ผู้หญิงพลังมหัศจรรย์เดือนตุลา

ผู้หญิงพลังมหัศจรรย์เดือนตุลา

ปลายเดือนตุลาคมคราวใด เรื่องราวชีวิตหญิงผู้สูญเสียคนนี้ จะเข้ามาทักทายความทรงจำของฉันเสมอ  และนั่นทำให้ฉันสัมผัสได้ถึงพลังมหัศจรรย์ที่ไหลเวียนอยู่ในตัวเธอ ไม่เคยหยุดนิ่ง  ตลอดระยะเวลา 17 ปี

เมื่อวันก่อน  เธอโทรมากลางดึก  

“ก๊ะยา  รู้ไหม สองสามวันมานี่ ไม่ได้หลับไม่ได้นอนนะ ชาวบ้านโทรมาตลอด บอกว่าทำยังไง จะให้ได้ศพของคนในครอบครัวออกมาจากป่าที่ปะทะกัน เพราะตามหลักอิสลามเรา ต้องนำศพออกมาทำพิธีภายใน 24 ชั่วโมงนะ ชาวบ้านเขาขุดหลุมในกุโบร์ (สุสาน)ไว้แล้ว แต่ก็ไม่ได้ศพออกมา ก๊ะนะโทรขอความช่วยเหลือกับทั้งแม่ทัพ และอดีตแม่ทัพ ก็ยังไม่คืบหน้า”

ก๊ะนะ ภาพจาก : ประชาไท

ก๊ะนะ หมายถึงเหตุการณ์ที่มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงกับผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์ก่อเหตุความไม่สงบในป่าฮูแตยือลอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตไป 1 คน และผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตตามข่าว 6 คน ครอบครัวได้ศพนำไปประกอบพิธีศาสนาไปแล้ว 4 คน แต่อีก 2 คน ยังไม่ได้รับศพ เหตุการณ์ปะทะนี้ เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายวัน ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. เหตุการณ์ก็ยังไม่ยุติ เจ้าหน้าที่ยังคงปิดล้อมตรวจค้นบริเวณป่าฮูแตยือลอ  เป็นวันที่12 แล้ว

“แล้วก๊ะนะ จะทำไงต่อ” ฉันก็คิดไม่ออก ทั้งๆ ที่รู้ว่าเธอโทรมา เพื่อขอหาทางออกด้วย ไม่ใช่เพียงแต่เล่าเรื่อง

ในเช้าวันถัดมา ฉันก็รู้แล้วว่า เธอทำยังไงต่อ  เธอเลือกที่จะอาศัยสื่อ เป็นปากเป็นเสียง

เธอส่งคลิปรายการข่าวมาให้ดู  ฉันเปิดดู เห็นนักข่าวรายงานเหตุการณ์ฮูแตยือลอและมีก๊ะนะ ให้สัมภาษณ์เรื่องที่อยากให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ และเสนอให้ตั้งกรรมการที่เป็นอิสระ เพื่อตรวจสอบจำนวนผู้ที่เสียชีวิต และติดตามศพกลับคืนมายังครอบครัว

“เวลาก๊ะนะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ก๊ะนะไม่เคยสนใจว่าใครผิดใครถูกนะ เพราะก๊ะนะ ไม่ใช่คนตัดสิน แต่ก๊ะนะช่วยเพราะมองชาวบ้านที่มาขอความช่วยเหลือ เป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด เป็นคนที่เดือดร้อน จากเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเรา ทั้งโดนยิง โดนระเบิด โดนจับ โดนขัง โดนอุ้มฆ่า เมื่อแม่ เมีย หรือลูกของเขามาร้องทุกข์ ขอความช่วยเหลือจากเรา เราก็เป็นคนกลางช่วยประสานให้ตามกำลัง  อาศัยที่ก๊ะนะรู้จักกับเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่หลายๆ คน รวมทั้งคนในภาคประชาสังคม ที่เป็นนักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน นักเยียวยา ก็พอจะช่วยกันได้ตามกำลังที่ก๊ะนะ ทำได้”

ฉัน และผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ ยังคงติดตามข่าวที่ฮูแตยือลอด้วยความกังวล เพราะเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงปะทุขึ้นมาใหม่อีกครั้ง พร้อมความสูญเสียของทุกฝ่าย โดยก่อนหน้านี้ คนในพื้นที่ชายแดนใต้ สัมผัสกับกลิ่นไอของความสงบข้ามปีมาช่วงหนึ่งยาวๆ ตั้งแต่หลังโควิดระบาดระลอกแรก สถิติเหตุการณ์ความรุนแรงลดลงไปมาก แต่เมื่อไม่กี่เดือนมานี้  เสียงปืน เสียงระเบิดกลับมาอีกครั้ง แม้จะประปราย แต่ก็เป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก และครั้งนี้ก็หนักหนากว่าทุกครั้ง

ทำไมหนอ ความสงบจึงอยู่กับเราได้ไม่นาน?

ฉันถามไถ่ความคืบหน้าของการติดตามศพจากกะน๊ะแทบทุกวัน จนย่างเข้าสู่วันที่ 16 ของเหตุการณ์ฮูแตยือลอ

“ก๊ะยา ก๊ะยา มีคนเจอศพแล้วนะ เจ้าหน้าที่กำลังนำศพออกมาจากป่า และแจ้งญาติให้ไปรอรับศพได้ที่ รพ.ยี่งอ “ก๊ะนะโทรมาอีกครั้ง ด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้น ทั้งก๊ะนะและฉันรู้สึกโล่งใจ ที่เหตุการณ์คลี่คลาย เพราะถ้ายังไม่เจอศพ อาจจะกลายเป็นเงื่อนไข ที่ถูกขยายผล ทำให้สถานการณ์ยิ่งบานปลาย และเลวร้ายลงไปอีก

ย้อนไปดูภูมิหลังของ “ก๊ะนะ” ( ก๊ะ ภาษามลายูแปลว่าพี่สาว) หรือ แยน๊ะ สะแลแม เป็นหนึ่งในผู้หญิงกว่า 3,000 คน ที่สูญเสียสามีจากเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2547  นอกจากนั้น เธอยังได้รับผลกระทบซ้ำซ้อนจากกรณีลูกชายโดนจับในเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 25 ต.ค. 2547 ก่อนที่เธอและกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมจะเคลื่อนไหวเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้มีการถอนฟ้องในคดีนี้ จนประสบความสำเร็จ อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ถอนฟ้อง ทำให้ลูกชายเธอพร้อมจำเลยคนอื่น ๆ ในคดีนี้ รวมทั้งหมด 58 คน ได้รับอิสรภาพ

ผู้หญิงชาวบ้านจบป.4 ลูก 8 คน ลูกชายโดนจับจากเหตุการณ์ตากใบ และสามีโดนยิงเสียชีวิต

ผู้คนโดยทั่วไป อาจจะคิดว่า ในวันที่สามีโดนยิงเสียชีวิต หรือลูกชายโดนจับ เธอคงจะเอาแต่ร้องห่มร้องไห้ ไม่มีปาก ไม่มีเสียง และหลังได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ ก็คงจะอยู่นิ่ง ๆ ด้วยความหวาดกลัว อยู่กับบ้านดูแลลูก ๆ ทำนา เย็บผ้า นั่นก็ภาระมากพอแล้ว

แต่เปล่าเลย เธอกลับที่จะไม่เลือกใช้ชีวิตแบบนั้น เหตุการณ์ที่เธอได้รับผลกระทบ มันทำให้ชีวิตเธอเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือด้วยซ้ำไป เธอกลับกล้าแกร่งมากขึ้น ใช้ชีวิตทั้งที่บ้านกับลูก ๆ และนอกบ้านในพื้นที่สาธารณะ เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือผู้สูญเสีย และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ร้องทุกข์มายังเธอ แถมเธอยังเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้คนเหล่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ตกอยู่ในความหวาดกลัว และไร้เสียง

เธอสามารถแปรเปลี่ยนพลังและประสบการณ์ตรงในฐานะ VICTIM หรือ เหยื่อ ก้าวข้ามมาเป็น VICTOR หรือ ผู้ชนะที่ไม่ยอมจำนน และอุทิศตนช่วยเหลือผู้สูญเสีย และไม่ได้รับความเป็นธรรมตลอดมา ตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้  17 ปีแล้ว อย่างไม่รู้จักเหนื่อยล้า

สายๆของวันนี้ เธอโทรมาอีก แต่เป็นการแจ้งข่าวดี

“ก๊ะยา ลูกสาวที่ป่วยด้วยโควิด หายดีแล้วนะ กลับไปทำงานที่หาดใหญ่ได้แล้ว ส่วนลูกคนโตกับสะใภ้ ก็ค่อยยังชั่วแล้วเหมือนกัน แต่ยังกักตัวอยู่กับบ้าน ยังไม่ได้ออกไปทำงาน” เธอบอกด้วยน้ำเสียงแจ่มใส

“อัลฮัมดุลิลลาฮ์ (ขอขอบคุณพระเจ้า) ดีใจด้วยก๊ะนะ จะได้หายเหนื่อยเสียที” ฉันโล่งอกไปกับเธอ

ฉันรู้ดีว่า เธอเหนื่อยยากขนาดไหน ในช่วงที่คนในครอบครัวเธอป่วยด้วยโควิดพร้อม ๆ กัน 3 คน ทั้งลูกชายคนโต ลูกสะใภ้ และลูกสาวคนเล็ก เธอต้องทำหน้าที่แม่ แบกรับภาระที่หนักหน่วงมาก ตั้งแต่การประสานงานกับเจ้าหน้าที่ เพื่อนำตัวลูกสาวกลับจากหาดใหญ่มารักษาตัวที่รพ.ตากใบ การดูแลอาหารการกิน หยูกยา ในช่วงที่ลูกชายและสะใภ้กักตัวอยู่ที่บ้าน จนเมื่อพบว่าอาการหนัก โควิดลงปอด ก็ต้องประสานกับเจ้าหน้าที่ รพ.ให้ผู้ป่วยทั้ง 2 คนได้เข้ารักษาตัวที่รพ.ตากใบ แม้เมื่อคนในครอบครัวอยู่ในมือหมอแล้ว เธอก็ต้องเทียวไปเทียวมาจากบ้านไปรพ. เพื่อส่งข้าวส่งน้ำให้ลูก ๆ ทุกวัน ตามประสาแม่ที่อดห่วงลูก ๆ ไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่รพ. ก็จัดหาอาหารให้กินอยู่แล้ว จนเมื่อลูกสาวคนเล็กหายป่วยดี เธอก็ต้องนั่งรถไปหาดใหญ่ เพื่อไปส่งลูกถึงที่หมาย เพราะถ้านั่งรถประจำทางไปก็ไม่ปลอดภัย  รวม ๆ แล้วไป-กลับ กินเวลาราว ๆ 8 ชั่วโมง

เธอไม่เพียงแต่ทำหน้าที่แม่ของลูก ๆ ที่ป่วยโควิด เมื่อ 4 เดือนก่อน เธอยังยื่นมือช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดเป็นจำนวนมากในชุมชนเกาะสะท้อนที่ถูก Lock down ทั้งตำบล จำนวนเกือบ 2,000 ครัวเรือน มาราวเดือนกว่า

อย่างที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์ชายแดนใต้ มีการแพร่ระบาดของโควิดรุนแรงมากตั้งแต่ระลอก 3 มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมและเสียชีวิตอยู่ในลำดับต้นๆของประเทศตลอดมา โควิดสายพันธ์ุแอฟริกาใต้ ที่กล่าวกันว่าดุร้ายมากในช่วงนั้น ก็พบที่แรกใน ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ นั่นจึงทำให้ตำบลถูกปิด หลังพบผู้ติดเชื้อที่นั่นเป็นจุดแรก ชาวบ้านเกาะสะท้อนลำบากยากจนอยู่แล้ว ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นแรงงานรับจ้างแถวชายแดนมาเลย์ เมื่อชุมชนถูกปิด ชาวบ้านไม่มีงานทำ ในขณะเดียวกันก็อยู่ในวงล้อมการแพร่ระบาดของโควิด ทั้งจน ทั้งเจ็บ

เดือดร้อนถึงก๊ะนะ ต้องระดมเงินรับบริจาคจากผู้มีน้ำใจ ทั้งจากในและนอกพื้นที่ เพื่อทำเป็นถุงยังชีพ ส่งไปให้ชาวบ้านเกาะสะท้อน พร้อมรายงานข่าวในฐานะนักข่าวพลเมือง ทางไทยพีบีเอส เพื่อบอกเล่าสถานการณ์ให้คนภายนอกได้รับรู้ และให้การช่วยเหลือ

“มีชาวบ้านเกาะสะท้อน โทรมาหาก๊ะนะ บอกว่า ทั้งเนื้อทั้งตัว เหลือเงินแค่เพียง 1 ริงกิต 50 เซ็นต์ (คิดเป็นเงินไทย ประมาณ 10 บาท) มีลูกอยู่ 4 คน ทำยังไงดี ถึงจะอยู่ให้ได้อีก 3 วัน”

ก๊ะนะ บอกเรื่องบีบหัวใจ ที่ทำให้เธอตัดสินใจลุกขึ้นมาช่วยเหลือชาวบ้านในตอนนั้น จนสามารถระดมเงินหลักแสน นำมาทำเป็นถุงยังชีพแจกให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนได้ทุกครัวเรือน

25 ตุลา เวียนกลับมาอีกครั้ง ครบรอบ 17 ปีของเหตุการณ์ตากใบ โศกนาฏกรรมที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต รวม 87 คน

ปีนี้ ไม่ต่างจากหลายปีที่ผ่านมา แม่ ๆ ผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ จัดงานรำลึกเหตุการณ์ด้วยการทำอัรเวาะห์ (ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิต) และละหมาดฮายัต ขอพรจากพระเจ้าให้เกิดความสุขสันติในพื้นที่

ก่อนงาน ก๊ะนะง่วนกับการเตรียมงาน และประสานงานผู้ที่จะมาประกอบพิธีทางศาสนา รวมทั้งเจ้าที่หลายฝ่ายมาก  เนื่องจากจัดงานภายใต้มาตรการป้องกันโควิด ส่วนในวันงาน เธอก็ยังสวมบทบาทเป็นแม่ครัวทำขนมจีนน้ำยาใส่ถุง แจกให้ผู้มาร่วมพิธี นำกลับไปทานที่บ้าน

“อยากให้เกิดสันติสุข อยากให้กลับไปเป็นเหมือนเดิม”

เธอบอกถึงความฝัน ฟังดูเรียบง่าย แต่ไม่ง่ายจะไปถึง

ฉันลองมานึกทบทวนไทม์ไลน์ชีวิตก๊ะนะ เริ่มต้นเมื่อ 25 ตุลา 2547 เธอไม่เพียงเป็นแม่ที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้ลูกชายในเหตุการณ์ตากใบ และเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวดูแลลูก ๆ 8 คน ตามลำพังหลังสามีโดนยิงเสียชีวิตในอีก 3 ปีต่อมา

แต่เธอยังทำหน้าไม่ต่างจากแม่ ในการดูแล ปกป้อง ช่วยเหลือเยียวยาผู้รับผลกระทบในชายแดนใต้ ที่บอบช้ำ และทุกข์ยากลำบากจากวิกฤติต่าง ๆ

ภายใต้สถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงในชายแดนใต้ ซึ่งถูกกระหน่ำซ้ำเติมกับเสียงปืน เสียงระเบิด ที่ยังไม่สิ้นของสถานการณ์ความรุนแรง เธอยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่ของเธอต่อไปเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ อย่างไม่ลดละเลิกและเหนื่อยอ่อน

ไม่มีสักวัน ที่ฉันเห็นเธอหยุดนิ่ง วันเวลาที่ผันผ่าน ไม่เคยดูดกลืนพลังมหัศจรรย์ในตัวเธอให้หายไปได้แม้แต่นิดเดียว

ฉันเคารพหัวใจของผู้หญิงคนนี้จริง ๆ


เรื่อง : โซรยา จามจุรี เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ CIVIC WOMEN

ภาพปก : ประชาไท

หมายเหตุ งานเขียนจากการอบรมเครือข่ายสื่อพลเมือง หลักสูตร เขียนให้ได้ใจ ครั้งที่ 1

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ