ตัวแทน 8 ชุมชน สมาชิกเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม เข้ายื่นหนังสือกับ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ในโอกาสลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 เพื่อตรวจเยี่ยมงานของผู้ปฏิบัติงาน ด้วยขบวนรถพิเศษโดยสารที่ 967 จากสถานีกรุงเทพ- นครราชสีมา
เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม มีสมาชิก 8 ชุมชน 166 ครัวเรือน กำลังอยู่ระหว่างกระบวนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยจากการถูกไล่รื้อในพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูง โดยขอเช่าที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ประมาณ 7 ไร่ บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านพะไล ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ในอัตราเช่าตารางเมตรละ 23 บาทต่อปี อายุสัญญาเช่า 30 ปี โดยคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ได้จัดประชุมและมีมติเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในกรณีดังกล่าว ตามที่ชุมชนเสนอ และการรถไฟฯ ได้ทำ ทด.3 รังวัดแปลงที่ดินดังกล่าวแล้ว แต่ขั้นตอนในการทำสัญญาเช่ามีความล่าช้ามากว่า 2 เดือน
ในโอกาสที่ผู้ว่าการรถไฟฯ มาลงพื้นที่ ตัวแทนชุมชนจึงเดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่
1. ขอให้เร่งนำเรื่องการขอเช่าที่ดินของเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม ผ่านการเสนอเช่าโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. ครั้งหน้า (เดือนพฤศจิกายน) เพราะการทำ ทด.3 เสร็จนานแล้ว
2. ขอให้ทางการรถไฟลดราคาค่าเช่าที่ดินครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 3 ปี เนื่องจาก
2.1 เป็นการย้ายไปสร้างบ้านใหม่ทั้งหลังต่างพื้นที่
2.2 ผู้ได้รับผลกระทบอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากกับวิกฤตโควิค-19 ต้องตกงาน หรือ รายได้ลดลง
2.3 ราคาวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างบ้านขึ้นราคาสูงมากกว่าเท่าตัว
ทั้งนี้ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ได้รับหนังสือและกล่าวกับตัวแทนเครือข่ายว่า ทราบเรื่องการเช่าที่ของเครือข่ายแล้ว และรับปากจะนำข้อเรียกร้องดังกล่าวไปจัดการให้
นายนิยม พินิจพงษ์ ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า ตัวแทนเครือข่ายฯ จะติดตามเรื่องการทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ อีกครั้งในการประชุมร่วมกับคณะทำงานแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีการประชุมทุกวันศุกร์แรกของเดือน “หากชุมชนได้สัญญาเช่าก็สามารถย้ายเข้าที่ดินแปลงใหม่ได้เร็ว ซึ่ง พอช.ก็กำลังจัดทำโครงการบ้านมั่นคงสำหรับสมาชิกเครือข่าย 166 ครัวเรือน เตรียมไว้แล้ว แต่ถ้าได้สัญญาเช่าช้าผู้รับเหมาก็ไม่สามารถเข้ามาดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ได้ เพราะชาวบ้านยืนยันร่วมกันว่า จะย้ายออกจากที่เดิมก็ต่อเมื่อมีที่อยู่อาศัยแห่งใหม่รองรับแล้ว ในส่วนที่ขอให้การรถไฟฯ ลดค่าเช่าที่ดินครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 3 ปี ก็เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ก็อยากให้ผู้ว่าการรถไฟเห็นใจชาวบ้านด้วย” นายนิยม กล่าว