“เดิมทีตอนเปิดรับบริจาคก็ไม่คิดว่าจะมีคนส่งกำลังใจ และเอาของมาแบ่งปันเยอะขนาดนี้ อาตมาก็โพสต์ ๆ ขอความร่วมมือจากเพื่อนในออนไลน์ ก็มีบริจาคมาเรื่อย ๆ นะ ทั้งคนที่อยู่ในพื้นที่หรือคนที่อยู่ในจังหวัดอื่น ๆ แต่เป็นคนเกษตรวิสัยก็บริจาคช่วยเหลือกันมา ฝากญาติเอามาให้บ้าง บางคนอยู่ต่างประเทศก็บริจาคเข้ามา เขาอยากให้คนเกษตรวิสัยปลอดภัยกัน เป็นห่วงกัน นี่แหละคนบ้านเรา”
พระครูเกษตรสราภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดสระเกษ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด เปิดบทสนทนาเล่าถึงที่มาที่ไปจากการเข้าร่วมทีมคณะทำงานกับทางจังหวัด โดยคนในพื้นที่เองต่างช่วยออกแบบ ออกความคิดเห็น และพยายามหาทางออกร่วมกัน ซึ่งพระสงฆ์ในพื้นที่ก็เข้ามีบทบาทช่วยเหลือทั้งการระดมทุนช่วยเหลือกว่า 1,000,000 บาท (ยอดเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 64) ซึ่งเป็นยอดจากการบริจาค ระดมทุนช่วยเหลือของชาวเกษตรวิสัยทั้งสิ้น รวมไปถึงการให้พื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนามอย่างโรงพยาบาลสนามวัดป่าทุ่งกุลา
“คนเกษตรวิสัยไม่ทิ้งกัน” แรกเริ่มเดิมทีเป็นแนวคิดที่อยากบอกถึงคนกลับมาภูมิลำเนาว่าสามารถกลับมาได้ ชาวเกษตรวิสัยพร้อมรองรับ แต่เมื่อมีการพูดคุยจากชุมชน วัด หน่วยงานท้องถิ่นร่วมกัน แนวคิดนี้กลายเป็นคณะทำงานทีมใหญ่ ในการเปิดรับบริจาค แบ่งปันความช่วยเหลือ รวมไปถึงสร้างพื้นที่รองรับให้คนที่กลับตัวจากสถานการณ์โควิด-19
“ที่นี่เป็นโรงพยาบาลสนามวัดป่าทุ่งกุลาครับ เป็นโรงพยาบาลสนามของชาวอำเภอเกษตรวิสัย ต้องขอบพระคุณเจ้าอาวาสวัดป่าทุ่งกุลา ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ให้พวกเราสร้างโรงพยาบาลสนามรองรับคนที่เป็นผู้ติดเชื้อได้ เพราะโรงพยาบาลเกษตรวิสัยนั้นเตียงอาจจะไม่เพียงพอ ถ้าเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรืออาการดีขึ้นมากแล้วก็จะมาอยู่ที่นี่ครับ”
นพ.สุพัฒน์พงศ์ สิงห์ยะบุศย์ ผอ.รพ.เกษตรวิสัย ยังเล่าต่อว่าโรงพยาบาลสนามวัดป่าทุ่งกุลา เป็นสถานที่รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการดีขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่มีอาการ และสามารถกลับคืนบ้านได้ และต้องกักตัวอีก 14 วัน ซึ่งสถานที่ได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าอาวาสวัดป่าทุงกุลา พร้อมชาวบ้าน ส่วนราชการในพื้นที่ทั้งหมด ร่วมมือกันจนถึงวันนี้ พร้อมทั้งระบบสุขาภิบาลจัดให้ถูกต้องเหมือนโรงพบาล มีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ รถรีเฟอร์อยู่ประจำตลอด 24 ชม แต่ผ่านไปแค่ 3 วัน มีผู้ป่วยสีเขียวเคลื่อนย้ายจาก รพ.เกษตรวิสัย เข้าสู่สนามจนเต็ม จึงต้องทำศูนย์พักคอย (CI) เพราะศูนย์พักคอยและผู้ป่วยมีเตียง ไม่มีเตียง อัดแน่นล้นโรงพยาบาลเกษตรวิสัย ประมาณ 150 คน ต้องอาศัยตามเต๊นท์ที่จัดให้ในขอบเขตที่เหมาะสม
แต่นอกจากการเปิดโรงพยาบาลสนามวัดป่าทุ่งกุลาแล้ว ยอดผู้ติดเชื้อในพื้นที่ยังคงเพิ่มขึ้นสูง สะสมถึงกว่า 284 คน (27 ก.ค. 64) จึงมีความจำเป็นในการจัดเตรียมพื้นที่ศูนย์พักคอยตำบลเหล่าหลวงขึ้นมา โดยเป็นความร่วมมือของคณะทีมทำงานและหน่วยงานท้องถิ่น
“ที่นี่เรียกว่าเป็นศูนย์พักคอยครับ เราเปิดเพิ่มเพื่อดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ เนื่องจากที่โรงพยาบาลสนามมีเตียงไม่เพียงพอ ตรงนี้รองรับได้ 100 เตียง ซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นมาได้นิดหน่อยไม่มาก ผู้ป่วยจากศูนย์พักคอยจะรอรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเกษตรวิสัยครับ ถ้ามีลักษณะอาการรุนแรงก็จะส่งตัวไปที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด จากนั้นทั้งหมดถ้ารักษาตัวแล้วอาการดีขึ้นอยู่ในระดับสีเขียวตามที่แพทย์แนะนำ ก็จะส่งตัวมาต่อที่โรงพยาบาลสนาม ก่อนจะส่งตัวกลับบ้านอีกครั้ง โดยทั้งหมดจะถูกหมุนเวียนกันไปเพื่อให้เตียงเพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ครับ”
อภิชาต อารีย์พัฒนไพบูลย์ นายอำเภอเกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด กล่าวเสริมหลังจากลงพื้นที่สำรวจเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะเริ่มเปิดให้เข้าอยู่ในวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมาตรฐานของศูนย์พักคอยใช้ตามแบบของโรงพยาบาลสนาม คือ สถานที่มิดชิด มีห้องน้ำห้องสุขาเพียงพอ ระบบบำบัดน้ำเสีย ที่ล้างจาน ซักผ้า ราวตากผ้า เตียงที่พักแยกชาย-หญิง กล้องวงจรปิด ระบบสุขาภิบาลอาหารตามมาตรฐาน มีเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขดูแลโดยตรง วันที่ 22 ก.ค. นี้ จะย้ายผู้ป่วยมาพักจำนวน 60 คน
งบประมาณทั้งหมดที่ดูแลศูนย์พักคอยแห่งนี้ ได้รับความร่วมมือจาก อบต.เหล่าหลวง รับผิดชอบอาหารคนไข้ 3 มื้อ งบประมาณจากบัญชีบริจาคคนเกษตรวิสัยไม่ทิ้งกัน ผู้นำชุมชน อสม. ประชาชนบ้านคุยผงดงน้อย โดยงบประมาณทั้งหมดไม่ได้ใช้งบของทางราชการ แต่เป็นงบจากยอดบริจาคของชาวเกษตรวิสัยที่ระดมทุนกันมาอย่างต่อเนื่องและแบ่งนำไปใช้ในโรงพยาบาลสนามวัดป่าทุ่งกุลา และศูนย์พักคอยตำบลเหล่าหลวง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด
“การจะทำโรงพยาบาลสนามที่วัดไม่ใช่เรื่องจะจัดตั้งทำได้เลย มันต้องอาศัยความเข้าใจของคนในชุมชนด้วย บางวัดมีพื้นที่ใกล้บ้าน ชาวบ้านก็กังวลว่าตัวเองจะติดโควิดไปด้วย รวมไปถึงถ้าที่ไหนทำแล้ว ก็ต้องจัดการเรื่องของการบำบัดน้ำหรืออากาศให้ดี เพราะทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อบ้านใกล้เรือนเคียง การสร้างมาตรฐานในการเป็นโรงพยาบาลเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การเพิ่มจำนวนเตียงให้มากพอ หากมีเตียงเยอะแต่จัดการไม่ดีเท่าที่ควร คนก็อาจจะติดเชื้อเพิ่มได้”
พระครูเกษตรสราภิรักษ์เล่าปิดท้ายอีกครั้ง เนื่องจากมีหลายคนถามถึงการเปิดโรงพยาบาลสนามในระดับตำบล ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดหรือปัจจัยในพื้นที่หลายอย่างที่อาจจะยังเปิดไม่ได้ในทุกพื้นที่
ข้อมูลเบื้องต้นในจังหวัดร้อยเอ็ด มีวัดหรือมหาวิทยาลัยสงฆ์ ที่ให้พื้นที่ใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม 5 แห่ง คือ
1.โรงพยาบาลสนามวัดป่าทุ่งกุลา อ.เกษตรวิสัย
2.โรงพยาบาลสนามวัดโพธิการาม อ.ปทุมรัตต์
3.โรงพยาบาลสนามวัดบ้านอ้น อ.เมืองร้อยเอ็ด
4.โรงพยาบาลสนามวัดป่าอัมพวัน
5.โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย อ.ธวัชบุรี
ซึ่งหลังจากนี้อาจจะมีการขยายพื้นที่โรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอยเพิ่มขึ้นหากมียอดผู้ติดเชื้อในจังหวัดที่เพิ่มสูง การช่วยกันป้องกันและรักษาระยะห่างตามมาตรการของจังหวัดจะช่วยให้ยอดผู้ติดเชื้อลดน้อยลงไปได้
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากทีมวัดสระเกษ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด