การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 นอกจากจะสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนแล้ว ยังทวีความเข้มข้นให้กับมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคของทางภาครัฐอีกด้วย
“สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายขอเรียนชี้แจงว่า จากการลงสอบสวนโรคของเจ้าหน้าที่พบผู้ติดเชื้อจำนวน 1 ราย เดินทางมาจากจังหวัดเชียงใหม่และได้เข้าพักที่หมู่บ้านไทยสมุทร ตรวจสอบพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 4 ราย ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยตามที่เป็นข่าว ทั้งนี้ได้มีคำสั่งให้ซอยในหมู่บ้านแห่งนี้เป็นพื้นที่ควบคุมพร้อมออกคำสั่งกักตัวผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 รายแล้ว”
ข้อความข้างต้น เป็นข้อเท็จจริงที่ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายออกมาชี้แจงกับประชาชนหลังมีข่าวลือผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่าพบผู้ป่วย COVID-19 จำนวนมากที่ตลาดล้านเมืองและหมู่บ้านไทยสมุทร ตำบลสันทราย อำเภอเมืองเชียงราย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวเชียงราย แม้ว่าในกรณีนี้ทางจังหวัดได้มีคำสั่งควบคุมโรคระบาดออกมาในรูปแบบของคำสั่งปิดชุมชนและให้ชุมชนในเขตพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อต้องกักตัวแล้วก็ตาม เมื่อพูดถึง “การกักตัว” หลายท่านคงคุ้นเคยและรู้จักการกักตัวมาไม่มากก็น้อย แต่หากไม่เคยประสบกับ “คำสั่งกักตัว” ด้วยตนเองคงยากที่จะเข้าใจถึงบริบทและความรู้สึกของมันอย่างแท้จริง ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อคำสั่งนั้นเกิดขึ้นกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มเปราะบางของสังคม
การควบคุมโรคระบาดก็จำเป็น การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมก็ขาดไม่ได้
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 หนึ่งวันหลังจากที่พื้นที่ซอย 2 และซอย 3 ของชุมชนไทยสมุทรถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม ผู้เขียนได้มีโอกาสอยู่ในพื้นที่ขณะที่ผู้ว่าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดเชียงรายออกตรวจเยี่ยมชุมชนไทยสมุทร ในวันนั้นบริเวณพื้นที่แคบๆของถนนปากทางเข้าหมู่บ้าน จึงเต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่และบุคลากรจากหลายสังกัดเดินไปมากันขวักไขว่จนไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนเป็นหน่วยงานไหน
วรนุช ไพรหิรัญ เจ้าหน้าที่หญิงจากหนึ่งในหน่วยงานที่มาในวันนั้นซึ่งผู้เขียนเห็นเธอทำหน้าที่จัดแจงเรื่องต่างๆหน้างานอย่างคล่องแคล่ว เมื่อมีโอกาสพูดคุยจึงได้ทราบว่าเธอคือหัวหน้าฝ่ายบริหารงานสาธารณสุขเทศบาลนครเชียงราย รับหน้าที่เข้ามาควบคุมพื้นที่และเชื่อมประสานกับหน่วยงานอื่นๆ เธอเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์จากการทำงานในครั้งนี้ว่าการที่ “เราไม่เคยเรียนรู้เขา” คือสิ่งที่ทำให้การทำงานของเธอยาก
“เราไม่เคยเรียนรู้กับตรงนี้เพราะเป็นพื้นที่เหมือนพื้นที่หนึ่งที่เรามองว่าบ้านเช่าที่ไหนก็มี”
เธอมองว่าหากมีการเรียนรู้สังคมของแรงงานมาตั้งแต่แรกจะทำให้เธอสามารถให้ความรู้ความเข้าใจกับกลุ่มแรงงานในช่วงกักตัวได้มากกว่านี้ และเมื่อถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานจากการกักตัวในครั้งนี้ เธอมองว่าปัญหาสำคัญคือเรื่องของเศรษฐกิจปากท้องการทำมาหากินของแรงงานที่ต้องชะงักไป และแรงงานคนอื่นๆในชุมชนรู้สึกไม่พอใจที่มีการปิดพื้นที่ เพราะมันทำให้พวกเขาออกไปทำมาหากินไม่ได้ ขาดงาน ขาดรายได้ และเธอได้ย้ำว่า “การปิดพื้นที่และส่งข้าวเข้าไปแค่สองถุงสามถุง หรืออาหารกล่องบ้างมันไม่เพียงพอสำหรับเขา” เพราะในระหว่างกักตัวแรงงานยังคงมีค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่ต้องกิน ต้องใช้อยู่
นับตั้งแต่วันที่ซอย 2 และซอย 3 กลายเป็นพื้นที่ควบคุม ชุมชนเล็กๆที่มีบ้านชั้นเดียวเรียงรายอยู่ไม่ต่ำกว่าสิบหลัง ติดต่อกันหลายซอย ซึ่งส่วนใหญ่เปิดให้เช่าแห่งนี้ได้กลายเป็นพื้นที่ปิด ซึ่งเมื่อเดินตามถนนเส้นหลักของหมู่บ้านเข้ามาแล้ว ทางขวามือจะเห็นพื้นที่กักตัวแรงงานที่ถูกปิดเป็นเป็นพื้นที่ควบคุมอย่างชัดเจนด้วยรั้วเหล็กพร้อมป้ายห้ามเข้าตั้งปิดทางเข้าออกหน้าซอยไว้ โต๊ะสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวๆถูกนำมาตั้งกั้นไว้อีกหนึ่งชั้นเพื่อเป็นการสร้างระยะห่างระหว่างคนในพื้นที่ควบคุมกับคนนอกพื้นที่ควบคุม อีกทั้งบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านที่เป็นถนนเส้นเดียวตอนลึกยังมีเจ้าหน้าที่ป้องกันและเจ้าหน้าที่เทศกิจคอยผลัดเวรกันเฝ้าไว้อีกด้วย
ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการที่มีหน้าที่เฝ้าระวังและห้ามบุคคลเข้าออกตามคำสั่งของศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคเทศบาลนครเชียงราย ในบริเวณซอย 2 ซอย 3 ของชุมชนไทยสมุทร ภูวเดช ดาระสุวรรณ หัวหน้ารักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงเทศบาลนครเชียงราย สะท้อนว่า “ในการปฏิบัติงานหน้างาน ตัวแรงงานเองไม่มีปัญหากระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ เพราะเราเองก็ไม่ทราบว่าเค้าจะปฏิบัติตามคำสั่งเรามากน้อยแค่ไหน เราไม่ทราบเลยว่าข้างในมีคนอยู่จริงไหม เพราะเจ้าหน้าที่เทศกิจเองก็เฝ้าแต่ปากทาง”
แม้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 14 วันที่ชุมชนไทยสมุทรถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจะไม่พบปัญหาใดๆ แต่คุณภูวเดชได้ให้ข้อเสนอแนะทิ้งท้ายไว้ว่า
“ต้องเอาตรงนี้ไปถอดบทเรียน คณะกรรมการต้องพูดคุยหรือหารือกันว่าในการติดต่อประสานงานระหว่างผู้กักตัวกับเจ้าหน้าที่ ต้องมีใครบ้างที่ต้องมาในการทำงานครั้งนี้ เนื่องจากบางครั้งผู้ที่ถูกกักตัวอาจไม่พอใจนักที่ไม่ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโดยตรง เพราะมันต้องผ่านเป็นทอดๆ มันต้องใช้เวลา ตรงนี้แหล่ะที่เป็นปัญหาอยู่”
จากการพูดคุยกับคุณภูวเดช ผู้เขียนจึงได้ทราบว่ายังไม่เคยมีเหตุการณ์ที่มีชุมชนต้องกักตัวและเฝ้าระวังรูปแบบนี้ในจังหวัดเชียงรายมาก่อน ดังนั้นการดำเนินการและติดต่อประสานงานจึงค่อนข้างจะลำบาก หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจริงๆยังไม่ชัดเจน รวมถึงความพร้อมของเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ที่ยังไม่มีพร้อม ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าทุกฝ่ายจึงกลายเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
ในช่วงสายของวันเดียวกันนั้น ความชุลมุนในพื้นที่ชุมชนไทยสมุทรได้ถูกแทนที่ด้วยเสียงพูดคุยภาษาพม่าที่ดังขึ้น มันคือเสียงของอาสาสมัครชาวเมียนมาร์จากศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติใน จ.เชียงราย ที่คอยตะโกนเรียกให้เพื่อน พี่น้องแรงงานที่กักตัวอยู่ในห้องเช่าในซอย ให้ออกมาหยิบถุงยังชีพที่ถูกจัดเรียงไว้บนโต๊ะที่ตั้งปิดทางเข้าออกไว้ คอยแจกแจงว่ามีสิ่งของต่างๆอะไรบ้าง เพื่อให้มั่นใจว่าทุกครอบครัวได้รับของช่วยเหลือเท่าๆกันและทั่วถึงทุกครอบครัว และยังคอยช่วยอธิบายเป็นภาษาพม่าเพื่อให้การแจกถุงยังชีพในวันนั้นเป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย หากไม่มีอาสาสมัครจากศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติแล้ว การแจกถุงยังชีพและการเยี่ยมชุมชนในวันนั้นคงไม่ผ่านไปได้อย่างราบรื่น เพราะทั้งเจ้าหน้าที่และแรงงานที่ถูกกักตัวต่างก็ไม่สามารถสื่อสารให้เกิดความเข้าใจกันได้อย่างชัดเจนมากนัก
ท่ามกลางความเร่งรีบในการจัดแจงมอบถุงยังชีพให้กับแรงงานที่ถูกกักตัวเพื่อความปลอดภัยของทุกคนที่อยู่ในพื้นที่วันนั้น อาจารย์ สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์จากสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติใน จ.เชียงราย ได้อธิบายผู้เขียนเพิ่มเติมว่า ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานฯ เข้ามาเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับแรงงานข้ามชาติในชุมชนไทยสมุทร บทบาทหลักคือการสื่อสารกับแรงงาน โดยมีอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติของทางศูนย์ช่วยเหลือแรงงานฯ รับหน้าที่เป็น “ล่าม” ช่วยเจ้าหน้าที่ในการเก็บข้อมูลและรวบรวมรายชื่อแรงงานที่ต้องทำการกักตัว ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานฯเน้นการให้ความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรมโดยมีอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติของทางศูนย์มีส่วนร่วม และเมื่อได้สอบถามเพิ่มเติมถึงความเห็นเกี่ยวกับการจัดการในกรณีชุมชนไทยสมุทรนี้ อาจารย์มองว่า
“หลักๆคือ มันขาดการทำงานร่วมกันระหว่างอสม.ไทย กับผู้นำชุมชนแรงงานข้ามชาติ ตัวนี้เป็นช่องว่างในการทำงานด้านส่งเสริมและป้องกันสุขภาพในชุมชนแรงงานข้ามชาติจังหวัดเชียงราย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่”
เสียงสะท้อนของแรงงานเมื่อการกักตัวมาเยือน
ชาณ (นามสมมุติ) แรงงานหนุ่มชาวไทใหญ่ที่พูดไทยได้อย่างฉะฉาน เขาคือแรงงานข้ามชาติที่เคยกักตัวให้อยู่ในพื้นที่ซอย 2 ชุมชนไทยสมุทรเล่าให้ฟังว่า ตอนที่คนในซอย 2 และซอย 3 รู้ว่าต้องกักตัวก็มีทั้งที่เข้าใจและโวยวาย โดยส่วนใหญ่จะไม่พอใจจากการที่ไม่ได้ออกไปทำงาน เสียเวลา ต้องเผชิญกับความลำบางทางใจที่ออกไปทำงานไม่ได้แต่ค่าใช้จ่ายยังเท่าเดิม เมื่อถามถึงการดูแล เขาเล่าว่าได้รับการดูแลในเรื่องอาหารการกิน
“อยากให้ช่วยผ่อนเบา ค่าน้ำ ค่าไฟ เพราะผมทำงานไม่ได้แต่ก็ต้องจ่ายค่าห้องเค้า 14 วันทำงานก็ไม่ได้”
เรื่องราวความเดือนร้อนจากการต้องกักตัวข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าการดูแล ช่วยเหลือที่ได้รับยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการและความจำเป็นของแรงงาน อีกทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบกับแรงงานแค่ในช่วงกักตัว มันยังคงส่งผลกระทบให้เดือดร้อนมาจนถึงปัจจุบัน ชาณ กำลังเผชิญกับภาวะว่างงาน จนต้องหาของมาขายข้างทางเพื่อหารายได้
“ตอนนี้ก็ยังไม่ได้งานทำ ไปไหนเค้าก็ยังระแวงกันอยู่ ทั้งๆที่เรายังไม่ติดนะ เป็นแค่คนกักตัวเค้ายังกลัวกัน” แรงงานหนุ่มกล่าว ผู้เขียนได้กล่าวเย้าไปว่า จังหวัดน่าจะมีประกาศนะคะว่าคนจากพื้นที่ไทยสมุทรปลอดภัยแล้ว เขาเห็นด้วยอย่างมากอีกทั้งยังพูดว่า “มันน่าจะออกสื่อให้เหมือนตอนแรกนะครับ” เขาหัวเราะ
“ตอนแรกตอนที่ว่าไทยสมุทรมีโควิดนี่ออกสื่อออกอะไรกันเยอะ ตอนที่ปล่อยแล้วน่าจะเป็นแบบนั้นบ้างครับ ตอนปล่อยนี่ไม่มีใครรู้อะไรสักอย่าง มีเจ้าหน้าที่มาแค่นั้นอ่ะ ตอนกักนี่นักข่าวอะไรมากันหมด”
จากการพูดคุยดูเหมือนว่าอิทธิพลของสื่อจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของแรงงานไทยสมุทรไม่น้อยเลยทีเดียว
ผลกระทบจากคำสั่งกักตัวในครั้งนี้ยังได้ลุกลามไปถึงแรงงานที่อาศัยอยู่ในซอยข้างเคียงพื้นที่ควบคุม เนื่องจากนายจ้างไม่ต้องการรับคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนไทยสมุทรที่พบการติดเชื้อเข้าทำงาน ตรี (นามสมมุติ) หัวหน้าครอบครัวที่ต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนรายได้จากการกักตัวในครั้งนี้ เขาอาศัยอยู่กับภรรยาและลูกสาวในพื้นที่ซอย 4 ของชุมชนไทยสมุทร ตรี เล่าเรื่องราวของเขาให้ฟังผ่านภาษาไทยที่กระท่อนกระแท่นว่า
“ 2 3 ถูกล็อกแล้ว 4 5 6 ซอยอื่นๆ ก็ไม่ได้ทำงานเหมือนกัน นายจ้างรู้ว่าอยู่ในพื้นที่ไทยสมุทรก็ไม่ให้ไปทำงานแล้ว”
เมื่อถามถึงการดูแล “ก็ไม่มีใครดูแลนะครับ เราดูแลตัวเอง” ตรี ตอบ พร้อมทั้งสะท้อนความรู้สึกเมื่อถามถึงวันที่มีการแจกถุงยังชีพให้กับแรงงานที่กักตัวว่า “ถ้าจะแจกก็แจกทั้งหมู่บ้านเลย เพราะมันเป็นหมู่บ้านไปเลย เดือดร้อนกันทั้งหมู่บ้านแล้ว ไม่ใช่แค่สองซอย 2 3”
เสียงสะท้อนมุมมองเหล่านี้ คือเรื่องราวที่ผู้เขียนพบเจอและได้มีโอกาสพูดคุยจากการลงพื้นที่สังเกตการณ์การควบคุมดูแลและช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเมื่อต้องเผชิญกับคำสั่งกักตัวและปิดชุมชน ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนเองเห็นได้ถึงความเต็มที่ของบุคคลากรที่เกี่ยวข้องในการทำงานครั้งนี้ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าจากคำสั่งกักตัวในครั้งนี้ไม่เพียงทำให้แรงงานในพื้นที่ซอย 2 และซอย 3 ต้องกักตัว ต้องหยุดงาน ต้องขาดรายได้ ผลที่ตามมาของคำสั่งกักตัวนี้ยังกระทบต่อชีวิตแรงงานที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนไทยสมุทรซอยอื่น ทั้งที่ไม่อยู่ในคำสั่งกักตัวด้วยเช่นกัน และที่สำคัญผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้กลับไม่ได้สิ้นสุดไปพร้อมกับคำสั่งยกเลิกการกักตัวและปิดชุมชน ซึ่งผู้เขียนมองว่าประสบการณ์จากครั้งนี้ หน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องควรนำไปถอดบทเรียน เพื่อสร้างความพร้อมต่อการจัดการกับโรคระบาดหรือสถานการณ์วิกฤติในชุมชนแรงงานข้ามชาติและกลุ่มเปราะบางในอนาคตให้สามารถรับมือได้อย่างรอบด้านจากความร่วมมือช่วยเหลือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้มีใครต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง
ผู้เขียน : ดารินทร์ อ้อมค้อม สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกงาน ภายใต้ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง