“เสายามน้ำ” สัญญาณเตือนริมฝั่งน้ำมูล จ.อุบลราชธานี

“เสายามน้ำ” สัญญาณเตือนริมฝั่งน้ำมูล จ.อุบลราชธานี

หลังจากมีเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล จ.อุบลราชราชธานี เมื่อปี 2562 แม้จะผ่านมาเกือบ 2 ปี หลายชุมชนริมแม่น้ำมูลก็ยังต้องหาวิธีการ องค์ความรู้ และอุปกรณ์ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอีกครั้ง ซึ่งในนาทีนี้ดูเหมือนชาวอุบลราชธานีต้องเตรียมรับศึกสองทาง ทั้งสถานการณ์โควิด-19 และการเฝ้าระวังป้องกันน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ให้ซ้ำเติมวิกฤตที่กำลังเผชิญ

เทศบาลตำบลกุดชมภู อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เป็นอีกพื้นที่ชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลตอนปลายและเป็นจุดลุ่มต่ำรับน้ำจากลุ่มน้ำมูลและไม่ไกลจากลุ่มน้ำโขง โดยพื้นที่แถบนี้มักจะมีเหตุการณ์น้ำท่วมทุกปี

“เมื่อปี 2562 ตอนน้ำมาก็จะสังเกตได้ด้วยการเอาไม้ไปเสียบไว้ ตอนน้ำมามันก็จะค่อย ๆ ขึ้นมาทีละ 5 เซนติเมตร ถ้าน้ำมาเยอะก็ขึ้นครั้งละ 10 เซนติเมตร จนน้ำขึ้นมาเกือบถึงใต้ถุนบ้านเหลือแค่ 50 เซนติเมตร ซึ่งเมื่อก่อนก็แค่เอาไม้ไปเสียบไว้เพื่อวัดระดับน้ำ เพราะไม่มี “เสายามน้ำ” เหมือนทุกวันนี้” บุญครอง คะเณตรง ชาวบ้าน ต.กุดชมภู อ.พิบูลมังสาหาร เล่าถึงการเฝ้าระวังและสังเกตระดับน้ำตามวิถีชาวบ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้เศษไม้ที่ไม่มีความแข็งแรงมั่นคง

แต่ล่าสุด “เสายามน้ำ” หรือ “เสาวัดระดับน้ำ” คือ หนึ่งในเครื่องมือของทีมนักวิจัย ชาวบ้าน และเทศบาลตำบลกุดชมภูที่ได้ศึกษาคิดค้นขึ้นมา โดยจะนำไปติดตั้งปักไว้ริมตลิ่งแม่น้ำมูล เป็นอีกเครื่องมือที่ใช้เพื่อสังเกต บันทึก และแจ้งเตือนกันอย่างใกล้ชิดในชุมชนหากระดับน้ำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งชาวบ้านและทีมนักวิจัยในพื้นที่ ต.กุดชมภู อ.พิบูลมังสาหาร ร่วมกันออกแบบหลังมีประสบการณ์จากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2562 เพื่อรับมือหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอีกครั้ง

“เสายามน้ำ จะติดตั้งไว้ที่ริมตลิ่ง และมีระดับที่ 108 – 111 เซนติเมตร วัดจากระดับน้ำทะเล และหากระดับน้ำขึ้นมาถึงระดับ 109 ซนติเมตร ก็จะเริ่มเก็บสถิติการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำว่า วันหนึ่งน้ำจะมาเพิ่มวันละเท่าไหร่ ก็ต้องดูมวลน้ำด้วย และรับข้อมูลข่าวสารว่าน้ำเหนือจะมาเท่าไหร่เพื่อที่จะเตรียมตัว และเตือนภัย ซึ่งจะเริ่มเตือนชาวบ้านให้อพยพตั้งแต่ระดับน้ำอยู่ที่ปลายเสา 109 เซนติเมตร ซึ่งเราก็จะแจ้งไปยังผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านทางไลน์ หรือโทรไป เพื่อให้แจ้งเตือนชาวบ้าน ส่วนเจ้าหน้าที่ก็จะไปจัดเตรียมสถานที่พักพิง หากชาวบ้านต้องอพยพ จะได้ขนข้าวของขึ้นมา” ธนพิสิฐ สนใจ เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลกุดชมภู เล่าถึงวิธีการใช้งาน เสายามน้ำ เพื่อตรวจตราวัดระดับน้ำ ซึ่งเป็นอีกภารกิจของทีมวิจัยชุมชน เพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนหากมีความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำอย่างรวดเร็ว เพื่อให้คนในชุมชนสามารถเตรียมรับมือได้ทันท่วงที

นอกจากเสายามน้ำ ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้เพื่อเฝ้าระวังระดับน้ำและแจ้งเตือน ชาวบ้าน หน่วยงานท้องถิ่น และทีมนักวิจัย เทศบาลตำบลกุดชมภู อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ยังร่วมกันออกแบบเรือไฟเบอร์กลาสเพื่อใช้ในเหตุน้ำท่วม ให้มีน้ำหนักเบา ขนาดเล็กที่เหมาะกับการนำไปใช้ช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่แคบที่เรือท้องแบนไม่สามารถเข้าถึงได้ รวมถึงการประดิษฐ์ชุดโซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก หรือ โซลาร์เซลล์ชุดนอนนา ที่สามารถให้แสงสว่าง และชาร์จไฟเครื่องมือสื่อสารได้ เพื่อให้พร้อมรับมือภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น

“ตัว เสายามน้ำ มันก็จะเป็นประโยชน์ครับ เพราะเราจะได้ดูระดับน้ำแต่ละวันว่ามันจะขึ้นกี่เซนติเมตร บางที่น้ำลดลงเราก็รู้ได เพราะมีขีดระดับบอกชัดเจนทำให้ดูได้ง่าย ดีกว่าเราเอาไม้ไปเสียบไว้ บางที่มันก็โยกไปมาแล้วหลุดไปตามน้ำ ซึ่งสิ่งที่จำเป็นนอกจากการเตือนภัยหากเกิดน้ำท่วมก็คือ อาหาร ไฟฟ้า และก็เรือ เพราะถ้าน้ำท่วมไฟฟ้าก็จะถูกตัดก็ต้องมีโซลาร์เซลล์ไว้ใช้ และเรายังมีการทำเรือไฟเบอร์กลาส 3 ลำ เพื่อไว้ใช้กู้ภัย ที่ได้งบมาจากทีมวิจัยของเทศบาล เพราะถ้าน้ำท่วมถนนแทบนี้ก็จะใช้รถไม่ได้ต้องใช่เรือเท่านั้น” บุญครอง คะเณตรง ชาวบ้าน ต.กุดชมภู อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ย้ำถึงความแตกต่างของเครื่องมือใหม่จากการมีส่วนร่วมของชุมชน

ในปี 2564 มีข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายฝนในเดือนกันยายนนี้ ปริมาณน้ำฝนในภาคอีสานจะเพิ่มขึ้นจากปกติร้อยละ 5 ซึ่งนั่นเป็นอีกข้อมูลที่ทำให้เครือข่ายชาวบ้าน นักวิจัย หน่วยงานท้องถิ่น  และชาวอุบลราชธานีต้องเตรียมความพร้อมรับมือ เพราะพวกเขารู้ดีว่าผลกระทบที่ตามมาหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมภายใต้ภาวะวิกฤตโรคระบาดโควิด-19  อาจจะนำมาซึ่งความยากลำบากที่ไม่อาจจินตนาการ เพราะนอกจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังต้องเฝ้าระวังและรับมือกันทั่วประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตด้านภัยพิบัติ เป็นอีกปัญหาที่ทุกท้องถิ่นต้องหาวิธีการรับมือและป้องกัน

“เสายามน้ำ” อาจเป็นเพียงนวัตกรรมหนึ่งที่ใช้ในการสังเกต บันทึก และเป็นข้อมูลเพื่อแจ้งเตือนภัยของชาวบ้านที่อาศัยใกล้ริมฝั่งแม่น้ำมูลในพื้นที่ ต.กุดชมภู อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี แต่สิ่งสำคัญที่คนในชุมชนมีร่วมกันและจะเป็นเกราะป้องกันภัยพิบัติในหลากหลายลักษณะ นั่นคือข้อมูลสถานการณ์ และหัวจิตหัวใจที่รู้ร้อนรู้หนาวกับสถานการณ์ในชุมชนในบ้านของพวกเขา เพื่อให้ทุกคนสามารถรับมือทั้งพิบัติภัยจากน้ำท่วมและโควิด-19 และผ่านสภาวะยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ