“เปลี่ยนคุณค่าของไม้ ให้กลายเป็นทรัพย์”
ถ้าเราพูดถึงต้นไม้ แน่นอนว่าภาพจำ หรือความคิดแรกของใครหลาย ๆ คน รวมถึงตัวผมด้วย คงหนีไม่พ้นการมองเห็นถึงคุณค่าของต้นไม้ ไม่ว่าเป็นการมีร่มเงาเพื่อกันแสงแดด หรือว่าการผลิตออกซิเจน เพื่อสร้างอากาศดี ๆ ให้แก่เรา ให้แก่โลกครับ
การมีคุณค่าเพียงอย่างเดียว ก็อาจจะยังไม่พอที่จะสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาปลูกต้นไม้เพื่อทำเป็นอาชีพได้ เพราะต้นไม้กว่าจะโตก็ต้องใช้เวลาหลายสิบปี ระหว่างนั้นเราก็ต้องกินต้องใช้ เพราะว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น เราต้องใช้เงิน เพื่อมาซื้อสิ่งของต่าง ๆ ทั้งอาหาร เสื้อผ้า เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตครับ
ทำให้การที่จะปลูกต้นไม้เพื่อสร้างอาชีพ ยังคงเป็นเรื่องที่หลายคนมองว่า ต้องเป็นคนที่มีที่ดินว่าง ๆ รายได้พอมีอยู่มีกิน ไม่เดือดร้อนเรื่องการเงินเท่านั้น ถึงจะปลูกต้นไม้ทิ้งไว้ได้
แน่นอนครับว่าจะคิดอย่างนั้นก็ไม่แปลก เพราะตัวผมเองก็คิดแบบนั้นเช่นกันครับ จนกระทั่งผมได้ไปเห็นแนวทางของคนนอกกรุงใน 2 พื้นที่ ที่สามารถสร้างคุณค่า และมูลค่าของต้นไม้ไปพร้อม ๆ ชักเริ่มน่าสนใจขึ้นมาแล้วใช่ไหมครับ เราไปดูกันว่าแนวทางการสร้างมูลค่าจากต้นไม้เขาทำกันแบบไหน เราจะหยิบแนวทางมาปรับใช้กับพื้นที่เราได้อย่างไร ตามไปดูกันครับ
เรามาเริ่มที่แนวทางแรก คือ ปลูก ตัด แปรรูป การจัดการผลผลิตไม้แบบครบวงจร อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี
ง่ายที่สุดก็เหมือนการเก็บเกี่ยว เวลาเราปลูกข้าว เราก็เปรียบว่าข้าวเป็นแม่โพสพ พอถึงวันหนึ่งเราก็ฆ่าไม่โพสพโดยการเกี่ยวข้าว ไม่เห็นใครบอกว่าชั่วร้ายอะไรเลย เป็นสิ่งที่ถูกต้องด้วยซ้ำไป เพราะว่าเราไม่ได้ปลูกต้นไม้โลกสวยให้ลูกหลานดู มันต้องตอบโจทย์ในทางเศรษฐกิจ
พี่พงศา ชูแนม : อธิบายเปรียบเทียบให้เห็นถึงหลักสำคัญของกิจกรรม
แนวคิดหลัก ๆ ก็คือ การปลูกต้นไม้ ต้องตอบโจทย์ทางด้านเศรษฐกิจให้กับผู้ปลูกด้วย ให้มองต้นไม้เป็นเหมือนผลผลิตทางการเกษตร ที่พอถึงเวลาก็ต้องมีการเก็บเกี่ยวผลผลิต หลักสูตรนี้จึงเน้นไปที่การจัดการต้นไม้เมื่อต้นไม้ถึงเวลาที่ต้องเก็บเกี่ยว ครับ
เรียนการตัดไม้โค่นไม้ การชักลาก แปรรูป สร้างบ้าน เอาไม้มาทำชิ้นงาน พัฒนาคุณภาพไม้ แล้วพยายามทำให้เห็นว่า ไม้ เป็นวัตถุดิบเรื่องสำคัญเรื่องแรก ๆ ที่สามารถทำให้ เกษตรกร หรือ คนธรรมดาสามัญเป็นผู้ประกอบการได้ ตั้งแต่ปลูก ตัด แปรรูป และการขาย
พี่พงศา พูดถึงการเรียนการสอนในกิจกรรม
การฝึกอบรมในหลักสูตร “การจัดการผลผลิตไม้ครบวงจร” มีการจัดกิจกรรมไปแล้ว 5 รุ่น รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 6 ซึ่งก็มีการกระจายไปจัดกิจกรรมในหลาย ๆ พื้นที่ การอบรมในหลักสูตรนี้ จะใช้เวลา 9 วันครับ สอนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ตั้งแต่ปลูก ตัด แปรรูป รวมถึงทำความเข้าใจกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 15 คน แต่ละคนก็มาจากหลายพื้นที่ หลายอาชีพ บางคนก็มาศึกษาเพื่อวางแผนที่จะกลับไปทำในพื้นที่ของตนเอง บางคนก็ตั้งใจทำเป็นอาชีพเสริม หรืองานอดิเรก
ปัจจุบันเมื่อกฎหมายการตัดไม้หวงห้ามถูกปลดล็อก ส่งผลให้การตั้งโรงงานแปรรูปไม้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างเศรษฐกิจที่น่าสนใจในอนาคต เพราะการจะเป็นผู้ประกอบการได้นั้น จะต้องจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ซึ่งโรงแปรรูปไม้ที่เปรียบเสมือนกลางน้ำที่ทำให้เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการขายไม้แปรรูป ที่มีมูลค่าสูงว่าการขายไม้ท่อนซุงได้กว่า 3-5 เท่าครับ
เขาเรียกปลดล็อกไม้หวงห้าม แปลว่าไม้ทุกชนิดที่อยู่ในที่ดินเอกชน ที่ได้มาตามประมวลกฎหมายที่ดิน ทั้งโฉนด ทั้ง ส.ค. ไม่ใช่ไม้หวงห้าม เจ้าของสามารถตัดและแปรรูปได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
พี่พงศา พูดถึงการปลดล็อกกฎหมาย
พี่พงศา บอกกับเราต่ออีกว่าถึงแม้ว่ากฎหมายจะมีการปลดล็อกการตัดไม้หวงห้ามไปแล้ว แต่ก็ยังมีข้อกำหนดบางประการที่ต้องระมัดระวัง เช่น เลื่อยยนต์ที่ต้องมีความยาวไม่เกิน 13 นิ้ว หรือเครื่องจักรในโรงงานแปรรูปต้องไม่เกิน 50 แรงม้า ซึ่งถ้าสามารถปลดล็อกได้ทั้งหมด ก็น่าจะเป็นเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าจับตามองทีเดียวครับ
การแปรรูปไม้ก็เหมือนเราทำโรงสีข้าว ผลผลิตของเกษตรกรคือต้นไม้ พอเก็บเกี่ยวเสร็จก็เข้าโรงงานแปรรูป ทำคุณสมบัติของไม้ให้มันมีคุณค่า และก็เกิดมูลค่า มูลค่ามันทำให้มนุษย์อยู่บนโลกนี้จริง มันจะต้องทำให้ทุกคนมีอาชีพมีสัมมาชีพอยู่ได้ด้วย มันเป็นพื้นฐานความจริง
พี่พงศา พูดถึงการมีโรงแปรรูปไม้ระดับชุมชน
และนี่คือแนวทางการสร้างมูลค่าจากต้นไม้ ในแนวทางแรกครับ การจัดการให้ครบวงจรก็จะส่งผลดีต่อเกษตรกร ซึ่งถ้าหลาย ๆ พื้นที่สามารถทำได้ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ของการสร้างเศรษฐกิจระดับฐานรากของชุมชน ให้ยั่งยืนในอนาคตครับ
ผมเดินทางต่อมาที่บ้านดอนศาลเจ้า อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ครับ ที่นี่มีอีกหนึ่งทางเลือก ในการสร้างมูลค่าจากต้นไม้ โดยที่ไม่ต้องตัดต้นไม้ครับ
พื้นที่บ้านดอนศาลเจ้า ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ เหมาะแก่การทำนา และการทำเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยว ไม่มีภูเขา หรือป่าธรรมชาติ มากนัก การสร้างพื้นที่สีเขียว จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของที่นี่ครับ
หมู่บ้านเราพื้นที่ที่มีต้นไม้ยืนต้นน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งต้นไม้นับวันมันก็จะหายลงเรื่อย ๆ เราก็มีแนวคิดว่าถ้าไม่ปลูกต้นไม้ในตอนนี้ สักวันนึงมันก็จะหมดไป
พี่หม่อม พูดถึงเหตุผลเรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียวในหมู่บ้าน
พื้นที่สาธารณะของหมู่บ้านมีน้อย การจะปลูกต้นไม้ให้เป็นแบบป่าชุมชนนั้นทำได้ยาก จึงใช้วิธีรณรงค์ให้แต่ละบ้าน ปลูกต้นไม้ในพื้นที่บ้านของตัวเอง โดยการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ของที่นี่จะทำให้รูปแบบของโครงการธนาคารต้นไม้ ที่ทำร่วมกับ ธ.ก.ส. ซึ่งที่นี้เริ่มทำโครงการกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561
ถ้าเรามีต้นไม้ตรงเจ้าของบ้านปลูก ปลูกไว้บริเวณรอบ ๆ บ้าน มันอาจจะไม่เยอะ แต่ถ้าหลาย ๆ บ้าน มันก็นับเป็นต้นก็อาจจะหลาย ๆ ต้น มันก็อาจจะเพิ่มต้นไม้ขึ้นมาได้
พี่หม่อม พูดถึงแนวคิดการส่งเสริมการปลูกต้นไม้
พี่หม่อมเล่าต่ออีกว่า ในช่วงแรกที่มีการส่งเสริมให้แต่ละบ้านปลูกต้นไม้ ก็ยังไม่ค่อยได้รับความร่วมมือมากนัก เพราะว่าเวลาลงไปส่งเสริมการปลูก ก็จะเจอคำถามที่ว่า ปลูกไปแล้วจะได้อะไร ปลูกไม้ป่ามันจะตัดได้เหรอ มีไม้ป่าในบ้านไม่ผิดกฎหมายเหรอ ทำให้พี่หม่อมกลับมาคิดใหม่ว่า ถ้าจะให้ชาวบ้านหันมาปลูกต้นไม้ ก็ต้องทำให้มีรายได้ระหว่างการปลูกด้วย พี่หม่อมจึงได้เข้าไปอบรมหลักสูตรผู้ประเมินมูลค่าต้นไม้ ที่จัดโดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ซึ่งหลังจากที่ผ่านการอบรมมาแล้ว พี่หม่อมก็ทำการประเมินราคาต้นไม้ และทำการขึ้นทะเบียนต้นไม้ให้กับสมาชิกในกลุ่ม เพื่อให้สมาชิกธนาคารต้นไม้เห็นว่า ต้นไม้แต่ละชนิดมีมูลค่า พอสมาชิกเห็นว่าต้นไม้มีมูลค่า ก็ทำให้คนในหมู่บ้านเริ่มหันมาปลูกต้นไม้กันมากขึ้น จากปี 2561 ที่ทำการสำรวจต้นไม้ในหมู่บ้าน พบว่ามีต้นไม้ประมาณ 1,500 ต้น แต่ในปีล่าสุด พ.ศ.2563 พบว่ามีการปลูกต้นไม้ถึงเกือบ 10,000 ต้น
แม้ว่าในช่วงสองปีที่พี่หม่อมเข้ามาทำโครงการธนาคารต้นไม้ จะสามารถเพิ่มต้นไม้ในพื้นที่ได้เกือบ 10 เท่า แต่พี่หม่อมก็ยังไม่หยุดแค่นั้นครับ เพราะพี่หม่อมต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า สมาชิกสามารถนำต้นไม้ไปค้ำประกันเงินกู้กับทาง ธ.ก.ส. ได้จริง
เราก็อยากให้คนเห็นว่าเราสามารถทำได้จริง ไม่ใช่คำพูดเพ้อเจ้อ หรือว่าหลอกลวง มันเป็นโครงการที่ทำได้จริง และจับต้องได้
พี่หม่อม พูดถึงการนำต้นไม้ไปค้ำประกันเงินกู้
พี่ปราณี คือสมาชิกที่นำต้นไม้เข้าไปค้ำประกันเงินกู้กับทาง ธ.ก.ส. ครับ โดยที่พี่ปราณี เป็นลูกค้าที่นำที่ดินไปกู้เงินกับ ธ.ก.ส. อยู่แล้ว แต่ในช่วงที่ผ่านมา ผลผลิตพืชไร่ราคาตก ทำให้หมุนเวียนเงินของตัวเองไม่ทัน ประกอบกับพี่หม่อมอยากหาสมาชิกนำต้นไม้ไปค้ำประกัน จึงทำให้พี่ปราณีตกลงที่จะนำต้นไม้เข้าไปค้ำประกันเงินกู้เพิ่ม
พี่ปราณี มีต้นไม้อยู่หลากหลายชนิดครับ แต่ส่วนที่สามารถนำไปค้ำประกันได้ จะเป็นต้นมะขาม ต้นสะเดา ต้นไม้แดง ต้นตะโก ซึ่งรวม ๆ กันแล้วก็ประมาณ 40 ต้น ครับ และในส่วนของการนำต้นไม้ไปค้ำประกันเงินกู้ มูลค่าจริงของต้นไม้ของพี่ปราณีจะอยู่ที่ 250,000 บาท แต่ทาง ธ.ก.ส. สามารถให้กู้ได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของมูลค่าต้นไม้ทั้งหมด ทำให้พี่ปราณีได้เงินกู้ออกมา 115,000 บาท ซึ่งพี่ปราณีบอกกับเราว่า จะทำเงินส่วนนี้ไปใช้ซื้ออุปกรณ์ทางการเกษตร และลงทุนเพิ่มเติมในส่วนอื่น ๆ
และนี่คืออีกหนึ่งแนวทาง ที่ทำให้บ้านดอนศาลเจ้า อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน และสร้างมูลค่าให้กับคนปลูกไปพร้อม ๆ กัน
แนวทางการสร้างเศรษฐกิจจากต้นไม้ คือความท้าทาย และเป็นเรื่องใหม่ ของชาวเกษตรกรครับ การปลูกต้นไม้ที่ต้องใช้ทั้งเวลาและความอดทน ซึ่งถ้าเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้ ก็จะส่งผลดีในอนาคตแน่นอนครับ การนำต้นไม้ที่อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง มาสร้างมูลค่าเพิ่ม นอกจากจะช่วยเยียวยาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระแสในระดับโลกแล้วยังช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากเพื่อความมั่นคงให้กับตัวเอง และชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม