วิ่งด้วยใจ…คงไม่พอ

วิ่งด้วยใจ…คงไม่พอ

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ผมตัดสินใจหลบไปใช้ชีวิตเรียบง่าย มีครอบครัวเล็กๆ อยู่ที่บางบาล ชุมชนที่ทุกคนรู้จักกันดีว่าเป็นพื้นที่รับน้ำ ป้องกันน้ำท่วมเมืองกรุง สำหรับผมชาวบางบาลคือผู้เสียสละ  ไม่ว่าเขาจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม คนบางบาลอยู่กับน้ำได้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ แม้ว่าปัจจุบันเหตุการณ์น้ำท่วมจะเป็นเรื่องของการเมืองมากกว่าภัยธรรมชาติก็ตาม

ชีวิตเภสัชกรบ้านนอกที่เคยช้ำรักจากสาวเมืองกรุง  อาศัยอยู่ในร้านยาเล็กๆ ข้างที่ทำการไปรษณีย์  มีเรื่องราวสนุกสนานมากมายให้จดจำ แม้ว่าวันนี้ เวลาจะผ่านมากว่าสิบปี  ไม่มีร้านยา ไม่มีครอบครัวอยู่เคียงข้างกันอีกแล้วก็ตาม

บ่ายวันเสาร์ต้นฤดูฝน  แม่อ้อย ร้อยโล ขี่มอเตอร์ไซด์ฮอนด้าเวฟเก่าๆ พาลูกสาวหน้าตาขี้เหร่  ไว้ผมม้า ตาโตๆ มีไฝเม็ดใหญ่บนดั้งจมูก มาขอคำปรึกษาที่ร้านยา  “ครูติ ลูกพี่เป็นหอบหืด ผอมแห้ง กินอะไรไม่ค่อยได้ ตอนนี้กำลังเรียนชั้น ป.1 เรียนพิเศษทุกวัน เครียดมาก อยากจะหายากิน  ครูติมียาแนะนำไหม?” 

ผมชอบที่ใครๆ แถวนี้เรียกผมว่า “ครู” มากกว่า “หมอ”  อาจจะเป็นเพราะผมชอบออกไปสอนเด็กๆ ตามโรงเรียน และก็ชอบรับสอนการบ้านให้กับเด็กๆ ในชุมชนหลังเลิกเรียน  “เราชื่ออะไร?”  ผมถามเด็กน้อยซึ่งยืนเขม็งจ้องมองหนวดเคราที่ยาวรุงรังบนใบหน้าผม  ผมใช้นิ้วชี้กดเบาๆ ที่ไฝเม็ดใหญ่บนดั้งจมูกของเธอ ก่อนที่เธอจะหลบไปยืนร้องไห้โฮอยู่ข้างหลังแม่ “แบบนี้ไม่ต้องกินยาหรอก เลิกเรียนแล้วแม่อ้อยพาลูกๆ มาปล่อยไว้ที่ร้านยาวันละสองชั่วโมงนะ เดี๋ยวผมจะถ่ายทอดสุดยอดเคล็ดลับวิชาให้เอง”  ผมพูดพร้อมกับเอามือลูบเคราเบาๆ  รู้สึกราวกับว่าตัวเองเป็นขงเบ้งแห่งทุ่งบางบาล

หลังจากวันนั้นแม่อ้อย ร้อยโลก็พาลูกๆ ทั้งสองคนคือ เจ้าเบ๊บ พี่ชาย และเจ้าบุ๊ค น้องสาว มาฝากไว้ที่ร้านยาหลังเลิกเรียนเป็นประจำทุกวัน  สิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้จากผมไม่ใช่การแก้สมการคณิตศาสตร์  ไม่ใช่การท่องจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษ หรือความรู้วิชาวิทยาศาสตร์ในตำราเรียนแบบฝรั่ง  แต่เด็กๆ ได้วิ่งเล่นวันละ 2-3 กิโลเมตร ได้ขี่จักรยานไปเที่ยววัด เที่ยวบ้านเพื่อน  ได้เตะฟุตบอล  ตีแบต  วาดรูป  ดูนกแสก นกฮูกตามป่าช้าวัดต่างๆ ตอนโพล้เพล้  เรียกว่าพอกลับบ้านหัวถึงหมอนก็นอนหลับสบาย  ตื่นเช้าไปโรงเรียนอย่างสดใส  มีเรื่องราวแปลกใหม่ ตื่นเต้น ไปเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง ผมและเด็กๆ ตั้งชื่อกลุ่มว่า “รักษ์บางบาล” 

กลุ่มรักษ์บางบาล

หนึ่งปีผ่านไปเมื่อความท้าทาย ตื่นเต้น ของกิจกรรมต่างๆ ที่เราทำชักจะเริ่มลดน้อยลงทุกที ทั้งๆที่กลุ่มรักษ์บางบาลของพวกเรามีขนาดใหญ่ขึ้น มีสมาชิกรวมกันเกือบ 20 คน โจทย์ยากๆ ของเภสัชกรรักเด็กอย่างผม ณ เวลานี้คือ “จะทำอย่างไรให้พวกเขารู้สึกสนุกสนาน และท้าทายกับกิจกรรมใหม่ๆ ของกลุ่มรักษ์บางบาล” จนวันนึงบังเอิญไปเห็นภาพพี่ตูนนั่งหมดแรงพิงแผงเหล็กในเฟซบุ๊กของเพื่อนเรียนสมัยมัธยม เพื่อนซึ่งเคยรู้จักสนิทสนมกับพี่ตูนเป็นอย่างดี พลันก็คิดขึ้นมาได้ว่าธรรมชาติของเด็กๆ คืออะไร  “วิ่งเล่นไง” “เราจะออกไปวิ่งเล่นกัน”  วันนั้นผมบอกเด็กๆ ไปแบบหล่อๆ เลยว่า ได้เวลาออกไปวิ่งสู่ชีวิตใหม่กันแล้วพวกเรา …

ในครั้งแรกที่เจ้าบุ๊คถูกส่งลงสนามวิ่งแข่งขัน ระยะฟันรัน 5 กิโลเมตร ด้วยวัยเพียง 8 ขวบนั้น ทันทีที่เสียงแตรลมปล่อยตัวนักวิ่งดังขึ้น เด็กน้อยวิ่งทะยานไปข้างหน้า สับขาอย่างว่องไว แม้ว่าจะก้าวขาไป 2-3 ก้าว ก็ยังไม่เท่าก้าวของผู้ใหญ่เพียงก้าวเดียวก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะว่าเด็กน้อยผู้มีหัวใจนักสู้ เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น และกระหายในชัยชนะเกินกว่าเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน

“หายใจเข้าให้นับ 1 – 2 – 3 หายใจออกนับ 4” เทคนิคการวิ่งง่ายๆ ที่ผมสอนเด็กๆ ให้มีสมาธิ จิตจดจ่ออยู่เฉพาะการวิ่ง  วิ่งตามเขาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเห็นเส้นชัย และจำเอาไว้ว่าพยายามวิ่งแซงทุกคนจนกว่าจะเข้าเส้นชัย

เด็กน้อยประสบความสำเร็จคว้าถ้วยรางวัลการแข่งขันได้ตั้งแต่สนามแรกที่ลงแข่ง และใช้เวลาเพียงสองปีในการพัฒนาทักษะการวิ่งของตัวเอง จนมีชื่อติดอันดับรับรางวัลถ้วยพระราชทาน ระยะทาง 10 กิโลเมตร มาครอบครองได้สำเร็จ โดยมีพี่ๆ เพื่อนๆ กลุ่มรักษ์บางบาลช่วยกันดูแล เล่นบ้าง ซ้อมบ้าง แข่งขันกันบ้าง สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนาน เป็นประสบการณ์วัยเด็กที่ยากจะลืม

แต่ความสำเร็จจากการวิ่งนั้น ก็ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียโอกาสทางการศึกษา เมื่อพบว่าโรงเรียนไม่มีนโยบายสนับสนุนให้เจ้าบุ๊ค ซึ่งเป็นเด็กระดับหัวกระทิของโรงเรียน หันมาเอาดีทางด้านการแข่งขันวิ่ง มากกว่าการสร้างชื่อเสียงด้านวิชาการให้โรงเรียน  โดยเฉพาะในปีสุดท้ายของการเรียน  เจ้าบุ๊คถูกย้ายชื่อออกจากห้องวิทย์-คณิต  เนื่องจากไม่มีเวลามาเรียนพิเศษช่วงวันเสาร์-อาทิตย์กับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน ไม่มีเวลาติวสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนชื่อดัง เพราะว่ามีโปรแกรมไปวิ่งแข่งขันรายการต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ระยะฟันรัน 5 กิโลเมตร มินิมาราธอน 10.5 กิโลเมตร และฮาล์ฟมาราธอน  21.5 กิโลเมตร ซึ่งทำให้เจ้าบุ๊คกลายเป็นนักวิ่งหญิงดาวรุ่งระดับแนวหน้าของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  สามารถติดอันดับรับรางวัลถ้วยพระราชทานระยะทาง 10 กิโลเมตร มาครอบครองได้สำเร็จอีกครั้ง 

ท่ามกลางความกดดันที่ถาโถมมายังครอบครัว ที่ถูกตั้งคำถามจากครู และผู้ปกครองหลายคนว่า ทำไมไม่ส่งเสริมด้านการเรียน  วิ่งมากๆ จะทำให้เจ็บ พิการ  เตี้ย แกร็น กระดูกเสื่อม ฯลฯ ก่อนสุดท้ายครอบครัวจะตัดสินใจเสี่ยงเลือกที่จะส่งเจ้าบุ๊คไปเรียนโรงเรียนกีฬา  สวนกระแสผู้ปกครองที่ต้องการแข่งขันด้านการเรียน แข่งขันกันสอบ วัดความสำเร็จกันที่คะแนนและผลสอบเข้าโรงเรียนชื่อดัง

สามเดือนแรกที่โรงเรียนกีฬา คงเป็นช่วงเวลาพิสูจน์จิตใจที่แข็งแกร่งของเด็กน้อย การไปใช้ชีวิตกินนอนรวมอยู่กับเพื่อนแปลกหน้า มาจากต่างถิ่นที่ ด้วยกันทุกวี่วัน  มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สำหรับเด็กวัย 12 ขวบ  หลายครั้งที่ผมนั่งฟังโทรศัพท์จากเด็กน้อย โทรมาร้องไห้ อ้อนวอนให้ไปรับกลับบ้าน พร่ำพรรณนาว่าคิดถึงบ้าน คิดถึงเพื่อน คิดถึงพี่ คิดถึงพ่อแม่ จนแทบจะกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่  “คนเป็นพ่อเป็นแม่จะต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่งขนาดไหน ถึงจะผ่านคืนวันเหล่านี้ไปให้ได้”

หลังจากหวุดหวิด จวนเจียน จะพ่ายแพ้ต่อความสงสาร ความรัก ความคิดถึง อันทุกข์ทรมานปานว่าจะขาดใจนั้น การแข่งขันสนามแรกอย่างเป็นทางการก็มาถึง  ภาพเด็กหญิงผอมแห้ง ผมม้า ตาโต เคยเป็นเด็กที่เรียนหนังสือเก่งมากๆ แต่วันนี้ตัดสินใจเลือกวางตำราแล้วหันมาเอาดีทางด้านกีฬาวิ่ง กำลังวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก สนามแล้ว สนามเล่า จนเป็นที่โจษขานกันว่า เธอเป็นม้ามืดของวงการวิ่งภูธร  เพราะเพียงแค่ปีแรกที่ลงสนามแข่งขัน เธอก็ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ เพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเองอย่างไร้คู่แข่งนั่นเอง

เด็กน้อยที่ใครหลายคนบ่นเสียดายมันสมอง อยากจะให้เอาดีทางด้านการเรียน การสอบแข่งขัน มากกว่าการเป็นนักกีฬาวิ่ง กำลังไปด้วยสวยกับการวิ่งระยะกลาง ระยะไกล จนเมื่อเจ้าโควิด 19 เข้ามา ทำให้การแข่งขันวิ่งทุกรายการต้องยกเลิก เลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด  หรือนี่จะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของครอบครัวที่ไม่เลือกการเรียนเป็นตัวเลือกแรก  ท่ามกลางความสับสนครุ่นคิดวกวนไปมาในภาวะวิกฤตโควิด 19 ว่าชีวิตเด็กน้อยจะไปทางไหนดีนั้น  จู่ๆ ก็มีโอกาสอันยิ่งใหญ่ และไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะได้พบเจอ  เมื่อโค้ชทีมชาติสนใจอยากให้ไปเก็บตัวซ้อมกับพี่ๆ นักวิ่งทีมชาติระยะกลาง ซึ่งหลังจากแม่อ้อยวางสายโทรศัพท์จากโค้ชทีมชาติ  พลันเสียงเฮ โห่ ฮา ก็ดังลั่น สนั่นหมู่บ้าน  ใครจะไปรู้ว่าเด็กผู้หญิงตัวน้อยๆ ที่ยังไม่เคยรับเหรียญรางวัลกีฬาระดับชาติเลยซักครั้ง  กำลังจะเข้าแค้มป์เก็บตัวเป็นนักวิ่งเยาวชนทีมชาติไทยด้วยวัยเพียง 14 ปี

โควิด 19 อาจจะยังคงอยู่กับพวกเราไปอีกยาวนาน การแข่งขันวิ่งรายการต่างๆ คงยากที่จะเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้  วันที่เพื่อนๆ เลือกเอาดีด้านการเรียนแต่ยังไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียน วันที่ต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ที่เคยกินนอนด้วยกัน เพื่อมาเก็บตัวฝึกซ้อมในแค้มป์ทีมชาตินานกว่า 1 ปี  ว่ากันว่านักวิ่งหญิงระยะ 800 เมตรในประเทศไทยตอนนี้ ไม่มีใครเก่งเกินเด็กสาววัยสิบห้าหยกๆ สิบหกหย่อนๆ ที่ชื่อ “พุทธชาด สุขกลิ่น” แน่นอน คงเป็นเพราะในช่วงเวลาที่โควิด 19 ระบาดหนักเช่นนี้ มีเพียงเธอคนเดียวเท่านั้นที่ ซ้อม ซ้อม ซ้อม และซ้อม

เภสัชกรบ้านนอกอย่างผมที่เคยพาเด็กหญิงขี้แย ขี้โรค วิ่งเล่นริมคันนาเมื่อ 7 ปีก่อน ตอนนี้กำลังใจจดใจจอรอคอยการลงสนามแข่งขันอย่างเป็นทางการในนามทีมชาติของเด็กน้อย ซึ่งวันนี้เติบโตเป็นสาวสะพรั่ง ในทุกครั้งที่คิดถึงเรื่องราวของเธอ ภาพพี่ตูนนั่งหอบพิงแผงเหล็กกั้นงานวิ่งค่อยๆ ลอยผ่านมา ภาพการเข้ารับรางวัลถ้วยพระราชทานครั้งแรกของเธอด้วยวัยเพียง 10 ขวบ ภาพที่เพื่อนพี่น้องทุกคนพากันไปส่งเธอเข้าแค้มป์เก็บตัวฝึกซ้อมกับทีมชาติทยอยล่องลอยมาอยู่ตรงหน้า แต่ผมเชื่อว่าภาพที่ทุกคนปรารถนาจะเห็นมากที่สุดตอนนี้คือ ภาพเด็กสาววัยสิบห้าที่ตอนนี้สูงกว่า 170 เซนติเมตร สวมชุดทีมชาติไทยลงแข่งขันวิ่งรายการระดับนานาชาติครั้งแรกอย่างเป็นทางการเสียที 

สำหรับ 7 ปี ที่ผ่านมานี้ แค่วิ่งด้วยใจคงไม่พอจริงๆ

หมายเหตุ งานเขียนจากการอบรมเครือข่ายสื่อพลเมือง หลักสูตร เขียนให้ได้ใจ ครั้งที่ 1

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ