จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อหลากหลายอาชีพไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้า นักร้อง ศิลปิน รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องมีการรวมตัวกัน และการงดเดินทางข้ามพื้นที่ ข้ามจังหวัดตามคำสั่ง หรือ มติชุมชนในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตามหลายอาชีพเริ่มปรับเปลี่ยนเพื่อหาทางออกในช่วงวิกฤตินี้
ณัฐวุฒิ ธุระวร หรือ คลีโพ ศิลปินชาวปกาเกอะญอ หนึ่งในผู้ที่มิอาจหลีเลี้ยงผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่เขามีความพยายามที่จะหาทางให้กับตัวเองโดยการสร้างรายได้ ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ เป็นการปรับตัวที่เห็นความเชื่อโยงและสัมพันธ์กับชุมชน ซึ่งได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
ณัฐวุฒิ บอกกับเราว่า เขาเป็นโปรดิวเซอร์ทำดนตรี ทำเพลง ทำโฮมสเตย์ แต่งานพวกนี้มันคืออาชีพแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบมันก็ต้องปรับ ถ้าไม่ปรับ อยู่แบบนี้ก็ไม่รู้ว่ามันจะดีขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร เราก็เชื่อใครไม่ได้ตอนนี้
เขาเล่าต่อว่า…ทำแบรนด์ใหม่ชื่อ “เด๊อะโพ” โลโก้ก็จะเป็นบ้านหลังหนึ่งก็คือโฮมสเตย์ และมีผู้ชายอยู่ในนั้นคนหนึ่ง ผู้ชายคนนั้นคือเป็น Gen ระหว่าง พ่อกับผม ความพิเศษของสินค้าเราอย่าง เช่น ข้าว เป็นข้าวออแกนิคจริง เพราะเป็นข้าวไร่ มันจะกินง่ายและเม็ดจะโต กลม ๆ แน่น ๆ เหมือนข้าวญี่ปุ่น เพื่อน ๆ ที่กรุงเทพทำกินเสร็จแล้วก็ส่งรูปมา เราก็เอาไปลงอะไรแบบนี้
แล้วผลผลิตเหล่านี้มาจากไหน เราได้ไปคุยกับ คุณทองดี ธุระวร หรือพะตี่ ศิลปินและนักพัฒนาชาวปกาเกอะญอ ผู้เป็นพ่อเล่าว่า ผลผลิตเหล่านี้มาจากการไปส่งเสริมชุมชนเพื่อให้เป็นช่องทางรายได้เสริม อีกทั้งเป็นการรักษาเมล็ดพันธุ์ โดยพันธุ์ข้าวนี้เป็นพันธุ์ดั้งเดิม มันจะหายและสาบสูญไปแล้วเรียกว่า “บือแกล” ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “ข้าวฮ้าว”
เมื่อส่งเสริมก็มีการรับซื้อ โดยปี พ.ศ. 2564 นี้รับซื้อข้าวได้ทั้งหมด 8 ตัน ตามงบประมาณที่มีอยู่ และทำอย่างนี้มากว่า 20 ปี ซึ่งเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนเพื่อให้ชุมชนได้นำเงินต่อยอดสร้างอาชีพอื่น ๆ อีก เช่น เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ และอื่น ๆ ซึ่งมีเงินหมุนเวียนกว่า 800,000 บาท
นอกจากนี้ กาแฟยังเป็นพืชอีกชนิดที่เข้าไปส่งเสริมชุมชน ชูเกียรติ หงส์อาจหาญ เกษตรกรบ้านขุนแม่รวม อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ เล่าว่า
“กาแฟอยู่กับพื้นที่ของเรามานานมาก ยังไม่มีคนเก็บกาแฟ ยังไม่มีคนช่วยเรื่องการตลาด ที่จะช่วยชาวบ้านอย่างจริงจัง”
พะตี่เล่าว่า ตอนนี้จะมีเป็นหมู่บ้านหนองเจ็ดหน่วย และหมู่บ้านที่อยู่ในตำบลบ้านจันทร์ถ้าพูดไปก็ใช่หมด เวลาคนไหนทำไม่ดีเราก็ซื้อ จากกิโลกรัมละ 7-8 บาท 12 บาท เราปรับให้เป็น 20 บาท แต่คนไหนทำดีเมล็ดสวย และตัดแต่งเราให้กิโลกรัมละ 25 บาท
จากผลผลิตเหล่านั้นนำมาสู่การแปรรูปและสร้างแบรนด์ภายใต้ชื่อ วัชพืชหลังเขา และมีการเดินทางกระจายสินค้าตามสถานที่ท่องเที่ยวทั้งในชุมชน ในเมือง รวมถึงต่างจังหวัด แต่เมื่อเผชิญโควิดทุได้รับผลกระทบตลาดที่หายไปในขณะที่ผลผลิตงอกเงยอยู่ต่อเนื่อง ปีนี้จึงมีการรับซื้อและเก็บไว้ที่โรงเก็บผลผลิตในบ้านของพะตี่ และรอจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นซึ่งไม่รู้เมื่อไหร่ ขณะเดียวกับ คลีโพ ลูกชายซึ่งได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ยังมีกลุ่มแฟนเพลง เครือข่าย ที่ติดต่อกันทางออนไลน์ จึงกลับบ้านและช่วยจำหน่ายผลิตบนตลาดออนไลน์ โดยสร้างเพจชื่อ Thepoe Store
เอาจริง ๆ ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะต้องไปเข้าอะไรตรงไหน แต่เราอาศัยคนที่รู้จักเรา รู้จักวงเรา รู้จักโฮมสเตย์ของเรา คนที่เคยมาที่นี่ แล้วคิดถึงที่นี่ คิดถึงกับข้าวที่นี่ คิดถึงกาแฟที่นี่ เราก็ส่งความคิดถึงผ่านกาแฟ ข้าว โปรดักของเรา คลีโพกล่าว
เป็นความพยามปรับตัวที่ไม่ใช่แค่ตัวคนเดียวแต่หมายถึงกลุ่มชุมชนที่สามารถขยับขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนไม่ใช่เพียงแค่รายได้แต่ยังหมายถึงระบบนิเวศชุมชนด้วย
เพื่อรักษาป่าต้นน้ำ ไม่ให้ชาวบ้านหรือใครไปทำการเกษตร(พืชเชิงเดี่ยว)ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ วิธีการเดียวคือการปลูกกาแฟใต้ต้นไม้ สร้างรายได้และรักษาป่าต้นน้ำด้วย ชูเกียรติ กล่าว
เป็นความพยายามปรับตัว สร้างทางเลือกเพื่ออยู่รอดร่วมกัน แม้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยยังมิอาจคาดเดาได้ว่าจะดีขึ้นเมื่อไหร่ คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนครบตอนไหน และเราจะกลับมาสู่สภาวะปกติได้เมื่อใด คำตอบยังเจือจาง ประชาชนพยายามช่วยเหลือตนเองเท่าที่จะสามารถทำได้ และคาดหวังทุกอย่างจะกลับสู่ปกติในเร็ววัน