อยู่ดีมีแฮง : “ทองคำ” แห่งลำน้ำโขง ณ บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย

อยู่ดีมีแฮง : “ทองคำ” แห่งลำน้ำโขง ณ บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย

แสงแดดยามบ่ายในช่วงเดือนเมษา – พฤษภาคม ที่ฝนยังมีปริมาณนี้ และช่วงนี้เพิ่งผ่านพ้นเดือนเมษายน แห่งความกล้าแกร่งของแสงแดดที่แผดเผามาได้ไม่นาน โดยปกติหน้าแล้งแบบนี้แม่น้ำโขงจะลดลงไปอยู่บ้าง ทำให้ชาวบ้านสามารถลงมาอาศัยแม่น้ำโขง เล่นน้ำคลายร้อน หาปู หาปลา หรือแม้แต่อาชีพที่เราไม่พบกันบ่อยนัก นั่นคือ “นักเล่นคำ” นักเล่นคำ หรือ “นักร่อนทอง” ภาษาท้องถิ่นแถบบ้านม่วงบอกว่า “คำ” หมายถึง “ทองคำ” นั่นแหละครับ อีกอาชีพที่แม้ว่าจะไม่ใช่อาชีพหลักที่ใจจดใจจ่อหาทองคำอย่างเดียว แต่เป็นอาชีพของแม่บ้านแม่เรือนซึ่งเป็นลูกหลานแม่น้ำโขง ได้พึ่งพิงอิงแอบอาศัยแม่น้ำแห่งนี้ เป็นดั่งขุมทรัพย์เลี้ยงชีพและครอบครัวมายาวนานรุ่นสู่รุ่น

วันนี้ “อยู่ดีมีแฮง” ทีมบ่าวแมน เลนส์ไทบ้าน ชวนทุกคนออกเดินทางไปพร้อมกันที่บ้านม่วง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ไปเยี่ยมยามถามไถ่ พ่อแม่พี่น้องไทบ้านม่วงและไปทำความรู้จักกับนักเล่นคำ ชาวบ้านที่เป็นนักร่อนทองคำในแม่น้ำโขง การเดินทางเริ่มต้นด้วยฟ้าฝนที่ไม่เป็นใจ ฝนตกตลอดการเดินทางไปยังบ้านม่วง แต่เมื่อมาถึงบ้านม่วงฝนกลับจางหายไป ฟ้าสดใสและถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี

“ภาษาอีสานเรียกเล่นคำ แต่ภาษากลางเรียกว่าร่อนทอง หลังจากที่เรากรีดยางเสร็จแล้วก็จะมาเล่นคำ เราไม่ได้เล่นตลอดปี จะเล่นคำเฉพาะช่วงที่น้ำลงน้ำแห้งเท่านั้น ถ้าน้ำขึ้นแบบนี้เราก็ไม่ค่อยได้มาเล่น”

สุวนิตย์ ตะวัน หรือ แม่สั้น นักเล่นคำแห่งบ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ช่วยอธิบายที่ไปที่มาของการขนานนามในวงการร่อนทองแห่งแม่น้ำโขง เธอเล่าว่าโดยวิถีชีวิตที่อยู่กับแม่น้ำโขงมานั้น เธอมีอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกพืชริมฝั่งโขง หลายปีมานี้ได้หันไปทำสวนยางพารา กลางคืนก็ไปกรีดยาง ตอนเช้าก็ไปเก็บเศษยาง หรือชาวบ้านเรียกว่า “ขี้ยางพารา” เพื่อนำไปขาย ก็เป็นวิถีชีวิตคล้ายกับหลายคนในหมู่บ้าน คนที่เป็นชายจะมีอาชีพประมง หรือทำงานที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลัก คนที่เป็นหญิง หรือแม่บ้านแม่เรือนก็จะทำเกษตร ทำไม้กวาด ทอผ้า และร่อนทอง ซึ่งเธอเองก็เพิ่งจะลองเล่นคำ หรือร่อนทองได้สัก 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยวิถีที่ผูกพันกับคนรุ่นก่อนทำให้การเล่นคำ เป็นสิ่งที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี

สุวนิตย์ ตะวัน

“การลงไปร่อนทอง เราก็ต้องเตรียม บ้าง ถัง เสียม ตะกร้า แล้วลงไปยังแม่น้ำโขงหาพื้นที่เหมาะ ๆ แล้วของขุดดู พอเราขุดได้แล้วก็นำดินหินกรวดทั้งหมดใส่ตะกร้า แล้วก็ร่อนเอาหินที่เป็นเศษออก แล้วจึงเริ่มการเล่นคำ โดยการเหวี่ยงล้างกับน้ำเพื่อให้เศษกรวดและทรายออกไป”

แม่สั้น เล่ากรรมวิธีการร่อนทอง หรือการ “เล่นคำ”ว่า ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก หากใครที่ใจร้อนการเหวี่ยงล้างแต่ละครั้งนั้น อาจจะทำให้ทองหายไปกับสายน้ำ การเตรียมตัวก็เป็นเรื่องที่สำคัญ จะต้องมีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเล่นคำ และต้องขนของลงมาจากฝั่งของแม่น้ำโขงซึ่งต้องเดินด้วยเท้าเป็นระยะทางไกลกว่า 1-3 กิโลเมตรเลยก็ว่าได้ เพราะทองคำและดินที่จะเล่นคำได้นั้นจะต้องเป็นดินที่เป็นตลิ่งน้ำท่วมถึง หรือจุดแอ่งเวินน้ำในแม่น้ำโขง อีกทั้งการเล่นคำแต่ละครั้งจะเป็นช่วงฤดูร้อนเป็นส่วนใหญ่ คนร่อนทองจึงต้องแข็งแรงและอดทนจริง ๆ

“เราจะเอาตัวที่มันเป็นเศษสีดำ ๆ เราเรียกว่า ปึก เอาปะปนไปกับทองเลย ทองจะเป็นสีทองชัดเจนเล็ก ๆ ไม่ได้ก้อนใหญ่เพราะเราจะต้องเอาไป เนือง นำเอาสารปรอทไปคลุก เขย่าแล้วก็ร่อนให้สารปรอทจับตัวกับทองคำ” สุวนิตย์ ตะวัน แม่สั้น  อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้น การร่อนทองชาวบ้านจะเอาส่วนที่เป็น “ปึก” ที่มีลักษณะสีดำที่ร่อนได้จากการเหวี่ยงหาทองคำ แล้วนำมา “เนือง” การเนืองคือการนำสารปรอทสีเงินนำมาจับตัวกับทองคำที่เป็นชิ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้สามารถรวมกันเป็นก้อนได้ ก่อนที่จะรวบรวมเก็บสะสมในการลงเล่นคำเพื่อให้ได้ทองคำที่ถูกหุ้มด้วยปรอทที่พอจะสามารถนำไปขายได้ ก็ใช้เวลาประมาณ 3-4 วันในการลงมาเล่นคำ การนำไปขายชาวบ้านก็จะนำไปขายที่ร้านทองในตัวอำเภอ หรือในจังหวัดหนองคาย ร้านทองจะทำการ “เป่าทอง” การใช้ความร้อนแยกสะสารและชั่งน้ำหนักทองคำจริงที่ได้ ซึ่งราคาก็อยู่ที่ กรัมละ 1,250 บาท ซึ่งชาวบ้านที่เป็นนักเล่นคำก็มีรายได้แต่ละครั้งที่ไปขายอยู่ที่ประมาณ 3,000-5,000 บาท ก็เป็นรายได้เสริมของชาวบ้านที่นี่นอกเหนือจากการทำเกษตรและการประมง

บ้านม่วงที่เปลี่ยนไปกับวิถีที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง

บ้านม่วง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย เป็นชุมชนที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขง เนื่องด้วยชุมชนมีภูมิศาสตร์เป็นภูเขาเสียส่วนใหญ่ ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพวิถีเกษตรกรรมพืชไร่พืชสวน ทำนาบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย การพึ่งพิงทรัพยากรในอดีต ส่วนใหญ่ใช้แม่น้ำโขงเพื่อเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ในครัวเรือน แต่หลังจากเกิดผลกระทบจากระดับน้ำที่ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ เกิดผันผวนขึ้นลงเป็นไม่เป็นปกติในช่วง 2-3 ปี ผ่านมานี้ทำให้ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาสื่อสารกับสาธารณะว่าได้รับความเดือดร้อน สัตว์น้ำหายาก ย้ำโขงลดจนแห้ง และมีปลาตายเป็นจำนวนมาก พื้นที่เคยไม่มีน้ำกลับมีน้ำในที่ที่ไม่ควรมี อุปกรณ์การประมงได้รับความความเสียหายเนื่องจากการเพิ่มของระดับน้ำฉับพลัน ที่ชาวบ้านคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดจากเขื่อน ที่ไม่มีการแจ้งเตือนกับชาวบ้าน อีกทั้งประเพณีหลายอย่างในชุมชนกำลังได้รับผลกระทบและค่อยจางหายไป

“บ้านม่วงมีความพิเศษคือ ห่างจากจุดที่เราอยู่ขึ้นไปทางเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร ที่นั่นคือ สายแร่ทองคำที่พาดผ่านมาจากประเทศลาว ซึ่งคนรุ่นก่อนเล่าว่าจุดนั้นเป็นแหล่งเหมืองทองคำที่มีนักเล่นคำในอดีตไปเล่นกันจำนวนมาก ตามลำห้วยต่าง ๆ พอน้ำลดลงในช่วงหน้าร้อนเขาก็จะตามลงมาเล่นคำจนลงไปกลางแม่น้ำโขง ซึ่งปัญหาในปัจจุบันคือน้ำที่มันขยับขึ้นมาเรื่อย ๆ ในหน้าแล้ง แทนที่จะลดลงไปในร่องน้ำลึก ซึ่งในลักษณะของทองคำเป็นมวลสารที่มีน้ำหนักไหลมาตามน้ำ ก็จะไหลตามลงไปน้ำลึกยิ่งลึกยิ่งก้อนใหญ่ นั่นแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านขาดโอกาสที่ควรจะได้จากเดิม การร่อนทองบางคนก็ได้ 3,000-4,000 บาท ก็ถือว่าเป็นรายได้เสริมที่ดี” ชัยวัฒน์ พาระคุณ หรือ น้าบัน นักวิจัยไทบ้านและเกษตรกรบ้านม่วง เล่า

บริบทชุมชนบ้านม่วงถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากวิกฤติในแม่น้ำโขงและวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยแม่น้ำโขงออกเล่นคำเพื่อพอให้มีรายได้จุนเจือครอบครัว น้าบันเล่าอีกว่า บริเวณที่เป็นพันโขดแสนไคร้ ถ้าสังเกตจุดนั้นก็เป็นแหล่งเก่าที่มีการขุดเล่นคำกันมากในอดีต ต้องเข้าใจว่าการขุดไม่ได้นำดิน หิน ทรายไปที่ไหน เป็นการใช้ทรัพยากรที่ชาวบ้านและชุมชนที่นี่เราต่างรักและหวงแหนมันที่สุด เพราะในอดีตความเป็นมาของการเล่นคำหรือร่อนทองน้ำ คนโบราณในหมู่บ้านเขามีความเชื่อว่า วัดที่สร้างในหมู่บ้านชุมชนนั้น เมื่อมีการสร้างวัดลงฝังลูกนิมิตก็มักจะนำทองคำ เงิน ฝังลงไปด้วย และชาวบ้านใครที่เป็นนักเล่นคำที่สามารถนำทองมาใส่ลงไปได้นั้นก็ถือว่ามีบุญมาก จึงเกิดเป็นประเพณีร่อนทอง หรือ เล่นคำกันจนทุกวันนี้

ชัยวัฒน์ พาระคุณ

“บ่าง” อุปกรณ์ร่อนทองกับความเชื่อบูชาแม่น้ำโขง

“บาง”เป็นชื่อเรียกอุปกรณ์ “ถาดร่อนทอง” ของชาวบ้านม่วงที่ทำมาจากไม้ มีลักษณะคล้ายกับหมวกของชาวนาเวียดนาม อยู่ดีมีแฮงเดินทางไปยังบ้านของแม่สั้น นักเล่นคำ เพื่อรู้จัก “บ่าง” ให้มากขึ้น

“เห็นเขาบอกว่าเอาบ่างไปเล่นคำ เลยอยากรู้ว่าบ่างนี้เป็นแบบไหนเลยไปขอดูก็ทราบมาว่า บ่าง ก็เป็นชื่อเรียกที่คนรุ่นก่อนพากันเรียกต่อ ๆ กันมาก็มีลักษณะอย่างที่เห็น ทำจากไม้ประดู่ ไม้มะค่า หรือบางคนก็ใช้ไม้อื่น ๆ แต่ก็จะไม่คงทนเหมือนกับไม้ประดู่ และไม้มะค่า เพราะเป็นไม้เนื้อแข็งไม่แตกง่าย ราคาที่เขาขายกันก็ประมาณ 2,000-4,000 บาท”

แม่สั้นเล่าให้ฟังพร้อมกับชวนเดินไปดู “บ่าง” ที่เก็บไว้หลังบ้านที่มีถึง 3 ชิ้น เธอเล่าว่าบ่างเป็นของหายาก เพราะต้องทำจากไม้เป็นต้นที่เป็นเนื้อเดียวกัน และไปขอซื้อกับคนในหมู่บ้านก็ไม่มีใครอยากขาย เพราะส่วนหนึ่งก็เป็นของประจำกายในการทำมาหากินตั้งแต่อดีต อีกส่วนก็จะเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานได้ดู ส่วนเธอก็เล่าว่าที่หา “บ่าง” มาไว้ 3 ชิ้น เพื่อเอาไว้ให้ลูกสาวได้สืบสานต่อเผื่อเขาต้องลงไปเป็นนักเล่นคำบ้าง

“ก่อนจะลงไปเล่นคำก็บอกกับเจ้าบ่างว่าวันนี้ขอให้หาทองคำได้เยอะ ๆ นะ แล้วก่อนจะไปก็นำดอกไม้ 1 คู่ เทียน 1 คู่ ธูป 1 ดอก จุดเพื่อบอกกล่าวทั้ง บ่าง และแม่น้ำโขง ก่อนเสมอซึ่งเป็นความเชื่อของเราชาวนักเล่นคำ เพราะการลงไปเล่นคำในแม่น้ำโขงถ้าท่านไม่ให้ หายังไงก็ไม่ได้”

นอกจากนั้น แม่สั้นเล่าว่า ในทุกวันพระไม่ว่าจะ 8 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ จะไม่นิยมลงไปเล่นคำหรือร่อนทองที่แม่น้ำโขง เพราะต่างมีความเชื่อว่า การที่ลงไปวันพระนั้น เป็นการรบกวนพญานาคที่ท่านจำศีลในวันพระ การขุดร่อนทองเป็นการทำเสียงดังและรบกวน อันเป็นความเชื่อของชาวบ้านที่มีมายาวนาน

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำแห่งชีวิตและจิตวิญาณ

การดำรงชีพในแม่น้ำโขงนั้นไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่สร้างรายได้และเลี้ยงชีพของชาวบ้านริมฝั่งโขงเพียงเท่านั้น เพราะยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึก ครอบครัว เรื่องของวัฒนธรรมประเพณีที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่เชื่อมโยงจิตใจของผู้คนให้รวมเข้าอยู่ด้วยกัน

“เหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเรามาตลอด มันเป็นส่วนหนึ่งของสายเลือด เป็นครอบครัว เป็นความรู้สึก” ชัยวัฒน์ พาระคุณ หรือน้าบันปิดท้ายด้วยประโยคสั้น ๆ ของการที่เต็มไปด้วยพลังมหาศาลที่อยากจะเห็นแม่น้ำโขงกลับมาเป็นดังเดิมทั้งที่รู้ดีว่าทุกสิ่งอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป

“เล่นคำ พอได้อยู่ได้กิน ไม่ใช่ทำเป็นอาชีพ ให้เป็นอาชีพเสริมช่วงงานก็มาเล่นคำเพราะไม่ได้จ้างกัน ก็ดีกว่าเราอยู่เฉย ๆ ไม่มีเงินทองที่จะไปใช้จ่ายในครัวเรือน” สุดใจ วิลันดร หนึ่งในนักเล่นคำบอกเล่าถึงการลงมาร่อนทองในครั้งนี้ว่า รู้สึกดีที่มีการร่อนทองที่ทำให้มีอาชีพเสริมและรายได้ในการใช้จ่ายในครอบครัว อีกทั้งการลงมาเล่นคำได้พบปะกับเพื่อนฝูงชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน ก็ได้แลกเปลี่ยนพูดคุย กินข้าวร่วมกัน ซึ่งเป็นความสุขที่หาซื้อไม่ได้ ความผูกพันนี้ยังสะท้อนผ่านคำกลอนสอนใจ และผญาอีสานที่ แม่สุดใจ ทิ้งประพันธ์และร้องเป็นทำนองสรภัญญะเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของนักเล่นคำแม่น้ำโขงแห่งบ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ครับ

แม่สุดใจ วิลันดร

“ฟังก่อนท่านทั้งหลาย ฟังบรรยายกลุ่มร่อนทอง

บ้านม่วงและบ้านหนอง มาร่อนทองอยู่โคกอ่าง มาร่อนทองอยู่โคกอ่าง

งานบ่ได้ทำจึงพากันมาร่อนทอง

เอาหินนั่งยองยอง บ้างร่อนทองแกว่งไปมา บ้างร่อนทองแกว่งไปมา

เจ็บขาก็ต้องทน ถึงสิจนก็ต้องเจียม

เอาจอบและเอาเสียมมาขุดดินถิ่นน้ำโขง มาขุดดินถิ่นน้ำโขง

ยามเย็นตะเว็นลงดีใจล้นได้เห็นทอง

มื้อนี้สมใจปองได้เอาทองเมือบ้านเฮา ได้เอาทองเมือบ้านเฮา”

สรภัญญะโดยแม่สุดใจ วิลันดร นักเล่นคำบ้านม่วง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

Prev

April 2025

Next

Mon

Tue

Wed

Thu

Fri

Sat

Sun

31
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
1
2
3
4

29 April 2025

Nothing to show.

เข้าสู่ระบบ