ภายใต้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทุกเมืองได้รับผลกระทบ หลายภาคส่วนก็ต่างหาแนวทางมาแก้ไขสถานการณ์ เพื่อให้ตัวเองไปรอด ที่ จ.นครราชสีมา เป็นอีกพื้นที่ที่มีการจัดการตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง วันนี้ทีมชีวิตนอกกรุง มีโอกาสได้พูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการในจังหวัด ที่ลุกขึ้นมาหาทางออก ฟื้นตัวจากปัญหาเศรษฐกิจที่โดนพิษโควิด-19 เล่นงาน
ถ้าชุมชนอยู่ไม่ได้เราก็อยู่ไม่ได้ ถ้าเมืองอยู่ได้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้เราก็มีความสุขไปด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนกระบวนการคิดจากเดิม
นี่คือวิธีคิดของกลุ่มผู้ประกอบการในโคราช ที่คุณกอล์ฟ มารุต ชุ่มขุนทด เจ้าของร้านกาแฟ Class café หนึ่งในทีมอาสาชาวกำลังสำคัญของชาวโคราช ที่รู้จักกันในชื่อ “Korat strong” ที่รวมตัวกันหาทางรอดในวิกฤตเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ซึ่งมีวิธีคิดที่น่าสนใจคือ รวมพลังช่วยเหลือกันและกัน เพื่อให้เมืองไปรอด คนไปรอดด้วยกัน
“เราไม่จำเป็นต้องแบกเรื่องบางเรื่องไว้คนเดียว อันนี้เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่เราเจอในงานอาสาสมัคร และทำไมถึงชอบชวนให้เพื่อนเพื่อนมาทำงานอาสาสมัครกัน เพราะบางครั้งยิ่งในวิกฤตมากเท่าไหร่ การรวมตัวกันมากขึ้น ยิ่งทำให้เราแข็งแรงขึ้น แล้วมันก็จะกลายเป็นพื้นฐานโครงสร้าง ในสิ่งที่เราไม่คาดคิดว่าจะมีวิกฤติ หลังวิกฤต และหลังวิกฤตอีกมาอีกทีหนึ่ง และก็ไม่รู้ว่าจะมีมาอีกกี่รอบในวันข้างหน้า ถ้าเรายังมีรอยยิ้มให้กันนะ อันนี้ก็จะเป็นพลังบวกให้กับเรา พอเรามารวมตัวกันบางคนก็กลับไปทำธุรกิจตัวเอง ก็มีกำลังเดินต่อไป”
กลุ่มโคราชสตรอง ได้รวมตัวกันหลังเหตุการณ์กราดยิงใจกลางเมือง เมื่อต้นปี 2563 ผู้ประกอบการได้ทำกิจกรรมอาสาเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจคนเมือง และเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 กลุ่มก็ได้ร่วมกันทำงานอีกครั้ง โดยช่วยกันจัดทำระบบการฉีดวัคซีน ที่ให้ประชาชนเข้าถึงได้ไว และสะดวกมากที่สุด โดยใช้พื้นที่ห้างสรรพสินค้าเป็นสถานที่ฉีด เป็นการร่วมแรงกันครั้งใหญ่อีกครั้ง ภายใต้ชื่อ “Hack vax korat 2021”
เราไปเอาโมเดลมาจากบอสตัน M.I.T. media lap ก็มาช่วยกันวางโปรแกรมเขียนโปรแกรม เขียนแผนการดำเนินงานและการทดลองฉีดวัคซีน โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลมหาราช เพื่อที่จะบอกประชาชนว่าเรามีที่ฉีดได้ดี และฉีดได้เร็ว คนมาฉีดแล้วแฮปปี้นะ ไม่ติดขัดการจัดการดี เราตั้งเป้าว่าจะฉีดวันละ 6,000 ถึง 10,000 คน ต่อสถานที่
คุณณุ ภาณุ เล็กสุนทร ผู้ประกอบการจัดงานอีเวนท์และสื่อออนไลน์ หนึ่งในทีมอาสาเล่าที่มาของโครงการ ซึ่งเป็นงานที่ใหม่และใหญ่ เป็นการจัดการตนเองของภาคเอกชนในพื้นที่ และเปิดให้พื้นที่อื่นนำระบบนี้ไปใช้ฟรีได้อีกด้วย ซึ่งโปรเจคนี้จะมีอาสาจากหลายภาคส่วนร่วมกันทำงาน ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง
“เราจะมีการประชุมทุกคืนก่อนจะมีการเปิดการฉีด เราประชุมล่วงหน้าประมาณสามอาทิตย์ เสนอไอเดียก่อน เอาไอเดียไปเสนอสาธารณสุข เสนอโรงพยาบาล เมื่อโรงพยาบาลซื้อไอเดียเราก็มาออกแบบ โดยน้องที่อยู่ MIT เค้าก็วีดีโอคอลมาคุยกับเราทุกคืน เราก็มาวางแผนดูว่าทำอย่างไรจะให้คนมา เราก็รับผิดชอบดูแลหลัก ๆ คือหนึ่งก่อนฉีด ทำอย่างไรคนจะไม่กลัว แล้วเข้ามาฉีดกันเยอะ ระหว่างฉีดทำอย่างไรคนจะแฮปปี้ คนเข้ามาฉีดมันไม่ใช่แค่ฉีด ถ้าเกิดเค้ารู้สึกกลัว ฉีดแล้วมีคั่นเนื้อคั่นตัวมีผื่นขึ้น เขาจะคุยกับใคร เราก็คุยกับหมอ ทำระบบ LINE OFFICIAL อยู่ติดเก้าอี้ไว้ทุกตัว ถ้าเกิดประชาชนฉีดแล้วรู้สึกไม่สบาย ก็แอด LINE เข้ามาถามได้ทันที”
นอกจากมีระบบการฉีดที่ดี การสื่อสารกับประชาชนก็ต้องดีด้วย เพราะว่าหากมีข้อมูลข่าวสารที่มากพอ และสร้างแรงจูงใจ ก็จะทำให้คนอยากฉีดมากขึ้น ซึ่งเครื่องมือออนไลน์ก็ถูกนำมาใช้ โดยเพจสื่อในจังหวัดก็ร่วมเป็นพลังการสื่อสาร
เรามีเพจ Facebook อยู่สอง Pages ที่มีคนติดตามอยู่ประมาณ 1,000,000 กว่าคนเรามีสอง Pages รวมเกือบ 2,000,000 เพราะฉะนั้นใช้ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ บอกข่าวเค้าเล่าข่าวแจ้งข่าว
องค์ความรู้ สื่อ เครื่องมือการเทคโนโลยี และกำลังแรงกายแรงใจจากจิตอาสา ที่มาช่วยกันทำงานในเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทำให้โปรเจค Hack vax ได้การตอบรับที่ดี โคราชกลายเป็นเมืองที่ประชาชนรับวัคซีนได้รวดเร็วอันดับต้น ๆ ของประเทศ ทำให้เวลากว่า 1 เดือนหลังเริ่มการฉีด ประชาชนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น มีความเชื่อมั่นมากขึ้น
“ยอดขายมีแนวโน้มกำลังกลับคืนมาดีขึ้นประมาณ 20% ที่เติบโตขึ้น แต่ช่วงก่อนโควิดมันหายไป 60-70% เลย วันนี้ค่อย ๆ ฟื้นทีละนิด เรารู้สึกฮึบอีกนิดหนึ่ง นี่คือสิ่งที่วันนี้เราเริ่มเห็นแสงสว่าง มันยังยากอยู่เพราะเศรษฐกิจตอนนี้กำลังแย่อยู่ แต่ก็คาดว่าเราเริ่มเห็นแสงสว่างริบหรี่ที่ปลายอุโมงค์ ก็จะมาให้กำลังใจตัวเอง ให้กำลังใจคนรอบข้าง ให้กำลังใจธุรกิจเพื่อน ๆ”
คุณกอล์ฟเล่าบรรยากาศความคึกคัก ของการจับจ่ายใช้สอยในตัวเมืองที่กำลังจะกลับมา หลังประชาชนเริ่มทยอยเข้ารับวัคซีน ซึ่งนี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ที่จะกอดคอกันทำได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก พร้อมทั้งบอกอีกว่าในการทำงานร่วมกัน ไม่ได้เห็นแค่การฟื้นตัวของการค้า แต่ยังเห็นเครื่องมือที่สำคัญ ที่จะมาช่วยรับมือกับวิกฤตได้
องค์กรทุกองค์กร ธุรกิจทุกธุรกิจ ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนสิ่งที่เราทำกับ Hack vax มันจะเกิดความสร้างสรรค์ขึ้นได้ แล้วเราก็จะเริ่มมองเห็นว่าโลกหลังจากโควิด-19 หลังจากวิกฤต ทุกคนรวมตัวกันแล้วสร้างสรรค์ได้ เราไม่ต้องแข่งขันฆ่าฟันกันเอง แต่ถ้าเราจับมือกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว กันไม่ว่าอุปสรรคอะไรก็ตามที่เข้ามา เราก็จะสามารถผ่านพ้นไปได้ นี่คือภาพสวยสวยที่อยากจะเก็บเกี่ยวไว้ แล้วเอามาเป็นองค์ความรู้
การร่วมแรงของภาคประชาชน อาจจะเป็นหนึ่งหนทางฝ่าวิกฤติได้ แต่ก็ต้องอาศัยการสนับสนุนทางด้านนโยบายจากภาครัฐ มาช่วยจัดการส่วนต่าง ๆ เพราะทรัพยากรที่ภาคเอกชนระดมมาช่วยกัน มันมีต้นทุนและมีเวลาจำกัด หากขาดการจัดการสถานการณ์โดยรวมที่ดี คนที่จะช่วยพยุงสถานการณ์ก็อาจจะลดลง พร้อมเวลาที่ผ่านไปโดยที่ไม่มีอะไรคืบหน้า