
เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ ว่า “เกษตรกรไม่ใช่ว่าจะทำกันง่าย ๆ” ยิ่งเกษตรกรในยุคนี้แล้วน่าจะยิ่งยากเข้าไปใหญ่ จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยาวต่อเนื่องกว่า 2 ปียังไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น เคราะซ้ำเกษตรกรยังต้องเผชิญการส่งออกไม่ได้ การขนส่ง และตลาดสินค้าการเกษตรที่ดูเหมือนจะหดแคบลงเรื่อย ๆ
หัวเมืองแหล่งผลิตลำไย แหล่งเพาะปลูกแห่งใหญ่คงหนีไม่พ้นกลุ่มจังหวัดภาคเหนืออย่างจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ปลูกลำไยดั้งเดิมและสำคัญที่สุดของประเทศโดยมีพื้นที่ในการปลูกลำไยรวมกันถึงร้อยละ 71 หรือประมาณ 328,329 ไร่ นับว่าเป็นพืชที่ทำรายได้ ให้แก่เกษตรกรมาก ทั้งในรูป ของผลสด และ ลำไยแปรรูป
ตัวเลขราว ๆ 4 แสนตัน คือตัวเลขคาดการณ์ปริมาณผลผลิตลำไยในฤดูกาลนี้ของจังหวัดเชียงใหม่ นี่ยังไม่นับรวมผลผลิตของจังหวัดข้างเคียงอย่าง ลำพูน เชียงราย และพะเยา ซึ่งในเดือนสิงหาคมนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตจะออกมาเยอะที่สุด
“ไม่รอ ไม่ขอ ลงมือทำ สร้างรายได้”
สโลแกนเพื่อเปลี่ยนทัศนคติให้เกษตรกรในยุคใหม่ ที่ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องมีอายุเท่าไหร่ ในสถานการณ์นี้ที่ท้าทายให้เกษตรกรไม่รอความช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่าง เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ซึ่งทาง “เชียงใหม่โมเดล” มองจากต้นทุนที่เกษตรกรมี คิดหาวิธีการเข้าไปติดเครื่องมือให้เกษตรกร ในรูปแบบของการเข้าไปหนุน ให้องค์ความรู้ใหม่ ๆ และจัดรูปแบบกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำปลายน้ำได้ด้วยตัวเอง
เชียงใหม่โมเดล เป็นการรวมกลุ่มกันของสถาบันทางการศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ นำนวัตกรรม ลงไปให้ไปองค์ความรู้กับชาวบ้านเกษตรกร เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรในยุคนี้ที่ยังทำเกษตรแบบดั้งเดิม ให้สามารถนำนวัตกรรม เทคโนโลยี ทำให้ผลผลิตของชาวสวนดีขึ้น ซึ่งเข้าไปสร้างต้นแบบการพัฒนาเกษตรกรยุคใหม่ ให้เป็น “นักนวัตกร” ในจังหวัดเชียงใหม่เลือกพื้นที่นำร่อง คือที่ ต.แม่ปั๋ง ต.ป่าไหน่ อำเภอพร้าว และ ต.แม่แฝก อำเภอสันทราย เพราะด้วยพื้นที่นี้ที่มีเกษตรกรชาวสวนลำไยเป็นจำนวนมาก
เชียงใหม่โมเดล โมเดลใหม่ คิดให้ครบ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
ต้นน้ำ คือ การเปลี่ยนคุณภาพของสินค้าเริ่มจากการให้สินค้าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพเช่นการตัดแต่งกิ่งหากเป็นเกษตรกรดั้งเดิมจะไม่นิยมในการตัดแต่งกิ่ง เชียงใหม่โมเดลมองตรงนี้ว่าเกษตรกรที่เข้ามาร่วมในการเติมความรู้ตรงนี้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้กับในพื้นที่หากเกษตรกรรายอื่นไม่สามารถหรือไม่มีลูกหลานที่ให้ ความรู้ด้านนี้เกษตรกรที่เป็นตัวแทนในการเรียนรู้ตรงนี้จะสามารถนำไปใช้ที่เป็นผู้ประกอบการที่สามารถหารายได้จากการบริการ ตรงนี้ได้ด้วย กลางน้ำ คือ การวางแผนการขาย ที่หลากหลายช่องทาง ปลายน้ำ คือ การขนส่งให้ถึงมือผู้รับและประทับใจกับสินค้ากลับมาซื้อใหม่

ผศ.พาวิน มะโนชัย ที่ปรึกษาโครงการเชียงใหม่โมเดล /รองอธิการบดี ม.แม่โจ้ บอกว่า เชียงใหม่โมเดลเข้าไปทำการสนับสนุนระบบการผลิตทางด้านการเกษตรโดยเป้าหมาย คือ การสร้างคนและวางระบบตลอดทั้งโซ่อุปทาน พัฒนาตลาดเดิมที่มีอยู่หรือสร้างตลาดใหม่หรือมีช่องทางการตลาดใหม่อย่าง เช่น การทำตลาดออนไลน์ และที่สำคัญคือถ้ามีผลผลิตที่ตกเกรดสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้โดยการแปรรูปสินค้าและที่สำคัญพยายามวางแผนไว้คือสร้างนวัตกร ให้เกิดความยั่งยืนในท้องถิ่น ส่วนการเข้าไปหนุนเสริมของเชียงใหม่โมเดล คือการเข้าไปดูถึงอาชีพเดิมของเกษตรกรที่มีอยู่โดยนำร่อง 3 พื้นที่ ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรแบบวิสากิจแปลงใหญ่ พืชหลักของเขา จะเป็น ลำไย มะม่วง แต่ถ้าเกษตรกรปลูกเพียงชนิดเดียว พึ่งพารายได้จากรอบการผลิตรายปี พอถึงช่วงนอกฤดูกาลของพืชชนิดนั้น ๆ ผลผลิตมันก็จะไม่ได้คุณภาพ ซึ่งก็กลายเป็นความเสี่ยง
เกษตรกรยุคใหม่หัวไวใจกล้า “ทำด้วยใจรัก รู้จักใช้เทคโนโลยี” คือ เคล็ดลับความสำเร็จ
เราพยายามให้เกษตรกรแบ่งเวลาส่วนหนึ่ง แบ่งพื้นที่ว่างและมีเวลาทำอาชีพเสริม” เช่น การปลูกดอกไม้ หรือพืชสมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟ้าทะลายโจรสร้างอาชีพเสริมให้กับชาวบ้านทำคู่กัน ในปกติแล้วเกษตรกรจะทำหน้าที่ในการพัฒนาผลผลิตต้นทางเพียงอย่างเดียว จะให้เขาพัฒนาขั้นตอนในการสร้างมูลราคาเพิ่มผลผลิต เช่น การนำมาแปรรูป หรือในอนาคตก้าวหน้าต่อไปอาจเข้าไปถึงเรื่องของสารสกัด เป็นต้น
ขั้นตอนต่อไป คือ พยายามที่จะเชื่อมตลาดให้กับเกษตรกร จากตลาดเดิมที่เขามีอยู่ และเพิ่มช่องทางใหม่ ช่องทางการตลาดเดิมของเกษตรกรโดยส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็นลำไยจะทำการรูดร่วงขายส่งล้ง จะได้ราคาต่ำ ราคาหน้าล้ง หรือ การขายแบบใส่ตะกร้าเหมาเข่ง ซึ่งจะได้ราคาที่ถูกกดจากพ่อค้าคนกลาง สิ่งที่เราจะเพิ่ม คือการส่งภายในประเทศรูปของตลาดออนไลน์ และการดิวกับปลายทางโดยตรง และช่องทางที่หลากหลายในการขนส่งบริษัทเจ้าเดียว ช่องทางเดียวเผื่อสถานการณ์วิกฤติ และบางทีการขายออนไลน์อย่างเดียวคงไม่พอ แต่มองไปถึงการขนส่งที่ไหนตอนนี้กำลังมีปัญหา เรื่องการมีตัวเลือกในการขนส่งมากกว่าหนึ่งทางก็เป็นอีกทางออกของเกษตรกรในตอนนี้ หรือไปจนถึงเกษตรกรเองจัดการขนส่งได้ด้วยตัวเอง
โดยสิ่งเหล่านี้จะให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่มีองค์ความรู้หลาย ๆ แขนง มาบูรณาการกับความรู้ในพื้นที่นำร่อง หัวใจหลัก คือ การควบคุมคุณภาพสินค้าจากต้นทางไปถึงปลายทางผู้รับ ต้องสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มเกษตรกร และไปถึงการสร้างแบรนด์ให้กับพื้นที่ เช่น ถ้าคนพูดถึงพื้นที่สันทรายแบรนด์ผลไม้ที่สำคัญ คือ ลำไยสันทราย เมื่อปลายทางติดใจก็จะมีการสั่งออเดอร์ซ้ำและมีการบอกต่อโดยเป็นอีกช่องทางในการขาย
ความจริงเกษตรกรต้องมีตัวเลือกในการขนส่งหลายทาง ในอนาคตตัวอาจารย์ มองว่าถ้าจังหวัดหรือทางรัฐบาล อาจจะสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร เช่น มีการสนับสนุนในส่วนของรถห้องเย็นในการขนส่งภายในประเทศ ถ้ามีแบบนี้ทางเราก็สามารถที่จะควบคุมได้ และบริหารจัดการได้จากต้นทาง ซึ่งมองว่าในอนาคตจะต้องเกิดขึ้นแน่นอนที่จะพัฒนา ซึ่งตอนนี้ถ้าปลดล็อกในด้านโลจิสติกส์ก็จะง่ายขึ้น อีกส่วนหนึ่ง คือ รูปแบบการบริการถ้ารวมกลุ่มกันดี ๆ บริษัทที่ให้บริการทางด้านการขนส่ง คือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ดีบริษัทเหล่านี้ก็จะเข้าไปรับถึงในสวน ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่ของกลุ่มเกษตรกร


สรุป เชียงใหม่โมเดลหนุนเสริมอะไรเกษตรบ้าง
1. เข้าไปอบรมให้ความรู้ด้านการตลาดออนไลน์ เรียนรู้ช่องทางใหม่ ๆ ในการขาย
2. เข้าไปส่งเสริมการผลิตลำไยคุณภาพและการผลิตลำไยนอกฤดู ตัดแต่งช่อผลลำไย เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพ
3. พาเกษตรกรพบสถานประกอบการ (ตลาด) เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจว่ามีตลาดรองรับผลผลิต ซึ่งแต่เดิมเกษตรกรขายผลผลิตเพียงแต่ ในพื้นที่ของตนเท่านั้น
4. เข้าไปสร้างความมั่นคงทางอาหาร ปลูกผักสวนครัว หรือดอกไม้จะได้ไม่ปลูกผลผลิตเพียงอย่างเดียว
5. เข้าไปช่วยเติมเรื่องการแปรรูปผลผลิตฯ เพื่อยกระดับ ไม่เพียงแต่การขายผลผลิตสดเท่านั้น
6.ปลายทางคือ ตลาดชุมชน วางแผนร่วมกับกลุ่มผู้นำชุมชน เพื่อออกแบบ ปรับปรุงภูมิทัศน์ของตลาด เพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น ดึงดูดนักท่องเที่ยว ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด และสามารถส่งผลผลิตเองได้ถึงมือผู้รับซื้อ

พี่กบ พงษ์พันธ์ มูลแดง เกษตรกรวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ หนึ่งในเกษตรกรแปลงใหญ่ลำไยแม่แฝก พี่กบบอกว่า “ปรับตัวแล้วปรับอีก” เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ปีที่ผ่านมา ๆ กระทบการของเขาขายได้น้อยลง / แต่ในปีนี้เริ่มขายได้ดีขึ้น ด้วยการเข้ามาหนุนเสริมของสถาบันการศึกษา ที่นำทั้ง ทั้งความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี หนุนเสริมทำได้มองเห็นช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น
ต้องปรับอะไรบ้าง พี่กบบอกว่า เริ่มจากเกษตรกรรวมกลุ่มกันก่อนเป็นวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ลำไยมีสมาชิก 32 ราย ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตออกมาถึง 60 ตันเลยทีเดียว ก่อนหน้านี้ขายลำไยในรูปแบบรูดร่วง ส่งล้ง ไม่ได้คิดถึงเรื่องเกรดหรืออะไร หลังจากได้เรียนรู้และได้ทดลองทำจริงทำให้ผลผลิตของเขาเริ่มมีคุณภาพที่ดีขึ้น ได้ทดลองการติดเครื่องมือการขายในรูปแบบใหม่เช่นการขายในรูปแบบออนไลน์ ก่อนหน้าที่จะขายลำไยได้ทดลองการขายมะม่วงเกรดพรีเมียม การปรับบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการเพิ่มช่องทางที่หลากหลายในการส่งไปยังปลายทางผู้รับสินค้า
โดยมีช่องทางการขายใหม่ทีเพิ่มขึ้น เช่น การขายออนไลน์ การแปรรูปผลผลิต แพคสินค้าเอง และตอนนี้เขากำลังออกแบบช่องทางใหม่ แบบเดลิเวอรี่ เองอีกด้วย เป้าหมายคือ ทำอย่างไรที่พวกเขา กลุ่มเกษตรกรจะเข้าใกล้ผู้บริโภคในหลาย ๆ กลุ่มมากขึ้น
“ก่อนหน้านี้เรายังติดกับการทำเกษตรแบบเดิม การขายแบบเดิม แต่ปัญหาคือทำไมเราคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไม่ได้ดีขึ้นยิ่งมาเจอสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งตอกย้ำ ตอนนี้เห็นช่องทางที่กว้างขึ้น มีแพลตฟอร์มการขาย มีการคัดเกรด เริ่มจากกระบวนการต้นน้ำทำสินค้าให้พรีเมียม เลือกหลากหลายช่องทางได้ในการขาย และส่งถึงมือผู้บริโภค ทั้งวิ่งรถเอง หรือเลือกขนส่งหลาย ๆ เจ้า
“ในปีนี้พวกเราพอกันเห็นทางที่จะพากันให้ไปไปรอดได้ ที่มีความสุขทั้งคนทำมีความสุขทั้งผู้รับซื้อ ”