ชีวิตนอกกรุง : มหาวิทยาลัยวัยที่สาม

ชีวิตนอกกรุง : มหาวิทยาลัยวัยที่สาม

มหาวิทยาลัยของคนสูงอายุ ที่เป็นมากกว่าห้องเรียน

พอพูดถึงคำว่า “มหาวิทยาลัย” เราคงจะนึกถึงภาพที่ไม่ต่างกันนัก ภาพตึกเยอะ ๆ มีนิสิต นักศึกษา วัยหนุ่มสาว ใส่เสื้อสีขาวมาเรียน อย่างขมักเขม้น ห้องเรียน อุปกรณ์การสอน ฯลฯ แต่วันนี้ Localist ชีวิตนอกกรุง จะพาไปรู้จัก กับอีกหนึ่งมหาวิทยาลัย ที่มีความแตกต่าง และน่าสนใจ แถมยังเข้ากับยุคสมัยปัจจุบันได้ดี กับยุคที่เรียนว่า สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์

มหาวิทยาลัยแห่งนี้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยวัยที่ 3 เทศบาลนครเชียงราย

คุณลุงดำรงค์ ดีแก้ว ผู้อำนวยการของมหาวิทยาลัยวัยที่สาม เล่าให้ฟังถึงที่ไป ที่มา ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นมา

คุณลุง ดำรงค์ ดีแก้ว ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยวัยที่สาม

ทั่วโลกเขาใช้คำว่า U3A คือ University of the (3)Third Ages เราก็เลยใช้คำว่า มหาวิทยาลัยวัยที่ 3 อันนี้ก็คือที่มาที่ไป ทั่วโลกเขาก็จะสอนเรื่อง วิชาการ ทักษะวิชาชีพ เขาก็จะเน้นในเรื่องของสวัสดิภาพ สวัสดิการ เรื่องสุขภาพ และเน้นสิ่งที่ผู้สูงวัยสนใจ เขาสนใจเรื่องไหน ก็สอนเรื่องนั้น 

ดำรงค์ ดีแก้ว ผู้อำนวยการ มหาวิทยาลัยวัยที่สาม

                 คือทั่วโลกเขามีอยู่แล้ว เพียงแต่ในพื้นที่ไม่ได้หยิบมาใช้ หรือมาใช้แล้วไม่ต่อเนื่อง มันก็เลยไม่สามารถเป็นอย่างนี้ได้ ของเชียงรายเรานี่คือจุดแรก ๆ ที่เปิดประเด็น ของมหาวิทยาลัยวัยที่สาม ที่อื่นยังเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุอยู่  

                เริ่มก่อทำจริง ๆ จัง ๆ ก็คือปี 2559 แต่ละหลักสูตรก็เอาปราชญ์ชุมชน เอาผู้ที่มีความรู้ในด้านนี้ขึ้นมา แล้วก็มาสร้างหลักสูตร แล้วก็มีนักวิชาการจาก มรภ.เชียงราย … เขาก็จะมาดูเรื่องหลักสูตร ว่าได้หรือไม่ได้พอได้วิทยากร ได้หลักสูตร เราก็เปิด มหาวิทยาลัยวัยที่ 3 

คุณลุงเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยวัยที่สาม เกิดจากความต้องการร่วมกัน ของทั้งท้องถิ่นอย่างเทศบาลนครเชียงราย และภาคประชาชน ในพื้นที่ ที่อยากพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เพื่อรองรับการเข้าสู่ยุคผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ จึงมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวัยที่สามขึ้นมา เพื่อรองรับพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ และเป็นพื้นที่ส่วนรวม พบปะ พูดคุย ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ของผู้สูงอายุในพื้นที่

ส่วนการบริหารจัดการ จะเป็นภาคประชาชนเป็นหลัก โดยท้องถิ่นจะมีหน้าที่สนับสนุนเรื่องงบประมาณ

การจัดการในมหาวิทยาลัยวัยที่สาม จะเป็นการจัดการโดยภาคประชาชน หลักสูตรต่าง ๆ ก็คิดโดยภาคประชาชน วิชาต่าง ๆ ก็จัดโดยภาคประชาชน สำหรับเทศบาลเราก็จะเป็นแค่พี่เลี้ยง มาช่วยงานในมหาวิทยาลัยวัยที่สาม เหมือนเป็นฝ่ายธุรการ

ณรงค์ศักดิ์ เตือนสกุล รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย

   งบประมาณที่ดูแลตรงนี้ ก็จะมาจากงบประมาณการดูแลของการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของเทศบาลอยู่แล้ว เราก็มีงบประมาณที่ไม่ได้เยอะมากมาย

คุณณรงค์ศักดิ์ เตือนสกุล รองนายกเทศมนตรี เล่าให้ฟังถึงการบริหารจัดการของ มหาวิทยาลัยวัยที่สาม

จากความร่วมมือกัน ของทั้งเทศบาล ภาคประชาชน ปราชญ์ชาวบ้าน รวมไปถึงนักวิชาการ ทำให้ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยวัยที่สาม มีการจัดการเรียนการสอนทุกวัน จันทร์ – เสาร์ และมีหลักสูตรรวมกันกว่า 8 หลักสูตร 16 วิชาเรียน ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกวิชา เลือกหลักสูตรเรียนได้เอง ไม่ต้องมาเรียนทุกวัน

โดยคุณลุงดำรงค์ เล่าให้ฟังถึงเทคนิก วิธีการสอนผู้สูงวัย ได้อย่างน่าสนใจเลยครับ

ผู้สูงวัยกับเด็กเล็ก ก็จะมีความเหมือนที่แตกต่าง ก็คือ เด็ก ๆ จะรับรู้ เรียนรู้ได้ไว แต่จะไม่นิ่ง เขาจะซน การสอนเด็ก ถ้าเรามีสิ่งล่อใจ เด็กก็สามารถรับรู้เรียนรู้ได้ แต่ผู้สูงวัยไม่ซน เขาจะนิ่ง แต่จะรับรู้เรียนรู้ได้ช้ากว่าเด็ก … ดังนั้นจะต้องย้ำ ซ้ำ ทวน 

ดำรงค์ ดีแก้ว

  สอนผู้สูงวัยจะต้องใช้จิตวิทยา เอาใจเขามาใส่ใจเรา ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป มธุรสวาจา เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการสอนผู้สูงวัย จะให้กระทบกระเทือนใจไม่ได้ ถ้ากระทบกระเทือนใจเขาจะไม่เอาเลย ถ้าเมื่อไรเราทำให้ใจเขาพองฟูขึ้นมา เขาก็จะรับรู้ เรียนรู้ได้ไว

ปีนี้เรียน อูคูเลเล่ กับโยคะ ก็ดี เราได้สังคมมากขึ้น … ได้เจอคนที่มีประสบการณ์หลากหลาย … ส่วนใหญ่จะวัยเดียวกัน คิดย้อยไป เหมือนสมัยเราเป็นนักศึกษา อยู่หอพัก ได้เจอเพื่อนวัยเดียวกัน ได้คุยกัน มานี่ก็เหมือนกัน เราได้ข้อมูลจากตรงนี้เยอะ เอาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ 

คุณลุงเอนก กิตติศรี นักเรียนสูงวัย.

พอเรามาเห็นหลักสูตรก็อยากเรียน เพราะเขาไม่เน้นวิชาการ มากมาย เขาเน้นความรู้ที่เกี่ยวกับการพัฒนาตัวเองหลังวัยเกษียณ ผมว่ามันมีประโยชน์ ดีกว่าเราไปเรียนเน้นวิชาการ แล้วไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้เมื่อไร อยากให้เขาแบ่งงบสนับสนุนมาจุดนี้เยอะ ๆ แล้วก็พยายามขยายต่อ โดยทำตัวเป็นแม่แบบให้ที่หลาย ๆ ที่มาศึกษาดูงาน เพื่อขยายต่อให้เทศบาลอื่น ๆ ต่อไป

บัญญัติ จามมณี นักเรียนสูงวัย

พื้นที่เปิดมันหายาก ที่จะเป็นพื้นที่ให้ผู้สูงวัยมาทำกิจกรรมร่วมกัน ให้เขาได้ส่งเสริมสุขภาพ แก้ปัญหาสุขภาพ แก้ปัญหาทั้งเรื่องจิตใจ เรื่องอารมณ์ไปด้วย อนาคตข้างหน้าถ้าเรามีพื้นที่เปิด มันก็จะได้กับประชาชนทั่วไป หรือว่าประชาชนสูงอายุอื่น ๆ ที่ไม่มีโอกาสมาเรียนที่ ม.วัยที่สาม

น้ำผึ้ง แปลงเรือน วิทยากร สอนวิชาโยคะ

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยวัยที่สาม เทศบาลนครเชียงราย เปิดมาแล้ว กว่า 6ปี เป็นพื้นที่เสริมสร้าง ความรู้ ความสุข ให้กับนักเรียน สูงอายุไปแล้ว ร่วมกันนับพันคน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ