“ทะเลยั่งยืน-คุณภาพชีวิตดี” ว่าด้วยข้อเสนอนโยบาย จากประมงพื้นบ้านถึง รมว.เกษตรฯ

“ทะเลยั่งยืน-คุณภาพชีวิตดี” ว่าด้วยข้อเสนอนโยบาย จากประมงพื้นบ้านถึง รมว.เกษตรฯ

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย (FEDERATION OF THAI FISHERFOLK ASSOCIATION) ได้ยื่นข้อเสนอนโยบาย การประมงทะเลและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้านไทย พ.ศ. 2566 ต่อ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน และการทำประมงที่นำไปสู่ความยั่งยืนทางทะเลเพื่อสร้างหลักประกันทางอาหารให้ประเทศ ที่รวบรวมข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง 18 ข้อ มาจากเครือข่ายประมงพื้นบ้านทั่วประเทศ

โดยข้อเสนอเชิงนโยบายของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 หมวดหลัก ๆ คือหมวดที่หนึ่ง ว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้านในประเทศ เพื่อต้องการให้ชาวประมงพื้นบ้านเข้าถึงทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างเป็นธรรม ผ่านการแก้ไขอุปสรรค์และสร้างหลักประกันการเข้าถึงด้วยมาตรการต่าง

ส่วนหมวดที่สอง นโยบายว่าด้วย การประมงและทะเลยั่งยืนเพื่อสร้างหลักประกันทางอาหารให้ประเทศ รัฐควรมีนโยบายเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิตอาหารทะเล ให้คนไทยเข้าถึงอาหารทะเลเฉลี่ยอย่างน้อย 30 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ที่มีสาเหตุมาจากสัตว์น้ำคุณภาพในทะเลถูกทำลายให้เสื่อมค่าลง การทำประมงแบบรับผิดชอบและมีคุณภาพต้องมีต้นที่ทุนสูงขึ้น

ภาพโดย : ชาญวิทย์ สายวัน

.

อ่านข้อเสนอนโยบายการประมงทะเลและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้านไทย พ.ศ. 2566

เพื่อส่งเสริมให้ชาวประมงพื้นบ้านเข้าถึงทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างเป็นธรรม จะต้องแก้ไขอุปสรรคในหลายด้าน และต้องสร้างหลักประกันการเข้าถึง ด้วยมาตรการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

น้ำมันเครื่องยนต์ เป็นต้นทุนหลักในการทำประมงทะเลของชาวประมงพื้นบ้าน และใช้น้ำมันในอัตราที่มากกว่าการใช้เครื่องยนต์สำหรับขับขี่ทางบกสองสามเท่าตัว เนื่องจากการใช้เครื่องยนต์หมุนใบจักรเรือต้องใช้กำลังสูงกว่ามาก ยิ่งปัจจุบันราคาน้ำมันสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีต ชาวประมงพื้นบ้านต้องใช้ทุนในการออกเรือเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อราคาสัตว์น้ำ

รัฐบาลทุกยุคสมัย สนับสนุนน้ำมันราคาต่ำ ให้ได้เฉพาะการประมงเชิงพาณิชย์อุตสาหกรรมที่ใช้เรือใหญ่มีทุนมาก มีโควต้าการเข้าเติมน้ำมันราคาถูก (หรือที่เรียกว่าน้ำมันเขียว) ในขณะที่ชาวประมงพื้นบ้าน ไม่มีการช่วยเหลือสนับสนุนต้นทุนน้ำมัน ต้องใช้น้ำมันเติมเครื่องยนต์วิ่งเรือ ในราคาน้ำมันตลาดรถยนต์ทั่วไป เมื่อคำนวณเทียบอัตราการลงทุนต่อผลการจับที่ได้ พบว่า ชาวประมงพื้นบ้านลงทุนค่าน้ำมันสูงกว่าการประมงเชิงพาณิชย์

จึงเสนอให้ ควรมีนโยบายและมาตรการ ให้โควตาน้ำมันราคาต่ำอย่างน้อย จำนวน 3,000 ลิตรต่อลำต่อปี แก่ชาวประมงพื้นบ้านโดยเฉพาะ และขจัดอุปสรรคทางเทคนิคและกฎหมายเกี่ยวกับการต้องเติมน้ำมันปลอดภาษี ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ขัดขวางการเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐ (ที่ต้องวิ่งเรือไปซื้อจากเรือแท็งก์เกอร์ในเขต 24 ไมล์ทะเล)

ปัจจุบันชาวประมงพื้นบ้านต่างประสบปัญหาขาดแคลนท่าเทียบเรือ และคานเรือ สำหรับจอดเรือ ขนถ่ายสัตว์น้ำ หลบภัย หรือซ่อมแซมเรือ เนื่องจากการพื้นที่บริเวณชายฝั่งเดิม ถูกจับจองหรือมีเจ้าของถือกรรมสิทธิ์ ทั้งโดยเอกชน และโดยหน่วยงานของรัฐ ในกรณีพื้นที่ในการดูแลของหน่วยงานรัฐ กฎหมายไม่อนุญาตให้ชาวประมงพื้นบ้านที่ต้องอาศัยพื้นที่ดังกล่าว เข้าไปใช้พื้นที่ได้ ในขณะที่ หากเป็นการประมงพาณิชย์ รัฐบาลมักจะสนับสนุนการสร้างท่าเทียบเรือประมงให้, อนุญาตให้ก่อสร้างท่าเทียบเรือเอกชนได้บนที่ดินของรัฐ

ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อไม่มีท่าเทียบเรีอเฉพาะของเรือขนาดเล็กของชาวประมงพื้นบ้าน ทำให้มีปัญหาในการนำสัตว์น้ำขึ้นท่าเพราะต้องไปขึ้นท่าเรือของเรือประมงขนาดใหญ่ซึ่งมีความแตกต่างเรื่องขนาดของเรือและมีความยากลำบากในการนำสัตว์น้ำขึ้นท่าเพราะท่าเทียบเรือไม่ได้ถูกออกแบบไว้สำหรับเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก อีกทั้งระยะทางในการนำเรือเอาสัตว์น้ำไปขึ้นท่า มีระยะทางไกลและไม่คุ้มทุนสำหรับที่เรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กจะวิ่งไปเพื่อขึ้นท่า

จึงมีข้อเสนอให้ รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณ และประสานพื้นที่สำหรับเป็นท่าเทียบเรือ และคานเรือให้แก่ประมงพื้นบ้านอย่างทั่วถึงและเพียงพอ เพื่อความสะดวกในการเทียบท่า เดินเรือ และง่ายต่อการซ่อมแซมเรือให้มีสภาพดีอยู่เสมอ เพื่อลดต้นทุนรายจ่ายของชาวประมงพื้นบ้าน ส่งเสริมการทำการประมงที่ปลอดภัย ตรวจสอบได้ง่ายมากขึ้น

การทำประมงพื้นบ้าน มีต้นทุน เป็น เครื่องมือประมง และอุปกรณ์การทำการประมง สูง  เป็นต้นทุนรายจ่าย ที่สำคัญของชาวประมงพื้นบ้าน โดยพบว่า การลงทุนในสัดส่วนสูงกว่าการทำประมงพาณิชย์ หากเทียบกับผลผลิตที่ได้ อีกทั้งพบว่า มีการผลิตเนื้ออวนสำหรับนำมาประกอบเครื่องมือประมงพื้นบ้าน มีคุณภาพต่ำ เสียหายง่าย

จึงเสนอให้ควรมี นโยบายดังนี้

  1. สนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์การประมงชุมชน ที่จำหน่ายเครื่องมืออุปกรณ์การทำประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ในราคาถูก และเป็นธรรม
  2. ควบคุมคุณภาพของเครื่องมือประมง โดยเฉพาะ “เนื้ออวน” ให้มีมาตรฐาน คุณภาพที่ดี แข็งแรง คงทน มีอายุการใช้งานยาวนาน เหมือนแต่ก่อน เพื่อเป็นการลดปัญหาต้นทุนการทำประมงที่สูงขึ้น และปริมาณขยะทะเลจากเศษอวนหรือซากเครื่องมือประมงลดน้อยลง

แม้จะมีการเปิดให้ชาวประมงพื้นบ้านนำเรือมาจดทะเบียนเป็นเรือประมง แต่การดำเนินการจดทะเบียนเรือของชาวประมงพื้นบ้านในหลายพื้นที่ต้องพบเจอกับอุปสรรคในการดำเนินการ ความซับซ้อนของกระบวนการโดยที่ต้องเดินทางไปติดต่อหลายหน่วยงาน คือ การจดทะเบียนเรือจะต้องไปดำเนินการกับสำนักงานประมงอำเภอหรือจังหวัดและเจ้าท่าภูมิภาค ซึ่งบางพื้นที่สองหน่วยงานมีระยะทางไกลจากกัน นอกจากนั้นประมงพื้นบ้านยังต้องเตรียมเอกสารต่าง ๆ

ที่สำคัญคือ การสอบใบประกาศนียบัตรนายท้ายเรือประมงชั้นสอง และประกาศนียบัตรนายท้ายเรือกลทะเลชั้นสองประกอบการนำเรือไปจดทะเบียนสำหรับทำการประมง ทั้งที่เจ้าหน้าที่ผู้คุมสอบ ไม่ได้มีทักษะความรู้ การถือหางเรือเลยด้วยซ้ำ หมายความว่า รัฐกับชาวประมงพื้นบ้านมีความรู้วิธี “การเดินเรือ” ไปคนละทาง กับความเข้าใจของกลไกภาครัฐ แต่ชาวประมงพื้นบ้านถูกบังคับให้ต้องทำตามกฎหมายของรัฐ หรือในกรณีที่งทะเบียนเรือหมดอายุเจ้าของเรือไม่ได้ติดต่อขอต่ออายุเป็นระยะเวลา 3 ปี ติดต่อกันทะเบียนเรือจะถูกยกเลิก จึงต้องการให้สามารถต่อทะเบียนเรือได้ใหม่โดยอัตโนมัติเหมือนกับการต่อใบขับขี่รถยนต์

จึงเสนอให้ มีนโยบาย แก้ไขปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้านใหม่ เพื่อทำให้ชาวประมงสามารถเข้าถึงการจดทะเบียนเรือ ได้มากขึ้น และต้องทำให้กระบวนการจดทะเบียนเรือเหมาะสมกับประมงพื้นบ้าน โดยการมีวิธีจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้านในรูปแบบเฉพาะ ปรับปรุง ระบบตัวชี้วัด การเป็นนายท้ายเรือกลทะเลชั้นสอง (ช่างเครื่อง) เพื่อใช้ประกอบการจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน ได้อย่างสอดคล้อง แท้จริง

ต้องออกใบอนุญาตทำการประมงให้ประมงพื้นบ้าน สัตว์น้ำทะเลไทยมีจำนวนจำกัด เช่นเดียวกับ ที่ดิน สินแร่ และทรัพยากรอื่นรัฐควรมีการจัดสรรแบ่งปันอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมและมีหลักประกันการเข้าถึง โดยที่ปัจจุบันทรัพยากรสัตว์น้ำเศรษฐกิจประมาณ 1,500,000,000 กิโลกรัม (หนึ่งพันห้าร้อยล้าน) ถูกจัดสรรให้โควตาแก่การประมงเชิงพาณิชย์ 80% หรือประมาณ 1,200,000,000 กิโลกรัม (ซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์เพียงหลักพันราย ที่เป็นเจ้าของบริษัทหรือธุรกิจการประมง) แต่กลับจัดสรรให้ชาวประมงพื้นบ้านซึ่งมีประชากรจำนวนมากนับแสนคน แค่ประมาณ 20% หรือประมาณ 2 3 แสนตัน เท่านั้น 

จึงเสนอให้ ควรมีนโยบายจัดสรรทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างเป็นธรรม โดยต้องจัดสรรทรัพยากรสัตว์น้ำใหม่ อย่างน้อยควรจัดสรรให้ชาวประมงพื้นบ้านเข้าถึง 50% ของสต๊อกสัตว์น้ำทะเลไทยทั้งหมดหรือเฉลี่ย 10 ตันต่อลำต่อปี 

หลังจากที่มีการห้ามไม่ให้มีผู้ใดบุกรุก หรือครอบครองที่อยู่อาศัยบริเวณริมชายฝั่งทะเล โดยอ้างเหตุว่ากีดขวางทางเดินเรือนั้น ทำให้ชาวประมงพื้นบ้าน ที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนดั้งเดิมอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นวิถีชาวทะเลดั้งเดิม ต้องเข้าข่ายเป็นสิ่งล่วงล้ำลำน้ำไปด้วย และต้องไปลงทะเบียนการถือครองพื้นที่ และที่อยู่อาศัย สมาคมสมาพันธ์ฯ ได้เสนอปัญหาต่อกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม มาอย่างต่อเนื่อง

ต่อมา ได้มีการลงทะเบียน การครอบครองพื้นที่และที่อยู่อาศัย รวมถึงจ่ายค่าธรรมเนียมตามที่รัฐกำหนด โดยมอบอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันยังมีปัญหา การดำเนินการในหลายพื้นที่ เช่น ชุมชนดั้งเดิม ควรได้รับการยกเว้น การจัดเก็บค่าธรรมเนียม ที่ต้องจ่ายให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือบางรายต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูงเกินไป ทำให้ชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน ต้องจ่ายค่าตอบแทนรายปี ในการอยู่อาศัยในบ้านของตนเอง

ในกรณีที่ดินทับซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ แม้ชุมชนได้รับการอนุญาตให้อยู่อาศัย ตามนโยบายการจัดที่ดินของรัฐ (คทช.) หรือตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ หรือตามกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแล้ว แต่ยังต้องยุ่งยาก ให้ต้องได้รับอนุญาต จากกรมเจ้าท่าเพิ่มด้วย ชุมชนต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายหลายฉบับ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม การปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างชุมชนบก ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัย ตามกฎหมายป่าไม้กับชุมชนริมน้ำ

จึงเสนอให้ ควรมีนโยบายที่ชัดเจน อนุญาตให้ชาวประมงที่อยู่อาศัยหรือมีถิ่นฐานบ้านเรือนดั้งเดิมอยู่บริเวณชายฝั่ง หรือพื้นที่ในทะเล สามารถตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยได้ปกติดังเดิมโดย ไม่ต้องคิดค่าตอบแทนรายปี

ชาวประมงพื้นบ้านมีผลผลิตการประมงต้นทางที่มีคุณภาพ แต่เนื่องจากยังประสบปัญหาการจัดการผลผลิตหลังการจับอย่างมีคุณภาพ และผู้บริโภคไม่มีข้อมูลเพียงพอในการเลือกซื้อผลผลิตสัตว์น้ำจากประมงยั่งยืน ทำให้ ตลาดผู้ซื้อผลผลิตสัตว์น้ำจากการประมงไม่ยั่งยืน ปะปนอยู่กับผลผลิตสัตว์น้ำทั่วไป

หากรัฐมีการสนับสนุนการจัดการผลผลิตที่คำนึงถึงความยั่งยืนและจัดหาตลาดสำหรับขายสินค้าที่แปรรูปจากประมงพื้นบ้าน โดยกำหนดมาตรฐานการจัดการผลผลิตสัตว์น้ำ ให้มีคุณภาพ คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมตั้งแต่การจับสัตว์น้ำ เก็บรักษาสัตว์น้ำหลังการจับ การขนส่ง และแปรรูป จะสามารถเพิ่มความต้องการของผู้ซื้ออาหารทะเลจากการประมงยั่งยืนมากขึ้น และจะส่งผลต่อราคาที่เป็นธรรมมากขึ้นในอนาคต

          จึงเสนอให้ ควรมีนโยบาย สนับสนุนการขอรับรองมาตรฐานสัตว์น้ำทะเลปลอดภัยและยั่งยืนของชาวประมงพื้นบ้าน อย่างจริงจัง ในทุกพื้นที่ และมีนโยบายส่งเสริมการตลาดสัตว์น้ำทะเลจากประมงพื้นบ้านที่มาจากการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการทำประมงอย่างยั่งยืนให้แพร่หลายมากขึ้น

ชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งที่รวมตัวเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น และกลุ่มต่างๆ จำเป็นต้องดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาปัจจัยการผลิตในพื้นที่ให้ยังคงมีสัตว์น้ำอยู่เสมอ ซึ่งกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนซ้ำซ้อนในชีวิตและการประกอบอาชีพของชาวประมงพื้นบ้าน นอกจากนี้ชาวประมงพื้นบ้านยังเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ ทำให้ เรือ, เครื่องมือทำการประมงได้รับความเสียหาย ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ชีวิต โดยที่การประกันภัยของบริษัทประภัยเอกชนไม่ครอบคลุมการเกิดเหตุภัยพิบัติทางทะเลของประมงขนาดเล็ก ทำให้ประมงขนาดเล็กเสียโอกาส และเพิ่มรายจ่ายมากขึ้น

จึงเสนอให้ ควรมีนโยบาย จัดตั้งงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งของประมงพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง และมีกองทุนประกันภัยให้แก่ประมงพื้นบ้าน เพื่อช่วยเหลือกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ ทางทะเลและชายฝั่ง โดยต้อง กำหนดสัดส่วนงบประมาณสำหรับชาวประมงพื้นบ้านเป็นการเฉพาะ

อย่างที่ทราบกันดีชาวประมงพื้นบ้านทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันต่างเข้าไปจับสัตว์น้ำในเขตอุทยานแห่งชาติอย่างเป็นปกติธุระ โดยเฉพาะฝั่งอันดามันที่มีพื้นที่อุทยานทางทะเลติดต่อกันหลายแห่ง ทำให้ยากที่จะละเว้นบริเวณเขตอุทยาน ฯ ในปี พ.ศ. 2562 มีการเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่อุทยานครั้งสำคัญ กล่าวคือ รัฐได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ได้เปิดโอกาสให้ชาวประมงหรือบุคคลอื่น ๆ เข้าไปใช้ทรัพยากรได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย (ตามมาตรา 65)

ปัจจุบันทุกอุทยานแห่งชาติทางทะเลได้ดำเนินการสำรวจจัดทำข้อมูลการใช้ทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้ในเขตอุทยานฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่พบว่า ระเบียบที่แต่ละ อุทยานฯ จะประกาศใช้นั้น ข้อมูลไม่ครอบคลุมถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด และ ยังคงไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน เช่น การอนุญาตให้ชาวประมงในพื้นที่รัศมี 10 กิโลเมตรเฉพาะจังหวัดนั้น ๆ เข้าจับสัตว์น้ำได้ แต่ไม่ได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริง ว่าโดยปกติชาวประมงพื้นบ้านมักมีการทำการประมงที่ไม่เฉพาะเจาะจงหรือประจำที่ มีการเปลี่ยนไปตามสัตว์น้ำที่จับ หรือบางพื้นที่มีพื้นที่ทำการประมงเดียวกัน เช่น จังหวัดพังงาและจังหวัดภูเก็ต

จึงขอเสนอให้ มีนโยบาย ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอุทยานแห่งชาติ และแก้ไข ระเบียบกรมอุทยาน ฯ ให้ครอบคลุมถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว กำหนดให้ชาวประมงพื้นบ้านซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดมาตรการและคุณสมบัติบุคคลที่จะสามารถเข้าไปใช้ทรัพยากรในเขตอุทยานฯ เพื่อให้ชาวประมงพื้นบ้านได้เข้าไปใช้ทรัพยากรในพื้นที่อุทยานฯ เพื่อการประมงได้อย่าง สอดคล้อง สมดุล และยั่งยืน

ประเทศไทยติดอันดับ 6 ของโลกที่ปล่อยขยะลงทะเล และคนไทยสร้างขยะเฉลี่ยคนละประมาณ 11 กิโลกรัมต่อวัน โดยเฉพาะถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากและเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล

เนื่องจากผู้คนยังไม่ได้เห็นความสำคัญในการลดการใช้และคัดแยกขยะ การนำกลับมาใช้ใหม่ และไม่ทราบผลกระทบของขยะที่ปนเปื้อนสู่ห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศน์

เห็นได้ว่าขยะยังเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติที่ยังไม่มีการกำจัดได้หมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ถึงแม้การจัดการขยะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังมีขยะที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้องถึงร้อยละ 27 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกที่ลงสู่ทะเล

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผลักดันให้มีนโยบายและแนวการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเพื่อลดความเสี่ยง ที่ผ่านมามีการจัดการขยะในชุมชนชายฝั่งหลายแห่ง เช่น ชุมชนชายฝั่งนครศรีธรรมราช ซึ่งมีการจัดเก็บขยะในระดับหมู่บ้าน โดยมีคนในหมู่บ้านเข้าร่วม หรือชุมชนชายฝั่งจังหวัดระนองมีมีการให้ความรู้แก่เยาวชนในเรื่องแนวทางการดักขยะธรรมชาติ

จึงขอเสนอ ดังนี้

  1. มีมาตรการสร้างแรงจูงใจในการลดการใช้ขยะ
  2. สร้างหลักสูตรในการจัดการขยะ เพื่อสร้างการเรียนรู้แก่เยาวชน
  3. ผลักดันการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นหรือชุมชนชายฝั่งสามารถออกแบบการจัดการขยะ โดยภาครัฐปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับคนในชุมชน มากขึ้น
  4. สนับสนุนเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อลดขยะในชุมชนชายฝั่ง โดยอาจให้มีการศึกษาสร้างต้นแบบการจัดการขยะ หรืออุปกรณ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากนัก เช่น ใช้โซลาร์เซลล์ในเรือประมง เป็นต้น /

ส่งเสริมให้ผู้ผลิตสินค้า ให้ความสำคัญกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม, รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณในการจัดการขยะ องค์กรส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมการจัดการขยะ

ชุมชนประมงชายฝั่งทะเลหลายแห่งมีต้นทุนทางทรัพยากรที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ชาวประมงพื้นบ้านควรจะได้ดำเนินการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน แทนการเป็นชุมชน “ถูกมาเที่ยว” โดยที่ชุมชนไม่ได้รับประโยชน์การท่องเที่ยว เห็นว่า ภาครัฐจำเป็นต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจังมากขึ้น เช่น การส่งเสริมชุมชนประมงจัดการท่องเที่ยว หรือ ผลักดันการออกพระราชบัญญัติหรือกฎหมายเพื่อรองรับสิทธิการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อให้ชาวประมงพื้นบ้าน /ชุมชนมีสิทธิในการบริหารจัดการ และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ  

ในปัจจุบันผู้คนต่างยึดหลักความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้หรือมีหลักฐานรับรองเชิงประจักษ์ แนวทางดังกล่าวได้ลดทอนความสำคัญขององค์ความรู้หรือหลักความเชื่อของคนในชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน  ถึงแม้ปัจจุบันชาวประมงพื้นบ้านจะสืบทอดวิธีการทำประมงจากรุ่นสู่รุ่น โดยการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง แต่ได้เกิดข้อจำกัดและขาดความรู้ทางด้านเทคโนโลยีหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมง

ด้วยเหตุนี้หากมีกระบวนการทำให้องค์ความรู้เหล่านั้นได้รับการยอมรับและพัฒนาต่อยอดผสมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่อธิบายเหตุผลได้ จะทำให้ย่นระยะเวลาในการเรียนรู้ของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านลงได้ และหากมีสถาบันให้การรับรองจะทำให้องค์ความรู้ของชาวประมงเป็นที่ยอมรับในสังคมจะสามารถพัฒนาองค์ความรู้เหล่านั้นเป็นหลักสูตรที่สามารถเปิดโอกาสให้ชาวประมงหรือผู้คนทั่วไปเข้ามาศึกษาเป็นพื้นฐานต่อไปได้

จึงเสนอให้ ควรมีนโยบาย ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการทำประมงยั่งยืนในชุมชน และเสนอให้มีการ  “จัดตั้งโรงเรียนชาวประมงพื้นบ้านยั่งยืน” ซึ่งอาจจะมีลักษณะเป็นหลักสูตรเพื่อการศึกษา  ที่ครอบคลุมถึงเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมง การจับสัตว์น้ำ การแปรรูปสัตว์น้ำ  การอนุรักษ์ทรัพยากร ทักษะการจับปลา การต่อเรือ นายท้ายเรือ ฯลฯ และเสนอให้โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่ติดทะเลบรรจุหลักสูตรให้นักเรียนได้เรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับการประมงพื้นบ้าน โดยชาวประมงเป็นผู้สอน

อาหารทะเลเป็นอาหารโปรตีนคุณภาพที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค โดยประเทศไทยมีพื้นที่ทะเลเป็นแหล่งผลิตทางธรรมชาติเป็นทุนเดิม เป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ที่สำคัญของประชาชนในประเทศ แต่ปัจจุบันอาหารทะเลที่มีคุณภาพกลับหาได้น้อยและราคาสูงขึ้น ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง ต้องนำเข้าอาหารทะเลแช่แข็งจากต่างประเทศมาป้อนตลาดคนไทยในราคาถูกและคุณภาพต่ำ สาเหตุหลักเพราะสัตว์น้ำคุณภาพในทะเลถูกทำลายให้เสื่อมค่าลง การทำประมงแบบรับผิดชอบและมีคุณภาพ มีต้นทุนสูง  โดยสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย จึงมีข้อเสนอทางนโยบาย ดังนี้

พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อภาคการประมงของประเทศไทยอย่างมาก มีหลายมาตรการถูกบังคับใช้เป็นครั้งแรก เช่น การกำหนดพื้นที่เขตทะเลชายฝั่งในจังหวัดที่ติดกับทะเลทั่วประเทศ หรือการยกเลิกเครื่องมือประมงทำลายล้างบางชนิด เป็นต้น แต่ยังมี ประเด็นต้องแก้ไขบางมาตราที่ส่งผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้าน

เช่น นิยาม ประมงพื้นบ้าน ในมาตรา 5 ซึ่งได้นิยามประมงพื้นบ้านหมายถึง “การทำประมงในเขตทะเลชายฝั่งไม่ว่าจะใช้เรือประมงหรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง ทั้งนี้มิใช้เรือประมงพาณิชย์”  โดยที่กฎหมายฉบับนี้ ให้ความหมาย “ทะเลชายฝั่ง” ไว้ว่า “ทะเลที่อยู่ในราชอาณาจักรนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปสามไมล์ทะเล…” การนิยามความหมายข้างต้นจึงไม่ตรงกับวิถีหรือลักษณะการทำประมงของชาวประมงพื้นบ้าน เพราะชาวประมงพื้นบ้านทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่งด้วย

การนิยามความหมายประมงพื้นบ้านที่กล่าวมาข้างต้น เกี่ยวข้องกับการกำหนดพื้นที่ทำการประมงซึ่งปรากฏอยู่ในมาตรา 34 ในพระราชกำหนดการประมง ฯ ที่ กำหนดว่า “ห้ามผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย…”   หากชาวประมงพื้นบ้านได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน จะไม่สามารถออกไปทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง การกำหนดพื้นที่ทำการประมงดังกล่าว ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม และถูกจำกัดสิทธิทางด้านพื้นที่ทำการประมง

มาตรา 26, 27 ซึ่งเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด มีการกำหนดสัดส่วนคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ให้ นายอำเภอในจังหวัดนั้น ๆ เป็นคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดโดยตำแหน่ง ทำให้หลายจังหวัด สัดส่วนนายอำเภออยู่ในคณะกรรมการประมงจังหวัด มากกว่าตัวแทนจากฝ่ายอื่น ๆ ทว่าตัวแทนชาวประมงที่เข้าไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ฯ มีสัดส่วนไม่เกินจำนวนที่กำหนด ซึ่งไม่เป็นธรรมหากมีการลงมติในกระบวนการสำคัญ

          จึงขอเสนอ ให้มีการปรับแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อชาวประมงพื้นบ้าน ดังนี้

  1. เพิ่มหมวดว่าด้วย “การประมงพื้นบ้าน” โดยนำข้อกำหนดเกี่ยวกับการประมงพื้นบ้าน ทั้งหมดมาอยู่ในหมวดนี้ เพื่อเป็นหลักประกันการจัดการที่แตกต่างกับการประมงพาณิชย์ และให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประมง ส่วนที่กระทบกับวิถีชีวิตการประมงพื้นบ้าน ดังนี้
  2. ปรับแก้นิยามของชาวประมงพื้นบ้านในมาตรา 5 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยเปลี่ยนจาก “การทำประมงในเขตทะเลชายฝั่งไม่ว่าจะใช้เรือประมง หรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง ทั้งนี้มิใช้เรือประมงพาณิชย์” เป็น “การทำประมงในทะเลไม่ว่าจะใช้เรือประมงหรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง โดยผู้ที่ทำการประมงต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยและในกรณีที่ใช้เรือประมง เจ้าของเรือหรือคนในครอบครัวต้องเป็นผู้ลงเรือออกไปทำการประมงด้วยตนเองและมีการใช้แรงงานอีกไม่เกินสี่คน ทั้งนี้ที่ไม่ใช่เรือประมงพาณิชย์”  
  3. ยกเลิกมาตรา 34 ของพระราชกำหนด ฯ ที่มิให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง
  4. แก้ไขสัดส่วนคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดและกำหนดกลไกการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดใหม่ โดยตัดองค์ประกอบ “นายอำเภอ” เพราะมีผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่ในคณะกรรมการ ฯ แล้ว นอกจากนี้ต้องกำหนดให้มีการประชุมปีละ 4 ครั้ง ในส่วนของอำนาจของคณะกรรมการ ฯ ต้องครอบคลุมพื้นที่อย่างน้อย 12 ไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่ง ที่สำคัญคณะกรรมการฯ ต้องมีแผนการจัดการทรัพยากรประมงระดับจังหวัด

ปัจจุบันการบริหารจัดการค่าการจับสัตว์น้ำสูงสุดอย่างยั่งยืน หรือ MSY เป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมการจับสัตว์น้ำในทะเล แต่แทนที่ฝ่ายนโยบายจะกำหนดจากปริมาณที่จับได้จริง กลับใช้ระบบจำนวนวันในการควบคุมการจับสัตว์น้ำ โดยอ้างว่าได้คำนวณปริมาณสัตว์น้ำที่เรือประมงจะจับได้ในระยะเวลา 1 วัน แล้วกำหนดจำนวนวันที่เรือประมงสามารถออกทำการประมง โดยเฉลี่ยได้ให้โควตาเรือประมงพาณิชย์สามารถทำการประมงได้จำนวน 240 วัน ในรอบ 1 ปี ทั้งนี้ยังอนุญาตให้มีการซื้อ/ขายโควตาหรือจำนวนวันจับสัตว์น้ำ จากเรือประมงลำอื่นได้อีก  

การให้โควตาการจับสัตว์น้ำดังกล่าว ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในหมู่ผู้ทำการประมงด้วยกัน และเกิดการทำลายสัตว์น้ำส่วนรวมมากเกินไป โดยอุตสาหกรรมประมง ผู้ประกอบการประมง หรือบริษัทการประมงในไทย ที่มีเจ้าของผู้ประกอบการจริง ๆ จำนวนไม่ถึง 10% ของชาวประมงทั้งหมด ใช้เรือประมงขนาดใหญ่และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง กลับได้รับอนุญาตให้จับสัตว์น้ำได้มากที่สุดเท่าที่จะจับได้ และจับสัตว์น้ำชนิดใดหรือขนาดใดก็ได้ ตราบเท่าที่บริษัทหรือเครือข่ายของตนมีจำนวนวันตามโควตาที่กำหนด เท่ากับเป็นการเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการประมง ดึงเอาทรัพยากรสัตว์น้ำส่วนใหญ่ (80% ของทั้งหมด) ไปเป็นของตน จนเกิดผลกระทบต่อผู้ผลิตรายย่อย ชาวประมงขนาดเล็ก ชาวประมงพื้นบ้าน และกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างหนัก อีกทั้งผลผลิต 80% นั้น เกือบครึ่งหนึ่ง เป็นสัตว์น้ำคุณภาพต่ำ สัตว์น้ำเน่าเละ สัตว์น้ำขนาดเล็ก, สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน ที่มนุษย์ใช้บริโภคไม่ได้ และถูกนำเข้าโรงงานปลาป่น

          ตัวอย่างปี 2564 การประมงพาณิชย์ ที่มีผู้ประกอบการแค่ “หลักพันคน” ได้สัตว์น้ำ 1,200,000 ตัน หรือ 1,200,000,000 กิโลกรัม ส่วนชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศ ที่มีจำนวนนับ “แสนคน” ได้สัตว์น้ำ 220,000 ตัน หรือ รวม 220,000,000 กิโลกรัม

จึงเสนอให้ ควรมี นโยบาย “เปลี่ยนการให้โควตาการจับสัตว์น้ำให้เป็นธรรมและยั่งยืน” โดยต้องจัดสรรโควตาการจับให้ผู้ประกอบการประมงด้วยปริมาณที่จับได้จริง และต้องแบ่งปริมาณสัตว์น้ำให้ผู้ผลิตรายย่อยหรือชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งมีประชากรมากกว่า 80% ของประชากรผู้จับสัตว์น้ำทั้งหมด ในอัตรา 50% ของสัตว์น้ำทะเลไทยทั้งหมด หรือประมาณ 750,000 ตัน ให้เป็นโควตาของชาวประมงพื้นบ้าน

   ข้อมูลเชิงประจักษ์ แสดงให้เห็นว่า ยังมีการจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็ก ในอัตราที่ค่อนข้างสูง ในงานศึกษาหลายชิ้นทั้งที่เป็นของกรมประมง หรือองค์กรอื่น ๆ เช่น งานศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำหลังการจับ ของเรืออวนลากคู่บริเวณอ่าวไทยตอนบน ของ รัตนาวลี พูลสวัสดิ์ ซึ่งเก็บข้อมูลการจับสัตว์น้ำจากเรือประมงกลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้อุปกรณ์อวนลากคู่ทำการประมงจำนวน 1,318 ลำ พบว่า สัตว์น้ำที่จับได้ ประกอบไปด้วยสัตว์น้ำเศรษฐกิจเพียงร้อยละ 25.78 และมีสัดส่วนของปลาเป็ด ร้อยละ 74.22  โดยในส่วนขององค์ประกอบปลาเป็ด พบว่า มีปลาเป็ดแท้เพียงร้อยละ 18.77 เท่านั้น แต่ปนเปื้อนสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็ก ถึงร้อยละ 81.23  หรือในกรณีการประมงอีกหลายประเภท ที่จับเอาสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนจำนวนอัตราสูง รุนแรงมากขึ้น

พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 57 ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศกำหนดขนาดสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ห้ามจับขึ้นเรือประมง แต่รัฐมนตรีทุกสมัย ไม่ประกาศตามมาตรา ดังกล่าว เราเห็นว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการควบคุมการจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็กหรือสัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อให้ทรัพยากรทางทะเลมีเพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ในอนาคต ไม่ควรเปิดโอกาสให้ชาวประมง ทุกชนิด จับสัตว์น้ำวัยอ่อนได้โดยเสรี หรือหากจับได้โดยบังเอิญ ก็ควรมีการกำหนดอัตราที่เหมาะสม

จึงขอเสนอให้ ควรมีนโยบาย กำหนดอัตราการจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนโดยบังเอิญ ควบคู่กับ การกำหนดชนิดและขนาดสัตว์น้ำตามมาตรา 57 โดยเริ่มจากสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ปลาทู ปลาลัง ปลากุเลา ปลาอินทรี ปลาจะละเม็ด ปลาสาก ปลาหลังเขียว ปูม้า เป็นต้น ต้องมีการกำหนดชนิดและขนาดหรือวัย ของสัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญ ๆ

ปลาป่นที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ซึ่งผลิตในประเทศไทยมีจำนวนร้อยละ 18 ของปลาป่นทั้งหมดหรือประมาณ 352,198.7 ตันต่อปี ประเทศไทยยังคงส่งออกปลาป่นไปต่างประเทศ ปีละกว่า 150,000 ตัน โดยที่ การผลิตปลาป่นนั้น ปนเปื้อนวัตถุดิบจากปลาเป็ดที่ได้จากการทำประมง ซึ่งหมายถึง การนำลูกปลาเศรษฐกิจนำมาป้อนโรงงานปลาป่น ในขณะเป็นสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยมีมูลค่าเพียง 4 – 15 บาทต่อกิโลกรัม การผลิตปลาป่นจากกระบวนการนี้จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในวงจรการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ ต่อระบบนิเวศน์และห่วงโซ่อาหารในทะเล ก่อให้เกิดความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล

หากสังคมไทยยังเห็นว่า จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจเหล่านี้ ด้วยการทำอาหารสัตว์ ก็ควรจำกัดการใช้ให้อยู่ในประเทศ เพื่อควบคุมความต้องการลง  แม้ภาครัฐจะอ้างว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากสินค้าประมงเป็นสินค้าอุตสาหกรรมภายใต้ WTO ซึ่งกำหนดค้าขายเสรี แต่ รัฐสมาชิกสามารถมีข้อกำหนดกีดกันได้ หาก สินค้านั้น ได้มีผลทำลายเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ สามารถ ผลิตอาหารสัตว์จาก เศษเหลือวัตถุดิบจากการแปรรูป ได้ 

จึงเสนอให้ ควรมีนโยบาย ควบคุมการส่งออกปลาป่นที่ผลิตจากปลาเป็ดในทะเลไทยไปยังต่างประเทศ เพื่อหยุดยั้งการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนได้อย่างเร็วขึ้น และสามารถทำให้ราคาอาหารสัตว์ที่ผลิตจากปลาป่นในประเทศลดลง

การผลิตสัตว์น้ำจากทะเล ด้วยเครื่องมือประมงเชิงอุตสาหกรรมหรือการพาณิชย์ ที่ใช้เครื่องมืออวนล้อมจับด้วยอวนตาถี่, การใช้เครื่องปั่นไฟประกอบอวนตาถี่จับสัตว์น้ำ, การใช้อวนลากคู่ เป็นลักษณะการทำการประมงที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูง สามารถจับสัตว์น้ำได้จำนวนมาก เป็นเครื่องมือที่จับสัตว์น้ำแบบเหมารวม ไม่เลือกจับ ทำให้เกิดผลกระทบทั้งในธรรมชาติ และเกิดความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงสัตว์น้ำของผู้ประกอบการประมงทั้งหมด 

จึงขอเสนอให้ ควรมีนโยบาย จำกัดจำนวนเครื่องมือประสิทธิภาพสูง แทนการควบคุมจำนวนเรือชาวประมงพื้นบ้าน และ นโยบายกำหนดให้ทั้ง 3 เครื่องมือนี้ ทำการประมงในเขตห่างจากชายฝั่งทะเลอย่างน้อย 12 ไมล์ทะเล

    กรณีนายทุนมีการครอบครองกรรมสิทธิ์ พื้นที่ทางทะเล และสร้างคอกหอยสำหรับเพาะเลี้ยงหอยชนิดต่าง ๆ ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับประมงพื้นบ้าน เพราะรุกล้ำพื้นที่ทำการประมง อย่างไรก็ดี การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นการทำประมงแนวทางหนึ่ง ที่สร้างรายได้ให้กับชาวประมง แต่ในบางพื้นที่ ฝ่ายทุนมีอำนาจเหนือกว่าชาวประมงพื้นบ้าน ส่งผลให้ชาวประมง ถูกจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรสัตว์น้ำ หรือพื้นที่สำหรับเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งขาดการควบคุม การใช้วัสดุในการเพาะเลี้ยง ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กรณีดังกล่าวหากไม่มีมาตรการ และนโยบายควบคุมอย่างเพียงพอ จะทำให้เกิดปัญหาขึ้น ในพื้นที่ชายฝั่งอีกหลายจังหวัด

จึงขอเสนอให้ ควรมีนโยบาย ทบทวน แหล่งทำการเพาะเลี้ยงในทะเลของทุกจังหวัด และกำหนดขอบเขตพื้นที่เพาะเลี้ยงชัดเจน โดยพิจารณาความสอดคล้องเหมาะสมกับระบบนิเวศ และบริบททางสังคมในพื้นที่นั้น ๆ รวมทั้งควรปรับปรุง ระเบียบและกฎหมาย เพื่อป้องกันการผูกขาดพื้นที่เพาะเลี้ยง และ จำกัดพื้นที่อนุญาตเพาะเลี้ยงในทะเล ต่อครัวเรือน เพื่อกระจายการเข้าถึงประโยชน์ อย่างเป็นธรรม ปรับปรุงฐานข้อมูล ผู้ถือครองพื้นที่ในการเพาะเลี้ยง ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และเป็นปัจจุบัน ไม่ให้เกิดปัญหา การครอบครองกรรมสิทธิ์พื้นที่เพาะเลี้ยง ของนายทุนในพื้นที่ ที่ไม่ได้รับการอนุญาต ซึ่งทำให้ชาวประมงพื้นบ้าน ที่เป็นเกษตรกรรายย่อยไม่ได้รับความเป็นธรรม มีมาตรการปกป้องคุ้มครอง พื้นที่ทำการประมงชายฝั่ง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งส่งเสริม การเพาะเลี้ยงที่รับผิดชอบ ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีการศึกษา และติดตามประเมินผลทุกปี

นอกจากข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง 18 ข้อ ทางสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ยังได้รวบรวมเรื่องเสนอเพื่อพิจารณา ติดตามเร่งรัดกรณีอื่น ๆ ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายบริเวณชายฝั่งทะเลในบางพื้นที่, เร่งรัดติดตามเขตทะเลชายฝั่งจังหวัดกระบี่ และกรณีอวนลากคู่ในชายฝั่งจังหวัดสตูล

ทั้งนี้ยังมีเรื่องเพื่อพิจารณา แนวทางการพิจารณาข้อเสนอและการทำงานอนาคต อย่างโครงการนำร่องเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประมงพื้นบ้าน และกลไก หรือช่องทางในการประสานงานอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกด้วย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ