เครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา 4 ภาค ร่วมกับภาคเครือข่ายการศึกษาบนฐานชุมชน ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ร่วมกันจัดกิจกรรม การศึกษาบนฐานชุมชน ตอน คนมีราก เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนรักและภูมิใจในวิถีและวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง
“ถ้าวันหนึ่งคุณตาไม่อยู่แล้ว ภูมิปัญญามันก็หายไปกับตา ทั้งเรื่องภาษา ประเพณี พอตาพูดอย่างนี้แล้ว มันก็รู้สึกว่า เราก็เป็นลูกหลานในชุมชนนะ ทำไมเราไม่คิดที่จะสืบสาน ก็เลยอยากจะสืบต่อ ไว้ให้รุ่นน้องๆด้วย และเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รู้จักได้มาเห็นด้วย” นี่เป็นหนึ่งในคำพูดของ บิว อัจฉรา แก้วจันทร์ จากกลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาไทดำ เดินทางมาไกลกว่า 1300 กิโลเมตร จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนำวิถีและวัฒนธรรมไทดำมาเผยแพร่ให้คนพื้นที่อื่นๆได้รับรู้ ในงาน “การศึกษาบนฐานชุมชน ตอน คนมีราก” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ณ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จังหวัดเชียงใหม่
บิว อัจฉรา ยังเล่าว่า ภาษาไทดำ ตัวหนังสือไทดำ และประเพณี พิธีกรรมต่างๆ เธอเรียนรู้มาจากคุณตา คุณ บัวแก้ว ครูภูมิปัญญาไทดำ อายุ 72 ปี และเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับคุณตาอีกหลายท่าน เป็นคนสอนให้เธอและเยาวชนในชุมชนกว่า 50 คน สิ่งที่ถูกสืบทอดมายังรุ่นลูกรุ่นหลานของชาวไทดำ จ.สุราษฎร์ธานี นอกจากตัวหนังสือแล้ว ก็ยังมีพิธีเสนเรือนไทดำ(ไตดำ) เป็นพิธีที่แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของชาวไทดำที่ล่วงลับไปแล้ว และการเย็บผ้า รวดลายผ้าไทดำที่กำลังหาดูได้ยากก็ถูกสืบทอดมายังกลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาไทดำ กลุ่มนี้ เพื่อไม่ให้สูญหายไปกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งการศึกษาในปัจจุบันจะเน้นด้านวิชาการ ภาพรวมของส่วนกลางเป็นหลัก ขาดการปฎิบัติและภูมิปัญญาท้องถิ่นเดิมเริ่มหายไป ทำให้การพัฒนาชุมชนและสังคม โดยเยาวชนรุ่นใหม่ไม่สอดคล้องและไม่เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
เช่นเดียวกับชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานกรรมการโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า ตอนนี้ระบบการศึกษาของเรา เน้นผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เด็กเรียนจบส่วนใหญ่ต้องออกจากชุมชน ละทิ้งชุมชน ทำให้ครอบครัวอ่อนแอลง พ่อแม่ทำนาทำไร่ทำสวน ไม่มีคนสืบทอด ก็ต้องขายที่ องค์ความรู้ภูมิปัญญาก็ต้องหยุดไป ชุมชนก็ไม่มีผู้นำรุ่นใหม่ๆที่จะมาช่วยกันดูแล เพราะว่าไม่มีใครอยู่แล้ว มีแต่เด็กกับผู้เฒ่าผู้แก่ เมื่อชุมชนซึ่งเป็นรากฐานของสังคมใหญ่อ่อนแอ มันก็ทำให้สังคมโดยรวมอ่อนแอไปด้วย ที่สำคัญคือ เยาวชนที่ไม่เรียนรู้รากเง้าของตัวเอง ไม่รู้จักตัวเอง เมื่อไปเรียนอยู่ในสังคมใหญ่ มันก็จะถูกกระแสลากไป เป็นเยาวชนคนไม่มีราก ก็ตามกระแส พอตามกระแส ก็มักจะเป็นเหยื่อง่าย ทั้งเป็นเหยื่อเทคโนโลยี ตกเป็นเหยื่อของสื่อ ตกเป็นเหยื่อของการบริโภคง่าย แต่หลังจากโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มจับมือกับเครือข่ายเยาวชนที่สนใจสืบสานงานด้านภูมิปัญญาทั้ง 4 ภาค เหนือ อีสาน ใต้ ก็ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ หันมาสนใจชุมชนมากขึ้น เข้าใจรากเง้าตัวเอง เข้าใจสังคม เกิดความภาคภูมิใจในวิถีและวัฒนธรรมของตนเอง และอยากจะสืบสานต่อไป
ปัจจุบันก็มีเครือข่ายภูมิภาคกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง เช่น ประเทศลาว ทวายพม่า และจีน ก็หันมาร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง เพื่อไม่ให้สูญหายไปกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
ชัชวาล ทองดีเลิศ ยังบอกอีกว่า หลังจากเกิดปัญหาที่เยาวชนไม่อยู่ในชุมชน ไม่รู้จักชุมชน คือ เป็นคนไม่มีรากนั่นเอง ทำให้เยาวชนเหล่านี้ มักตกเป็นเหยื่อของสังคมง่าย ไหลไปตามกระแสง่าย จึงมีหลักคิดที่จะกระตุ้นเยาวชนให้เป็นคนที่ วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงได้ มีทักษะชีวิตทำงานพึ่งตนเองได้ เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจศาสนา เข้าใจสังคม เขาจะเป็นผู้นำที่มีคุณภาพของสังคม ที่จะช่วยกันดูแลสังคมต่อไปได้ในอนาคต หลังจากการทำกระบวนการสืบทอดสืบสาน ในที่สุดก็พบว่า พอเยาวชนได้เรียนรู้ภูมิปัญญาไปเรื่อยๆ เยาวชนมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ เยาวชนเริ่มรักชุมชน มีความภาคภูมิใจในตัวเอง ค้นพบรากเง้าตัวเอง เรียนรู้สังคมด้วย แนวคิดนี้ก็เลยกลายเป็นแนวคิดสำคัญที่ทางเครือข่ายเอามาใช้ นำมาสู่พัฒนาการมาสู่การศึกษาบนฐานชุมชน เพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพชีวิต มีทักษะชีวิต พึ่งตนเองได้ เป็นผู้นำของชุมชนในอนาคต เป็นผู้นำของสังคมในอนาคตได้ต่อไป
ในงานการศึกษาบนฐานชุมชน “คนมีราก” จึงมีแต่สีสันแห่งภูมิปัญญาจากทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นการแสดงพื้นบ้านจากภาคใต้ คือ รำมโนราห์ ฟ้อนเซิ้ง ของภาคอีสาน และการแสดงของภาคเหนือ ข้าวของเครืองใช้ เครื่องแต่งกายต่างๆ ทำให้ผู้เยี่ยมชมต่างก็ได้รับความสนุกสนานกันไป
ทีมข่าวพลเมือง จังหวัดเชียงใหม่ รายงาน