ชำแหละสัมปทาน-ร่าง พ.ร.บ.แร่ ประชาชนอยู่ตรงไหน?

ชำแหละสัมปทาน-ร่าง พ.ร.บ.แร่ ประชาชนอยู่ตรงไหน?

ชำแหละสัมปทานและร่างพ.ร.บ.เหมืองแร่เหมืองแร่ ประชาชนอยู่ตรงไหน

สัมภาษณ์พิเศษ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา หลังจากการนำเสนอข้อมูลในเวที ‘Development for Whom? การพัฒนาเพื่อใคร?’  13 ม.ค. 2559 ณ คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาประเทศเพื่อที่ยังประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ ผ่านประสบกาณ์ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น เหมืองแร่เมืองแร่ทองคำ จ.เลย  เหมืองทองคำ จ.พิจิตร เหมืองแร่ในมองโกเลีย และซิมบับเว 

000

การทำสัมปทานเหมืองแร่ในปัจจุบันมีบทเรียนท้าทายในแง่ของการพัฒนา ที่ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนหลายแห่งที่มีทั้งยุติไปแล้วหรือดำเนินการอยู่ เช่น การทำเหมืองแร่ดีบุก ที่ อ.ร่อนพิบูรณ์ จ.นครศรีธรรมราช ที่ทำให้คนเป็นไข้ดำ จากการปล่อยสารหนูจนสะสมในแหล่งน้ำธรรมชาติ กรณีเหมืองดีบุกในทะเลภาคใต้ มีเทคโนโลยีการสูบแร่ดีบุกจากทะเลโดยตรง จากระนอง พังงา ภูเก็ต จนทรัพยากรทางทะเลเสียหาย เนื่องจากช่วงนั้นไม่มีกฎหมายด้านสิงแวดล้อม นำไปสู่การลุกฮือของประชาชนเผาโรงงานแทนทาลัม

กรณีการทำเหมืองอุตสาหกรรมเกลือในภาคอีสาน กรณีการทำเหมืองที่ลำห้วยคลิตี้ จ.กาญจนบุรี กรณีพบการปนเปื้อนแคดเมียมจากการทำเหมืองแร่สังกะสีที่แม่สอด จ.ตาก กรณีเหมืองแร่ถ่านหินที่แม่เมาะ เหมืองแร่ที่ถูกเปิดหน้าดินแอ่งแม่เมาะ กรณีเหมืองทองอัครา จ.พิจิตร เป็นสายแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในไทย บนเทือกเขาเพชรบูรณ์ คือพิจิตร และเลย กรณีเหมืองทองทุ่งคำ จ.เลย ล้วนแล้วแต่เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญต่อแนวคิดการพัฒนาที่ส่งผลต่อชุมชนโดยตรง ในการจัดสรรการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

20161901115827.jpg
 
การทำสัมปทานเหมืองแร่ในปัจจุบันนั้นอิงกับกฎหมายแร่ คือ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 การขอระบบสัมปทานจะต้องเริ่มต้นจากการขอสัมปทานเพื่อสำรวจแร่ก่อน เรียกว่า ‘อาชญาบัตร’ หรือ ‘อาชญาบัตรพิเศษ’ พอสำรวจพบแร่ที่ต้องการจะทำมีศักยภาพแร่ในเชิงพานิชย์ก็จะต้องขอสัมปทาน ที่เรียกว่า ‘สัมปทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่’ เช่น เหมืองแร่บนบกขอได้ 300 ไร่ต่อหนึ่งคำขอ และสามารถขอได้ติดต่อกันหลายแปลง หรือ กรณีเหมืองแร่ในทะเลอาจขอได้แปลงใหญ่หน่อย อาจเป็นหมื่นไร่ นี่เป็นกฎหมายแร่ที่ใช้ในปัจจุบัน
 
ขณะนี้ได้มีการทดลองใช้ระบบใหม่ที่แตกต่างไปจาก พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 ใน 2-3 โครงการที่มีทดลองใช้ระบบสัมปทานแบบใหม่ หรือ ‘สัมปทานแบบพิเศษ’ คือ มีสัญญาครอบระบบสัมปทานอีกชั้นหนึ่ง จะต่างจากระบบเดิมที่ต้องขอสัมปทานเพื่อสำรวจก่อน หากพบแร่มีประสิทธิภาพในเชิงพานิชย์แล้วจึงจะขอสัมปทานทำเหมืองแร่ แต่จะมีสัญญาครอบเข้ามาอีกชั้นหนึ่ง
 
สัญญาตัวนี้หรือระบบสัมปทานพิเศษตรงนี้มีความแตกต่างกับสัมปทานแร่ปี 2510 คือ หากมีการพบว่าไม่สามารถทำเหมืองแร่ให้เป็นไปตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ทำเมืองแร่ให้ปนเปื้อนสุขภาวะ ทำเหมืองแร่ให้กระทบเจ็บป่วย ทำให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรมก็สามารถขอเพิกถอนสัญญาบัตรได้
 
แต่ระบบแบบใหม่นี้เกรงว่าแม้จะพบเหตุให้เพิกถอนสัญญาบัตร แต่อาจไม่สามารถเพิกถอนได้ เพราะสัญญามักระบุเงื่อนไข รายระเอียดในสัญญาไว้ว่า รัฐจะต้องเอื้อประโยชน์ให้เอกชนให้ถึงที่สุดเท่าที่จะเอื้อได้ เช่น หากเอกชนมีปัญหาในเชิงระเบียบข้อบังคับของกฎหมายไทย รัฐต้องแก้ไข ระบบสัมปทานแบบที่มีสัญญาครอบแบบนี้ถูกนำมาใช้ คือ โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี โครงการเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย เป็นต้น
 

จากการตรวจสอบสัมปทานชนิดพิเศษนี้พบว่าไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 ที่บังคับใช้อยู่ ไม่พบว่าบทบัญญัติใดๆ เอื้อให้มีสัญญาครอบแบบนี้ กลับพบว่าระบบนี้เป็นไปตามอำนาจของของฝ่ายบริหารตามมติคณะรัฐมนตรี ที่อนุญาตให้การขอสัมปทานให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่มีสัญญาครอบได้อีกหนึ่งชั้น และระบบนี้กำลังพัฒนาผ่านการแก้ไขร่างกฎหมายแร่ในปัจจุบัน เพื่อให้ถูกหลักของกฎหมายให้ชัดเจน

20161801152117.jpg

สัมปทานแบบใหม่กับ Mining Zone

Mining Zone มีหลักใหญ่ๆ คือ 1.จะทำให้ร่างกฎหมายเหมืองแร่มีอำนาจบังคับใช้เหนือกว่ากฎหมายอื่นๆ ทั้งหมด โดยเฉพาะกฎหมายที่หวงห้ามการพื้นที่ทั้งหลาย เช่น พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อ่อนไหวทางระบบนิเวศ พื้นที่พรุ พื้นที่ชายฝั่งทะเล เป็นต้น ร่างกฎหมายแร่ตัวใหม่จะมีอำนาจเหนือกฏหมายเหล่านี้ทั้งหมด สามารถนำพื้นที่เหล่านั้นออกมาเพื่อให้หน่วยงายที่บริหารจัดการเปิดประมูลเพื่อสำรวจและทำเหมืองแร่

2.จะให้สัมปทานแปลงใหญ่ ต่างจากกฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบันที่ให้แปลงเล็ก คือ แปลงละประมาณ 300 ไร่ และหลายๆ แปลงติดต่อกัน และดูความเหมาะสม เช่น บริษัทนี้จะมีศักยภาพในการทำในอายุ 25 ปีกี่ไร่ ก็จะให้เฉพาะปริมาณนั้น แต่ตัวใหม่จะให้สัมปทานเป็นแปลงขนาดใหญ่ไปเลย

การให้สัมปทานแปลงใหญ่มีการใช้แล้วในระบบที่มีสัมปทานครอบมีแล้วที่เหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี และเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย คือให้สัญญาแปลงใหญ่ระดับแสนไร่ ซึ่งการให้สัมปทานแปลงใหญ่แบบนี้ต้องใช้กฎหมายพิเศษ เนื่องจากสัญญาแบบเดิมไม่สามารถคุ้มครองการลงทุนได้ดีนัก จึงต้องเปลี่ยนเป็นระบบสัมปทานพิเศษที่มีสัญญาครอบอีกชั้น เพื่อให้ผู้ลงทุนแปลงใหญ่มีความมั่นใจในการลงทุนระยะยาวมากขึ้น

กรณีเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย สิ่งที่น่าติดตามต่อไปเป็นการขยายสัมปทานพื้นที่ออกไปเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันมีการทำเหมืองอยู่ที่ภูทับฟ้าและภูซำป่าบอน รวมพื้นที่ประมาณ 1,200 ไร่ แต่ก็มีเขตศักยภาพแร่ที่ขอสัมปทานเอาไว้อีกประมาณ 30,000 ไร่ แต่เนื่องจากยังติดปัญหาที่พื้นที่ยังเป็นพื้นที่ถูกสงวนห้ามตามกฎหมายอื่น คือ พื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่อุทยานและป่าสงวนแห่งชาติ ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ตรงนั้นได้ง่าย ซึ่งหาก พ.ร.บ.แร่ตัวนี้ผ่านจะทำให้พื้นที่ตรงนั้นถูกเฉือนออกมาทันที่ และนำไปสู่การเปิดหน้าดิน ซึ่งการทำเหมืองขนาดใหญ่ค่อนข้างจะส่งผลกระทบกับชุมชนในระดับที่สูงขึ้นด้วย

สิ่งที่เป็นข้อกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่

การให้อำนาจกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่แต่เพียงผู้เดียวในการทำหน้าที่ในการกำกับดูแลทั้งหมด และตัดกระบวนการมีมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและการเมืองออกไปจากกระบวนการขอสัมปทานทั้งหมด ในปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเซ็นอนุมัติ แต่ในอนาคตจะเป็นปลัดกระทรวง เป็นข้าราชการประจำ เป็นเรื่องของกระบวนการสัมปทานที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการประจำเท่านั้น และมีการลดขนาดการสัมปทานเป็น 3 ขนาด คือ ปทานบัตรขนาดเล็ก ประมาณ 100 ไร่ ให้องค์การบริหารส่วนตำบลหรือผู้ว่าราชการจังหวัดอนุญาตได้เลย สอง คือ ระดับ 600 ไร่ให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่ออกปทานบัตรให้ได้ สาม คือ ขนาดใหญ่กว่า 600 ไร่ ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเซ็นออกปทานบัตรได้เลย

ดูเหมือนเป็นการกระจายอำนาจ แต่ทั้งสามแบบตัดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนออก ตัดกระบวนการที่มีส่วนร่วมของภาคการเมืองออก ซึ่งการเมืองเป็นตัวที่สามารถยึงโยงประชาชนได้พอสมควร ชุมชนสามารถเสนอข้อเรียกร้องได้ และอาจเกิดกรณี เช่น สำรวจพบแร่ 1,200 ไร่ ซึ่งการขอแปลงใหญ่ทำได้ยาก ต้องทำกระบวนการ EIA นำไปสู่การแบ่งย่อยเป็นแปลงละ 100 ไร่ ขอเป็นปทานบัตรแปลงเล็ก เพื่อให้นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแทน เป็นการลอดช่องโหว่ เพื่อให้การขอสัมปทานบัตรสั้นลง และลดความยุ่งยากในการทำข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็จะมีการหลบเลี่ยงแบบนี้ได้

สิ่งที่น่ากังวลอีกประการ คือ การบัญญัติว่าหากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานการเหมืองแร่พบว่าพื้นที่ใดมีแร่ สามารถไปสำรวจแร่ และทำศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้เลย และสามารถออกประกาศให้เอกชนเข้ามาสัมปทาน โดยที่นิติบุคคลนั้นไม่ต้องทำ EIA ใดๆ ทั้งสิ้น การบังคับใช้ของผู้ที่เข้ามาทำกิจการเหมืองแร่ที่ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบด้นสิ่งแวดล้อมอาจจะถูกละเลยไปได้ และกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจะถูกตัดให้น้อยลง กระบวนการของชาวบ้านก็จะถูกตัดไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ