ชีวิตนอกกรุง : หมูดอยหลักล้าน

ชีวิตนอกกรุง : หมูดอยหลักล้าน

หมูดอย มีหลายสายพันธุ์ ลักษณะภายนอกจะมีสีดำ

หมูดอยหรือหมูดำกับคนดอยเป็นสิ่งคู่กันมานาน โดยเฉพาะกับชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หมูดำเป็นมากกว่าอาหาร เพราะเกี่ยวพันไปถึงประเพณี ความเชื่อ ที่ยังคงอยู่แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป หมูดำหรือหมูดอยในวันนี้เลยมีส่วนในมุมของการสร้างรายได้ที่หมุนเวียนไปในชุมชนอย่างน่าสนใจ ทั้งในแง่โอกาสที่เกิดจากความต้องการในชุมชน เป็นเศรษฐกิจฐานรากที่เติบโตได้ของชุมชน

พิธีไหว้เจ้าที่นา

ที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ คนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธ์ุ ทั้งปกาเกอะญอ ลีซู อาข่า ฯลฯ อาชีพหลักคือเกษตรกร ด้วยผู้คนที่นี่หลัก ๆ จะเป็นชาวปกาเกอะญอ ซึ่งจะให้ความสำคัญเรื่องของข้าว การทำนาและพิธีกรรมตามความเชื่อเกี่ยวกับการทำนาจึงสำคัญมาก ในพิธีกรรมเหล่านั้นก็จะมีหมูดำเป็นส่วนประกอบด้วย เรียกว่า “พิธีไหว้เจ้าที่นา” เป้าหมายเพื่อให้ได้ผลผลิตดี น้ำสมบูรณ์ ไม่มีโรคแมลงรบกวน

นอกจากการพิธีเกี่ยวกับการทำนา ชาวปกาเกอะญอก็ยังมีอีกหลายพิธีกรรมที่จะมีหมูดำเป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่น การผูกข้อมือเรียกขวัญเมื่อป่วยไข้ พิธีแต่งงาน พิธีมัดมือ ซึ่งจากการประเมินคร่าว ๆ ของชุมชนบ้านจันทร์ ที่มีประชากรอยู่ที่ 170 หลังคาเรือน จะใช้หมูดำประมาณ 1,300 กว่าตัวต่อปีเลยทีเดียว

กัลยา เขตเนาว์อนุรักษ์ (เฟิร์น)

ซึ่งหมูดำเหล่านี้จะถูกเลี้ยงไว้อยู่แล้วเกือบทุกบ้าน โดยหลัก ๆ จะเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ผู้หญิงปกาเกอะญอจะเลี้ยงหมูเป็นกันทุกคน ถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก ๆ แม้ปัจจุบันจะมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น เข้าไปเรียนในเมืองจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญา แต่เมื่อกลับมาอยู่บ้าน ก็จะยังเลี้ยงหมูเป็นและเป็นสิ่งที่ต้องทำ เช่นเฟิร์น (กัลยา) ซึ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ไปทำงานที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน เมื่อตั้งท้องและกลับมาอยู่บ้าน การเลี้ยงหมูก็ยังสามารถรับผิดชอบได้เช่นเดิม

หมูดอยอายุ 7-8 เดือน ราคาจะอยู่ที่ 7,000 – 9,000 บาท

แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลง ก็มีหลาย ๆ บ้านไม่ได้เลี้ยงหมูดำไว้ เมื่อต้องใช้ประกอบพิธี การขอซื้อจากบ้านที่เลี้ยงไว้จึงเกิดขึ้น การซื้อขายหมูดอยหรือหมูดำ จะเป็นไปในลักษณะการต่อรอง ไม่มีการชั่งน้ำหนัก จะประเมินเอาแล้วต่อรองตกลงกัน ระหว่างเจ้าของหมูกับคนซื้อ ราคาก็จะมีตั้งแต่ 1,500 (ลูกหมู อายุ 1-3 เดือน) ไปจนถึง 10,000 กว่าบาท ต่อตัว

พ่อค้าหมูชำแหละ

พ่อค้าหมูดอย เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีส่วนสำคัญให้มูลค่าหมูดอยเริ่มหมุนเวียนไปในชุมชน อาชีพนี้เกิดขึ้นมาจากความต้องการบริโภคหมูตามความเชื่อของคนบนดอย ที่เชื่อว่าหมูดำนั้นกินแล้วจะดีกว่า โดยมีเรื่องเล่าขานกันกันต่อ ๆ มาว่า กินหมูขาวแล้วเกิดอาการชักบ้าง หรือเมื่อเจ็บป่วยเมื่อกินเนื้อหมูดำแล้ว จะดีขึ้น หรือชนเผ่าลีซู จะกินหมูเฉพาะหมูดำที่เป็นตัวผู้เท่านั้น เมื่อก่อนการล้มหมูจะเป็นการลงขันกันแล้วไปซื้อหมูมาชำแหละแบ่งตามสัดส่วนของการลงขัน ซึ่งเป็นที่มาของการขายแบบเป็นหุ้น

หมูหุ้น
ณรงค์ชัย สันติชัยชาญ(ปลายน้ำ)

ปลายน้ำ เล่าให้ฟังว่าครอบครัวทำอาชีพชำแหละหมูดำเพื่อขายมาได้กว่า 19 ปีแล้ว โดยคุณพ่อจะตระเวนไปตามหมู่บ้านเพื่อซื้อหมูที่โตจนได้ขนาดและน้ำหนักนำมาชำแหละ แบ่งขายเป็นชุด หนึ่งชุดจะประกอบไปด้วย เนื้อหมู กระดูก มัน เลือด คละกันไป โดยน้ำหนักรวมจะอยู่ที่กิโลกรัมละหนึ่งร้อยบาท จะได้กำไรอยู่ที่ 2,000 บาท ต่อการชำแหละหมู 1 ตัว โดย 1 อาทิตย์จะชำแหละหมูอยู่ที่ 3-4 ตัว

ปัจจุบัน นอกจากครอบครัวของปลายน้ำในชุมชนจะมีพ่อค้าหมูทั้งหมด 3 ราย จึงทำให้ความต้องการหมูเพื่อมาชำแหละมีไม่เพียงพอ เพราะการเลี้ยงหมูส่วนใหญ่ยังทำเป็นอาชีพเสริม เลี้ยงในเวลาว่าง จึงทำให้หมูตัวโตพอชำแหละมีน้อย ไม่พอต่อความต้องการ ซึ่งตรงนี้เป็นโอกาสให้กับผู้ที่เห็นช่องทาง สร้างการรวมกลุ่มเพื่อผลิตหมู

ผศ.ดร. อภินันท์ สุวรรณรักษ์ (อาจารย์ กบ)

โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรบ้านแจ่มน้อย มาจากไอเดียการส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงหมูคุณภาพ เป็นการพัฒนาจากฐานทรัพยากรเดิมของชุมชน โดยมี อาจารย์กบ หรือ ดร. อภินันท์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นผู้ผลักดัน มีเฟิร์น เป็นผู้ดูแลในพื้นที่ โดยเริ่มจากแจ่มน้อยเป็นชุมชนแรก เพราะมีชื่อเสียงทางด้านการเลี้ยงหมูอยู่แล้ว ตอนนี้มีสมาชิก 50 ราย มีเป้าหมายที่จะให้ทุกครัวเรือนมีหมูอย่างน้อย 2 ตัว

หากดูถึงความต้องการหมูดอย ที่เพิ่มขึ้น มีการประเมินจากราคาที่ซื้อขายกัน รวมไปถึงปริมาณที่พ่อค้าหมูชำแหละต้องการ ในวงจรของเศรษฐกิจนี้ จะมีมูลค่าถึง 10,000,000 ล้านบาท ที่กระจายไปในชุมชน เฟิร์นบอกว่า ทุกวันนี้มีเท่าไหร่ก็ขายได้หมด ซึ่งไม่เฉพาะคนในอำเภอกัลยานิวัฒณา ความต้องการหมูดำนี้กระจายตัวไปทั่ว เพราะคนดอยกับหมูดำ มีความเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก จึงทำให้วันนี้หมูดำเป็นอีกทางเลือกในการประกอบเป็นอาชีพของคนบนดอย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ