ม่อนแจ่มโมเดล : เรื่องเล่า ความรู้ ประสบการณ์ท่องเที่ยวชุมชนของม้งต่างรุ่น

ม่อนแจ่มโมเดล : เรื่องเล่า ความรู้ ประสบการณ์ท่องเที่ยวชุมชนของม้งต่างรุ่น

น้อยคนจะทราบว่าภายใต้ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของม่อนแจ่ม เบื้องหลังคือการต่อสู้ยืนยันกรรมสิทธิ์การใช้ที่ดินของผู้ประกอบการการท่องเที่ยวท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน ตลอดจนถึงความพยายามในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยวิสาหกิจชุมชนโดยการสร้างกฎกติกาเพื่อขับเคลื่อนให้ม่อนแจ่มเป็นพื้นที่แห่งการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ชื่อของม่อนแจ่มนั้นคุ้นหู ขึ้นชื่อเรื่องอากาศบริสุทธิ์ท่ามกลางทิวทัศน์ม่อนดอยสลับซับซ้อนสวยงาม ด้วยที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ ม่อนแจ่มจึงเป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ ที่นักท่องเที่ยวแวะเวียนไปพักผ่อนกันอย่างไม่ขาดสาย นำมาซึ่งรายได้หมุนเวียนในชุมชนและการจ่ายภาษีให้กับประเทศจำนวนมหาศาล ม่อนแจ่มที่หมายถึงในบทความนี้กินอาณาบริเวณ 3 หมู่ ในตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม หมู่บ้านหนองหอยเก่า และหมู่บ้านหนองหอยใหม่  

จุดเริ่มต้นด้านศักยภาพการท่องเที่ยวของม่อนแจ่มนั้นเริ่มต้นจากการส่งเสริมของโครงการหลวงตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2545 จนกระทั่งเกิดเป็นการจัดทำการท่องเที่ยวชุมชน ที่พักแบบโฮมสเตย์ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร และตั้งม่อนแจ่มอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2552 รวมทั้งยังมีหน่วยงานรัฐอื่น ๆ เข้าไปส่งเสริม ทำให้ม่อนแจ่มเริ่มมีชื่อเสียงและขยายตัวจนได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในปี พ.ศ.2557

แต่เมื่อย้อนกลับไปยังที่มาที่ไปของชุมชนดั้งเดิม ชาติพันธุ์ม้งกลุ่มแรกลงหลักปักฐานตั้งรกรากที่หมู่บ้านหนองหอยเก่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447 มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2484 ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้วนับว่าชุมชนม่อนแจ่มนั้นอยู่ในพื้นที่นี้ก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติในปี พ.ศ. 2507

ตามกฎหมาย…ม่อนแจ่มอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวน แต่ตามประวัติศาสตร์และมิติสังคม… ม่อนแจ่มนั้นเป็นพื้นที่ดั้งเดิมที่บรรพบุรุษชาวม้งเลือกที่จะลงหลักปักฐาน

สิ่งที่ชาวชุมชนม่อนแจ่มพยามทำมากว่า 20 ปี คือ การพยายามยืนยันสิทธิในที่ดินของพวกเขา ซึ่งแม้ชาวบ้านได้ขึ้นทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรี 11 พฤษภาคม พ.ศ.2542 ก็ตาม การมาถึงของนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 35/2559 ทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างรัฐและชาวบ้านในพื้นที่เรื่อยมาและยังไม่มีข้อสรุป  

ภาพถ่ายทางอากาศเปรียบเทียบการตั้งรกรากของชาวม้งในพื้นที่บริเวณม่อนแจ่ม
ขอบคุณภาพถ่ายทางอากาศจากชุมชน

พ่อหลวงสุรินทร์ นทีไพรวัลย์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองหอยเก่า ให้ความเห็นว่า “ชาวบ้านมีความต้องการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน และอยากให้ปรับการท่องเที่ยวให้เป็นไปในเชิงอนุรักษ์มากขึ้น และมีการดำเนินการมาโดยตลอด ตรงจุดนี้เคยมีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่สามารถร่วมมือได้เพราะไม่มีคำสั่งจากทางส่วนกลาง”

จนกระทั่งเหตุการณ์ล่าสุดที่อัยการจังหวัดเชียงใหม่สั่งไม่ฟ้องคดีรีสอร์ตที่พักม่อนแจ่มบุกรุกป่าสงวน 19 คดี จากที่มีสำนวนอยู่ 28 คดี โดยให้ความเห็นว่าผู้ประกอบการรีสอร์ต ขาดเจตนาในการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2564  

     ก็ชวนคิดต่อว่า แท้จริงแล้วปัญหาของม่อนแจ่มนั้นแท้จริงแล้วเป็นปัญหาของใคร?

บุญมี เมธาอนันต์กุล เป็นหนึ่งในจำนวน 19 คนที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง เขาเป็นผู้ประกอบการการท่องเที่ยวชาวม้งรุ่นใหม่ของม่อนแจ่มอายุยี่สิบต้น ๆ ที่บริหารกิจการบ้านพักที่รับช่วงมาจากคนรุ่นพ่อแม่ หลังจากจบการศึกษาภาควิชาปรัชญา คณะพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ บุญมีตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านได้อย่างเต็มภาคภูมิเพราะมีอาชีพ เขาเปี่ยมด้วยกำลังกายและใจของคนวัยหนุ่มในการขับเคลื่อนชุมชนม่อนแจ่มต่อจากคนรุ่นก่อน

บุญมีบอกกับเราว่า “เราเป็นคนเท่ากัน ผมก็มีสิทธิที่จะทำมาหากิน   มีสิทธิที่มีกิน มีใช้ มีเงิน   มีสิทธิที่จะอยู่ดีกินดี”  

แนวคิดของบุญมีสะท้อนเอกลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ในชุมชนชาติพันธุ์ม้งได้ดี ม่อนแจ่มประกอบสร้างโดยผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชนสามรุ่น โดยการทำงานระหว่างคนสามรุ่นนี้มีลักษณะเด่นที่แตกต่างกันไป เช่น คนรุ่นแรกในยุคบุกเบิกธุรกิจท่องเที่ยวจะรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชาติพันธุ์ม้งเป็นอย่างดี ส่วนคนรุ่นกลาง ที่อายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ได้เข้ารับการศึกษาในระบบ มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดี มีความรู้และข้อมูล สามารถเป็นปากเป็นเสียงให้กับชุมชนได้ ส่วนคนรุ่นใหม่แบบบุญมี จะเข้าถึงสื่อโซเชียลได้ถนัดกว่า รู้จักใช้เครื่องมือทางการตลาด มีความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ และเข้าใจเทรนด์ผู้บริโภค

ภายใต้การบริหารจัดการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่ม โดยผู้ประกอบการท่องเที่ยวในท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใดล้วนต้องปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกัน ดังนี้

หนึ่ง – ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในท้องถิ่นต้องเป็นคนในชุมชน ห้ามบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม ต้องเป็นพื้นที่ที่ครอบครองดั้งเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษเท่านั้น

สอง – จะต้องแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากสถานประกอบการเข้ากองทุนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนห้องพัก กองทุนนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ในปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนถึงประมาณปีละ 1.5 ล้าน ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวม่อนแจ่มมุ่งสร้างสวัสดิการชุมชนโดยไม่ต้องพึ่งรัฐ แบ่งการใช้กองทุนนี้ออกเป็น 4 ด้าน คือ การศึกษา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว

รายละเอียดการใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้มีตั้งแต่ให้ทุนการศึกษาเยาวชนม้ง จัดงานด้านวัฒนธรรม เช่น งานปีใหม่ม้ง หรือรื้อฟื้นวัฒนธรรมการเป่าแคนม้ง ในมิติสิ่งแวดล้อมชุมชนม่อนแจ่มมีปลูกป่าเสริม ทำแนวกันไฟ อยู่เวรเฝ้าระวังไฟป่าในหน้าแล้ง ไปจนถึงระบบการจัดการขยะในชุมชน มีการคัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล ส่วนขยะที่ไม่สามารถจัดการได้ เดิมจัดการโดยวิธีฝังกลบที่บ่อขยะ แต่ชุมชนมองหาวิธีการจัดการที่เหมาะสมกว่า นั่นคือ การสร้างเตาเผาขยะไร้ควัน   กองทุนนี้สนับสนุนไปจนถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีเงินในการลงทุน การปลูกแปลงดอกไม้เพื่อให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปก็เป็นแง่มุมที่สามารถกระจายรายได้สู่ชุมชน

ผ้าปักเป็นวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของชาติพันธุ์ม้ง
นงนุช นทีไพรวัลย์ ดูแลกิจการร้านค้าของเธอเองไปพร้อมกับทำงานอดิเรกนี้

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาพมายาคติโดยอคติ กลุ่มชาติพันธุ์มักถูกยัดเยียดภาพลักษณ์ที่ถูกมองว่าเป็นผู้บุกรุกทำลายป่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ในแง่การเกษตร เช่น การทำไร่หมุนเวียน หรือใช้ประโยชน์เชิงการท่องเที่ยว แม้ม่อนแจ่มจะมีกฎระเบียบที่ชัดเจนว่าห้ามบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติม ในกลุ่มผู้ประกอบการการท่องเที่ยวม่อนแจ่มนั้นจะต้องมีการสื่อสารระหว่างกันภายในชุมชนและสู่ภายนอกเพื่อสร้างความเข้าใจเดียวกัน

วิชิต เมธาอนันต์กุล นายกเทศมนตรีตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

วิชิต เมธาอนันต์กุล นายกเทศมนตรีตำบลแม่แรม พยายามสื่อสารกับชุมชนเพื่อสร้างความตระหนักว่า “ผมอยากให้ทุกคนเห็นว่ามูลค่าของที่ดินตรงนี้มันมีเยอะกว่าราคาที่นายทุนมาเสนอให้ ถ้าเราขายให้คนอื่นจะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน และอีกอย่างโดยธรรมเนียมของคนม้งแล้ว เขาจะไม่ค่อยขายที่ดิน หากต้องขายที่กิน แสดงว่าเป็นคนไม่ได้เรื่อง”

แม้การใช้เหตุผลทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์และวัฒนธรรมจะฟังดูมีน้ำหนัก   อย่างไรก็ตาม นายกวิชิตกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการสร้างการบริหารการจัดการการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของม่อนแจ่มในอนาคต มีความจำเป็นต้องใช้กฎหมายเข้ามาควบคุมดูแลด้วยเช่นกัน ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522  หรือ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการขยะมูลฝอย เทศบาลตำบลแม่แรมกำลังเร่งศึกษา ทำแผนแม่บท จัดทำเทศบัญญัติควบคุมอาคาร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2565

แม้ในวิกฤติโควิด-19 ที่ธุรกิจการท่องเที่ยวซบเซา ม่อนแจ่มสามารถประคองตัวเองไปได้ด้วยการบริหารจัดการโดยคนท้องถิ่น พึ่งพาอาศัยช่วยเหลือกันภายใต้ระบบ “ตระกูลแซ่” ที่ทำให้คนม้งมีความเป็นครอบครัวเครือญาติที่แน่นแฟ้น

การท่องเที่ยวเป็นศักยภาพที่โดดเด่นของพื้นที่ม่อนแจ่ม แต่เมื่อพื้นที่และผู้คนถูกจำกัดศักยภาพโดยกฎหมายและอคติ    อาจเป็นต้นทุนราคาแพงที่ชุมชน จังหวัด และประเทศต้องแบกรับรายจ่ายร่วมกัน ร่วมทบทวนทางออกและความเป็นไปได้เพื่อลดความสูญเสียนั้นก่อนสายเกินไป

อ้างอิง:

  • ไล่บี้คดีม่อนแจ่ม ภาพสะท้อนโครงสร้างอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม, เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล https://prachatai.com/journal/2021/05/93132
  • จ.เชียงใหม่ พร้อมรับนักท่องเที่ยว คาดเงินสะพัด 1.3 แสนล้าน https://news.thaipbs.or.th/content/267802

ผู้เขียน : ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ