ไร้เสียงไม่ไร้สิทธิ – “ภาษามือ-ภาษาแม่” ของเด็กหูหนวก

ไร้เสียงไม่ไร้สิทธิ – “ภาษามือ-ภาษาแม่” ของเด็กหูหนวก

ในโลกแห่งความเงียบของเด็กนักเรียนผู้บกพร่องทางการได้ยิน จะเงียบมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็น “เด็กหูหนวก” หรือ “เด็กหูตึง”   เราอาจจะพอเห็นเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญารูปแบบอื่น ๆ ได้เรียนร่วมกับเพื่อน ๆ ในโรงเรียนทั่วไปบ้าง แต่สำหรับเด็กหูหนวกนั้น การเรียนร่วมแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีล่ามภาษามือ ซึ่งจะทำหน้าที่เสมือนเป็น “หู” ช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ    โรงเรียนเฉพาะความพิการซึ่งมีการเตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษามีการจัดเตรียมล่ามภาษามือ จึงนับเป็นก้าวแรกของการศึกษาของเด็กกลุ่มเปราะบางกลุ่มนี้

ชมคลิปวีดีโอ “เรียนร่วมด้วย “ล่ามภาษามือ”” ได้ที่ Facebook Page The North องศาเหนือ
https://fb.watch/iQHj3yAgkf/

ภาษาเป็นศูนย์

หากผู้อ่านพอจินตนาการถึงความวุ่นวายของการเปิดเทอมวันแรกของเด็กอนุบาลในโรงเรียนทั่วไปออก บรรยากาศชั้นเรียนของเด็กนักเรียนผู้บกพร่องทางการได้ยินตัวน้อยชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร จ.เชียงใหม่ ก็ไม่ต่าง

ที่บอร์ดหน้าชั้นเรียนมีรูปของครูเหมียว – กันตณัช วงค์คูณ ครู​ คศ.1​ ล่ามภาษามือไทย และครูประจำชั้นอนุบาล 1 ทำท่ายกสามนิ้วขึ้นแนบข้างแก้มชวนจินตนาการถึงหนวดแมวได้ไม่ยาก   แต่คุณครูอีกคนที่อยู่ในรูปข้างกัน ทำท่าบางอย่างที่ดูแล้วเหมือนว่าจะซับซ้อนเกินการคาดเดาของฉัน 

บอร์ดรายชื่อครูประจำชั้นอนุบาล 1 ในแต่ละชั้นเรียนจะมีครูอย่างน้อย 2 คนทำงานร่วมกัน คือ ครูล่ามภาษามือซึ่งสามารถได้ยินปกติ และครูผู้บกพร่องทางการได้ยิน

ใช่ – ภาษามือของฉันเป็นศูนย์ คล้ายกันกับเด็กอนุบาล 1 ตัวน้อย ๆ ในช่วงวันแรกของการเปิดเทอม   แน่นอนว่าเมื่อแต่ละบ้านพบว่าบุตรหลานมีความบกพร่องทางการได้ยิน คนในครอบครัวคงมีการสร้างคำศัพท์ภาษามือธรรมชาติเพื่อสื่อสารกับลูก ๆ   แต่คำง่าย ๆ เช่น “กินข้าว” หรือ “เก่งมาก” ของแต่ละบ้านแม้คล้ายแต่ก็คงไม่เหมือนกันซะทีเดียว   สิ่งที่ครูประจำต้องทำในช่วงเปิดเทอมแรก ๆ จึงคือปรับพื้นฐานการสื่อสารด้วยภาษามือของเด็ก ๆ ให้เป็นภาษาเดียวกัน

“เมื่อถึงเวลาเข้าโรงเรียนของเด็กอนุบาลทั่วไป ในเบื้องต้นเขาสามารถสื่อสารด้วยคำพูดกับคุณครูได้บ้างแล้ว แต่สำหรับเด็กหูหนวกพวกเขาแทบจะอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า – ภาษาเป็นศูนย์ นั่นหมายความว่าเราต้องมาเริ่มต้นเรียนรู้กันใหม่หมดเลย”

ในการเข้าแถวเคารพธงชาติของทุก ๆ เช้า ครูเวรจะมีการประกาศแจ้งข่าวต่าง ๆ โดยมีครูล่ามทำหน้าที่คอยแปลให้เด็ก ๆ ซึ่งเป็นการแปลแบบฉับพลัน (simultaneous interpretation)

“ภาษามือ” คือ “ภาษาแม่” ของเด็กหูหนวก เป็นภาษาที่ปราศจากถ้อยคำหรือที่เรียกว่า “อวจันภาษา” (Non–verbal Language) อาศัยรหัสท่าทางที่ไม่ใช่ตัวอักษร แต่ใช้สีหน้าท่าทางในการสื่อสาร ซึ่งภาษามือของแต่ละชาติมีความแตกต่างกันไปตามขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และลักษณะภูมิศาสตร์ เช่น ภาษามือจีน ภาษามืออเมริกัน และภาษามือไทย   ยังไม่รวมไปถึงภาษามือท้องถิ่น เช่น คำเมือง หรือภาษาถิ่นทางภาคเหนือ ซึ่งก็มีรายละเอียดยิบย่อยแตกต่างกันออกไปอีก 

ได้ยินเสียงความฝันไหม?

เจนจิรา ลุงยะ เป็นนักเรียนที่กำลังจะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เธอเพิ่งย้ายเข้ามาเรียนที่โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร จ.เชียงใหม่ ตอนที่กำลังจะขึ้นชั้น ม.ปลาย    และแม้จะเป็นเด็กโต เจนจิราก็ต้องใช้เวลาสักพักในการปรับตัวทางด้านการใช้ภาษามือ

“พ่อกับแม่ไม่ได้ใช้ภาษามือค่ะ ก็คุยกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ต้องเขียนเพื่อสื่อสารระหว่างกัน”

เจนจิราเล่าย้อนไปสมัยที่ยังไม่ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้

จริง ๆ แล้วแม้จะมีเด็กหูตึงหรือเด็กที่ใช้เครื่องช่วยฟังอยู่ในโรงเรียนบ้าง แต่ในทุกรายวิชาคณะครูโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร จ.เชียงใหม่ จะถ่ายทอดวิชาความรู้ทั้งหมดผ่านภาษามือ   แม้คุณครูบางท่าน อาจจะไม่ได้มีความรู้ทางภาษามือมาก่อน แต่เมื่อได้เข้ามาเป็นคุณครูของโรงเรียนนี้ ครูทุกคนต้องเรียนรู้การใช้ภาษามือเพื่อใช้ในการเรียนการสอน

เมื่อถูกถามว่าชื่อของฉันในภาษามือทำท่าทางอย่างไร เจนจิราทำหน้าครุ่นคิดสักพัก แล้วเอานิ้วชี้สองข้างทำท่าทางถู ๆ บริเวณคิ้ว   ฉันรู้สึกแปลกใจเพราะคาดเดาล่วงหน้าถึงท่าทางที่แตกต่าง   แต่พอได้รู้ความจริงว่าถ้าไม่รู้ว่าใครชื่ออะไร การอิงต่อรูปพรรณสันฐานคือธรรมเนียมการเรียกชื่อของที่นี่ เช่น ผมฟู ตาโต มีหนวด เป็นต้น   เผอิญว่าวันนั้นเป็นวันที่ฉันรวบผมตึง คิ้วที่ถูกบรรจงวาดจึงเป็นเครื่องหน้าที่โดดเด่นที่สุด ฉันจึงกลายเป็นพี่คิ้วเข้มแทนที่จะเป็นพี่หัวฟูไปโดยปริยาย 

ครูผู้สอนรายวิชาศิลปะสอนเจนจิราวาดภาพด้วยการใช้ภาษามือ

และหากผู้อ่านจะพอจินตนาการย้อนวันกันอีกครั้งถึงความว้าวุ่นใจเกี่ยวกับคำถามที่มีต่ออนาคตอันใกล้ที่ยังมาไม่ถึง “จบ ม.6 แล้วจะยังไงต่อ?”   เจนจิราและเพื่อน ๆ นักเรียนชั้น ม.6 ก็รู้สึกไม่แตกต่าง

“หนูอยากเป็นศิลปิน”

แววตามีประกายของความกล้าหาญในแบบฉบับของวัยเยาว์ที่มีฝันและหวังพร้อมเผชิญโลก โชคเป็นของฉันที่เฝ้ามองแววตานี้ในครั้งแรกผ่านจอของกล้องจึงหลบเลี่ยงการมองตรงสบตาได้ระดับหนึ่ง และเมื่อมาทบทวนแววตานั้นอีกครั้งเมื่อนั่งดูฟุจเทจขณะตัดต่อก็พบว่าอยากจะหลบตาอีกครั้ง   

หนังสือเล่มเล็กภาษามือ สื่อประกอบการเรียนการสอนรายวิชาทัศนศิลป์ เรื่อง คำศัพท์ทัศนศิลป์

มีความเป็นไปได้ในการศึกษาต่อสำหรับนักเรียนผู้บกพร่องทางการได้ยินอยู่หลายทาง เช่น การเรียนต่อในสายอาชีพ เช่น ทักษะงานช่างต่าง ๆ   หรือการศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ เช่น วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีภาควิชาหูหนวกศึกษา  แต่หากความฝันของเด็กบางคน เช่นเจนจิราเอง ที่อยากเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ในมหาวิทยาลัยที่ไม่ไกลบ้านจนเกินไป และมีอิสระได้เลือกเรียนในสาขาวิชาซึ่งตนเองชื่นชอบ ทางเลือกบนความเป็นไปได้นั้นจะมีอยู่มากน้อยสักกี่ทาง?

ล่ามมือล่ามใจ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือเรียกด้วยความคุ้นเคยกันสั้น ๆ ว่า ม.ช. เป็นสถาบันอุดมศึกษาในฝันแห่งหนึ่งของเด็ก ๆ ชั้น ม.6 ทั้งประเทศ เมื่อคิดย้อนกลับไปฉันเองก็เป็นหนึ่งในเด็กเหล่านั้น    สำหรับนักเรียนที่มีบ้านเกิดหรือภูมิลำเนาอยู่ในภาคเหนือ หากไม่อยากไปเรียนต่อที่อื่นซึ่งไกลบ้านมากเกินไปด้วยเหตุผลทั้งความสัมพันธ์และเศรษฐกิจ ม.ช.ก็เป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ เจนจิราก็เป็นเด็กคนหนึ่งในนั้น เธอเป็นว่าที่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิจิตศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ใบสักสีน้ำตาลแห้งกรอบเกลื่อนพื้นในฤดูแล้งช่วงสอบกลางภาค ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ฉันมานั่งอยู่ในสำนักงานงานบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการ มช. หรือศูนย์ DSS  เพื่อขอข้อมูลในเรื่องของการสนับสนุนนักศึกษาผู้มีความพิการ   นักศึกษาเดินเข้าเดินออกและพูดคุยสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ DSS ความรู้สึกแบบนี้หรือเปล่านะที่ใครเคยพูดเอาไว้ว่าเป็น – บ้านหลังที่ 2

“เรารู้จักน้องนักศึกษาผู้พิการทุกคนก่อนที่พวกเขาจะเข้ามาเรียนที่ ม.ช. จริง ๆ เสียอีก”

พนิดา พอจิต เรียกแทนตัวเองว่า “พี่ต้อม” เธอเป็นล่ามภาษามือ สังกัดกองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พี่ต้อมให้ข้อมูลว่าศูนย์ DSS เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่การประชาสัมพันธ์โอกาสในการศึกษาต่อเดินสายแนะแนวให้กับนักเรียนมัธยมผู้มีความพิการตามโรงเรียนต่าง ๆ ในภาคเหนือ   ไปจนถึงเตรียมโครงการการรับนักเรียนพิการ ผ่านระบบ TCAS   เมื่อน้อง ๆ ผ่านกระบวนการคัดเลือกเข้ามาได้ศึกษาต่อก็มีการประสานงานไปยังคณะและอาจารย์ประจำวิชาเพื่อแจ้งให้ทราบว่าในปีการศึกษานั้น ๆ จะมีนักศึกษาที่มีความพิการเข้าเรียนร่วมกับเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนกี่คน และหากเป็นนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยินก็จะมีพี่ล่ามตามประกบเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับน้อง ๆ 

ในหนึ่งคาบเรียนจะมีพี่ล่าม 2 คนผลัดกันแปลคนละ 20 นาที ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยินเข้าเรียนในกระบวนวิชาที่มีความหลากหลาย   ซึ่งในทีมงานของพี่ล่ามเองจะมีการแบ่งงานกันไปตามความถนัด   และการเป็นล่ามภาษามือในงานวิชาการหมายความว่าพี่ล่ามจะต้องทำการบ้านไม่ต่างจากนักศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาวิชานั้น ๆ จึงจะสามารถอธิบายให้น้อง ๆ เข้าใจด้วย

“ล่ามจนเมื่อยนี่ไม่ได้พูดเกินไปนะคะ ช่วงบ่า สะบัก หลังส่วนบนของล่ามภาษามือทุกคนจะตึงไปหมดเพราะเราใช้มือแขนและร่างกายช่วงบนค่อนข้างเยอะ ดีที่ยังมีสวัสดิการให้ล่ามภาษามือสามารถเข้ารับการกายภาพบำบัดซึ่งเป็นบริการของทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้”

ไม่ใช่แค่การแปลในวิชาเรียน พี่ล่ามยังติดตามช่วยเหลือในหลายเหตุจำเป็นในชีวิตประจำวันของน้อง ๆ เช่น การเจ็บป่วย หรือต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐ   ยกตัวอย่างเมื่อช่วงสถานการณ์ล็อคดาวน์โควิด-19 ที่ผ่านมา มีน้องนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยินติดโควิดกักตัวอยู่ที่หอพัก   การพบแพทย์เพื่อรับยาบรรเทาอาการต้องทำผ่านวีดีโอคอลโดยมีพี่ล่ามเป็นคนกลางช่วยสื่อสารระหว่างคนป่วยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมทั้งยังต้องไปรับและเอายาไปแขวนไว้ที่หน้าห้องพักของน้องเหมือนเป็นเพื่อนและคนในครอบครัว  

เป็นเรื่องน่ายินดีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีจำนวนล่ามภาษามือสำหรับบริการนักศึกษามากที่สุดในภาคเหนือ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ทุกสถาบันอุดมศึกษาจะมีความพร้อมในการรับนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยินเข้าศึกษาต่อ   ข้อจำกัดที่สำคัญคือไม่มีงบประมาณเพียงพอในการจ้างล่ามภาษามือเป็นพนักงานประจำ   และไม่ใช่ทุกปีการศึกษาที่จะมีนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยินเข้าเรียนต่อ   ส่วนอีกข้อจำกัดที่สำคัญคือจำนวนคณะและภาควิชาที่เปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยินเข้าเรียนร่วมยังมีจำกัด   ในส่วนนี้ทำให้แม้จะมีจำนวนล่ามเพียงพอแต่โอกาสในการเข้าถึงสาขาวิชาต่าง ๆ ยังไม่ครบถ้วน 

เมื่อโลกนี้มีใบเดียว 

“ตาบอดทำให้คนถูกตัดขาดจากสรรพสิ่ง แต่หูหนวกนั้นตัดคนออกจากมวลมนุษย์” 

“Blindness cuts one off from things, but deafness cuts one off from people.”

เฮเลน เคลเลอร์/ Helen Keller (1905) นักเขียนและนักต่อสู้เคลื่อนไหวทางสังคมชาวอเมริกันผู้พิการทั้งตาบอดและหูหนวกตั้งแต่อายุ 19 เดือน

ผอ. อัมรินทร์ พันธ์วิไล ผู้อำนวยการโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงข้อเสนอว่า

“อยากให้เริ่มแก้ไขตั้งแต่เพิ่มกลุ่มรายวิชาภาษามือไทย ซึ่งเป็นภาษาแม่ของเด็กหูหนวกเข้าไปในหลักสูตรรายวิชาพื้นฐาน ซึ่งจะส่งผลต่อการการวัดและประเมินผลทางการศึกษาของทั้งนักเรียนในช่วงชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา   ส่วนการจัดเตรียมล่ามภาษามือนั้นจะช่วยลดช่องว่าง เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาให้กับนักเรียนนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยิน”

ส่วนทาง ผศ.ดร.ชัยณรงค์ เหลืองวิลัย ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำกับดูแลงานพัฒนาคุณภาพนักศึกษา นักศึกษาเก่าสัมพันธ์ได้กล่าวจากมุมมองความพยายามของผู้บริหาร อาจารย์ และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยว่า

“เราพยายามทำความเข้าใจกับนักศึกษาของเราว่าโลกข้างนอกอาจไม่ได้พร้อมทุกอย่าง   สิ่งที่คุณต้องทำคือช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุดก่อน อย่างเช่น การให้น้อง ๆ ได้มีทักษะการอ่านปากคน หรือเขาจะใช้วิธีการเขียนในการสื่อสาร หรือใช้โทรศัพท์พิมพ์เพื่อสื่อสารกับคนข้างนอก   นอกจากเราจะเตรียมล่ามภาษามือเพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของน้องศึกษา เรายังเตรียมน้องให้เข้มแข็งในเรื่องของการช่วยเหลือตัวเองด้วย”

ขณะที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่ามีดาวเคราะห์ดวงอื่นซึ่งเหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยเหมือนกันกับโลกหรือไม่   การให้โอกาสผู้คนซึ่งมีความหลากหลายได้มีสิทธิเข้าถึงในสิ่งที่พึงได้รับเป็นเรื่องที่จะทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในโลกใบเดียวกันนี้เกิดสุขไม่ทางตรงก็ทางอ้อม   การตระหนักรู้และรับรองว่าบนโลกมีผู้คนที่มีความหลากหลาย และภาษาคือหนึ่งในเรื่องที่ซับซ้อนมากที่สุดของมวลมนุษยชาติ   หากภาษามือคือภาษาแม่ของเด็กหูหนวก ภาษาของพวกเขาก็ควรเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำไปสู่การเรียนรู้เพื่อการเติบโตเพื่อการมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและสร้างคุณค่าในตนเองไม่ต่างจากเด็กที่มีภาษาแม่อื่น ๆ



ภาษามือซึ่งมีความหมายว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

อ้างอิง:

ขอขอบคุณ :

  • คณะครู ผู้บริหาร และนักเรียนโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร จ.เชียงใหม่
  • เจนจิรา ลุงยะ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 
  • กันตณัช วงค์คูณ ครู​ คศ.1​ ล่ามภาษามือไทย 
  • ดวงเดือน คำมูลสุข  รองผู้อำนวยการโรงเรียน
  • อัมรินทร์ พันธ์วิไล ผู้อำนวยการโรงเรียน
  • เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสนับสนุนนักศึกษาพิการ และนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
  • กัลยา เวียงคำฟ้า นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิจิตรศิลป์
  • พนิดา พอจิต ล่ามภาษามือ กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • วันเพ็ญ สุทธิคำ หัวหน้างานบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการ กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ผศ.ดร.ชัยณรงค์ เหลืองวิลัย ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (กำกับดูแลงานพัฒนาคุณภาพนักศึกษา นักศึกษาเก่าสัมพันธ์)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ