ชนเผ่าพื้นเมืองตั้งเครือข่ายสื่อฯ ผลิตสื่อหวังเปลี่ยนทัศนคติสังคม

ชนเผ่าพื้นเมืองตั้งเครือข่ายสื่อฯ ผลิตสื่อหวังเปลี่ยนทัศนคติสังคม

ชนเผ่าพื้นเมืองร่วมจัดตั้งเครือข่ายสื่อฯ ผลิตงานโดยชนเผ่าพื้นเมือง หวังปรับทัศนคติและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สังคม  ระดมกำลังฝึกอบรมนักข่าวพลเมือง พร้อมเปิดตัวโชว์ผลงานในเวทีเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ “ผลกระทบจากสื่อต่อชนเผ่าพื้นเมือง” 21 มีนาคมนี้ 


 

ชัย และหวาย  มลาบรีจาก จ.น่าน  ขอสัมภาษณ์ชาวม้ง ดอยปุย ถึงผลกระทบการท่องเที่ยวกับวิถีชีวิต  เขาสนใจประเด็นนี้เพราะใกล้ตัวเขา ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการจัดการท่องเที่ยวหมู่บ้านมลาบรี
 

“เราอยากบอกในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่อยากให้เขาเข้าใจผิด ไม่อยากให้คนทั่วไปมองเราไม่ดี แต่เราอยากให้สื่อและสังคมฟังความจริงจากมุมมองของเราบ้าง” จินตนา สิงห์จิต เยาวชนเผ่าดาราอาง จากอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงความรู้สึกขณะเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักข่าวชนเผ่าพื้นเมือง นี่คือเสียงสะท้อนจากชาวเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ที่ต้องการพื้นที่สื่อเพื่อนำเสนอเรื่องราวภายในชนเผ่าของตนสู่สังคมสาธารณะ ผ่านมุมมองและความคิดของคนในชุมชน เพื่อบอกเล่าถึงตัวตน รวมทั้งต้องการปรับเปลี่ยนทัศนคติในแง่ลบของสังคมและสื่อกระแสหลักที่มีต่อกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย จนมารวมตัวกันเพื่อตั้ง “เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง”

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอส เล็งเห็นความสำคัญในประเด็นดังกล่าว จึงหนุนเสริมการเกิดขึ้นของ “เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง “ ด้วยการจัดเวทีฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักข่าวชนเผ่าพื้นเมือง ระหว่างวันที่ 17-21 มีนาคม 2557 ณ ห้องประชุม คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนำเสนอและสะท้อนมุมมองของชนเผ่าพื้นเมือง ต่อสาธารณชนและสื่อกระแสหลัก พร้อมทั้งสร้างสื่อทางเลือกให้กับชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย โดยกิจกรรมนี้ มีตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองจากทั่วประเทศ สนใจร่วมเข้าอบรมจำนวน 27 คน ประกอบด้วยเผ่าไททรงดำ จ.เพชรบุรี เผ่ากะเหรี่ยง จ.ราชบุรี เผ่าภูไท เผ่าไทโย้ย และเผ่าโส้ จ.สกลนคร เผ่ากะเหรี่ยง จ.ตาก เผ่าอาข่า จ.เชียงราย เผ่าดาราอาง เผ่ากะเหรี่ยง เผ่าลัวะและเผ่าม้ง จ.เชียงใหม่ เผ่าลัวะ เผ่ามลาบรี จ.น่าน

                   นุ และ นวพล  ปากเกอะญอ จาก จ.เชียงใหม่ สนใจเสนอเรื่องการจัดการทรัพยากรของชาวม้งเป็นประเด็นที่จะฝึกปฏิบัติ
 

การฝึกอบรมมีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของนักข่าวพลเมือง ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน รวมทั้งกิจกรรมเรียนรู้กระบวนการผลิตสื่อ เทคนิคการถ่ายทำและตัดต่อวีดีโอจากวิทยากร โดยให้ผู้เข้าร่วมอบรมลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติทำข่าวจริงบริเวณหมู่บ้านม้ง ดอยปุย จ.เชียงใหม่ เพื่อถ่ายทำสื่อวีดีโอนำเสนอประเด็นที่ผู้เข้าร่วมแต่ละกลุ่มสนใจ ซึ่งกิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมนำทักษะที่เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจากการอบรมในครั้งนี้มาใช้ในการนำเสนอประเด็นต่างๆที่เกิดขึ้นในชุมชนหมู่บ้านม้ง ดอยปุย เช่น “การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำในชุมชน” “มัคคุเทศก์น้อยบนดอยปุย” “ผลกระทบจากการท่องเที่ยวกับวิถีชีวิตในชนเผ่า” “เสียงแคนแห่งดอยปุย” เป็นต้น นำเสนอผ่านมุมมองของนักข่าวชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการอบรมในครั้งนี้ไปผลิตสื่อและนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเองสู่สื่อสาธารณะและสังคมภายนอก รวมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับสมาชิกในชนเผ่า เพื่อขยายผลไปสู่การสร้างเครือข่ายสื่อพลเมืองในชุมชนของตน และเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ

                                                  

                                ทีมเกือบดอย  สมาชิกเป็นปกาเกอะญอ และลัวะ สนใจประเด็นศักยภาพเยาวชน เสนอเรื่อง มัคคุเทศก์น้อยที่ดอยปุย
      

หลังจากลงพื้นที่ และเรียนรู้การตัดต่อ  ผลิตงานออกมาเป็นเรื่อง 3 นาที   มีการนำเสนอโด้ได้รับฟังคำชี้แนะทั้งเชิงประเด็น การเล่าเรื่อง และเทคนิค  จาก คุณวันชัย  รองผอ.สสท.  และอาจารย์จากคณะการสื่อสาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพัฒนางานให้สามารถสื่อสารกับสังคมวงกว้างได้มากขึ้น
 

ในวันที่ 21 มีนาคม 2557 มีการจัดเวทีเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ “ผลกระทบจากสื่อต่อชนเผ่าพื้นเมือง” โดยมี คุณไวยิ่ง ทองบือ ตัวแทนจากเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากสื่อ อ.ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการด้านสื่อมวลชน ดร.ประสิทธิ ลีปรีชา นักวิชาการประจำศูนย์ชาติพันธุ์ศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณอุบลนัดดา สุภาวรรณ ตัวแทนสื่อมวลชน ร่วมพูดคุยซักถามและแลกเปลี่ยนมุมมองความคิด เพื่อช่วยลดอคติทางชาติพันธุ์และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองผ่านสื่อต่อสาธารณชน

ภายในงาน  เครือข่ายสื่อชนเผ่าร่วมกับนักศึกษาคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังร่วมกัน ออกแบบ สถานี “ทีวีชนเผ่าพื้นเมือง”  เพื่อ เผยแพร่รายการ “พลังสื่อชนเผ่าพื้นเมือง ผ่านการถ่ายทอดสด เวทีเสวนาดังกล่าว ในวันที่  ตั้งแต่เวลา 13.00-16.00 น.   ทาง www.livebox.me  และ www.citizenthaipbs.net/live   เพื่อเผยแพร่ผลงานการผลิตสื่อของพวกเขาเอง และเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานของเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง
 

ทั้งนี้สืบเนื่องจาก อคติทางชาติพันธุ์เกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองนั้น นับตั้งแต่รัฐบาลได้เข้าไปสำรวจวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือในพ.ศ. 2496  และทำให้วาทกรรมคำว่า “ชาวเขา” ในหนังสือและสื่อต่างๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายทอดความผิดพลาดเหล่านั้นสู่การรับรู้ของสังคม  เพราะคำว่า “ชาวเขา” เป็นวาทกรรมที่สร้างความเจ็บปวดให้ชนเผ่าพื้นเมืองในภาคเหนือและสร้างความแตกแยกและเป็นอื่นในสังคม  ดังที่ปรากฏให้เห็นได้จากการใช้วาทกรรม ในสื่อต่างๆ ที่ทำให้ชาวเขาเป็นต้นตอของปัญหาและภัยต่างๆ ทั้งในแง่ของความมั่นคง ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่อการร้าย ผู้อพยพ และพวกผู้ปลูกฝิ่น ทำลายสังคม และในแง่ของผลกระทบต่อธรรมชาติ ในฐานะที่ทำไร่เลื่อนลอยและตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ภาพลักษณ์ของชาวเขาที่เป็นลบอย่างตายตัว

ผลที่ตามมาก็คือ ชาวเขามักถูกตีตราเป็นผู้ร้ายและถูกกีดกันต่างๆ นานา ทั้งในแง่ของสิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิในการตั้งถิ่นฐาน และสิทธิในการจัดการทรัพยากร ถูกคุกคามและถูกกดดันให้ย้ายตั้งถิ่นฐานออกจากป่า เพราะรัฐไม่รับรองสิทธิของชาวเขาในการตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ทั้งๆที่พวกเขาอยู่อาศัยมาก่อนขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะหาประโยชน์จากวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง ดังปรากฏในรูปของกระบวนการทำให้ความหลากหลายทางชาติพันธุ์เป็นเพียงสินค้า ซึ่งหมายถึงการใช้วัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองเป็นสินค้า สำหรับการหารายได้จากการท่องเที่ยวในรูปต่างๆ ที่บิดเบือนคุณค่าทางวัฒนธรรมที่แท้จริง

แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะใช้คำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” แทน “ชาวเขา” มาได้ระยะหนึ่งแล้ว  รวมทั้งได้พยายามทำความเข้าใจว่าชนเผ่าพื้นเมืองก็คือคนไทยกลุ่มหนึ่ง  แต่ด้วยอคติที่ฝังรากอยู่  ทำให้หลายครั้งคำว่าชาวเขาที่ปรากฏผ่านสื่อและดำรงอยู่ในความเข้าใจของคนทั่วไป  ก็ทำให้ลูกหลานชนเผ่าถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน แม้ว่าจะมีบัตรประชาชนยืนยันสถานะความเป็นไทยก็ตามนั่นอาจเป็นเพราะว่าสื่อเหล่านั้นไม่ได้เป็นเจ้าของวัฒนธรรม  และสื่อกระแสหลักเป็นการนำเสนอข่าวการกระทำของบุคคลเป็นลักษณะการเหมารวมถึงความเป็นชาติพันธุ์หรือภาพรวมของชาวเขาด้วย

การสร้างสื่อชนเผ่าพื้นเมืองขึ้นมาเอง ก็เพื่อนำเสนอมิติใหม่ๆ และมุมมองที่จะช่วยลดอคติ  นำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคนชายขอบมาเผยแพร่ให้สังคมรับรู้และสร้างความสมานฉันท์ระหว่างชาติพันธุ์ได้  จึงได้จัดตั้งเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Medias Network: IMN) ขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกในการสร้างความเข้าใจแก่สาธารณชนที่ถูกต้องและเป็นกลไกสื่อทางเลือกหลักของขบวนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย  
 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ