14 วันประชาชนไปต่อ : กักตัวที่บ้าน WinWin แบบโคกโพธิ์

14 วันประชาชนไปต่อ : กักตัวที่บ้าน WinWin แบบโคกโพธิ์

เรามีทางเลือก หรือทางรอดอะไรบ้าง ? เมื่อทุกชีวิตต่างกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 กันถ้วนหน้าโดยเฉพาะ ช่วงยกระดับล็อคดาวน์ 14 วันอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2564

สิ่งที่เรา : เครือข่ายสื่อพลเมืองทั่วประเทศพบเห็นคือ ความพยายามของประชาชนจำนวนไม่น้อย คิดและลงมือทำ พยายามสร้างทางเลือก หาทางออกหลายลักษณะอย่างไม่ย่อท้อ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นแนวทาง เป็นมุมมอง เป็นวิธีทำ วิธีคิดที่สังคมจะได้ทำความเข้าใจ เรียนรู้หรือเป็นพลังผลักดันเพื่อให้เป็นทางรอดจากวิกฤตินี้ ติดตาม #14วันประชาชนไปต่อ ในช่วงข่าวค่ำไทยพีบีเอส และคลิก The Citizen Plus

โควิด 19 เหมือนจะพรากความสัมพันธ์ของผู้คนให้ต้องแยกห่างกันไปทุกที แต่ที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี แม้จะเป็นพื้นที่แพร่ระบาดรุนแรงระดับต้นๆของประเทศ และอยู่ในประกาศของ ศบค.ที่ต้องคุมเข้ม  แต่หมอ พยาบาลและชุมชนที่นั่นเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ “กักตัวที่บ้าน WinWin แบบโคกโพธิ์” จึงเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงหัวจิตหัวใจผู้ป่วย ควบคู่ไปกับการรักษาและควบคุมการระบาดของโรคซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต้องยึดถือ

โจทย์ใหญ่ของโรงพยาบาลโคกโพธิ์ โรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง  ที่แม้จะขยายการรองรับผู้ป่วยจริงถึง 104 เตียง และเปิดโรงพยาบาลสนามขนาด 124 เตียงเพิ่มแล้ว แต่แนวโน้มผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้  แนวทาง Home Isolation จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโควิด19  ที่อาการไม่หนักให้สามารถแยกกักตัวและรับการรักษาภายในบ้านของตนเองได้ เหตุผลไม่ได้เพียงจะแก้ปัญหาเตียงเต็ม แต่มองถึงความเป็น “บ้าน” ที่มีความหมายสำหรับผู้ป่วยและความสัมพันธ์ของครอบครัว       

“ครอบครัวสะแม” ขวัญเสียมาก เมื่อทั้งครอบครัวติดโควิด รวมถึงคุณแม่ที่อายุ 90 ปี และมีโรคประจำตัวหลายอย่าง   ทุกคนในบ้านต้องกักตัวและไปอยู่โรงพยาบาลสนาม   

“คุณแม่เครียด  กินอะไรไม่ได้เลย ใช้ห้องน้ำที่โรงพยาบาลสนามไม่สะดวก คนแก่อายุ 90 ปี ต้องเดินไปประมาณ 20 กว่าเมตรทุกวัน ถ้าเราหาวิธีการอื่นได้ไหม เราพร้อมที่กักตัวที่บ้าน ก็ปรึกษาคุณหมอประเมินความเป็นไปได้และให้กักตัวที่บ้าน จากคนไข้ที่เครียด กินอะไรไม่ได้ พอกลับบ้านอาการดีขึ้น เดินได้ สุขภาพจิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะคนแก่จะผูกพันธ์กับบ้าน ระหว่างรักษาตัวที่บ้าน เราจะส่งข้อมูลให้กับพยาบาล วัดความดัน เบาหวาน ถ่ายภาพส่งข้อมูลให้หมอ เราไม่ขาดจากโรงพยาบาล” ฮาแซ สะแม สมาชิกครอบครับสะแมเล่า ทุกวันนี้ เขาและแม่กักตัวและรักษาอาการป่วยจากโควิดหายแล้ว

คุณยายวัย อายุ 90 ปีท่านนี้ ที่เป็นเคสแรกที่ได้รับอนุญาตให้แยกกักตัวทำ Home Isolation ที่บ้านได้ เพราะอาการในระยะแรกอยู่ในระดับสีเขียว แต่ใช่ว่าผู้ป่วยโควิดในระดับเขียวทุกคนจะสามารถทำ Home Isolation ได้โดยเฉพาะในสังคมชายแดนใต้ที่เป็นครอบครัวใหญ่ ดังนั้น ทุกขั้นตอนในการพิจารณาจะต้องผ่านการประเมินจากแพทย์จนมั่นใจ และมีการทำงานร่วมกับชุมชน อสม. รวมถึงครอบครัวของผู้ป่วยต้องมีความพร้อมเรื่องที่อยู่อาศัยที่มีจะจัดระบบแยกกักได้ และระบบน้ำทิ้งภายในบ้านไม่ได้ระบายลงสู่แหล่งน้ำของชุมชนด้วย

คุณนันทิกานต์ หวังจิ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เล่าความรู้สึกที่สามารถคลี่คลายปัญหาเตียงเต็มให้ผู้ป่วยได้สำเร็จโดยแนวทาง Home Isolation ว่าการเป็นพยาบาล รู้สึกเจ็บปวดในการ ต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร เช่น กรณีพบคนไข้โควิดแสดงอาการจะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่เตียงเต็มแล้ว และเราจะส่งคนไข้ไปอยู่ที่โรงพยบาลสนามก็ไม่ได้ เนื่องจากมีอาการ การเกิดระบบ home isolation โดยพิจารณาเลือกเคสมีความสำคัญมาก 

คุณนันทิกานต์ ยกตัวอย่าง“ครอบครัวสะแม” ที่เลือกใช้แนวทาง home isolation เพราะทั้งครอบครัวติดโควิด มีผู้สูงวัยอายุ 90 ปี  54 ปี และ ลูกชาย 17 และ12 ปี เคสนี้เป็นเคสที่คุณหมอเลือกให้ทำ home isolation โดยพบว่าเข้าหลักเกฑณ์สามารถทำได้ทั้งหมด  แต่ข้อที่ไม่เข้าเกณฑ์คือ เมาะที่อายุ 90 ปี แต่เมื่อเทียบกับความเครียดของผู้ป่วยจนไม่ยอมกินข้าว เมื่อประเมินค่าออกซิเจนปกติ  น่าจะกลับบ้านได้ถึงแม้อายุ 90 ปี ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จในผู้สูงวัยที่ทำ home isolation เพราะเมื่อผู้ป่วยกลับไปอยู่บ้าน เดินได้ กินข้าวได้เพิ่มมากขึ้น ใช้ชีวิตตามปกติได้  

นายแพทย์ฮาเรศ ยานยา นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เล่าว่า การระบาดในจังหวัดปัตตานีเข้าขั้นวิกฤติ อย่างอำเภอโคกโพธิ์มีเคสใหม่ทุกวันวันละ 20 เคส ได้ตั้ง รพ. สนามขนาด 124 เตียง เพื่อกระจายความแอดอัดโรงพยาบาลในปัตตานี และอาจต้องขยายเพิ่มอีก 60 เตียง  

ส่วนภายในโรงพยาบาล คนไข้ปกติที่มานอนโรงพยาบาลลดลง แต่ต้องให้เตียงกับผู้ป่วยโควิดไม่น้อยกว่า 50 เคส   แนวทางที่กรมการแพทย์พยายามส่งเสริมคือการเกิด home isolation ให้กระจายความแออัดของการนอนโรงพยาบาล  ทีมฯ จึงวางแนวทาง เริ่มจากคัดเลือกผู้ป่วยโซนเขียว มีอาการน้อย คุยกับคนไข้ และคุยกับชุมชน มีประสานงานยอมรับการกักตัวอยู่บ้าน และช่วยกันสอดส่องดูแล ส่วนการรักษา ได้มีการคุยตกลงกับผู้ป่วย ให้ความรู้ ให้อุปกรณ์  เช่น การวัดค่าออกซิเจนกับอุปกรณ์วัดไข้ เพื่อดูแลตัวเองได้ หากค่าออกซิเจนน้อยกว่า 94 หรือมีอาการอื่นๆ ทางรพ.พร้อมที่จะส่งรถไปรับผู้ป่วยให้มาโรงพยาบาลทันที ทุกวันทีมแพทย์และพยาบาลจะโทรหรือไลน์สอบถามอาการอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน ขณะที่คนไข้ก็สามารถไลน์สอบถามอาการได้ 24 ชั่วโมง

ในส่วนของชุมชนมีการประสานงานกันช่วยกันสอดส่องดูแล เราต้องพิจารณาทำความเข้าใจคนไข้ ทีมงานและ ชุมชน หลักเกณฑ์บางส่วนสามารถยืดหยุ่นได้ ส่วนโรงพยาบาลเราจะให้ผู้ป่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้ในโซนสีเหลือสีแดง และเราพยายามกระจายเคสที่ไม่มีอาการกลับไปดูแลต่อที่บ้าน ก่อนกลับเขาจะต้องผ่านประเมินอาการและเอกซเรย์ปอดทุกคน  ว่ามีปัญหามากแค่ไหน จากนั้นก็จะประสานทางพื้นที่ ดูบริบทของบ้าน ชุมชน  สามารถซิวเป็นระบบปิดได้ไหม น้ำที่ใช้อยู่ลงบ่อเกรอะหรือไม่ ถ้าออกไปสู่ชุมชนแม่น้ำเสี่ยงมากเราต้องหยุดในเคสนั้นโดยทันที นอกจากที่เราจะรับผิดชอบคนไข้แล้ว เราต้องรับผิดชอบชุมชนด้วย 

สำหรับ home isolation จะมีหลักเกณฑ์ที่โรงพยาบาลโคกโพธิ์ยึดเป็นหลักการสำคัญอยู่ แต่ก็ปรับใช้ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยพิจารณาเรื่องการควบคุมโรค  ประกอบกับความปลอดภัยของผู้ป่วย และให้ความสำคัญต่อสภาพจิดใจและสภาพแวดล้อมของผู้ป่วยประกอบกัน

  1. เป็นผู้ติดเชื้อที่สบายดี หรือ ไม่มีอาการ
  2. มีอายุน้อยกว่า 60 ปี
  3. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
  4. อยู่คนเดียว หรือ ที่พักอาศัยสามารถมีห้องแยกเพื่ออยู่คนเดียวได้
  5. ไม่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม
  6. ไม่มีอาการป่วยหรือโรคที่เกี่ยวกับปอดหรือหัวใจ เช่นโรคปอดเรื้อรัง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
  7.  ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง

แนวทาง Home Isolation ลักษณะที่โรงพยาบาลโคกโพธิ์ทดลองทำนี้ ได้เริ่มนำไปขยายผลอีกหลายแห่ง เพื่อช่วยการแก้วิกฤตเตียงเต็มและให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาเต็มที่อย่างทั้งกายและทางจิตใจ.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ