บ้านฉันวันนี้กับเรื่องราวของวิถีชิวิตคนในชุมชนรูสะมิแล จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ติดกับทะเลอ่าวไทย หรือ อ่าวปัตตานี ท้องทะเลเป็นเสมือนปากท้องของพวกเขา ที่นั่นมีอาชีพประมงเรือเล็กที่ออกไปหาอาหารทะเล มาขายในตลาดรูสะมิแล ที่อยู่ไม่ห่างจากริมฝั่ง ติดตามจากรายงาน
ทุกๆวันอาทิตย์บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จะมีตลาดนัดรูสะมิแล มีผู้คนมาเดินเลือกซื้อสินค้าหลากหลาย ที่สำคัญที่สุดก็คือการมาซื้ออาหารทะเลสดๆ ที่เพิ่งขึ้นมาจากทะเล
รอกายะ มะเซ็ง แม่ค้าขายปลา ตลาดนัดรูสะมิแล จ.ปัตตานี “เอาปลามาจากบางตาวาและก็รูสะมิแล ตลาดรูสะมิแล ตลาดนัดเทศบาล และหน้าพิธาน ที่นี่ขายดีที่สุด คนแถว ม.อ. ชอบกินของสดๆ แบบนี้ เป็นปลาที่ดีแล้วไม่แช่ยา ปลาสดจะเป็นแวว เหงือกแดง ถ้าปลาที่ใส่ฟอมาลีนแล้วจะเหงือกจะซีด เหงือกจะแดงเลยคะ อันนี้สดแน่ นอน ไม่ใส่ฟอมาลีน ไม่ใส่เกลือ ปลาไม่สดเหงือจะซีด บางทีตาก็แดง เนื้อแข็ง ถ้ากลับไปกินก็จะเค็ม บางทีก็เนื้อจืดบ้าง เพราะบางอย่างก็ใส่ฟอมาลีน”
ศิริลิต นวลทอง ชาวจังหวัดปัตตานี “มาซื้อที่นี่บ่อยค่ะ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นวันอาทิตย์ก็จะมาซื้อปูปลา จะซื้อที่นี่ประจำเพราะที่นี่จะมาเรือเล็กเขาจะไม่ใส่สารยาฟอมาลีน ส่วนใหญ่จะมาซื้อกับแม่ค้าคนนี้ประจำ ราคาก็ไม่แพงมา แต่ถึงแพงก็ยอมซื้อ ดีกว่าไปกินแบบที่มีสาร ถ้าปลาเรือใหญ่ก็จะไม่ค่อยซื้อ ไม่ซื้อเลยอะ”
ชาวประมงที่นี่ใช้วิธีแบบดั้งเดิมในการหาปลา โดยออกหาปลาใกล้บ้านด้วยเรือลำเล็กๆ แต่ถ้าวันไหนได้ปลาน้อยก็จะนำมาประกอบอาหารกินในครอบครัว แต่ถ้าได้ปลามาเยอะก็จะนำมาแบ่งขายในตลาดนัดใกล้เคียง และถ้าขายไม่หมดก็จะแปรรูปเป็นอาหารแห้ง
ชาวประมงพื้นบ้าน ชุมชนรูสะแล อ.เมือง จ.ปัตตานี “พอเข้าฝั่งก็จะมีพ่อค้าคนแถวบ้านกลางรับไปขาย ในที่ตลาดรูสะมิแลถ้าตรงกับวันที่มีตลาดก็เยอะหน่อย เขาก็มาซื้อไปทำกับข้าว ขายหลายๆอย่าง ปลา กุ้ง แต่ก่อนขายก็จะแยกก่อน เพราะราคามันไม่เหมือนกัน”
ทุกวันนี้ผู้คนที่นี่ยังใช้วิถีชีวิตแบบพึ่งพาทรัพยากรที่มีอยู่ ทำให้ยังมีอาหารทะเลที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ให้กับคนที่มาจับจ่ายใช้สอยในตลาดแห่งนี้
นักข่าวพลเมือง เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ รายงาน