ทอกะยาย ผ้าผืนใหม่ในวันกลับบ้าน

ทอกะยาย ผ้าผืนใหม่ในวันกลับบ้าน

โอ้ พัฒนชัย ลิมไธสง นักสร้างสรรค์งานฝีมือผ้าทอชุมชน ในนามชื่อ ทอกะยาย ผู้ที่เดินทางล่องเรือเล็กตามหาความฝันในท้องทะเลของเมืองใหญ่ ก่อนลมเปลี่ยนทิศพัดพาให้หัวเรือเลี้ยวกลับมายังจุดเดิม

ความฝันของเด็กอีสานในความคิดของ โอ้ ตอนเด็กที่อยากจะเป็นนั้นคือ ข้าราชการ หมอ ครู เมื่อฝันต้องไปให้ถึง จากเด็กอีสานสู่การเป็น ครู ในเมืองใหญ่และอีกหลากหลายอาชีพที่พบผ่านซึ่งเป็นชีวิตที่ดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ทุกครั้งที่ว่างจากงาน เสียงเรียกของความฝันที่ถูกเก็บไว้ในกล่องก็เรียกเตือนเสมอ คำว่าบ้าน ไม่เคยหายไปจากใจของเขาเลย

เรื่องเริ่มต้นเมื่อ โอ้ จับได้ใบแดง ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาจุดเปลี่ยนของชีวิต โอ้ หลังจากที่เรียนจบศึกษาศาสตร์และทำงานในองค์กรพัฒนาชุมชนที่กรุงเทพมหานครกำลังเป็นไปด้วยดี แต่เส้นทางชีวิตก็เปลี่ยนแปลงเพราะถึงเวลาต้องเข้าเกณฑ์ทหารตามหน้าที่ของชายไทย สิ้นเสียงประกาศผลจับสลาก โอ้ ได้รับใช้ราชการทหารอยู่ 1 ปีเต็ม หลังจากปลดประจำการทำให้ โอ้ รู้สึกว่าต้องการพักก่อนเริ่มต้นชีวิตการทำงานอีกครั้ง นั่นเป็นโอกาสทำให้ โอ้ ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตการทอผ้าที่เขาผูกพันมาตั้งแต่เด็กในบ้านเกิดของเขา ที่บ้านสระแก้ว ต.บ้านเป้า อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์จนถึงทุกวันนี้

โรงทอผ้าเดิมที่ทิ้งไว้เพียง “กี่ทอผ้าเก่า” ซึ่งเก็บทั้งความทรงจำในวัยเด็กของเขาเมื่อตอนได้สัมผัสการทอผ้าช่วยแม่และยายครั้งแรก ที่แทบไม่หลงเหลือความสดใสในวันนั้นอยู่เลย โรงทอผ้าที่หลายคนในชุมชนนั่งล้อมวงกินข้าว และทอผ้านั้นได้ปิดตัวลง เนื่องจากยอดขายที่ไม่ดีเหมือนเดิม ตลาดที่หายไปทำให้ทุกคนต้องแยกย้ายเพื่อออกไปทำมาหากินเลี้ยงชีพตัวเองในงานรับจ้างอื่น ๆ เป็นงานหลักแทนที่การทอผ้าที่วันนี้ต้องตกเป็นงานรอง

ลมเปลี่ยนทิศอีกครั้ง โอ้ ตัดสินใจนำความรู้ทั้งหมดที่มีปะปนกับความหลงใหลในงานผ้าทอ จับปากกาดินสอพร้อมกระดาษ ขีดเขียนเส้นทางชีวิตของตัวเองใหม่ สร้างแบรนด์ผ้าทอชุมชนขึ้นมาว่า ทอกะยาย ซึ่งเขาตั้งใจทำให้แบรนด์นี้เข้าไปสัมผัสกับชุมชน และผู้คนที่เขารักและเคารพ เริ่มต้นจากการอธิบายให้คุณยายฟังถึงความต้องการที่จะสืบสานงานทอผ้าอีกครั้ง ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจเขาพยายามที่จะออกไปอธิบายสิ่งที่อยากจะทำกับชาวบ้านที่ทอผ้าในชุมชน แต่แล้วสิ่งที่ โอ้ ตั้งใจนั้นคุณยายยังไม่เห็นดีด้วย หลายคนในชุมชนก็เริ่มตั้งคำถามกับเขาว่า เหตุใดเรียนจบการศึกษาระดับสูงแล้วถึงต้องกลับบ้านมาทำสิ่งที่ยังจับต้องไม่ได้ “ทำไมถึงกลับมาบ้าน มาทำอะไร ทำไมไม่ไปทำงานอื่นที่สบายกว่านี้”

เมื่อแน่วแน่ว่าจะสร้างแบรนด์ผ้าทอแล้ว ใช่เพียงความอยากที่จะทำเท่านั้น แต่เขานำเงินก้อนที่เก็บสะสมจากงานเดิมลงเรียนการตลาด การสร้างแบรนด์ และความรู้อีกมากมาย เพื่อเพิ่มความรู้ในเรื่องที่ยังไม่รู้ มาถึงตอนนี้เหมือนเรือเล็กของโอ้ กำลังโลดแล่นท้าทายอยู่บนคลื่นน้ำทะเล มีจังหวะขึ้นลงซึ่งทำให้เขาต้องสมดุลตัวเขาให้ดี  หลังจากที่ศึกษาความรู้เพิ่มเติม โอ้ จึงเริ่มลงมือสร้างผลงาน ไปพร้อมกับการชวนคุณยายแท้ ๆ ของเขาทำผ้าทอชิ้นแรกออกมา ด้วยความผูกพันและความดื้อดึงของหลาน ทำให้คุณยายใจอ่อนที่ยอมจะทำงานทอผ้าต่ออีกครั้ง และชักชวนคุณยายในชุมชนอีกหลายคนมาร่วมกันทอผ้าในแบรนด์นี้อีกด้วย

“ทำไม่ได้หรอก มันทำยาก แต่ด้วยการที่เราเป็นคนรุ่นใหม่และดื้อ คิดว่ามันต้องทำได้สิ จึงไปพูดให้เขาเข้าใจว่า แม่…มันทำไปต่อได้ มันทำวิธีนี้ได้” 

โอ้เริ่มต้นบทสนทนาด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะท่ามกลางเหล่าคุณยายที่นั่งรายล้อมฟังอย่างแอบขำขันหลานของตัวเองที่กำลังเล่าเรื่องเก่าอีกครั้งว่าเขาพยายามอย่างสุดแรงกำลังที่มีเพื่อบอกความต้องการไปต่อกับความฝันของเขาในวันที่เขากลับมาที่บ้านว่าต้องการทำแบรนด์ ทอกะยาย ให้สามารถทำได้จริง

“เดิมทียายไม่อยากจะทำ เพราะยายบอกเขาว่ายายแก่แล้ว ลายใหม่ถ้ามันไม่ยากก็ทำได้อยู่ ตอนนี้แก่แล้วอยากจะหยุดทำก็อยู่ไม่ได้ หลานไม่ให้หยุด”

คุณยายของคุณโอ้เล่าให้ฟังพร้อมกับขบขันหลานของตัวเองและเรื่องเล่าของคุณยายที่ต้องกลับมาลุยงานทอผ้าอีกครั้งจากคำขอของหลาน

ใช่จะเป็นเรื่องง่ายที่คนรุ่นใหม่ต้องทำงานร่วมกับคุณยาย การเปลี่ยนจากเรื่องเดิมเป็นเรื่องใหม่ของงานทอผ้านั้นเป็นเรื่องยากสำหรับคุณยาย แต่ด้วยความสามารถของ โอ้ ทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น จากการลองผิดลองถูกไปด้วยกันของคนในชุมชน เริ่มทำผ้าทอย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ ดินแดง มาจนถึงผลิตภัณฑ์แปรรูป อย่างกระเป๋า รองเท้า ผ้าม่าน โคมไฟ และอีกมากมาย สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคุณยาย ก็เกิดความเชื่อมั่น เมื่อพลังส่งถึงพลังต่อกันจึงทำให้คุณยายก็เริ่มเข้าใจถึงการกลับมาบ้านของ โอ้

ฝนเริ่มโปรยลงมาในเวลาก่อนเที่ยงวัน จึงถือโอกาสเข้าไปหลบฝนที่สำนักงานหลังเล็กของโอ้ ภายในถูกจัดเป็นที่ทำงานและเก็บสินค้าที่โอ้ร่วมกับคุณยายช่วยกันออกแบบ และสร้างสรรค์ขึ้นมาหลายอย่าง

“ผลิตภัณฑ์ของเราจะแบ่งเป็น 3 อย่าง จะเป็นเท็กไทล์ดีไซน์ การออกแบบลวดลายผ้ารับผลิตผ้าให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ ทีมงานสร้างสรรค์ที่เป็น อินทีเรียดีไซน์ หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ ถัดมาก็จะเป็นในเรื่องโปรดักดีไซน์เป็นสินค้าแปรรูป เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า หมอนอิง สตูลโคมไฟ ผ้าม่าน สินค้าที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราทั้งหมดเลย และการเรียนรู้ซึ่งการทอผ้าก็เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ เราย้ำเสมอว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการลงมือทำ”

สินค้าที่อยู่เต็มห้องเล็ก ๆ ที่มองแล้วรู้สึกได้ถึงความเท่ในแบบฉบับของห้องทำงานคนรุ่นใหม่ ผ้าที่แขวนไว้เป็นฝีมือการออกแบบลายใหม่ของเขา ซึ่งเป็นการเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจรอบตัว ทั้งพื้นดิน ต้นไม้ ใบหญ้า ท้องฟ้า หรือภาพยนตร์ที่เขาชื่นชอบ หลังจากลองทำสินค้าทอผ้าเป็นเส้น โดยเบื้องหลังของโอ้แล้วเขาไม่ใช่นักออกแบบมาก่อนเลย ทำให้ยังมองไม่เห็นความแตกต่างของงานตัวเอง จนมีผู้มาทักท้วงว่า งานทอผ้าเป็นเหมือนกับชั้นดินของภูเขา จึงทำให้โอ้คิดได้ว่า จะสร้างงานลายนี้ซึ่งเรียกว่า “โวลคาโนพาสเทล” ซึ่งได้รับความนิยมและสร้างพลังที่จะสามารถเดินเรือลำนี้ของเขาต่อไปได้อย่างถูกทาง

“การทำงานร่วมกับคุณยาย แม่ และคนในชุมชนอย่างแรกเลยคือเขามีรายได้เพิ่มขึ้น คุณค่ามันไม่ได้อยู่แค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว คุณค่ามันอยู่ที่จิตใจหรือพื้นที่ในการทำงาน เขามีความสุขที่จะมาทำงานร่วมกันมันเป็นเหมือนพลังบวกที่จะให้เขาพัฒนาตัวเองไปด้วยในตัว”

ยอดขายหลังจากที่เริ่มทำ ทอกะยาย ไม่ได้มากมายนักผลกระทบจากโรคโควิด-19 ก็ทำให้ยอดขายลดลงแต่ก็ยังพอขายได้บ้างจากทั้งออนไลน์ และเครือข่ายที่บอกต่อกัน ราคาสินค้าก็เริ่มต้นที่ 100 บาท เมื่อมีรายได้เข้ามา คุณยายก็มีรายได้คนในชุมชนก็พลอยได้รับประโยชน์นี้ไปด้วย

“การกลับบ้านมันมีหลายอย่างที่เราต้องจัดการ สิ่งที่เราทำมันดีอย่างไร เราอยู่รอดไหมเราสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนแล้วมีความสุขหรือไม่ อีสานเราคือนักสู้เราสู้ทุกสภาวะวิกฤต สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในบ้านเกิดการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่เองที่จะเป็นพลังในการสร้างสรรค์ เดี๋ยวนี้คนอีสานเติบโตไปเก่งในหลายประเทศ แต่จะทำอย่างไรให้คนอีสานกลับมาบ้านมาสร้างสิ่งดี ๆ เพราะว่าไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เราจะต้องเป็นคนที่อยู่ในชุมชนจนถึงวันตาย บ้านคือจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของเรา”

การตัดสินใจกลับบ้านของ โอ้ พัฒนชัย ลิมไธสง ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่ตั้งใจไว้เสมอ การต่อสู้กับค่านิยมเดิมเรื่องอาชีพ การต่อสู้กับคำถามรายล้อมที่รอการพิสูจน์ว่า การออกเดินทางล่องเรือของเขาไปในทะเลกว้างนั้น เหตุใดถึงได้กลับมายังที่เดิม วันนี้เป็นก้าวเล็ก ๆ ที่เขาจะอธิบายได้ว่าชีวิตที่เขาได้ลองล่องเรือลำเล็กไปในทะเลนั้นพานพบกับอะไรบ้าง หรือการเดินทางไปยังหมุดหมายตั้งแต่แรกเพื่อหาความสุขในความมั่นคงนั้นมันไม่มีจริง และไม่ได้ดีไปเสียมากกว่าการที่เขาอยู่บนชายหาดของทะเล ที่รู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย

ขอบคุณภาพโดย ปนัดดา ประเสริฐศรี และ โอ้ พัฒนชัย ลิมไธสง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ