ชีวิตนอกกรุง : แม่ข่า ตำบลที่ดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุแบบครบวงจร

ชีวิตนอกกรุง : แม่ข่า ตำบลที่ดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุแบบครบวงจร

ในยุคที่ประเทศเรา กลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ การดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย กลายเป็นอีกหนึ่งภารกิจของทุก ๆ คนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ ภาคส่วนท้องถิ่น หรือว่าภาคประชาชนในพื้นที่ วันนี้ Localist ชีวิตนอกกรุง ชวนไปรู้จักกับอีกหนึ่งตำบล ใน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ที่พวกเขาออกแบบการดูแล คุณภาพชีวิตผู้สูงวัยในชุมชน อย่างครบวงจร

ที่นี่ตำบล แม่ข่า อำเภอฝาง อยู่ห่างจาก ตัวเมืองเชียงใหม่ กว่า 180 กิโลเมตรเลยครับ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนส้ม แล้วนาข้าว สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การที่ประชากรกว่า 20 % ของที่นี่ มีอายุมากกว่า 60 ปี  กลายเป็นตำบลที่เข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ครับ

ตำบลแม่ข่าไม่ได้เริ่ม วันสองวัน แต่เราเริ่มมาตั้งแต่ปี 58 ซึ่งตอนนั้นเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย การทำงานทุกอย่างเรามีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงานที่เข้ามาช่วยผม มีครบหมดเลยเราก็ใช้หลักคิด บ ว ร ส แล้วก็ ค ก็คือ บ้าน วัด โรงเรียน สาธารณสุข แล้วก็เครือข่าย

ยุทธะ สรรพางค์ เทศบาลตำบลแม่ข่า
คุณ ยุทธะ สรรพางค์ นักจัดการทั่วไปชำนาญการ เทศบาลตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

เรามีคนช่วยงานทั้งภายในภายนอก ภาควิชาการ เราก็มีภาควิชาการด้านระดับมหาวิทยาลัยมาช่วย เราไม่ได้ทำคนเดียว ไม่ใช่เทศบาลทำเองคนเดียว เราไม่ได้เป็นพระเอกนะ ถ้าเราคิดว่าเราเป็นพระเอกเมื่อไร งานมันจบ งานมันหมด เงินมันหมด อยู่ไม่ได้นะ

จากการร่วมมือของทุกภาคส่วนในชุมชน เกิด 5 ภารกิจดูแล คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ของคนแม่ข่าขึ้นมา

โรงเรียนสูงอายุ 0 บาท

ที่นี่จะมีการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุขึ้นมา โดยจะมีการสอนวันพุธแรก และพุธที่สามของเดือน วิทยากรก็จะเป็นคนในชุมชน และรายวิชาที่สอน ก็จะได้มาจากความต้องการของผู้สูงอายุที่เรียน โดยเงินที่ใช้ในการจัดการจะเป็นเงินบริจาคจากชุมชน และวิทยากรที่มา ก็จะเป็นวิทยากรอาสา ไม่ได้รับค่าตอบแทน

   เพราะว่าผู้สูงอายุ จะไม่เหมือนนักเรียนที่โรงเรียน จะเน้นวิชาการไม่ได้ ส่วนที่หนึ่งเราจะเรียกว่าวิชาชีวิต ในหลักสูตรของโรงเรียนผู้สูงอายุกำหนดไว้เลยว่าวิชาชีวิตต้อง 50 % แล้วก็มามีวิชาชีพอีก 30 % แล้วก็มีวิชาการแค่ 20 %

บัญชร สุรศาสตร์พิศาล ผู้ออกแบบหลักสูตร โรงเรียนผู้สูงอายุแม่ข่า

วิชาชีวิตคือทักษะที่นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ทักษะอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ วิชาชีพก็จะเป็นการฝึกอาชีพให้กับผู้สูงอายุ มีกิจกรรมให้ทำ และถ้ากิจกรรมตัวนั้นสามารถสร้างรายได้ให้กับเขาได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเขา อย่างเช่นทำขนม จักสาน งานกระดาษใบตอง ทำของใช้จากใบตอง  วิชาการก็จะต้องไม่เน้นเกินไป เอาที่ใกล้ตัว เขาก็เอาไปปรับใช้ได้ ก็จะเป็นเทคโนโลยีนวัตกรรมสำหรับสูงวัยเบื้องต้น

ซึ่งเทศบาลเอง ก็ทำหน้าที่ผู้ประสาน ประสานคนในตำบลมาช่วยกันทำงาน ประสานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เขามีทรัพยากร .. เช่น ถ้าเรื่องส่งเสริมสุขภาพ เราก็ให้ รพ.สต. เป็นแม่งาน  ในเรื่องของหลักสูตร เราไม่ถนัด เราก็ให้โรงเรียนในพื้นที่ เข้ามาเป็นแม่งาน ในการถอดบทเรืยน ในการจัดกระบวนการเรียนการสอน โดยมีเทศบาลคอยประสานให้

คุณ ยุทธะ สรรพางค์ นักจัดการทั่วไปชำนาญการ เทศบาลตำบลแม่ข่า

เสียงจากนักเรียนผู้สูงอายุ

ครั้งแรกเราจะมีการสำรวจว่าแต่ละหมู่บ้าน อยากเรียนอะไร จะแบ่งเป็นด้านวิชาชีพ จะเน้นทางด้านจักสาน ถ้าผู้ชายจะชอบกระบุง ตะกร้า และถ้าเป็นผู้หญิงก็จะเป็นใบตอง ประดิษฐ์ ดอกไม้ บายศรีสู่ขวัญ  เราเป็นคนเลือกเอง แล้วก็เสนอไป ทางเทศบาลที่เป็นพี่เลี้ยง สู่โครงการต่าง ๆ ที่ออกมาเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุที่มาเรียน

เราได้ความรู้เยอะเลย ในด้านกฎหมาย ในด้านการทำยา ทำใบตอง ทำกิจกรรมใบตอง ทำสวยดอก ทำบายศรี ทำทุกอย่าง สบายใจ หายเครียด ไม่ต้องเครียด มีความสุข  อย่างใบตอง บางทีคนข้างบ้านสั่ง ว่าให้ทำบายศรีให้หน่อย เราก็ทำบายศรี … เขาบอกทำสวยดอกให้ด้วยนะ จะเอาไปวัด เราก็ไปทำให้เขา พวกงานอะไรแบบนี้เราก็ทำขาย ชิ้นละ 10 บาท

ผู้สูงอายุที่มาเรียน

การฝึกอาชีพ หาอาชีพที่เหมาะสมกับวัย ให้ผู้สูงอายุ

สืบเนื่องต่อจาก โรงเรียนผู้สูงอายุ ที่แม่ข่า จะมีกิจกรรม ที่เป็นการฝึกอาชีพต่าง ๆ ให้กับผู้สูงอายุ ที่ร่างกายเริ่มทำงานไม่ไหว ให้มาทำงาน หรือทำอาชีพที่ลดการใช้กำลัง อย่างเช่น ทำไม้กวาด สานตะกร้า โดยวิทยากรก็จะเป็น ปราชญ์ชาวบ้านที่อยู่ในชุมชน

ตอนยังไม่แก่ ยายตองก็ทำงานทั่วไปนี่แหละ รับจ้างทั่วไป ทำไร่ ทำนา ถอนกล้า ตอนนี้ยายตองทำไม่ได้แล้ว ยายตองก็เลยมาทำอันนี้ ทำไม้กวาด  เดี๋ยวนี้ตะกร้า ก็มีคนมาจองแล้ว ไม้กวาดขายดี ไม้กวาดขายได้ตลอด

คุณยายตอง ผู้สูงอายุที่มาเรียนสานตะกร้า

   ตอนนี้ก็ทำงานรับจ้างถางหญ้า ไปเรื่อย ๆ ถอนกล้าบ้าง ทำนาบ้าง … รับจ้างทั่วไปแหละ แต่ทำหนักไม่ไหว ทำงานเบา ๆ ขึ้นต้นไม้ก็ไม่ไหวแล้ว ไม่มีแรง

ผู้สูงวัยที่มาเรียนทำไม้กวาด

   หาวิชาทำงานเบา ๆ ดีกว่าอยู่เปล่า ๆ ตัวเองต้องหาวิชาช่วยตัวเอง ไม่มีใครที่จะช่วยเราได้ นอกจากตัวเราเอง รอลูกหลานเอาเงินมาให้ก็ยาก เพราะเขาก็ต้องเลี้ยงตัวเขาเอง เราก็หาอาชีพเสริมไปเรื่อย ๆ

                ยิ่งคนที่ไปทุ่ง ไปนา ไปสวนไม่ได้ ก็มานั่งทำ แบบนี้มันก็จะได้เป็นอาชีพเสริมหารายได้ของเรา เพื่อไว้ลูกหลานมาขอไปโรงเรียน นี่แหละเป็นความสุขของคนเฒ่า คนแก่

จากที่ได้พูดคุยกับ พ่อ ๆ แม่ ๆ สูงวัย ที่มาเรียน มาทำจักสาน ทั้งตะกร้า ทั้งไม้กวาด เป็นภาพแทนได้ชัดเจนเลยนะครับว่า ทุกวันนี้ คนสูงวัยในประเทศเราจำนวนมาก แม้ว่าเรี่ยวแรงจะลดน้อย ถอยลงทุกวัน  แต่ยังคงต้องทำงาน เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตตัวเอง จริงอยู่ครับที่ รายได้จากงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ เทียบไม่ได้เลยกับตอนที่มีแรง แต่อย่างน้อยก็เป็นช่วยลดภาวะพึ่งพิงในเรื่องเศรษฐกิจ ให้ยาวนานออกไป

ใช้ธนาคารเวลา จ่ายด้วยเวลา ลดรายจ่ายที่เป็นเงิน

เมื่ออายุมากขึ้น เรี่ยวแรงก็ถดถอยครับ อะไรที่เคยทำเองได้ ก็เริ่มทำไม่ไหวแล้ว หรือบางอย่างเคยมีเงินจ้างคนอื่นมาทำ ก็เริ่มต้องประหยัด คนที่นี่จึงใช้ธนาคารเวลาเข้ามาช่วยครับ

ธนาคารเวลาเป็นรูปแบบ ของการเก็บสะสม ในรูปแบบของการทำงานจิตอาสา ในการช่วยเหลือกันในชุมชน แต่สะสมด้วยเวลา ผ่านทักษะ ซึ่งก็คือความสามารถของแต่ละคน ที่อาจไม่เหมือนกัน หัวใจสำคัญของการทำกิจกรรมนี้ก็คือ ผู้จัดการธนาคารเวลา เพราะฉะนั้นเราจะใช้คนจากในคณะกรรมการบริหารเป็นหลัก แล้วเราก็ผูกกับภาระหน้าที่ เช่นตั้งต้นที่พัฒนาชุมชน ตั้งต้นที่อาสาบริบาล ใครจะมาทำตรงนี้ ก็จะมีภาระกิจที่ทำในเรื่องนี้ไปในตัว  

คุณ ยุทธะ สรรพางค์ นักจัดการทั่วไปชำนาญการ เทศบาลตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

               

   ตอนนี้เรามีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 70 – 80 ท่าน เราอยากจะพัฒนาต่อว่า เราจะเอาทักษะเหล่านี้เข้าไปใช้ในองค์กร ระหว่าง องค์กรกับองกรณ์ด้วย เราก็อยากจะให้เทศบาล ก็ไปช่วยโรงเรียนบ้าง โรงเรียนก็มาช่วย รพ.สต. และ รพ.สต. อาจไปช่วยเทศบาล พัฒนาต่อยอดไประดับองค์กร เราอยากพัฒนาต่อยอดให้เกิดการช่วยเหลือ เต็มทั้งตำบล

จริง ๆ แล้ว หลักคิดของธนาคารเวลา ก็คล้าย ๆ กับสิ่งที่ชาวบ้านเคยทำมาก่อนอยู่แล้วนะครับ นั่นก็คือวัฒนธรรมการลงแขก หรือ เอามื้อซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญในสังคมชนบท    พอกลายมาเป็นธนาคารเวลา ก็มีการสร้างหลักเกณฑ์ และทำให้จับต้องได้มากขึ้น โดยมีท้องถิ่นเข้ามาช่วยบริหารจัดการทำให้สามารถสร้างและกระจายประโยชน์ได้อย่างน่าสนใจเลยนะครับ

มีอาสาบริบาล ช่วยดูแลผู้ป่วยสูงวัย ติดบ้าน ติดเตียง

ที่ตำบลแม่ข่า จะมีอาสาบริบาล 2 คน ซึ่งผ่านการอบรมสำหรับดูแลผู้ป่วยสูงอายุโดยเฉพาะครับ ซึ่งทั้ง 2 คนนี้ จะช่วยดูแล ผู้ป่วยสูงอายุ ที่ติดบ้าน ติดเตียง ที่มีอยู่ในชุมชน

เราก็ต้องมาแนะนำในสิ่งที่ถูกต้อง ที่เราอบรมมา  ให้หายเร็วขึ้น ไม่ใช่มาดูไปงั้น ๆ เรื่อย ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่ในความรับผิดชอบของเราด้วย ตามที่สอบ และ อบรมมา

เย็นจิต เหล่าดา อาสาบริบาล ต.แม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
คุณป้าเย็นจิต เหล่าดา อาสาบริบาล

   เราก็ต้องมาแนะนำในสิ่งที่ถูกต้อง ที่เราอบรมมา ให้หายเร็วขึ้น ไม่ใช่มาดูไปงั้น ๆ เรื่อย ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่ในความรับผิดชอบของเราด้วย  เพราะว่าเขามอบหมายให้เรามาดูแล้ว เราต้องแจ้งรายระเอียดให้หมอ หมอจะได้ชี้แนะได้ทัน เพราะตามลำพัง จะให้หมอตามมาดูคนไข้ที่บ้าน คนไข้มันเยอะ ก็ต้องมีบริบาลเข้ามาเสริม

ตอนนี้เทศบาลเป็นคนดูแล แต่ว่าอยู่ในการควบคุมของสาธารณสุข ที่จะชี้แนะว่าเราปฎิบัติถูกไหม หรืออย่างไร แต่การควบคุมทางด้าน อื่น ๆ ก็คือเทศบาล อย่างเช่น ค่าใช้จ่าย อะไรแบบนี้

กองทุนเฉพาะกิจปรับปรุงบ้าน ให้ผู้สูงอายุ

ปัจจัย 4 ที่ประกอบด้วย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และ ที่อยู่อาศัย เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตมนุษย์ทุกคนนะครับ ยิ่งถ้าเราอายุมากขึ้น เดินเหินลำบาก ที่อยู่อาศัยแบบเดิม ๆ คงไม่ตอบโจทย์ชีวิตเหมือนที่เคย ซึงที่ตำบลแม่ข่าเอง ก็มีการปรับปรุงบ้านให้ผู้สูงอายุ อยู่อย่างสม่ำเสมอครับ และที่น่าสนใจก็คือ หลาย ๆ ครั้ง การปรับปรุงก็จะเป็นงบประมาณจากการระดมทุน ระดมแรงของคนในชุมชน

เงินหลัก ๆ จะได้มาประมาณ 20,000 บาท แล้วที่เหลือจะเป็นพี่น้องชาวบ้านบริจาค รวบรวมกันมา ประมาณ 6,000 – 7,000 บาท มีส่วนร่วมหลายส่วนเลย พี่น้องชาวบ้าน สท. ผู้นำชุมชน แล้วก็พระสงฆ์ ยังมาประสมปูนด้วยเลย ถ้าอยู่ในเมืองคงไม่มีใครมาช่วยทำ คนในชนบท เขามีน้ำใจ แล้วก็ติดต่อสื่อสารกันก็ง่าย แล้วก็ไปไหนเขาก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

วัชรพงษ์ ทรงทวี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 13 ตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
วัชรพงษ์ ทรงทวี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 13 ตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

อย่างบ้านหลังนี้ เราก็ได้ซ่อมแซมห้องน้ำ ติดตั้งชักโครก ทาสี แล้วก็เพิ่มลอนหลังคา กับฟุตบาท รอบบ้าน เพื่อให้เขาใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น แล้วก็แสงสว่างภายในทั้งหมดเลย  ต้องติดตั้งใหม่ เพราะว่าของเก่าก็ชำรุด ทรุดโทรม และที่สำคัญก็คือราวช่วยพยุง ก็มีในห้องน้ำ มีในห้องครัว ทางลง แล้วก็มีราวจับพยุงเดินอยู่รอบตัวบ้าน และในบ้าน

  ดีขึ้นมาเยอะ เวลาเราเดินในบ้าน เขาทำราวพยุงตัวให้ ทำประตู ทำอะไรใหม่ให้หมด เปลี่ยนประตูใหม่เป็นพลาสติก เมื่อก่อนเป็นประตูไม้มันหนัก ประตูมันเก่า มันแตกไป    ได้ไฟใหม่ แสงสว่างดีมากเลย เพราะเราเป็นคนพิการ เดินลำบาก ถ้าได้แสงสว่างก็เห็นอะไรง่ายขึ้นดีขึ้น ก่อนนี้ไฟมีหลอดเดียว มันมืด เดี๋ยวนี้ไฟมี 3 – 4 หลอด แล้ว

เสียงจากคุณลุง ผู้ป่วยเรื้อรัง สูงอายุ ในชุมชน ที่ได้รับการปรับปรุงบ้าน

อย่างที่เห็นนะครับว่า คุณภาพชีวิตคนสูงวัย เป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายมาก หวังว่าแนวทางและความพยายามของตำบลแม่ข่าที่เราได้เห็นในวันนี้  จะช่วยเปิดมุมมองและสร้างแรงบันดาลใจ  ให้กับชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศซึ่งกำลังเผชิญสถานการณ์ไม่ต่างกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ