โจทย์ใหญ่ในการลงพื้นที่ของทีมงานชีวิตนอกกรุงคราวนี้ เราได้ติดต่อกลุ่มผู้เลี้ยงวัวที่ อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร พื้นที่ซึ่งมีกลุ่มผู้เลี้ยงวัวที่ถือว่ากำลังมีความคึกคักในช่วงนี้
โดยกลุ่มผู้เลี้ยงวัวในพื้นที่ อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร ยังถือว่าเป็นกลุ่มหน้าใหม่ที่กำลังก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพ ที่เราได้เห็นบุคลิกที่มีความโดดเด่นเฉพาะของเครือข่ายผู้เลี้ยงวัวกลุ่มนี้ นั่นคือมีลักษณะการทำงานแบบชุมชน ไม่ได้เน้นมิติเศรษฐกิจจนไม่ฟังเสียงกันและกัน ที่น่าจะเป็นโมเดลให้ชาวบ้านผู้มีใจในการเลี้ยงวัวหน้าใหม่ได้เรียนรู้ ที่สำคัญเครือข่ายผู้เลี้ยงวัวกลุ่มนี้พยายามทำให้เห็นถึงการทำงานแบบประณีตที่มีการผสมเอามิติวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเดิมมาประยุกต์กับการเลี้ยงวัวสมัยใหม่ที่ต้องอาศัยความเป็นวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องงานในเชิงเทคนิคและอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาประกอบ
การเลี้ยงวัวนั้น แม้อาจดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เอาเข้าจริงๆแล้วทุกอย่างไม่ได้ง่ายเลย คำศัพท์หรือภาษาในการเลี้ยงวัวซึ่งส่วนมากเป็นคำเฉพาะ ทำให้เราต้องปวดหัวและใช้สมาธิกับการทำงานพอควร เนื่องจากเนื้อวัวมีหลายเกรด และรูปแบบการเลี้ยงวัวก็มีหลายแบบ เอาเฉพาะคำว่าการขุนวัว ก็มีทั้งขุนระยะสั้น ขุนระยะยาว และการลงพื้นที่คราวนี้เราเข้าไปทำงานกับคน 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้เลี้ยงวัวแม่พันธุ์เพื่อขายลูกและกลุ่มผู้เลี้ยงโคขุน หรือการซื้อลูกวัวมาขุนต่อเพื่อขายให้บริษัทส่งออกนอกประเทศ ดังนั้น ถ้าลงพื้นที่แบบงงๆที่ไม่ทำการบ้านไปก่อน เราจะไม่ได้อะไรที่เป็นน้ำเป็นเนื้อและที่สำคัญจะมองประเด็นไม่ทะลุ ในที่สุดการสื่อสารก็อาจจะผิดพลาด
ครั้งนี้เราโชคดีที่มีโอกาสร่วมงานกับศูนย์ประสานงานวิจัยท้องถิ่นจังหวัดยโสธร ซึ่งมีพื้นที่ทำงานบางส่วนในจังหวัดมุกดาหาร โดยมีคุณช่อกัลยา ศรีชำนิหรือคุณหนูแดง ผู้ประสานงานชุดโครงการวิจัย พาเราลงไปพบปะกับพี่น้อง และทำหน้าที่สรุปข้อมูลคร่าวๆที่เป็นเสมือนล่ามในการอธิบายให้รู้กระบวนการขั้นตอนการทำงานของเครือข่าย
พี่แขกหรือคุณชำนาญ เมืองโคตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจพัฒนาตนเองบ้านโคกสวาสดิ์ ต.ป่งขาม อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร ถือเป็นคีย์แมนสำคัญในการให้ข้อมูลในพื้นที่ นับว่าโชคดีมากที่คุณหนูแดงพาเรามารู้จักกับพี่แขก เพราะนี่คือคนที่พาชาวบ้านกลุ่มผู้เลี้ยงวัวยกระดับการทำงานในการเลี้ยงวัวแม่พันธุ์ จากเดิมที่หลายคนคุ้นชินกับการเลี้ยงวัวแบบบ้านๆโดยการเลี้ยงไล่ทุ่งทั่วไป ให้รู้จักคำว่าการจัดการที่มีองค์ประกอบอื่นๆที่หลากหลาย ซึ่งหากถามว่า เครือข่ายผู้เลี้ยงวัวกลุ่มนี้เลี้ยงอย่างไรถึงฉลาดและไม่พลาดที่จะได้กำไรงามๆ ก็พอจะย่อยอธิบายเป็นข้อๆ อันได้แก่
หนึ่ง – จัดคอกอย่างไรให้ดูดีมีระบบ? ด่านแรกในการทำให้การเลี้ยงวัวดูฉลาดคือการจัดคอก การลงพื้นที่เที่ยวนี้เราได้เห็นคอกวัวที่มีระบบ มองตาเดียวก็รู้เลยว่าคอกถูกจัดการไว้อย่างดีแล้ว ต่างจากคอกวัวชาวบ้านทั่วไปที่เคยเห็น ไล่มาตั้งแต่ รางใส่อาหาร จุดให้น้ำ แสงสว่าง พื้นคอกที่โรยด้วยปูนขาวกันความชื้น รวมทั้งการจัดคอกย่อยในคอกใหญ่ให้วัวแต่ละตัวมีพื้นที่เฉพาะ
“วัวแต่ละตัวมีพัฒนาการและมีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมือนกัน บางตัวกินเก่งบางตัวก็กินไม่ทันตัวอื่น ดังนั้น การให้มีคอกเฉพาะและมีรางอาหารเฉพาะจึงทำให้วัวแต่ละตัวได้กินอาหารในปริมาณที่ต้องการ”
พี่แขกเล่าให้ฟังถึงที่มาของการจัดคอกย่อยในคอกใหญ่ นอกจากนี้ในคอกยังมีอุปกรณ์อื่นๆเสริมตามที่เจ้าของคอกจะออกแบบได้ เช่น การห้อยวัสดุที่เป็นลักษณะชิ้น เช่น ผ้า หรือกระสอบ เพื่อให้วัวได้ชนเล่นที่เป็นการเพิ่มกำลังและให้วัวได้ผ่อนคลาย ที่สำคัญในบริเวณรอบๆคอกแม้จะมีพื้นที่จำกัดก็ควรกันที่ให้วัวได้ออกมาเดินเล่นเพื่อลดความเครียดในช่วงเย็นๆ ซึ่งจะทำให้วัวอารมณ์ดีและเติบโตสมวัย
สอง – อาหารวัวที่ดีต้องเป็นแบบไหน? ที่ผ่านมาชาวบ้านมักคุ้นชินกับการปล่อยให้วัวออกไปกินหญ้าตามทุ่ง เพื่อกินอาหารตามที่วัวจะแทะเล็มได้ ถ้าพื้นที่ไหนอุดมสมบูรณ์หญ้าเยอะจำนวนวัวน้อย อาหารวัวก็อาจจะเต็มอิ่ม แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้ง อากาศร้อนและหญ้าแห้ง วัวก็อาจลำบากในการหาอหาร และที่สำคัญนั่นคือวิธีการในอดีตที่ไม่ใช่ปัจจุบัน ซึ่งทุกวันนี้พื้นที่ในการเลี้ยงเริ่มมีจำกัดมากขึ้น ในสภาวะที่บ้านเรือนมากขึ้น พื้นที่ทางการเกษตรของชุมชนถูกจัดการและในผืนนาหรือทุ่งเต็มไปด้วยสารเคมีที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้นการปล่อยวัวเลี้ยงทุ่งแบบเดิมอาจไม่ใช่เรื่องปกติอีกต่อไป และการจัดการอาหารจึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งเรื่องนี้อาจารย์ธนพัฒน์ สุระนรากุลหรืออาจารย์บอล จากคณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม โดยอาจารย์ได้เข้ามาหนุนเสริมในฐานะนักวิชาการที่เข้ามาร่วมงานกับชุมชน ได้เล่าให้เราฟังว่า “วัวในยุคปัจจุบันนอกจากหญ้ากับฟังแล้ว วัวตัวได้กินอาหารคลุกส่วนหรืออาหาร “TMR” (Total Mixed Ration) ที่เป็นอาหารผสมสำเร็จรูปที่เกิดจาก การนำอาหารหยาบและอาหารข้นมาผสมกันในอัตราตราส่วนที่เหมาะสม และต้องได้กินหัวอาหารด้วยผสมกับหญ้าสดที่เป็นอาหารหลักอยู่แล้ว และน้ำอย่าให้ขาดต้องมีน้ำสำรองตลอดเวลา อีกทั้งวัวในยุคนี้ยังต้องการโปรตีนและสารอาหารอื่นๆเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะโรคภัยไข้เจ็บมันเยอะ เช่น โรคลัมปีสกินซึ่งระบาดมากในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น การได้กินอาหารของวัวจำเป็นต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีด้วย”
สาม – เลี้ยงวัวให้ฉลาด ต้องมีข้อมูลประกอบ เรื่องนี้พี่แอนหรือคุณฉันทนา ใจช่วง อีกหนึ่งแกนนำสำคัญที่มีบทบาทในฐานะนักจัดการข้อมูลของชุมชนเล่าให้ฟังว่า
“จุดเปลี่ยนสำคัญของผู้เลี้ยงวัวที่นี่ คือการรู้จักการใช้ข้อมูล เช่น ข้อมูลวันผสม วันกลับสัด วันกำหนดคลอด ข้อมูลแปลงหญ้า และที่สำคัญคือข้อมูลต้นทุน กำไร จากการเลี้ยงและการขาย ทุกวันนี้เราใช้ข้อมูลในการตัดสินใจเพื่อการเลี้ยงวัวและการจัดการกลุ่ม จากเมื่อก่อนที่ไม่เคยเก็บข้อมูล ทำให้ไม่รู้เลยว่าจะต้องวางแผนการเลี้ยงและการขายแบบไหน ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่เรารู้ว่า ณ วันนี้เรามีวัวตั้งท้องเท่าไหร่ เรามีแม่พันธุ์กี่ตัว มีลูกวัวเพิ่งคลอดกี่ตัว ซึ่งจะทำให้เราวางแผนการตลาดได้ว่า จากนี้อีกประมาณกี่เดือนกลุ่มเราจะปล่อยลูกวัวให้คอกที่จะนำไปขุนต่อ ซึ่งทำให้คนที่ทำงานกับเรามีความมั่นใจและให้เครดิตในทางที่ดี”
นอกจากนี้เรื่องข้อมูลยังหมายถึง การที่ผู้เลี้ยงวัวต้องรู้น้ำหนักวัวตัวเอง เนื่องจากพ่อค้าที่มาซื้อในอดีตมักมีการประเมินน้ำหนักจากการคะเนด้วยสายตาและชาวบ้านก็โดนกดราคาจนเป็นเรื่องปกติ ทำให้ขายวัวได้ราคาที่ไม่เป็นธรรม แต่หลังจากชาวบ้านได้หารือผ่านการทำงานวิจัยร่วมกัน ทำให้เกิดไอเดียว่าทุกคนจำเป็นต้องรู้น้ำหนักวัวซึ่งอาจจะไม่ตรงนักแต่ก็ควรคาดเดาได้ โดยในเรื่องนี้อาจารย์บอลได้นำสายวัดรอบอกที่มีเกณฑ์น้ำหนักมาให้ชาวบ้านลองใช้ และถ้ายังไม่จุใจก็มีบางคนนำวัวไปขึ้นตราชั่งเพื่อให้รู้ข้อมูลน้ำหนักที่ชัดเจนและกำหนดราคาให้พ่อค้าคนกลางรู้เพื่อป้องกันการเอาเปรียบ ซึ่งต่างจากอดีตที่พ่อค้าเป็นผู้กำหนดราคามาโดยตลอด
สี่ – เลี้ยงวัวให้ฉลาดต้องจัดการระบบกลุ่ม การเกิดกลุ่มผู้เลี้ยงวัวในพื้นที่ 2 ตำบล คือตำบลป่งขามที่เลี้ยงวัวแม่พันธุ์ และ ตำบลหว้านใหญ่ซึ่งเลี้ยงวัวขุนระยะสั้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวะก้าวที่สำคัญของชาวบ้านที่นี่ เพราะทำให้สมาชิกเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในเชิงเทคนิคต่างๆ และการเข้าถึงข้อมูล ที่สำคัญเกิดการเชื่อมประสานการซื้อขายจากกลุ่มเลี้ยงวัวแม่พันธุ์เพื่อขายลูกมาสู่กลุ่มที่เลี้ยงวัวขุนเพื่อเตรียมส่งขายแปรรูป ทำให้เกิดการลดช่องว่างที่ไม่ต้องมีพ่อค้าคนกลางมาซื้อซึ่งเป็นเสมือนแค่คนมาเอากำไรส่วนต่างที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องจ่ายค่านายหน้าอย่างน้อยก็เป็นเงิน 3,000 – 4,000 บาท แต่ถ้ามีการดีลกันโดยตรงระหว่างผู้เลี้ยงสองกลุ่มก็จะทำให้เงินก้อนนี้ถูกนำมาบวกเป็นกำไร และทำให้การเลี้ยงวัวของชาวบ้านดูฉลาดกว่าเดิมไม่ต้องเสียเงินกินเปล่าให้พ่อค้าที่ไม่ได้ลงทุนอะไร
ห้า – เลี้ยงวัวอย่างไรให้รู้ทันเกมการตลาด? อย่างที่เกริ่นในข้อก่อนๆว่า พ่อค้าคนกลางหรือที่เมื่อก่อนชาวอีสานเรียกว่า “นายฮ้อย” คือกลุ่มคนที่มักเข้ามาตระเวนหาซื้อวัวไปป้อนให้คอกโคขุน โดยที่ส่วนมากมักมาเป็นขบวนการซึ่งเป็นรูปแบบที่พ่อค้ามักทำโดยมักจะมา 2 – 3 คน ในเวลาที่ต่างกันไม่มาก เช่น คนแรกเข้ามาและมีการประเมินราคาที่สูงนิดหน่อย และถ้าผู้เลี้ยงยังไม่ขาย ในเวลาไม่นานก็จะมีพ่อค้าคนที่สองเข้ามาถามซื้อซึ่งจะให้ราคาที่ต่ำลง และผู้เลี้ยงจะรู้สึกว่าได้ราคาไม่เท่าคนแรกก็เลยยังไม่ขาย และต่อมาก็มีคนที่สามเข้ามาขอซื้อ ซึ่งก็จะให้ราคาเท่ากับคนแรก ซึ่งผู้เลี้ยงก็มักจะหลงกลว่าราคาซึ่งคนที่หนึ่งกับคนที่สามให้น่าจะเป็นราคามาตรฐาน ก็เลยต้องยอมขาย แต่เหล่านี้คือกลโกงที่พ่อค้ามาเป็นขบวนการเพื่อหลอกให้ชาวบ้านตายใจ โดยไม่มีอำนาจต่อรองต้องยอมจำนนกับราคาที่พ่อค้ากำหนด แต่ถ้าชาวบ้านมีข้อมูลตัวเลขน้ำหนักที่ชัดเจนและรู้กลวิธีของพ่อค้า ที่สำคัญมีการทำงานเป็นกลุ่มก็จะทำให้ผู้เลี้ยงเพิ่มอำนาจการต่อรองซึ่งในระยะยาวก็จะสามารถกำหนดราคาเองได้อย่างเต็มรูปแบบ
เหล่านี้คือเรื่องราวที่เราพบเจอและลงพื้นที่ถ่ายทำเพื่อบันทึกไว้ในรายการชีวิตนอกกรุง ตอน เลี้ยงวัวอย่างไรให้ฉลาด ซึ่งเราได้เห็นความพยายามในการวางเศรษฐกิจฐานรากจากผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองลดช่องว่างด้านรายได้และให้มีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด ซึ่งเรามองว่านี่คือทางออกในอนาคตของสังคมที่ควรดำเนินต่อไป