มูฮัม หนุ่มชาวมุสลิมผู้มีหน้าตาคมเข้ม คิ้วดกดำ ลักยิ้มที่แก้มข้างขวา คือเสน่ห์ที่ทำให้สาวๆย่านนี้หลงไหล และด้วยความน่ารัก ขี้เล่นเป็นกันเอง จึงทำให้มีทั้งสาวๆไปจนถึงหญิงแก่และแม่หม้ายมากหน้าหลายตา แวะเวียนกันมาจีบไม่เคยเว้นแต่ละวัน เขาที่กำลังยืนไม่สวมเสื้อทำให้ฉันมองเห็นกล้ามหน้าท้องและกล้ามแขนของเขาเป็นมัดมัดได้อย่างชัดเจน เขาหันมายิ้มหวานให้ฉันที่กำลังรีบเดินผ่านหน้าบ้าน พร้อมกับเอ่ยปากเรียกฉันให้แวะเข้ามานั่งในบ้านเพื่อพูดคุยกันก่อน แต่ฉันปฎิเสธและบอกว่าขอตัวไปคุยธุระที่บ้านมะเสี่ยก่อน ฉันยิ้มหวานให้เขาก่อนที่จะเดินจากเขาไป
มูฮัม ผู้เป็นความหวังของครอบครัว ต้องออกจากรั้วมหาวิทยาลัย กลางครัน ทั้งที่การเรียนคือความฝันสูงสุดที่เขาตั้งใจ เขาหวังที่จะนำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด พัฒนาอาชีพของชุมชนให้ดียิ่งขึ้น แต่โชคชะตาเหมือนกลั่นแกล้ง
ป๊ะผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวมีอาการอ่อนแรงจากการเป็นโรคหัวใจและเพิ่งทำการผ่าตัดขยายเส้นเลือดหัวใจ ทำให้ป๊ะไม่สามารถออกทะเลหาปลา หารายได้ มาเลี้ยงครอบครัวได้เช่นเดิม
ซ้ำร้ายม๊ะที่มาพิการจากการพลาดตกเรือในครั้งที่ออกทะเล หาปลากับป๊ะเมื่อ 2 ปีก่อน ไตยิบ และ มุนะ น้องชายและน้องสาวฝาแฝด ที่กำลังจะเข้าเรียนในชั้นมัธยมปีที่ 1 พร้อมกันที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง คือเหตุผลที่เขาตัดสินใจหยุดเรียน แต่เขาก็ไม่เคยโกรธหรือโทษน้อง ๆ และครอบครัวเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าการเรียนมันจะคือความหวังสูงสุดในชีวิต แต่เขาเลือกที่จะเสียสละให้น้องฝาแฝดของเขาได้มีอนาคตที่ดีกว่า
ชีวิตของเขาจึงมุ่งหน้าสู่ทะเล เพื่อหารายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวแทนป๊ะ ด้วยความที่เขาเป็นคนขยันบวกกับทรัพยากรทางทะเลที่บ้านของเขามีความสมบูรณ์มาก ในแต่ละวันเขามีรายได้จากการทำประมงหักลบต้นทุนแล้วเหลือเกือบวันละเกือบ 3,000 บาท ทำให้แต่ละเดือนเขามีรายได้ประมาณ 2-3 หมื่นสามารถเลี้ยงป๊ะ ม๊ะ และน้องฝาแฝดของเขาได้สบาย แต่ก็มีบางเดือนที่ทะเลเข้าช่วงมรสุม ไม่มีรายได้ต้องเอาเงินเก็บออกมาเป็น ค่าใช้จ่ายในครอบครัว ทำให้เงินเก็บจึงแทบไม่ค่อยมีในวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่
ความรักในอาชีพประมงและรักทะเลจึงอยู่ในสายเลือดของเขา กล่าวได้ว่ามันคือศักดิ์ศรีของชาวประมงพื้นบ้านของเขาเลยก็ว่าได้ เพราะอาชีพประมงและทรัพยากรในท้องทะเลทำให้เขาเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ วันไหนที่เขาไม่เห็นทะเล ไม่ได้ออกทะเลเขารู้จะรู้สึกว่าเหมือนชีวิตขาดอะไรไปสักอย่าง เพราะเสียงลมและคลื่นในทะเล มันทำให้ความรู้สึก ปลดปล่อย และ ผ่อนคลาย เขาจึงรักทะเลและพร้อมที่จะปกป้องทะเลเมื่อมีใครคิดที่จะทำลายทะเลของพวกเขา
มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง เขาเห็นคนจากนอกพื้นที่ มาทำประมงบริเวณหน้าหาดแถวบ้าน โดยใช้อวนลากทับตลิ่ง เขาไม่ รอช้าที่จะเข้าไปตักเตือนและบอกให้คนนั้นหยุดลากอวน ด้วยเหตุผลที่ว่ามันคืออุปกรณ์ประมงที่ทำลายทรัพยากร หน้าดิน มันเป็นการทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน หากใช้เครื่องมือชนิดนี้ สัตว์น้ำวัยอ่อนก็จะไม่สามารถเจริญพันธ์ุได้
แม้ท่าทีการพูดคุยขอองมูฮัมที่เป็นไปด้วยเหตุและผล แต่ชายคนนั้นคิดว่ามูฮัมไปหาเรื่องเขา เลยด่ามูฮัมและต่อยไปที่แก้มซ้ายเข้าอย่างจัง แต่มูฮัมกลับยืนนิ่งไม่ตอบโต้ใดใด ทำให้ชายคนนั้นเกิดอาการงุนงง ก่อนจะยอมเก็บอวนออกจากพื้นที่ไป หลังจากเหตุการณ์วันนั้นผ่านไปชาวบ้านต่างเข้ามาถามมูฮัมว่าทำไมไม่ต่อยเขากลับไป เขาตอบกลับด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า
“ผมแค่อยากบอกให้เขารู้ว่าเขาทำไม่ถูก ผมไม่ได้อยากมีเรื่องกับเขา ผมแค่อยากปกป้องท้องทะเลไม่ให้ใครมาทำลาย พวกเราจะได้มีทรัพยากรไว้ใช้อย่างชั่วลูกชั่วหลาน”
ชาวบ้านที่ได้ฟังมูฮัม ต่างชื่นชมและยกย่องในความใจเย็นและความมีเหตุมีผลของเขา สิ่งที่เขาเล่ามันทำให้ฉันเข้าใจเหตุผลที่มูฮัมลุกขึ้นมาเป็นกำลังหลักสำคัญในการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว เพื่อปกป้องทรัพยากรและทะเลหน้าบ้าน เขาเล่าเมื่อครั้งที่ฉันขอนั่งเรือออกทะเลไปวางลอบปูกับเขา
ถุงกระสอบที่เขียนด้วยตัวบรรจงสีแดงว่า “ทะเลคือตู้เอทีเอ็มของพวกเรา พวกเราจะปกป้องทะเลเท่าชีวิต” คือสิ่งแรกที่เห็นเมื่อเดินมาถึงหน้าบ้านของมูฮัม แสงแดดอุ่น ๆ ยามเช้า ที่ทอดสาดเข้ามายังพื้นกระดานชานบ้านพุพุ ที่ยืนลงไปในทะเล
มูฮัมและป๊ะ กำลังนั่งซดโกปี้และพูดคุยสรรพเพเหระหัวเราะกันเป็นประจำทุกวัน ฉันเดินย่องเบาเบาเข้าไปร่วมวงด้วยตามสัญญา เขาลุกขึ้นไปหยิบแก้วและชงโกปี้ให้ฉันทันที พร้อมถามสาระทุกข์สุขดิบ ฉันตอบพลางแซว มูฮัมไปว่า ก็สบายดี แต่มีสาว ๆ จีบเยอะไปหน่อย
ป๊ะ หัวเราะเสียงดังชอบใจ พร้อมพูดว่า “เมื่อก่อนป๊ะก็เป็นแบบนี้แหละ มากกว่าของ มูฮัมอีก ป๊ะไม่อยากจะโม้ พร้อมกับหัวเราะเสียงดัง”
เมื่อเสียงหัวเราะเบาลง มูฮัมถามขึ้นมาว่า วันนี้มีอะไรถึงมาหา ฉันอมยิ้มพร้อมกับเปิดประเด็นถามมมูฮัมกับป๊ะว่า “นี่พวกเราได้ข่าวบ้างไหม ว่ารัฐบาลกำลังผลักดันให้พื้นที่ตลอดริมชายฝั่งทะเลภาคใต้ เป็นพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม”
มูฮัม นิ่งไปพักใหญ่พร้อมกับหันหน้าไปสบตากับป๊ะ ขมวดคิ้วแล้วถามฉันกลับมาว่า ทำไมเวลารัฐเขาคิดจะโครงการหรือการพัฒนาอะไร ทำไมเขาไม่ถามประชาชนหรือคนในพื้นที่ก่อนที่จะกำหนดการพัฒนาลงมาบ้าง แล้วกว่าที่เราจะรู้ก็รัฐจะทำอะไร ก็เมื่อเป็นโครงการลงมาแล้วทั้งนั้นเลย แบบนี้มันจะเรียกว่าการพัฒนาได้อย่างไร เมื่อผู้รับยังไม่รู้ว่าจะได้อะไรจากการพัฒนานั้น ป๊ะโพลงถามขึ้นมาด้วยความอยากรู้ ไหนไหน ลองเล่าให้ฟังสิว่ารัฐเขาคิดจะทำอะไรกัน
ฉันยกแก้วโกปี้ซด แล้ววางแก้วลงพร้อมกับหันไปหยิบหนังสืออุบัติเมืองมลพิษที่แผ่นดินใต้ ภาคใต้จะเป็นเมืองผลิตอาหารหรือฐานเมืองมลพิษ ในกระเป๋าเป้คู่ใจของฉัน ที่ฉันร่วมกับเพื่อนนักพัฒนาร่วมกันเขียนขึ้นมาให้มูฮัมกับป๊ะคนละเล่ม พร้อมกับพูดว่าอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะรู้ว่ารัฐต้องการเปลี่ยนโฉมภาคใต้ไปแบบไหน
เขากับป๊ะ เริ่มขมวดคิ้วอีกครั้งเมื่อเห็นแผนที่โครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่รัฐกำหนดเต็มพื้นที่ชายฝั่งทะเลในพื้นที่ภาคใต้ แล้วก็มีเสียงอุทานจากป๊ะขึ้นมาว่า แบบนี้ก็ฉิบหายหมดแหละ ทะเลภาคใต้ แกรีบปิดหนังสือแล้วบอกให้ฉันเล่า เพราะป๊ะ อ่านหนังสือไม่ออก
ฉัน เริ่มต้นบ่นออกไปว่า ไม่ว่าประเทศเราจะมีรัฐบาลชุดไหน ก็มีฐานความคิดเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม เพราะเขาวัดความเจริญกันที่เงินและจีดีพีของประเทศ ไม่ใช่วัดกันที่ความสุขของประชาชนในชาติ รัฐบาลประยุทธ์ก็เช่นกันมีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) โดยยุทธศาสตร์นี้ได้ตราเป็นกฎหมายที่เปรียบเสมือนเป็นการบังคับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำตามแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกทั้งยุทธสาสตร์ 20 ปีนี้ จะเป็นกรอบกำหนดการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไว้โดยอัตโนมัติ โดยภายในแผนยังเป็นการกำหนดแนวทางการพัฒนาที่มุ่งให้ประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยกำหนดให้เกิดการพัฒนาเพื่อรองรับการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรม เช่นโครงการความมั่นคงทางพลังงาน โครงการจัดการแหล่งน้ำ โครงการการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางเรือและทางบก โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเคมี โดยรัฐบาลมีการผลักดันมาโดยตลอด ประชาชนอย่างเราก็มีความพยายมเคลื่อนไหวท้วงติงอยู่ตลอดแต่รัฐก็ยังคงเดินหน้า และอ้างว่านี่คือการพัฒนา ที่รัฐกำหนดไว้แล้ว
ฉันมองหน้าป๊ะและมูฮัม แล้วถามว่าเคยได้ยินข่าวพี่น้องจะนะ จ.สงขลา กันไหม
เขากำลังเคลื่อนไหวคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่จะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่กว่า 16,735 ไร่ มีทั้งพื้นที่อุตสาหกรรมหนัก-เบา ท่าเรือน้ำลึก โดยโครงการทั้งหมดนี้รัฐอ้างว่าเพื่อการพัฒนา แต่ไม่ได้เป็นการพัฒนาเพื่อชาวบ้านในพื้นที่นะ แต่เป็นการพัฒนาเพื่อกลุ่มทุน ที่จะมาแย่งชิงการใช้ทรัพยากรของคนในพื้นที่ แต่ใช้คำอ้างว่าพัฒนาเพื่อคนในพื้นที่ รัฐอยากทำอะไรก็ทำ ไม่เคยถามคนในพื้นที่ก่อน คิดจะเชื่อมทะเลอันดามัน-อ่าวไทย ด้วยโครงการสะพานเศรษฐกิจระนองชุมพร บ้างละ จะขุดคลองไทย บ้างละ คลองไทยนี่ก็เป็นมหากาฬของความพยายาม เพื่อจะให้ประเทศเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ของโลก พร้อมกับจะเนรมิตให้เป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมหนักกว่า 2.5 แสนไร่ โดยกำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ. เพื่อเป็นการเปิดทางดันโครงการให้ง่ายขึ้น
ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
มูฮัม : พุดขึ้นมา เดี๋ยวนะนี่จะทำทางเชื่อมกันตั้งกี่เส้นกัน ไม่มากไปหรือไง?
เรา : มันคือการกระจาย ความหวัง พื้นที่ตรงไหนชาวบ้านไม่เข้มแข็งหรือยอมลุกขึ้นมาตั้งคำถามก็มีความเสี่ยงที่โครงการจะเกิดขึ้นได้ ก่อนหน้าก็เคยคิดจะทำแลนด์บริจด์ สงขลา-สตูล ชาวบ้านลุกขึ้นมาคัดค้าน โครงการเลยชะลอออกไปได้
ป๊ะ : ถ้าเรื่องคลองไทยนี่เขาทำได้จริงนะ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องทรัพยากรที่จะหายนะ แต่มันจะกระทบต่อเรื่องความมั่นคงของประเทศกันนะ
ฉันถอนหายใจและเล่าต่อ แต่รัฐเขาตั้งหน้าตั้งตาดันเต็มที่นะ เมื่อจะมีการผลักดันนิคมอุตสาหกรรม ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรม โครงการจัดหาแหล่งน้ำจืด โครงการความมั่นคงทางพลังงาน ยุทธศาสตร์ 20 ปี จึงถูกพลักดันภายใต้แผนแม่บท คือ สร้างกฏหมายมาเพื่อบังคับทิศทางการพัฒนาของประเทศ ใคร หรือหน่วยงานไหนไม่ทำตามก็ถือว่าเป็นความผิด
มูฮัม โพลงถามขึ้นมา นี่หมดรึยังครับ? มันเป็นเรื่องใหญ่มากนะ คนใต้หรือคนทั้งประเทศรู้ หรือ เต็มใจที่จะเปลี่ยนประเทศไปสู่อุตสาหกรรมแล้วหรือครับ เพราะนี่มันเป็นการเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาของภาคใต้เลยนะ จากพื้นที่ของเราที่มีการใช้ทรัพยากรไปกับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว การทำประมง การเกษตร และอุตสาหกรรรมที่มันต่อเนื่องกับภาคการเกษตร แล้วการพัฒนาในแนวทางแบบนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีประสบการณ์กันมาก่อนนะ เช่น นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก มาบตาพุด ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิต สิ่งแวดล้อม และ สังคม ของคนระยองมาแล้ว ด้วยเหตุผลว่าเพื่อการพัฒนาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านี้หรือ
เสียงในวง เงียบไปพักใหญ่ ก่อนที่ป๊ะ จะพูดขึ้นมาว่า มนุษย์เรานี่ช่างเห็นแก่ตัวและเป็นตัวทำลายที่น่ากลัวที่สุด จะต้องการเงินมากมายก่ายกองกันไปถึงไหน คนรวยมันก็รวยกันเข้าไป คนจนแบบเราที่ขอแค่มีฐานทรัพยากรพึงพิง เลี้ยงชีพ ยังคิดมาเบียดเบียนเอาเปรียบกันอีก อัลเลาะห์เคยสอนไม่ให้เบียดเบียนใคร ถ้าคิดพัฒนากันแบบนี้แล้วอนาคตลูกหลานเราจะอยู่กันยังไง
กลิ่นตะไคร้ หัวหอม มะนาว และพริก ของเครื่องแกงส้ม ฟุ้งมาจากข้างบ้านหอมเตะจมูกฉัน เสียงปลาทอดในกระทะ ที่ดังพร้อมกับเสียงตะโกนแหบๆ ของม๊ะเสี่ย ผ่านทะลุหน้าต่างถามว่าหิวข้าวแล้วยัง
มากินข้าวได้แล้ว นี้กำลังทำแกงส้มกับทอดปลาอินทรีย์ ปลาเพิ่งขึ้นมาจากเลแรกเดียวนิ สดสด ตาปลายังใสวิ้งเหลยนิ ฉันรีบตอบม๊ะไปว่า เดี๋ยวตามไปกินคะ ของจากทะเลสดสด แบบนี้หากินไม่ค่อยได้เลยคะ
มูฮัม โพลงพูดขึ้นต่อด้วยแววตาที่ครุ่นคิด “ภาคใต้มีทรัพยากรที่สมบูรณ์ ทั้งป่า เขา ทะเล และทรัพยากร ผมว่าถ้าประเทศเรามีการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดี มีการจัดการความสำคัญให้เหมาะสมในการใช้ประโยชน์ให้เกิดความยั่งยืน ประเทศเราจะเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุด แบ่งปันผลประโยชน์จากการพึงพิงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมกัน การพัฒนามันจะต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคน ไม่ใช่เอาการพัฒนามาอ้างเพื่อให้คนในพื้นที่ต้องเป็นผู้เสียสละ นี่รัฐมองเห็นทรัพยากรเป็นสินค้า มุ่งแต่จะหาผลประโยชย์ไปแบ่งกันเอง หลายปีกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ ทำให้ประเทศต้องสูญเสียทรัพยากรมามากพอแล้ว ถ้าเราต้องอยู่ในจุดที่การพัฒนาถูกกำหนดจากกลุ่มทุน เราก็จะไม่เหลืออะไรไว้ให้ลูกหลานเราต่อไป”
บทสนทนาของเราจบลง แต่ยังคงมีประเด็นคำถามที่ค้างคาใจอยู่มากมายในหัวมูฮัมกับป๊ะ ว่าทำไมรัฐถึงไม่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา ที่มันสร้างการเติบโต ที่กระจาย เป็นธรรมและยั่งยืน แต่กลับเลือกการพัฒนาบนความขัดแย้งของสังคม เพียงเพื่อแลกกับคำว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว