“ซูตง ฆีลิง” ฟื้นอาชีพทำหมึกแห้ง สร้างงานให้ชุมชนชายทะเลปะนาเระ

“ซูตง ฆีลิง” ฟื้นอาชีพทำหมึกแห้ง สร้างงานให้ชุมชนชายทะเลปะนาเระ

ภาพโดยเพาซี ยะซิง

ชุมชนชายฝั่งทะเลปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ด้วยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ทะเลหน้าบ้านของพวกเขา ทำให้ที่นี่มีสัตว์น้ำหลากหลายชนิดตามฤดูกาล ช่วงฤดูหมึก ชายฝั่งทะเลแถวนี้คึกคักด้วยเรือขนาดเล็ก เรือกอและ ติดไฟแสงระยิบระยับเรียงรายกลางทะเล มองจากฝั่งเหมือนมีชุมชนย่อม ๆ กลางทะเล เป็นช่วงจับหมึกของชาวประมงพื้นบ้านที่นี่

ในอดีตเมื่อ 50 ปีก่อนชุมชนปะนาเระมีผู้คนหลากหลายมาอาศัยอยู่ที่นี่ ทั้งคนจีน คนพุทธ โดยเฉพาะคนจีน จะมาประกอบอาชีพเป็นพ่อค้า การแปรรูปสัตว์ทะเลต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือการทำ หมึกตากแห้ง ที่ผ่านมาหมึกแห้งปะนาเระ ขึ้นชื่อว่าเป็นปลาหมึกแห้งที่ดีมีคุณภาพของจังหวัดปัตตานี

ความรู้นี้ได้มาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ โดยมีเถ้าแก่ชาวจีนที่อาศัยอยู่ปะนาเระ ซึ่งเป็นคนแรก ๆ ที่ทำหมึกตากแห้งปะนาเระ ตอนนั้นคนมลายูที่นี่ยังไม่มีใครทำ เขารับซื้อหมึก กับแมงกะพรุน ของชาวประมงพื้นบ้านมาทำ เราจึงได้ความรู้การทำ ซูตง ฆีลิง จากเขา เมื่อก่อนเขาขายโดยการคัดตามขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ จะมีพ่อค้าคนกลางมาประมูลซื้อต่อจากที่นี่

จิดะห์

จิดะห์ หนึ่งในคนที่ได้สืบทอดความรู้ทักษะการทำ ซูตง ฆีลิง หมึกแห้งปะนาเระ จากคนจีนเมื่อในอดีต 50 ปีก่อน เล่าย้อนกลับไปสมัยที่ตัวเองยังรับจ้างแปรรูปหมึกแห้งให้กับเถ้าแก่ชาวจีนในปะนาเระ จนมีความรู้ติดตัวมาถึงปัจจุบันและเป็นแกนหลักในการฟื้นฟูอาชีพการทำหมึกแห้งปะนาเระครั้งนี้

เตรียมการผ่าและล้างหมึก

วันนี้ชาวบ้านและกลุ่มชมรมประมงพื้นบ้านปะนาเระ มองเห็นต้นทุนของภูมิปัญญาของการทำหมึกแห้งในอดีต กลับมาฟื้นฟูทดลองเรียนรู้มาทำใหม่อีกครั้ง ด้วยกรรมวิธีกระบวนการทำที่เป็นสูตรดั้งเดิมจึงมีความละเอียดอ่อน และต้องใส่ใจในทุกขั้นตอน ซึ่งปัจจุบันมีผู้สูงวัยเพียงไม่กี่ท่านเท่านั้นที่ยังจำได้ สามารถเข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ในการผลิตที่มีขั้นตอนสำคัญก็คือ “การนวด” จึงเป็นที่มาของชื่อว่า “ซูตง ฆีลิง” ที่นำเอาคำว่า “ซูตง” ที่แปลว่า “หมึก” กับคำว่า “ฆีลิง” ที่แปลว่า “นวด” หากแปลตรงตัวก็คือ “การนวดหมึก” หรืออีกความหมายหนึ่งคือ “หมึกตากแห้งที่ผ่านการนวด”

หลังจากทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ก็มาตากแดดเพื่อให้ปลาหมึกแห้ง พลิกไปพลิกมาหลายครั้ง พอแห้งแล้วรอบหนึ่งก็กลับไปนวดต่อ นวดให้เรียบแล้วกลับไปตากแดดต่อทำแบบนี้ซ้ำ ๆ 3-4 รอบ หมึกแห้งจะขาวนวล

พนิดา ดาราโอะ

พนิดา ดาราโอะ เลขานุการวิสาหกิจชุมชนชาวเลและการท่องเที่ยวปะนาเระ เล่าถึงวิธีการทำหมึกแห้งที่มีความสลับซับซ้อน และทำวนกันหลายครั้ง เพื่อให้ได้หมึกที่มีความนุ่มจากการนวดด้วยขวด รวมถึงเคล็ดลับที่ทำให้หมึกแห้งที่นี่มีสีสันสวยงามน่ารับประทาน

“ที่หมึกสีขาวนวล เพราะว่าใช้น้ำเกลือในการล้างทำความสะอาด เราไม่ใช้น้ำจืดในกระบวนการทำ เพราะทำให้หมึกแดงไม่สวยเนื้อไม่ขาวนวล นี่คือเคล็ดลับที่เป็นจุดเด่นของ ซูตง ฆีลิง หมึกแห้งปะนาเระ” พนิดา เล่าเสริมถึงจุดเด่นของหมึกแห้งปะนาเระ

การล้างหมึกด้วยน้ำทะเล

“ปะนาเระเดิมมีทั้งคนจีน คนพุทธ หลากหลายศาสนา คนจีนส่วนมากจะทำปลาหมึกแห้ง แต่ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ คนจีนเริ่มออกไปนอกพื้นที่ การทำปลาหมึกแห้งก็หายไป ตอนนี้เราก็พยายามฟื้นฟูกลับมา ชุมชนเรามีเยาวชน เรามีกลุ่มสตรี เรามีกลุ่มแม่บ้านที่ยังรู้คุณค่าเคยอยู่กับ ซูตง ฆีลิง มาในอดีต แล้วก็ดึงพวกเขาเข้ามาเปิดพื้นที่ฟื้นฟูอาชีพเก่า ให้มีมูลค่าขึ้นมา

สุไลมาน ดาราโอะ

สุไลมาน ดาราโอะ ประธานบริหารจัดการทรัพยากรชุมชนปะนาเระ เล่าถึงหมึกตากแห้งปะนาเระในอดีตที่เคยเป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดปัตตานี แต่ปัจจุบันได้หายไปจากชุมชนพร้อมกับชาวจีนที่ย้ายออกไปเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบ

สุไลมาน ดาราโอะ ประธานบริหารจัดการทรัพยากรชุมชนปะนาเระ

“ซูตง ฆีลิง” เป็นการทำหมึกตากแห้งของชาวปะนาเระ ในอดีตเป็นสินค้าขึ้นชื่อของปัตตานี อร่อย สะอาด และมีความสด

สุไลมาน ดาราโอะ

การทำ “ซูตง ฆีลิง” ผู้ทำจะต้องมีความใส่ใจรายละเอียดตั้งแต่กระบวนการจับหมึกขึ้นมาในเรือ ต้องห้ามโดนน้ำแข็ง ห้ามแช่น้ำเปล่า(น้ำจืด) ต้องวางบนพื้นไม้บนเรือ กลับขึ้นมาบนฝั่งห้ามโดนน้ำจืด ถือว่ามีข้อห้ามข้อระวังหลายอย่างมาก วิธีการล้างต้องใช้น้ำทะเลเท่านั้น การผ่าตัวหมึกต้องเป็นคนที่ชำนาญ รู้ว่าต้องกรีดตรงจุดไหน เพื่อให้ได้หมึกที่สวยงาม แล้วกระบวนการล้างจะต้องไม่ให้โดนน้ำจืดเด็ดขาด จากนั้นไปตาก ในกระบวนการนี้ต้องคอยกลับด้านหมึกอยู่บ่อย ๆ จากนั้นก็ต้องมานวด พลิกแล้วก็นวดใช้เวลา 3- 4 วัน ส่วนการนวดนั้นนำอุปกรณ์ที่มีอยู่รอบตัว โดยใช้ขวดแก้วเปล่าแล้วนำทรายใส่เข้าไปเพื่อให้มีน้ำหนักพอดี จากนั้นค่อย ๆ นวด อย่างปราณีต

“เราก็อยากจะพยายามจะฟื้นฟู ซูตง ฆีลิง หมึกแห้งปะนาเระ เป็นตัวชูโรงขึ้นมาให้คนได้เห็นว่าเรามีเรื่องราว เรามีต้นทุนที่มีมูลค่า แต่ว่าเราไม่ได้ใช้มูลค่าให้เป็นฐานเศรษฐกิจ ตอนนี้ก็พยายามปรับกระบวนการต่าง ๆ ให้เป็นฐานเศรษฐกิจ ของชุมชนให้คนมาเที่ยว มาชิม มากิน มาใช้จ่าย ที่ปะนาเระบ้านเรา” สุไลมาน ดาราโอะ ได้กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องและภาพประกอบโดย เพาซี ยะซิง สื่อพลเมือง ทีม MOJO ชายแดนใต้

บรรณาธิการ : แลต๊ะแลใต้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ