้องก็ไม่ต้องแบ่งใคร สามปีก่อน ตาตักแมงกะพรุนได้มาก ได้ 130,000 บาท เพราะว่าไม่ต้องแบ่งใคร”
ด้วยวัยอาวุโสบ่มเพาะประสบการณ์การทำประมงมายาวนานกว่า 50 ปี ตั้งแต่อายุ 18 ปีจนถึงปัจจุบัน ทำให้ตามีความเข้าใจทะเลอย่างลึกซึ้ง แต่กว่าจะถึงวันนี้ก็ผ่านบททดสอบมามากมายเช่นกัน
“ตอนอายุ 7 ปี ตาเคยตกจากเรือลงไปในเลที่เกาะลันตา ลอยคอกลางเล 4 ชั่วโมง จากหัวเช้า ตี 7 เขาไปพบตี 11 ตอนนั้นว่ายน้ำเป็นแล้ว หลังจากนั้นเรือก็จมอีกสองหน ก่อนแต่งงานตาไปวางอวนกุ้งแล้วเครื่องเรือเสียตอนพายุมา เรือจมริมหาด อีกหนหนึ่งหลังแต่งงานตาไปตักแมงกะพรุนได้เต็มลำแล้วพายุมาเรือจมแถวช่องแหลมหิน”
“ตาเคยทำงานเป็นลูกน้องเรืออวนลอย ทำได้ 2 เดือนก็เลิก ไม่ไหว ตัดสินใจว่าไม่ทำงานมีนายหัวอีก รำคาญเวลาเขาบ่นเขาด่า เราทำงานเหนื่อยแล้ว เขาว่าไอ้นี่ไม่ดีไอ้นั้นก็ไม่ดี เราสาวอวนอยู่ไม่หยุด นายหัวนั่งถือท้ายไม่ทำไหรสักอย่างกลับมาว่าเรา ฝนตกพายุมาเราก็ต้องสาวอวน เขายังว่าเราให้สาวอวนให้ไว พอกินไหรสักนิด เขาบ่นว่ากินไม่หยุด ค่าแรงก็น้อย ตอนนั้นเดือน 300 ลูกกินไม่พอ”
งานประมงที่ตาชอบมากสุดคืองานตักแมงกะพรุน ตาว่ามันเหมือนเงินลอยอยู่ในน้ำ ไปแล้วตักได้แน่นอน ช่วงปลายปีมีแมงกะพรุนแถวแหลมหินแหลมกรวด ตาก็ได้ตักแมงกะพรุนแถวบ้าน ช่วงต้นปีแมงกะพรุนผุดที่พังงาภูเก็ต ตาก็ไปตักแมงกะพรุนที่นั่นพร้อมกับเรือลำอื่น ๆ ในหมู่บ้าน หลังจากนั้นก็ไปที่คลองทราย จังหวัดกระบี่ ไม่กี่เดือนก็มีรายได้เป็นแสน
ส่วนในช่วงที่ไม่มีแมงกะพรุน จะวางอวนปู กับอวนปลาทราย ซึ่งทำได้ทุกเดือน นอกจากนั้น จะวางอวนปลากะพง อวนปลาหลังเขียว ช้อนกุ้งเคยตามฤดูกาล ตลอดจนรับซ่อมเครื่องยนต์ ตาเชี่ยวชาญตั้งแต่เครื่องตัดหญ้าไปจนถึงเครื่องรถเครื่องเรือ และรับงานรับจ้างอื่น ๆ เช่น เลื่อยไม้ให้อู่ต่อเรือ
ในวัยชราทำไมยังต้องทำงานหนักขนาดนี้? ฉันถาม
“ตอนนี้ยังทำไหว ไม่เคยหยุด ไม่เคยไปเที่ยว ถ้าไม่ได้ทำงานมันหงุดหงิด อยู่ไม่ได้” ตาตอบ
“อยากมีเงินเก็บไว้ช่วยลูกหลานเวลาเขาลำบาก เก็บไว้กินเวลาเราทำไหรไม่รอด ตอนนี้ต้องทำ ยังทำรอด”
ทำงานเก่งขนาดนี้ สุขภาพแข็งแรงดีหรือเปล่า? ฉันถามต่อ
“ก็เป็นหลายโรคนะ ไทรอยด์เป็นพิษ ไส้เลื่อน ริดสีดวงทวาร ปวดเมื่อย ภูมิแพ้ผิวหนัง แต่รักษาตัวก็ทำงานได้” ตาตอบ และเล่าต่อว่า ช่วงนี้ไม่ทำงานที่มันหนัก ๆ แล้ว ตักแมงกะพรุนเสร็จแล้วจ้างเขาโยนขึ้นแพ ช่วงโยนขึ้นแพเป็นช่วงที่หนักมาก เที่ยวหนึ่งต้องโยนแมงกะพรุนหลายร้อยตัวบางทีพันตัว ตัวหนึ่งหนัก 2–10 กิโลกรัม มันทำให้ปวดเอว
แม้การทำประมงในวัยชราจะเหนื่อยยากลำบากกายกว่าคนในวัยอื่น แต่ตากับยายก็ภูมิใจที่ไม่ต้องพึ่งพาลูกและได้ช่วยเหลือลูกหลานอีกด้วย
หมายเหตุ
1. ตัดตอนจากหนังสือชาวประมงกระบี่ในวันที่ไม่มีถ่านหิน พิมพ์ครั้งแรก เดือนมีนาคม 2563
2. หัวเช้า หมายถึง ตอนเช้า เป็นภาษาถิ่นภาคใต้
3. ชุมชนบ้านคลองรั้ว-แหลมหิน ตั้งอยู่ริมทะเล อยู่ในเขตการปกครอง หมู่ที่ 1 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ มีประชากร 317 ครัวเรือน 1,117 คน
อ่าน เฒ่าทะเลตอนที่ 1