ชาวบ้านลุ่มน้ำชีร้องรัฐมนตรีเกษตรฯ หารือการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อน

ชาวบ้านลุ่มน้ำชีร้องรัฐมนตรีเกษตรฯ หารือการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อน

แกนนำกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย  ลุ่มน้ำชี  นัดพบท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือการแก้ไขปัญหา วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเวลา 10.00 น. 

หลังจากที่กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด และเขื่อนยโสธร-พนมไพร ลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด ได้รวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรนาน 2-3 เดือน ส่งผลให้ชาวบ้านต้องสูญเสียโอกาสในการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการทำเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน และเป็นปัญหาน้ำท่วมที่ผิดปกติจากธรรมชาติเดิม ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนเสร็จ

เดิมปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรก่อนการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชีนั้นจะท่วมในราวๆ 7-15 วัน ต้นข้าวก็ไม่เสียหายชาวบ้านกลับเรียกว่า “น้ำสระหัวข้าว” เป็นปรากฏการณ์ที่ปุ๋ยธรรมชาติพัดพาตะกอนมากับน้ำแล้วมาเกาะกับต้นข้าวทำให้เกิดการหล่อเลี้ยงต้นข้าวให้สมบูรณ์เจริญเติบโต ชาวบ้านสามารถที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทำให้เกิดการสร้างรายได้กับครอบครัวและชุมชนเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของชาวบ้าน แต่หลังจากการสร้างเขื่อนเสร็จประมาณปี 2543 ปรากฏการณ์น้ำท่วมหลาก 7-15 วันกลับหายไป เป็นปรากฏการณ์น้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรนาน 2-3 เดือน ทำให้ต้นข้าวเสียหาย ชาวบ้านสูญเสียรายได้จากการทำนาปี วิถีชีวิตชาวบ้านกลับต้องเปลี่ยนแปลง ทั้งที่แม่น้ำชีสายนี้เป็นแม่น้ำที่จะต้องระบายน้ำได้ดีในช่วงฤดูน้ำหลากมิใช่กักเก็บน้ำแล้วบริหารให้เกิดปัญหากับชาวบ้านที่มีวิถีต้องพึ่งพาอาศัยแม่น้ำสายนี้ในการหล่อเลี้ยงชีวิต

จากสถานการณ์ปัญหานี้ ทำให้กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด และเขื่อนยโสธร-พนมไพร ลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด ได้เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2553 (ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เพื่อให้รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากและหมักหมมมาเป็นระยะเวลาหลายปีที่ยังไม่เกิดการแก้ไขปัญหา

ชาวบ้านได้มีข้อเรียกร้องคือ 

  1. ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อยในลุ่มน้ำชี
     
  2. ให้รัฐบาลจ่ายค่าสูญเสียโอกาส หรือค่าชดเชยจากการสร้างเขื่อนที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่เขื่อนสร้างเสร็จปี 2543-2547
     
  3. ให้รัฐบาลศึกษาปัญหาและผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เนื่องจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด และเขื่อนยโสธร-พนมไพร เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ศึกษาผลกระทบ การศึกษาผลกระทบเพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ตลอดทั้งการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชน และสิ่งแวดล้อม

การยื่นหนังสือครั้งนั้นทำให้เกิดการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในสมัยนั้น)มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 331/2553 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2553  โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(นายธีระ วงศ์สมุทร) เป็นประธาน จากนั้นได้ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาและได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาในจังหวัดยโสธร

สรุปการแก้ไขปัญหาในช่วงรัฐบาล (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) สมัยนั้น ส่วนมากยังใช้เวลากับการดำเนินการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา และการประชุมอนุกรรมการบางจังหวัด จากนั้นรัฐบาล(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)ก็หมดวาระลง

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี (ในสมัยนั้นนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 12/2555 แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการสร้างฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร-พนมไพร และฝายธาตุน้อย แทนคำสั่งเดิม (รัฐบาลชุดที่แล้ว)ที่หมดวาระลง โดยได้ใช้โครงสร้างการแก้ไขปัญหาตามคณะกรรมการชุดเดิมที่มีอยู่แล้ว และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายธีระ วงศ์สมุทร)ในสมัยนั้น ก็ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโดยยังคงใช้โครงสร้างแบบเดิม ซึ่งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัด ยังได้ประชุมและมีมติแต่งตั้งคณะทำงานระดับอำเภอเพื่อลงตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตามรายชื่อที่กลุ่มชาวบ้านเรียกร้อง แต่การแก้ไขปัญหาก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน รัฐบาลก็หมดวาระลง

จากกระบวนการแก้ไขปัญหาและการเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย  ลุ่มน้ำชี  ยังไม่มีความคืบหน้าตลอดระยะเวลาที่กลุ่มชาวบ้านเรียกร้องก็ผ่านมาตั้ง 2 รัฐบาล 5 ปี โดยมีแต่การแต่งตั้งคณะกรรมการ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด  และการแต่งตั้งคณะทำงานเท่านั้น แต่ยังไม่ให้เห็นกระบวนการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมและชัดเจนจากรัฐบาล

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ